ทักษะความปลอดภัยเพื่อรอดชีวิตสร้างได้ด้วยการสอนแบบ Active Learning

Share on

 75 

“โรงเรียน” คือสถานที่ที่เด็กในวัยเรียนใช้ชีวิตตลอดวัน ทั้งทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เล่นกีฬา และรับประทานอาหาร ซึ่งทุกเหตุการณ์มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ครูและผู้ปกครองไม่คาดคิด เพจ I AM KRU จึงชวน “อาจารย์อาท – ศิริวัฒน์ คันทารส” ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่ม Teach for Life-อาสาสอนช่วยชีวิต มาร่วมพูดคุยเรื่องความสำคัญของการเรียนรู้วิธีการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุเบื้องต้นเมื่ออยู่ที่โรงเรียน และทักษะความปลอดภัยที่ทั้งครูและนักเรียนควรมีติดตัว ในรายการ  The Equity Classroom ห้องเรียนเสมอภาค ตอน “ความปลอดภัยต้องมาก่อน” ดำเนินรายการโดย “ครูหมิว – จิณัฐตา วงค์ษา” โรงเรียนบ้านพรหมเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ 

เพราะอุบัติเหตุเลือกที่เกิดไม่ได้ ทักษะชีวิตจึงสำคัญ

กลุ่ม “Teach for Life-อาสาสอนช่วยชีวิต” เป็นทีมที่รวมบุคลากรการแพทย์ และบุคคลทั่วไป โดยมีพันธกิจ 3 ข้อคือ 1. เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนรับมือและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุตามอาคารสถานที่ 2. ให้การอบรมวิธีปฐมพยาบาลฉุกเฉิน หรือการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน และ 3. ผลักดันให้ “ทักษะการปฐมพยาบาล” เป็นทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี 

ที่มาของโครงการนี้เริ่มต้นจากการที่อาจารย์อาทได้มีส่วนร่วมส่งครูอาสารุ่นใหม่เดินทางไปสอนนักเรียนบนพื้นที่สูงและกลุ่มชาติพันธุ์กับโครงการ “ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก” ทำให้อาจารย์อาทและทีมงานท่านอื่น ๆ เห็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรครู ครูคนหนึ่งต้องสอนวิชาการ ทำงานเอกสาร และยังต้องจัดกิจกรรมของโรงเรียน ซึ่งผลที่ตามมาคือ ครูไม่มีเวลาให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตและความปลอดภัยของนักเรียน 

“ตอนที่อยู่หน่วยกู้ภัย มีอยู่ครั้งนึงไปโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ แล้วเด็กคนนึงหกล้มหัวฟาดพื้น ทุกคนยืนงงทำอะไรไม่ถูก สักพักพบว่าเด็กหัวแตก ครูพยาบาลเอาแอลกอฮอล์ราดลงไปเลย แสดงว่าองค์ความรู้การปฐมพยาบาลหรือด้านความปลอดภัยยังไม่มี เลยเป็นที่มาของการตั้งโครงการ Teach for Life” อาจารย์อาทกล่าว

อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่สามารถเลือกสถานที่เกิดได้ อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน หรือพื้นที่ที่ไกลจากโรงพยาบาล  ดังนั้นไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์หรืออาสาสมัครกู้ชีพที่ต้องสามารถปฐมพยาบาลฉุกเฉินเป็น แต่ทุกคนในโรงเรียนจะต้องมี “ทักษะชีวิต” เพื่อกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นก่อนส่งถึงมือทีมแพทย์ต่อไป ความคาดหวังของอาจารย์อาทคือ ครูในโรงเรียนต้องสามารถทำการปฐมพยาบาลหรือกู้ชีพเป็น และต้องถ่ายทอดทักษะนี้ให้แก่นักเรียนได้

“กรณีหกล้ม แขนหัก ขาหักยังสามารถรอเวลาได้ แต่กรณีหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น เราต้องการการดูแลอย่างรวดเร็ว ต้องเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 4 นาที แต่บนดอยใช้เวลาเดินทางขึ้นไปนาน บางครั้งใช้เวลา 3-4 ชม. ความรู้เรื่องการช่วยชีวิตจึงต้องอยู่ในโรงเรียน” 

อุบัติเหตุแก้ไขได้ ป้องกันได้ และเป็นเรื่องของทุกคน

สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนการเรียนรู้และลงมือฝึกฝนทักษะการช่วยชีวิต คือการ “เปลี่ยนทัศนคติ” ของคนทุกคน เพราะทุกคนล้วนมีโอกาสเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงเรียน เช่น นักเรียนจมน้ำ หรือหมดสติ ครูและเพื่อน  นักเรียนกลับคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง บางคนอยากเข้าไปช่วยเหลือแต่ยังไม่กล้า ไม่มั่นใจ หรือบางคนก็มองว่าเป็นความโชคร้ายที่เด็กต้องเจอ ทั้งที่หากคนใกล้ตัวสามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างถูกวิธี เด็กก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ 

“เด็กจมน้ำแล้วตายไม่ใช่เรื่องเวรกรรม เด็กจมน้ำเราช่วยให้ไม่ตายได้ ต้องแยกเรื่องอุบัติเหตุกับความตายออกจากกัน คนหมดสติเราทำให้เขาไม่ตายได้ ไม่ใช่ว่าเกิดอุบัติเหตุเขาเลยตาย เด็กตกน้ำตายมีสามปัจจัย ปัจจัยแรกคือเด็กไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ สอง เด็กเกิดเป็นตะคริวพลัดตกลงไป สาม ถ้าคนเห็นแล้วช่วยได้ เขาก็รอด เพราะฉะนั้นเขาจะรอดมั้ยขึ้นกับทักษะของคนที่อยู่ใกล้เคียง

คนหมดสติไม่หายใจเราห้ามไม่ได้ แต่เราทำให้เขาฟื้นได้ คนจมน้ำเป็นอุบัติเหตุ แต่ถ้าคนอื่นช่วยได้ทันและช่วยถูกวิธีเขาก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม” อาจารย์อาทกล่าว

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หากทุกคนคิดว่าการช่วยเหลือคนตรงหน้าคือหน้าที่ของตนเอง และสามารถช่วยเหลือได้ถูกวิธี อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็จะลดลง ดังนั้นครูจึงมีหน้าที่ในการทำให้นักเรียนเชื่อว่า การช่วยชีวิตเป็นหน้าที่ของทุกคน

Active Learning กระบวนการสอนที่สร้าง “โรงเรียนปลอดภัย”

อาจารย์อาทได้ให้มุมมองเรื่องการเรียนการสอน “ทักษะชีวิต” โดยเสนอว่าสิ่งที่โรงเรียนควรสอนอย่างจริงจังประกอบด้วย 1. การประเมินความเสี่ยงในกรณีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ เช่น การประเมินคุณภาพอาหารเบื้องต้น หรือการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี 2. การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤติ และ 3. ทักษะการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น วิธีนำผู้ประสบอุบัติเหตุออกจากจุดเกิดเหตุ การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ทั้ง 3 ส่วนนี้โรงเรียนควรดึงออกมาเป็นคุณสมบัติหลักที่นักเรียนทุกคนต้องมี 

“จริง ๆ sense เรื่องความปลอดภัย การมองว่าเรื่องนี้อันตรายหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ ควรปลูกฝังตั้งแต่อนุบาล เด็กต้องสามารถประเมินได้ เช่น อันนี้ร้อน ไหม้ พอง หรือช็อต ฯลฯ ความปลอดภัยไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 มันมีปัจจัยอื่นที่เขาอาจไม่เคยเจอในตำรา เขาต้องประเมินเองได้เมื่อไปเจอสถานการณ์อื่น ๆ 

เราสามารถสอดแทรกเรื่องการประเมินความปลอดภัยเข้าไปในวิชาต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องแยกออกมาเป็นวิชาเฉพาะ มันคือวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นการเรียนเรื่องก๊าซ เขารู้ว่าไฟลุกได้เมื่อมีออกซิเจน คิดว่าวิชาอื่น ๆ ก็ควรจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าไปเช่นกัน” อาจารย์อาทกล่าว

ขณะเดียวกัน หลายโรงเรียนอาจมีการสอนทักษะชีวิตเหล่านี้ให้แก่นักเรียนแล้ว เช่น สาธิตวิธีการกู้ชีพผู้ที่หัวใจหยุดเต้น แต่ยังคงเจอปัญหาสำคัญคือ นักเรียนยังทำไม่เป็น หรือยังไม่กล้าลงมือทำเมื่อเจอสถานการณ์จริง นั่นเป็นเพราะเด็กขาดการฝึกฝน เมื่อไม่ชำนาญจึงไม่กล้าปฏิบัติจริง วิธีการแก้ไขคือปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักเรียนได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ท่องจำ และต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ จนพวกเขาเชี่ยวชาญทักษะชีวิต

“บางโรงเรียนมีการสอน CPR ด้วยการทำให้ดู มีผู้สาธิต 2 คน เด็ก 700 คน บรรยายให้ฟัง 3 ชม. ปั๊มหุ่นให้ดู 10 ที แล้วเชื่อว่านักเรียนทุกคนจะทำ CPR เป็น สุดท้ายเด็กมีความรู้แต่ไม่มีทักษะ เหมือนกับการที่เราดูวิดีโอปั่นจักรยาน เราก็ยังปั่นไม่เป็น การสอนเรื่องเหล่านี้ต้องเป็น active learning อย่างน้อยทุกคนต้องเคยได้ลงมือทำ หน่วยงานการศึกษาทั้งภาครัฐภาคเอกชนควรออกแบบกระบวนการฝึกอบรมให้เขาตระหนัก เข้าใจ ทำเป็น” 

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องกระบวนการและหลักสูตรที่ต้องปรับเปลี่ยน อาจารย์อาทเสริมว่า อีกปัจจัยที่จะทำให้การสอนทักษะชีวิตประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการ และทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน เพื่อช่วยผลักดันการลงมือทำจริง และ ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ฝึกทักษะ เช่น หุ่นฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน เพื่อที่นักเรียนทุกคนจะสามารถลงมือฝึกได้ ไม่ใช่การฝึกเฉพาะเด็กที่เป็นอาสาสมัคร   

โรงเรียนจึงควรเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัย การเอาตัวรอด และการช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ต้องส่งเสริมให้เขาตระหนัก เข้าใจ และกล้าลงมือทำเมื่อเจอกับสถานการณ์เหล่านี้ ถ้าเราเริ่มต้นเรื่องปลูกฝังทักษะชีวิตที่โรงเรียนได้สำเร็จ เราจะสามารถส่งต่อสังคมที่ปลอดภัยในอนาคต

“ถ้าเริ่มต้นที่โรงเรียนปลอดภัย ครอบครัวก็ปลอดภัย และสังคมก็จะปลอดภัย ถ้าเด็กถูกผลิตไปจากโรงเรียน เป็นคนที่มี sense เรื่องความปลอดภัย เราก็จะมีสังคมที่ปลอดภัย  วันหนึ่งที่เราหมดสติขึ้นมาในที่สาธารณะ เราอาจจะเจอเด็กที่มีทักษะเหล่านี้เข้ามาช่วยชีวิตเรา” อาจารย์อาทกล่าวทิ้งท้าย

 76 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

Through 'Psycho-Education,' Children Learn to Think Boldly and Solve Problems Independently
In search of teachers of Kru Rak Thin to fill in the educational gap by bringing them home
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save