“Developmental Evaluation” สำคัญอย่างไร ทำไมครูต้องใช้พัฒนาระบบวัดประเมิน

เพราะการประเมินที่ดีต้องทำให้เด็กพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และสร้าง 'New Normal' ให้การศึกษาไทยหลุดจากกรอบเดิมได้

Share on

 2,552 

“ถ้าโรงเรียนนำ DE ไปใช้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ขยายวงกว้างได้มากขึ้น กลายเป็นโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส ยกระดับการศึกษาไทยต่อไป”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) 

การเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีสถานการณ์มากมายที่กระทบกับกระบวนการเรียนรู้ บ้างทำให้การเรียนต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถพบปะและทำกิจกรรมใกล้ชิดกันได้ 100% การเรียนรู้ผิดปกติไป ไม่เป็นแบบแผนเหมือนเมื่อก่อน ทำให้นักเรียนไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนรู้ได้เต็มที่ 

ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันได้?

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP)  ในความดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพครูและนักเรียนของโรงเรียนไทยในทุกมิติ ปัจจุบันโครงการ TSQP ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว และได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Developmental Evaluation (DE) ช่วงกลางน้ำ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอต กรุงเทพฯ โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) เป็นประธานเปิดการอบรม โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจการประเมินแบบ Development Evaluation ให้ครูแต่ละคนนำไปใช้พัฒนานักเรียนของตนเองได้ 

การประเมินแบบพัฒนา จุดเปลี่ยนของการเรียนรู้

ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวถึงการใช้เครื่องมือ Developmental Evaluation (DE) ว่า 

“เพื่อการยกระดับคุณภาพการทำงานของโรงเรียนให้เกิดความต่อเนื่อง โครงการ TSQP จึงได้นำเครื่องมือ DE เข้ามาให้โรงเรียนได้ทดลองใช้ โดยหวังว่า DE จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดการขยายผลไปได้กว้างขวางก็จะเป็นสิ่งที่ดี” 

แม้ชื่อของ Developmental Evaluation จะดูเหมือนเครื่องมือเพื่อพัฒนาเฉพาะด้านการวัดประเมิน เพราะมีจุดเริ่มต้นจากการวัดประเมิน แต่จริง ๆ แล้วเครื่องมือนี้เน้นคุณค่าของการเรียนรู้ DE คือเครื่องมือที่จะเปลี่ยนจากการประเมินเพื่อตัดสิน แบบการศึกษาไทยในอดีต มาเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา โดยเก็บข้อมูลนักเรียนในแต่ละช่วงเวลาของการเรียนมาวิเคราะห์ เพื่อปรับวิธีการเรียนรู้ให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคน เข้ากับห้องเรียน ตอบสนองจุดประสงค์ของโครงการ TSQP

สิ่งที่ตามมาจากการประเมินเพื่อพัฒนาคือ เมื่อเรียนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เด็กก็จะบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ครบถ้วน ในระดับคุณภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ เพราะผลที่ได้จะลึกไปถึงระดับนิสัยใจคอของเด็ก จึงเรียกว่าเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

Active Learning ก้าวต่อไปจากการใช้ DE

ภาพของการศึกษาไทยที่ผ่านมา ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงพอ นี่คือสิ่งที่ท้าทายคนทำงานด้านการศึกษา แม้ว่าผลทางสถิติของการศึกษาไทยจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา นักเรียนได้คะแนนวิชาการสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ หลายโรงเรียนยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา ประกอบกับปัญหาขาดแคลนครูที่เรื้อรังต่อเนื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ให้มุมมองต่อปัญหาไว้ดังนี้

 

“ประเทศไทยมีปัญหาหลายเรื่อง สถานการณ์จึงไม่ง่าย มีความซับซ้อน และเชื่อมโยงกันเป็นระบบที่เป็นพลวัต มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จึงต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีความซับซ้อน ยุ่งยากอย่างไร แต่จะต้องดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี โดยโรงเรียนไม่ต้องทำตามสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่จะพัฒนาแนวทางของตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียน ทักษะศตวรรษที่ 21 ให้ครูเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็น Active Learning ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและหนุนเสริมครู รวมถึงผู้บริหารต้องสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในพื้นที่ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนไม่ทำตามกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่กระทรวงคิดเป็นสิ่งที่ดี แต่เรามีวิธีการที่แตกต่างออกไป”

ศ.นพ.วิจารณ์เห็นว่าแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกโรงเรียนเพราะแต่ละโรงเรียนมีเงื่อนไขต่างกัน การนำ Developmental Evaluation มาใช้กับการศึกษาไทยจึงเหมาะสมมาก เพราะจะได้แก้ปัญหาของนักเรียนแต่ละโรงเรียนอย่างตรงจุด ไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเหมาเข่ง คือใช้นโยบายเดียวกันทุกโรงเรียนแม้จะมีสาเหตุของปัญหาต่างกัน ส่วนการพัฒนาหลังการประเมินผล ศ.นพ.วิจารณ์เห็นว่าควรปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็น Active Learning เพราะจะสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นให้เด็กได้ครบถ้วน เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์ ฯลฯ และเด็กจะกลายเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่รอให้ครูป้อนความรู้ในคาบเรียน แล้วท่องจำเพื่อนำไปสอบเหมือนในอดีต

การเรียนรู้ต้องรุดหน้าแบบเป็น New normal

ศ.นพ.วิจารณ์เห็นว่า DE เป็นนวัตกรรมสำคัญของการศึกษาไทย เพราะเครื่องมือนี้จะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องร่วมกัน โดย DE จะเข้าไปสร้าง “New Normal ของโรงเรียน” ทุกโรงเรียนในโครงการ TSQP ซึ่ง New Normal นี้ไม่ใช่เรื่องโควิด-19 แต่เป็นเรื่อง “การประเมินและปรับปรุงตนเอง” สำหรับนักเรียน เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเป็นวงจรในการตรวจสอบ และประเมินคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งจะเป็นวงจรระยะสั้นหรือยาวขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนจะนำมาปรับใช้

รูปแบบการประเมินที่ดีในมุมของศ.นพ.วิจารณ์ คือ การประเมินที่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ต่อได้ ไม่ใช่เพียงตัดสินเฉย ๆ โดยไม่มีแผนดำเนินการต่อ และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันลงมือทำจริง เมื่อมีการอบรม ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการปรับเปลี่ยนถ้าพบว่ามีแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่การสั่งให้ครูเป็นผู้เปลี่ยนเท่านั้น และสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะทำอย่างไร ต้องตั้งเป้าหมาย และผู้เกี่ยวข้องคือใครบ้างต้องกำหนดออกมาให้ชัดเจน อีกทั้ง การวัดประเมินต้องดำเนินการให้มีชุดข้อมูล เพื่อตีความข้อมูลที่เก็บมาได้จากทุกกิจกรรมที่ทำ และการตีความ แม้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะคิดเห็นต่างกัน แต่ทุกคนต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นต่างนั้น และร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด

ก้าวต่อไปของ Development Evaluation

ศ.นพ.วิจารณ์  กล่าวเพิ่มเติมถึงอนาคตและความเป็นไปได้ของ DE ว่า

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ผู้เกี่ยวข้องจะผลัดกันทำ ไม่ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ต้องเอาจริงเอาจังในความต่อเนื่อง มีเป้าหมายร่วมชัดเจน ถ้าทุกฝ่ายมีเป้าหมายชัดเจน จะทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุผล ส่วนการเก็บข้อมูล ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไม่ปิดบังข้อมูล ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน โดยความสำคัญภายใต้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือการให้เด็กบรรลุเป้าหมายที่ดี ต้องทำไปเรียนรู้ไป ดังนั้น จึงอยากเห็นโรงเรียนที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ได้นำเครื่องมือ DE ไปใช้แล้วเห็นผล ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าทุกโรงเรียนจะเห็นผลชัดเจน แต่ก็อยากเห็นว่ามีหรือไม่ที่ไปกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีการนำ DE ไปใช้ และถ้าโรงเรียนนำ DE ไปใช้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ขยายวงกว้างได้มากขึ้น กลายเป็นโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส ยกระดับการศึกษาไทยต่อไป”

ภาพที่ผู้นำและสมาชิกโครงการ TSQP มุ่งหวัง คือการได้เห็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นจากการนำเครื่องมือ DE นี้ไปใช้ และสิ่งสำคัญที่ควรจะทำหลังจากการอบรมครั้งนี้คือ ผู้ที่รู้จักเครื่องมือการประเมินเพื่อคุณภาพนี้ดีแล้ว ควรจะแนะนำให้ครูคนอื่น ๆ ผู้ปกครอง และเด็ก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาพัฒนาโรงเรียนร่วมกันได้รู้จักเครื่องมือนี้ เพราะเครื่องมือนี้เอาไปปรับใช้กับนักเรียนได้ทั้งที่บ้าน ชุมชน หรือแม้แต่การเล่นกันของเด็ก ก็สามารถใช้แนวทางจากเครื่องมือ DE ได้เช่นกัน เพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ

 2,553 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า