ทักษะความปลอดภัยเพื่อรอดชีวิตสร้างได้ด้วยการสอนแบบ Active Learning

Share on

 2,372 

“โรงเรียน” คือสถานที่ที่เด็กในวัยเรียนใช้ชีวิตตลอดวัน ทั้งทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เล่นกีฬา และรับประทานอาหาร ซึ่งทุกเหตุการณ์มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ครูและผู้ปกครองไม่คาดคิด เพจ I AM KRU จึงชวน “อาจารย์อาท – ศิริวัฒน์ คันทารส” ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่ม Teach for Life-อาสาสอนช่วยชีวิต มาร่วมพูดคุยเรื่องความสำคัญของการเรียนรู้วิธีการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุเบื้องต้นเมื่ออยู่ที่โรงเรียน และทักษะความปลอดภัยที่ทั้งครูและนักเรียนควรมีติดตัว ในรายการ  The Equity Classroom ห้องเรียนเสมอภาค ตอน “ความปลอดภัยต้องมาก่อน” ดำเนินรายการโดย “ครูหมิว – จิณัฐตา วงค์ษา” โรงเรียนบ้านพรหมเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ 

เพราะอุบัติเหตุเลือกที่เกิดไม่ได้ ทักษะชีวิตจึงสำคัญ

กลุ่ม “Teach for Life-อาสาสอนช่วยชีวิต” เป็นทีมที่รวมบุคลากรการแพทย์ และบุคคลทั่วไป โดยมีพันธกิจ 3 ข้อคือ 1. เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนรับมือและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุตามอาคารสถานที่ 2. ให้การอบรมวิธีปฐมพยาบาลฉุกเฉิน หรือการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน และ 3. ผลักดันให้ “ทักษะการปฐมพยาบาล” เป็นทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี 

ที่มาของโครงการนี้เริ่มต้นจากการที่อาจารย์อาทได้มีส่วนร่วมส่งครูอาสารุ่นใหม่เดินทางไปสอนนักเรียนบนพื้นที่สูงและกลุ่มชาติพันธุ์กับโครงการ “ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก” ทำให้อาจารย์อาทและทีมงานท่านอื่น ๆ เห็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรครู ครูคนหนึ่งต้องสอนวิชาการ ทำงานเอกสาร และยังต้องจัดกิจกรรมของโรงเรียน ซึ่งผลที่ตามมาคือ ครูไม่มีเวลาให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตและความปลอดภัยของนักเรียน 

“ตอนที่อยู่หน่วยกู้ภัย มีอยู่ครั้งนึงไปโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ แล้วเด็กคนนึงหกล้มหัวฟาดพื้น ทุกคนยืนงงทำอะไรไม่ถูก สักพักพบว่าเด็กหัวแตก ครูพยาบาลเอาแอลกอฮอล์ราดลงไปเลย แสดงว่าองค์ความรู้การปฐมพยาบาลหรือด้านความปลอดภัยยังไม่มี เลยเป็นที่มาของการตั้งโครงการ Teach for Life” อาจารย์อาทกล่าว

อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่สามารถเลือกสถานที่เกิดได้ อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน หรือพื้นที่ที่ไกลจากโรงพยาบาล  ดังนั้นไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์หรืออาสาสมัครกู้ชีพที่ต้องสามารถปฐมพยาบาลฉุกเฉินเป็น แต่ทุกคนในโรงเรียนจะต้องมี “ทักษะชีวิต” เพื่อกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นก่อนส่งถึงมือทีมแพทย์ต่อไป ความคาดหวังของอาจารย์อาทคือ ครูในโรงเรียนต้องสามารถทำการปฐมพยาบาลหรือกู้ชีพเป็น และต้องถ่ายทอดทักษะนี้ให้แก่นักเรียนได้

“กรณีหกล้ม แขนหัก ขาหักยังสามารถรอเวลาได้ แต่กรณีหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น เราต้องการการดูแลอย่างรวดเร็ว ต้องเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 4 นาที แต่บนดอยใช้เวลาเดินทางขึ้นไปนาน บางครั้งใช้เวลา 3-4 ชม. ความรู้เรื่องการช่วยชีวิตจึงต้องอยู่ในโรงเรียน” 

อุบัติเหตุแก้ไขได้ ป้องกันได้ และเป็นเรื่องของทุกคน

สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนการเรียนรู้และลงมือฝึกฝนทักษะการช่วยชีวิต คือการ “เปลี่ยนทัศนคติ” ของคนทุกคน เพราะทุกคนล้วนมีโอกาสเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงเรียน เช่น นักเรียนจมน้ำ หรือหมดสติ ครูและเพื่อน  นักเรียนกลับคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง บางคนอยากเข้าไปช่วยเหลือแต่ยังไม่กล้า ไม่มั่นใจ หรือบางคนก็มองว่าเป็นความโชคร้ายที่เด็กต้องเจอ ทั้งที่หากคนใกล้ตัวสามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างถูกวิธี เด็กก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ 

“เด็กจมน้ำแล้วตายไม่ใช่เรื่องเวรกรรม เด็กจมน้ำเราช่วยให้ไม่ตายได้ ต้องแยกเรื่องอุบัติเหตุกับความตายออกจากกัน คนหมดสติเราทำให้เขาไม่ตายได้ ไม่ใช่ว่าเกิดอุบัติเหตุเขาเลยตาย เด็กตกน้ำตายมีสามปัจจัย ปัจจัยแรกคือเด็กไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ สอง เด็กเกิดเป็นตะคริวพลัดตกลงไป สาม ถ้าคนเห็นแล้วช่วยได้ เขาก็รอด เพราะฉะนั้นเขาจะรอดมั้ยขึ้นกับทักษะของคนที่อยู่ใกล้เคียง

คนหมดสติไม่หายใจเราห้ามไม่ได้ แต่เราทำให้เขาฟื้นได้ คนจมน้ำเป็นอุบัติเหตุ แต่ถ้าคนอื่นช่วยได้ทันและช่วยถูกวิธีเขาก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม” อาจารย์อาทกล่าว

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หากทุกคนคิดว่าการช่วยเหลือคนตรงหน้าคือหน้าที่ของตนเอง และสามารถช่วยเหลือได้ถูกวิธี อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็จะลดลง ดังนั้นครูจึงมีหน้าที่ในการทำให้นักเรียนเชื่อว่า การช่วยชีวิตเป็นหน้าที่ของทุกคน

Active Learning กระบวนการสอนที่สร้าง “โรงเรียนปลอดภัย”

อาจารย์อาทได้ให้มุมมองเรื่องการเรียนการสอน “ทักษะชีวิต” โดยเสนอว่าสิ่งที่โรงเรียนควรสอนอย่างจริงจังประกอบด้วย 1. การประเมินความเสี่ยงในกรณีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ เช่น การประเมินคุณภาพอาหารเบื้องต้น หรือการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี 2. การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติ และ 3. ทักษะการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น วิธีนำผู้ประสบอุบัติเหตุออกจากจุดเกิดเหตุ การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ทั้ง 3 ส่วนนี้โรงเรียนควรดึงออกมาเป็นคุณสมบัติหลักที่นักเรียนทุกคนต้องมี 

“จริง ๆ sense เรื่องความปลอดภัย การมองว่าเรื่องนี้อันตรายหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ ควรปลูกฝังตั้งแต่อนุบาล เด็กต้องสามารถประเมินได้ เช่น อันนี้ร้อน ไหม้ พอง หรือช็อต ฯลฯ ความปลอดภัยไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 มันมีปัจจัยอื่นที่เขาอาจไม่เคยเจอในตำรา เขาต้องประเมินเองได้เมื่อไปเจอสถานการณ์อื่น ๆ 

เราสามารถสอดแทรกเรื่องการประเมินความปลอดภัยเข้าไปในวิชาต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องแยกออกมาเป็นวิชาเฉพาะ มันคือวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นการเรียนเรื่องก๊าซ เขารู้ว่าไฟลุกได้เมื่อมีออกซิเจน คิดว่าวิชาอื่น ๆ ก็ควรจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าไปเช่นกัน” อาจารย์อาทกล่าว

ขณะเดียวกัน หลายโรงเรียนอาจมีการสอนทักษะชีวิตเหล่านี้ให้แก่นักเรียนแล้ว เช่น สาธิตวิธีการกู้ชีพผู้ที่หัวใจหยุดเต้น แต่ยังคงเจอปัญหาสำคัญคือ นักเรียนยังทำไม่เป็น หรือยังไม่กล้าลงมือทำเมื่อเจอสถานการณ์จริง นั่นเป็นเพราะเด็กขาดการฝึกฝน เมื่อไม่ชำนาญจึงไม่กล้าปฏิบัติจริง วิธีการแก้ไขคือปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักเรียนได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ท่องจำ และต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ จนพวกเขาเชี่ยวชาญทักษะชีวิต

“บางโรงเรียนมีการสอน CPR ด้วยการทำให้ดู มีผู้สาธิต 2 คน เด็ก 700 คน บรรยายให้ฟัง 3 ชม. ปั๊มหุ่นให้ดู 10 ที แล้วเชื่อว่านักเรียนทุกคนจะทำ CPR เป็น สุดท้ายเด็กมีความรู้แต่ไม่มีทักษะ เหมือนกับการที่เราดูวิดีโอปั่นจักรยาน เราก็ยังปั่นไม่เป็น การสอนเรื่องเหล่านี้ต้องเป็น active learning อย่างน้อยทุกคนต้องเคยได้ลงมือทำ หน่วยงานการศึกษาทั้งภาครัฐภาคเอกชนควรออกแบบกระบวนการฝึกอบรมให้เขาตระหนัก เข้าใจ ทำเป็น” 

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องกระบวนการและหลักสูตรที่ต้องปรับเปลี่ยน อาจารย์อาทเสริมว่า อีกปัจจัยที่จะทำให้การสอนทักษะชีวิตประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการ และทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน เพื่อช่วยผลักดันการลงมือทำจริง และ ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ฝึกทักษะ เช่น หุ่นฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน เพื่อที่นักเรียนทุกคนจะสามารถลงมือฝึกได้ ไม่ใช่การฝึกเฉพาะเด็กที่เป็นอาสาสมัคร   

โรงเรียนจึงควรเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัย การเอาตัวรอด และการช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ต้องส่งเสริมให้เขาตระหนัก เข้าใจ และกล้าลงมือทำเมื่อเจอกับสถานการณ์เหล่านี้ ถ้าเราเริ่มต้นเรื่องปลูกฝังทักษะชีวิตที่โรงเรียนได้สำเร็จ เราจะสามารถส่งต่อสังคมที่ปลอดภัยในอนาคต

“ถ้าเริ่มต้นที่โรงเรียนปลอดภัย ครอบครัวก็ปลอดภัย และสังคมก็จะปลอดภัย ถ้าเด็กถูกผลิตไปจากโรงเรียน เป็นคนที่มี sense เรื่องความปลอดภัย เราก็จะมีสังคมที่ปลอดภัย  วันหนึ่งที่เราหมดสติขึ้นมาในที่สาธารณะ เราอาจจะเจอเด็กที่มีทักษะเหล่านี้เข้ามาช่วยชีวิตเรา” อาจารย์อาทกล่าวทิ้งท้าย

 2,373 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า