การเรียนรู้แบบลงมือทำในศตวรรษที่ 21

Share on

 10,686 

การจัดกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาครู ตชด. (Enrichment Program)  เป็นหนึ่งในกิจกรรมเสริม ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กำหนดให้สถาบันผลิตและพัฒนาครูโรงเรียน ตชด.  ต้องดำเนินการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะของครู ตชด. ให้มีความสามารถเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนต่อนักเรียนภายในห้อง เป็นตัวช่วยอุดช่องว่างสำหรับครู ตชด. ที่อาจไม่ได้เรียนจบตรงสายทางด้านครุศาสตร์โดยตรง ครูบางคนในโรงเรียน ตชด. ที่เป็นตำรวจก่อนที่จะมาเป็นครู และเป็นตัวเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้ครูมีความรู้ความสามารถที่เพียงพอต่อการจัดการ และออกแบบการเรียนการสอน

ผศ.ดร.รุ่งทิวา จันทน์วัฒนวงษ์ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่แม้จะถึงวัยเกษียณแล้ว แต่จิตวิญญาณในความเป็นครูยังไม่เคยเสื่อมถอยตามกาลเวลา ยังคงอยากสอน และให้ความรู้กับครูรุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมา ตอนนี้ได้กลายเป็นจิตอาสาภายในโครงการ ซึ่งเป็นการจัดอบรมเพิ่มเติมความรู้นอกเหนือจากที่ครูแต่ละคนได้เรียนภายในชั้นเรียน มีจุดประสงค์เพื่อให้ครูตชด.ได้มีเครื่องมือมากขึ้นในการเอาไปใช้กับห้องเรียนที่แต่ละคนต้อง ตั้งแต่ครูตชด. รุ่นที่ 1 จนตอนนี้ก็สอนมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว

ครูรุ่งทิวาได้พูดถึงหัวใจสำคัญของการส่งต่อความรู้ในการจัดการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่การบอกเล่าความรู้ให้กับผู้เรียน แต่คือการพาทำภายในห้องอบรมเลย เมื่อครูสามารถที่จะทำได้ ครูก็สามารถที่จะสอนนักเรียนภายในห้องเรียนของแต่ละคนได้ต่อไปในอนาคต บทเรียนต้องไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัว  และสามารถทำมาเป็นบทเรียนได้เลย เพื่อให้เด็กนั้นได้เข้าถึงความสำคัญของบทเรียน รู้ถึงบริบทของเนื้อหาการนำไปใช้จริงมากขึ้น ตัวเนื้อหาเองก็ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาก ไม่ต้องเน้นทฤษฎีให้มากมาย เน้นปฏิบัติให้ทำได้เป็นเพียงพอ

การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน การเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21

การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) กระบวนการนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกส่งต่อในห้องอบรมที่ช่วยเปิดกว้างให้ตัวของครู ตชด. สามารถนำเรื่องใกล้ตัว หรืออุปกรณ์ใกล้ตัวมาใช้ในการเรียนการสอนได้ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านการชี้นำด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือสามารถทำอะไรได้บ้าง? ตรงจุดนี้ทำให้ครูสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนที่สอดคล้องกับการบูรณาการณ์ให้ตรงกับแต่ละรายวิชาที่ครูต้องการได้ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่รายวิชาเดียว แต่เป็นการผนวกรวมหลายวิชาเข้าด้วยกันในหนึ่งเนื้อหาการเรียน นอกจากนี้ครูตชด. สามารถใช้นิเวศน์รอบรั้วโรงเรียนมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่เพื่อให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อหน่าย อีกทั้งยังสามารถสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนและชุมชนได้อีกด้วย

ซึ่งในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ตามหลักสูตรนั้นไม่เพียงพอต่อการเป็นประชากรภายในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

ตัวของความรู้เองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ยิ่งในยุคนี้ที่ความรู้เปลี่ยนไปภายในไม่กี่ปี หรือเร็วกว่านั้นภายใน

ไม่กี่เดือน การเรียนภายในห้องเรียนที่ถ่ายทอดแต่ความรู้ที่อาจตกยุคเมื่อเรียนจบหลักสูตรจึงไม่เพียงพออีกต่อไป ครูจำเป็นที่จะต้องสอนให้เด็กภายในห้องมีทักษะชีวิต คิดเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น มีวิจารณญาณ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) ซึ่งจะทำให้เด็กนั้นได้ความรู้มากกว่าการท่องจำเนื้อหาบทเรียนในหนังสือ

วันนี้เป็นผู้เรียน วันต่อมาเป็นครู

หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นครูผู้มาจากตำรวจสายปราบปราม ได้มาดำเนินทำหน้าที่ครู เป็นภาระครูที่ต้องทำการสอนให้ได้ในทุกวิชา ซึ่งสำหรับครูที่ไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรงจึงถือเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก และการนำความรู้จากห้องอบรมอย่างการเรียนรู้แบบโครงงานมาเป็นฐานมาใช้ในห้องเรียนของตัวเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้งานของครูสุเมศนั้นง่ายขึ้น

“เอาตรง ๆ เด็กสนุก ครูสบาย”

ความเปลี่ยนแปลงภายในห้องเรียนได้เกิดขึ้น ครูไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช และคอยควบคุมให้นักเรียนให้เด็กนั้นเรียน ทำให้เด็กเป็นคนที่กระตือรือร้นอยากเรียนเอง บทบาทภายในห้องเรียนได้ถูกสลับสับเปลี่ยน นักเรียนกลายเป็นทั้งผู้เรียน และผู้สอนตัวเอง ในขณะที่ครูนั้นเปลี่ยนเป็นผู้ชี้นำแทน

การที่เด็กกลายเป็นคนกระตือรือร้น อยากเรียนรู้แล้ว ไม่ได้ส่งผลดีกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก แต่ครูเองก็ได้ผลพลอยได้ไปด้วย ทำให้ภาระงานของครูที่ต้องดูแลในห้องเรียนลดลงอีกขั้น ไม่จำเป็นต้องกวดขันนักเรียนให้เรียน ไม่ต้องตะเบ็งเสียงเพื่อแข่งกับเสียงเด็กภายในห้อง หรือเสียพลังงานไปกับการจัดการกับห้องเรียนที่วุ่นวายให้มันสงบลง ทำให้ครูสามารถเอาพลังงานที่ควรจะใช้ไปกับการจัดการกับเด็กไปใช้ในการคิดวางแผนการเรียนการสอนให้ตัวการสอนนั้นมีคุณภาพยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ภายในห้องอบรมจะมีความสนุกสนาน ผู้เข้าร่วมต่างให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ถูกอบรม แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเลยว่านั่นคือการอบรมที่สำเร็จ ตัวชี้วัดที่แท้จริงคือการนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้กับนักเรียนที่รอคอยอยู่ในแต่ละโรงเรียน การอบรมที่ดีนั้นจึงไม่ควรจบลงเพียงแค่ในห้องอบรม เพราะมันเกี่ยวพันถึงการเรียนรู้ของเด็ก

ในโลกของการเรียนรู้นักเรียนจึงไม่ใช่คนเดียวที่มีบทบาทในการเรียน ครูเองก็ต้องเรียนรู้ด้วยเพื่อให้การเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ หากครูหยุดนิ่งและไม่ฝึกปรือฝีมือทักษะในการสอนเพิ่ม ไม่นานก็คงตกยุค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับยุคสมัยในปัจจุบัน ที่ความรู้เพียงแค่เปิดอินเทอร์เน็ตก็สามารถค้นเจอแทบทุกวิชาที่มีในห้องเรียนได้แล้ว ทุกชุดความรู้ล้วนแล้วแต่มีในอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น เราก้าวสู่ยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นผู้ให้ความรู้ได้ สิ่งที่แยกระหว่างครูกับคนทั่วไปคือ กลวิธีในการนำเสนอความรู้ กลยุทธ์ในการถ่ายทอดความรู้ที่มีออกไปยังผู้รับสาร 

#iamkru #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา #กสศ #โรงเรียนตชด.บ้านนาชมภู 

 10,687 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า