เพราะ ‘จิตศึกษา​’ เด็กจึงกล้าคิดและ พิชิตปัญหาได้ด้วยตนเอง

เพราะ ‘จิตศึกษา​’ เด็กจึงกล้าคิดและ พิชิตปัญหาได้ด้วยตนเอง

Share on

 4,359 

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ ‘จิตศึกษา’ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาปัญญาภายในและบูรณาการผ่าน ‘การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน’ (Problem – based Learning : PBL) และ ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู’​ (Professional Learning Community : PLC) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่เน้นให้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้จักคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงาน โดย ‘มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา’ เป็นผู้ริเริ่มนำกระบวนการนี้มาทดลองใช้สอนนักเรียนซึ่งครูหลายคนที่นำแนวทางนี้ไปใช้ต่างสะท้อนตรงกันถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

จากนั้นโรงเรียนอีกหลายแห่งจากทั่วประเทศจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) ซึ่งเป็นความร่วมมือจาก​สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ​(กสศ. )​ โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 291 แห่ง ในพื้นที่ 35 จังหวัด ที่สำคัญ​หลายโรงเรียนเริ่มเห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

กระบวนการที่ ‘เคารพความคิด’ ของเด็กทุกคน

จิตศึกษา เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ (SQ) ผ่านการนั่งจับกลุ่มเป็นวงล้อมรอบที่ครูและนักเรียนนั่งเสมอกัน พร้อมพูดคุยแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ และได้รับการเคารพทาง ‘ความคิดของเขา’  โดยไม่ถูกตัดสินและมีโอกาสนำความคิดนั้นไปต่อยอดได้ด้วยตัวเอง  จนกระทั่งกระบวนการนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปยังโรงเรียนอื่นในประเทศ เพื่อพัฒนาเด็กให้ก้าวทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ครูพิมญาภัศ สิมสวัสดิ์ จากโรงเรียนบ้านน้ำแคม จ.เลย เล่าให้ฟังว่า

​“สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการนำจิตศึกษามาใช้คือ เด็กนิ่งขึ้น รู้จักตัดสินเองว่าสิ่งไหนถูกหรือไม่ถูก แม้จะไม่ใช่กับเด็กทุกคนแต่เด็กหลายคนก็เริ่มรู้จักแบ่งปันความเห็นกับเพื่อน ​หรือในส่วนของ PBL ที่ทำให้เด็กบางคนที่ไม่สนใจการเรียนหันมาสนใจการเรียนมากขึ้นกว่าเดิม”
“ถามว่าการปรับเปลี่ยนการสอนยากไหม ต้องตอบว่าไม่ยากมันอยู่ที่มุมมองเขา ต้องดูว่าเราเอาเป้าหมายไว้ที่เด็กหรือไว้ที่ตัวเรา ถ้าเราเอาเป้าหมายไว้ที่ตัวเด็กก็ไม่ยากควรจะปรับ เพราะถ้าสิ่งที่เราปฏิบัติมา 20 กว่าปีมันไม่เห็นผล ทำไมไม่ลองดูแนวทางใหม่ หากได้ผลดีก็โอเค แต่ถ้าไม่ดีเราก็กลับไปเดินทางเดิม ถ้าเราคือครูด้วยจิตวิญญาณก็ควรที่จะเปลี่ยน”

ครูพิมพญาภัศ อธิบายเพิ่มอีกว่า

“เริ่มมาอบรมการสอบรูปแบบใหม่ครั้งแรก​นั่งฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่ก็รับทุกอย่างกลับมาคิด อย่างบางเรื่องเป็นครูมา 20 กว่าปีไม่เคยรู้เลยว่า คำพูดหรือการกระทำของครูบางอย่าง ทำให้พฤติกรรมของเด็กเป็นการเอาตัวรอด มากว่าคิดต่อยอด สิ่งที่เราพูดมาบางทีทำให้เด็กเอาตัวรอดลอกคำตอบกัน ลอกการบ้านกัน ก็ย้อนไปถึงตัวเราหากเป็นอย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งเริ่มต้นครูต้องมีใจที่เปลี่ยนก่อน”
การเรียนรู้จาก ‘ปัญหา’ เพื่อเสริมสร้าง ‘ปัญญา’

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem-based Learning : PBL นั้นมุ่งสร้างประสบการณ์ตรงผ่านการลงมือปฏิบัติและเผชิญสถานการณ์ปัญหาให้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้จากปัญหาที่ท้าทาย เพื่อเพิ่มทักษะการคิดและแก้ไขปัญหานั้นด้วยสติปัญญาของนักเรียน

การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน หรือ Project-based Learning คือการเรียนรู้ที่ครูเป็นผู้กระตุ้นความสนใจและค้นหาทักษะจากนักเรียน เพื่อใช้ทำกิจกรรมผ่านกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม โดยนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเองตั้งแต่การจัดทำโครงงานจนกระทั่งสรุปผลงานในตอนสุดท้าย

เพราะฉะนั้น การเรียนลักษณะนี้จึงถือเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง เพราะอาจเป็นเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว จึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ปัญหาไม่ซับซ้อนที่สามารถคิดและค้นหาคำตอบได้ในระยะสั้นผ่าน Problem-based Learning  และปัญหาที่ซับซ้อนต้องค้นคว้าและพัฒนาโดยใช้ระยะเวลายาวกว่าผ่าน Project-based Learning เข้ามาช่วย

คำบอกเล่าของ ครูณัฐภัทร อาสาริน จากโรงเรียนบ้านน้ำแคม จ.เลย แสดงให้เห็นว่า จิตศึกษาสามารถใช้สอนเด็กชั้นอนุบาลได้ด้วย เพราะเมื่อครูนำไปสอนเพียงแค่ 2 เดือน ก็พบว่าเด็กกล้าตอบคำถามมากขึ้น  จากช่วงแรกที่เริ่มเล่านิทานจบเด็กมักตอบเพียงแค่สนุก แต่ระยะหลังเด็กเริ่มมีคำตอบที่เป็นของตัวเอง เด็กได้รู้จักคิด รู้จักสร้างสรรค์มากขึ้น

“สำหรับสิ่งที่นำมาปรับใช้ในการสอนคือกระบวนการจากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาคือตอนเตรียมสภาวะจิต ชง- เชื่อม-ใช้ ซึ่งไม่ยากและเห็นผลดี แต่ในส่วนของการบูรณาการ PBL ส่วนตัวที่สอนหนังสือมา 2 ปี ยังมองว่าเป็นเรื่องยาก​แต่ก็จะพยายามปรับเปลี่ยนให้ได้ต่อไป”

กระบวนการ ‘ชง เชื่อม ใช้’ ถือเป็นส่วนหนึ่งของจิตศึกษาและเป็นตัวช่วยในการจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม’ ได้ชัดเจนที่สุด และนักเรียนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์เหล่านั้น

ขั้นตอนแรกเริ่มจากการ ‘ชงประเด็น’ ของครูถึงประเด็นที่จะเรียนในวันนั้น ๆ อาจเปิดด้วยการให้นักเรียนดูคลิปวิดีโอ หรือบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง แล้วค่อยถามคำถามเชิงการสังเกตเพื่อทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่นักเรียนได้รับ จากนั้น ‘เชื่อมคำถาม’ จากสถานการณ์หรือประเด็นนั้นเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสแสดงความเห็นและทดลอง ‘ใช้การจำลองสถานการณ์’ ผ่านคำถามที่ให้นักเรียนคิดว่าหากตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์นั้นควรจะทำอย่างไร

นอกจากนี้การปรับการสอนมาใช้กระบวนการจิตศึกษา และ PBL ทำให้เด็กสนใจการเรียนมากขึ้น เด็กบางคนที่เคยหนีวิชายาก ๆ อย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็เริ่มกลับมาเรียนและทำกิจกรรมจนเลิกเรียน อาจเพราะกระบวนการนี้ไม่ได้เน้นสอนหนัก แต่สอนให้เด็กรู้จักคิดมากขึ้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของ ครูเมตตา นาหิรัญ จากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย

“แม้จะสอนหนังสือในรูปแบบปกติมา 27 ปี แต่ในแง่ของการปรับเปลี่ยนการสอนของครูก็ไม่ยากเพราะใช้แผนของลำปลายมาศพัฒนามาเป็นเครื่องมือ โดยสิ่งที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือเทคนิคการพูดเสียงเบาลงเพื่อให้เด็กสนใจตั้งใจฟังมากขึ้น จากเดิมที่เคยต้องพูดเสียงดังเด็กก็ไม่สนใจแต่พอนำวิธีพูดเสียงเบามาใช้ครู 20 คนที่มาอบรม ในจำนวนนี้ 18 คนพูดตรงกันว่าได้ผลดี ​หรือเรื่องการใช้จิตศึกษามาช่วยทำให้เด็กรู้จักตัวเอง จากเดิมที่ต้องคอยเตือน ว่าอย่าทำอย่างนั้นนะ อย่างทำอย่างนี้นะ ซึ่งเด็กเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างแต่ตอนนี้ ลองเปลี่ยนให้เขามาสำรวจตัวเองว่าจะทำอะไรไม่ทำอะไรก็ช่วยให้เด็กๆเรียนรู้จากตัวเองและได้ผลมากขึ้น”

ครูเมตตา ยังกล่าวเสริมว่า

​“รูปแบบของ PBL ตอนนี้ที่เริ่มสอนคือการปั้นดินเหนียว ที่ผ่านมามีปัญหาคือดินแข็งปั้นไม่ได้ เด็กก็ต้องเรียนรู้หาทางแก้คือเติมน้ำ แต่ก็เติมน้ำมากไปก็ต้องแก้ไขด้วยการเติมดินเข้าไปอีก เวลานี้เป็นช่วงการหมักดิน ปัญหาทั้งหมดเด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้หาทางแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีการสอนมาใช้รูปแบบนี้มากขึ้นจะทำให้เด็กรักเรียนมากกว่าเดิม”
“เด็กนิ่งมากขึ้น ​เรารู้เลยว่าเขามีกระบวนการคิดเกิดขึ้น กล้าตอบกล้าแชร์กับเพื่อน ​จากเด็กบางคนที่ไม่เคยตอบคำถามในชั้นเรียนแม้เราจะยิงคำถามใส่เขาตรงๆ เขาก็ไม่เคยตอบ ทุกวันนี้พอเขาเห็นเพื่อนเริ่มตอบ เขาก็จะกล้าที่จะพูดมากขึ้น”  อีกหนึ่งคำยืนยันของครูกิรวัส วงศ์เทิดสิริ จากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย เพิ่งได้รับการบรรจุเมื่อช่วงประมาณเดือน ม.ค. ของปี 2562
​“สิ่งที่เราจะสอนได้บอกกับเด็กตรงๆ ว่าสิ่งนี้ถูกนะ แต่เราจะให้เขาไปหาความรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่ การสอนแบบเก่าๆ อาจจะเป็นการตีกรอบให้เด็กมากจนเกือบไม่มีจินตนาการ แต่พอเปิดให้เขาคิดบางทีเราก็จะได้เจออะไรมากขึ้น บางทีเด็กตัวแค่นี้คิดได้มากกว่าที่เราคิดก็มี ​สำหรับวิธีการสอนรูปแบบใหม่ก็ไม่ยาก อาจจะง่ายกว่ารูปแบบเก่าด้วยซ้ำ ​จากเดิมที่เราเหมือนต้องตีเส้นให้เขาเดินไป แต่ตอนนี้เรากำหนดลู่ไว้เฉยๆ เขาจะไปซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่ต้องเดินตรงเสมอไปก็ได้ สุดท้ายก็ไปถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน”

ครูกิรวัสกล่าว

รูปภาพครูกิรวัส วงศ์เทิดสิริ จากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย

 4,360 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า