“5 นวัตกรรมการศึกษา” เพื่อคุณภาพการเรียนรู้คู่ความสุข

เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ด้วยตัวอย่างกิจกรรมจาก กสศ. และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ เพื่อเสริมทักษะที่จำเป็นให้นักเรียน

Share on

 3,902 

อยากสร้างกิจกรรมสนุก ๆ ในห้องเรียน แต่ยังไม่มีไอเดีย ทำอย่างไรดี? 

บทความนี้รวบรวม 5 กิจกรรมจาก 5 โรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ในความดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เน้นให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Active learning) พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยความสนุก และถ้าเป็นรูปแบบของเครื่องมือหรือนวัตกรรม นักเรียนทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน เพื่อ​ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน 

กสศ.และ TSQP มุ่งหวังให้คุณครูจากโรงเรียนอื่น ๆ นำแนวทางจากกิจกรรมเหล่านี้ไปปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง เพื่อร่วมสร้างห้องเรียนเสมอภาคไปด้วยกัน

1. “โรงเรียนไร้เสียงออด” ฝึกความรับผิดชอบของนักเรียน 

นักเรียนจะเข้าแถวและเข้าเรียนตรงเวลาได้หรือไม่ หากไม่มีเสียงออด?

ปกติโรงเรียนทั่วไปจะใช้เสียงออดหรือเสียงระฆังเพื่อส่งสัญญาณให้นักเรียนรู้ตัวว่าต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เคารพธงชาติ เข้าเรียน หมดคาบเรียน ไปจนถึงบอกเวลาเลิกเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักกรอบของเวลา รู้จักหน้าที่และระเบียบวินัย แต่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์กลับมีความคิดแตกต่างออกไป โดยตั้งคำถามว่า จะดีกว่าหรือไม่ถ้าโรงเรียนเปลี่ยนจากการ “บังคับ” ไปเป็นการสอนให้เด็กรู้จัก “กำกับตนเอง” 

อ.วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เปิดเผยว่า การเลิกใช้เสียงออด เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ รู้ด้วยตนเองว่าตอนนี้ต้องทำอะไร ชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ และนำไปสู่การรู้จักกำกับตัวเอง รู้ตัวว่าตอนนี้กำลังทำอะไร ภายในขอบเขตเวลาเท่าไหร่ ไปจนถึงการวางแผนการทำงาน เพราะในวันที่ต้องออกไปทำงานร่วมกับคนหมู่มาก ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ถือเป็นอีกลักษณะนิสัยที่จำเป็นเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น และไม่มีผู้อื่นมาคอยเตือน

“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เข้าแถว เข้าห้องเรียนได้แล้ว” 

ในระยะเริ่มต้นปรับตัวต้องใช้เวลาฝึกทั้งครูและนักเรียน ครูต้องไม่เข้าไปบังคับเด็ก ส่วนเด็กก็จะต้องรู้ตนเองมากขึ้น แต่เมื่อทำไปได้สักระยะเด็ก ๆ จะสามารถปรับตัวได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกปลูกฝังติดตัวไปจนถึงตอนโตและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงนอกรั้วโรงเรียนซึ่งไม่มีเสียงออด เสียงระฆังมาคอยเตือนพวกเขา ซึ่งความสำเร็จของโรงเรียนไร้เสียงออดนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบการฝึกวินัยนักเรียนของอีกหลายโรงเรียนทั่วประเทศ

2. ปรับตารางเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ด้วยการบูรณาการแบบ PBL

ปัญหาใหญ่ของห้องเรียนไทย คือ “เวลา” และ “เนื้อหา”  แม้หลายโรงเรียนจะพยายามปรับเปลี่ยนคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น แต่ก็ยังติดกับกรอบเดิม ๆ เรื่องที่จะต้องกำหนดสัดส่วนคาบเรียนและเนื้อหาในแต่ละสัปดาห์  ทำให้ไม่อาจขยับปรับเปลี่ยนได้มากนัก และด้วยหลักสูตรของแต่ละวิชาที่เขียนแยกกัน ทำให้ขาดการเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกัน นักเรียนจึงไม่สามารถเรียนรู้แบบเกิดประโยชน์สูงสุด แนวทางแก้ปัญหาคือการปรับตารางเรียนและเนื้อหา ใช้ “สถานการณ์เดียวกัน” เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาทุกวิชาหลักพร้อมกัน

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ผนวกรายวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ใช้วิธีการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Project-Based Learning (PBL) ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เปลี่ยนบทบาทครูจากผู้สอนหน้าชั้นเรียนตลอดคาบ เป็นผู้ดูแลกระบวนการ และผู้สร้าง “สถานการณ์” ให้นักเรียน

อ.พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง กล่าวว่า โรงเรียนยังคงยืนพื้นด้วยวิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือ ทั้ง วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (กอท.) สังคม สุขศึกษาและพละศึกษา และ ดนตรี จะบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันเป็น “หน่วยเรียนรู้” ตามโจทย์ต่าง ๆ เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น ที่จะนำเอาตัวชี้วัดแต่ละรายวิชามาออกแบบการเรียน ให้นักเรียนบรรลุตัวชี้วัดของทุกรายวิชาด้วยอย่างมีคุณภาพ และได้รับความสนุกมากกว่าการเรียนแบบเดิม

“เมื่อตารางสอนเปลี่ยน การสอนของครูเปลี่ยน ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กก็เปลี่ยน เด็ก ๆ กล้าแสดงออกมาขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือการสอนแบบนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่คนมองว่าเด็กบนดอยทำไม่ได้ ไม่เก่ง ไม่มีศักยภาพ เราก็อยากพิสูจน์ว่าเด็กบนดอยทำไมจะทำไม่ได้ ไม่ว่าเด็กบนดอย เด็กพื้นที่ราบ เด็กรวย เด็กจน สามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาตัวเองได้ถ้าได้รับโอกาสการเรียนรู้ที่ดีซึ่งพิสูจน์แล้วทำได้จริง” 

3. Active Learning ฝึกคิด ฝึกทำ กับกิจกรรม “บ้านวิทยาศาสตร์น้อย”
 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดทำโครงการ “บ้านวิทยาศาสตร์น้อย” เป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนที่ต้องการใช้การเรียนการสอนแบบ “Active Learning” หรือเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยมีจุดประสงค์คือ เด็กสามารถสื่อสารได้เก่งขึ้น สามารถให้เหตุผลกับคำถามที่ยาก ๆ ได้ และเห็นถึงกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก

ชั้นเรียนในโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. จิตปัญญา” หรือการสร้างสมาธิก่อนเริ่มบทเรียน ทำได้ทั้งการนั่งสมาธิ หรือเล่นเกม เช่น ตบแปะ การฝึกสมาธิจะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิ รู้สึกตัวเร็ว ง่ายต่อการดึงสมาธิกลับมาสู่ชั้นเรียน
  1. ตั้งคำถาม” หลังจากนักเรียนพร้อมเรียนแล้ว ครูจะนำเข้าสู่เนื้อหาโดยตั้งคำถามปลายเปิด กระตุ้นความสนใจในชั้นเรียน พยายามลดคำถามปลายปิดแบบ “ใช่ -ไม่ใช่” เพื่อให้เด็กคิดหาคำตอบหาเหตุผลมาตอบคำถาม
  1. ลงมือทดลอง” ครูให้นักเรียนหาคำตอบของคำถามด้วยตัวเอง เมื่อเด็กได้คำตอบแล้ว ครูจะไม่บอกทันทีว่าถูกหรือผิด แต่จะให้เด็กได้ลงมือทดลองปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เขารู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่คิดถูกต้องหรือไม่ นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
  1. สรุป” สิ่งที่เกิดขึ้น ต่อยอดไปยังการเรียนรู้เรื่องอื่น โดยครูจะคอยไกด์คำถามให้อยู่ในกรอบการเรียนรู้ จนเด็กสามารถสรุปและเชื่อมโยงไปยังโจทย์อื่นต่อไป

โรงเรียนชุมชนวัดน้ำขาว จ.สงขลา เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ตัดสินใจนำโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการสอนปกติในชั้นเรียนอนุบาล – ป.3 ทุกวันพุธ คุณครูมณฑา บูหัส ครูประจำชั้น ป.1 โรงเรียนชุมชนวัดน้ำขาว กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากจัดกิจกรรมให้นักเรียนว่า

“เวลาเราเห็นเด็กตอบคำถามที่เราไม่คิดว่าเด็กจะคิดได้แบบนี้ เรานี่ว้าวหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง มันสะท้อนว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี่ได้ผล จนเด็กสามารถคิดหาคำตอบได้ตัวเอง” 

4. ทำดีหรือไม่ดีอย่างไร ประเมินตนเองได้ผ่าน “ขวดน้ำ” 

จะดีกว่าไหมถ้านักเรียนได้เป็นคนประเมินการเรียนรู้ของตนเอง?

โดยปกติครูจะเป็นคนคอยให้คะแนนนักเรียน ประเมินว่านักเรียนทำคะแนนและผลงานออกมาได้ดีหรือไม่เพียงฝ่ายเดียว แต่ที่โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้เปลี่ยนวิธีการให้คะแนน โดยนำนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมให้คะแนนตัวเองประกอบการประเมินผลในช่วงของการเรียนรู้แบบ Active Learning

รูปแบบที่โรงเรียนนำมาใช้คือการจัดเรียง “ขวดบรรจุน้ำสี” ไล่เรียงกันไปตั้งแต่เต็มขวดจนหมดขวดแทนคะแนน 1-10 เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมจะให้เด็กประเมินตัวเองว่าตัวเองควรจะได้คะแนนเท่าไหร่จากกิจกรรมที่ได้ทำไป แล้วให้เด็กไปยืนอยู่ตรงขวดน้ำนั้น พร้อมกับอธิบายว่า ทำไมถึงให้คะแนนตนเองเท่านี้ วิธีนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้ย้อนคิดพิจารณาประเมินผลตัวเองในแง่มุมต่าง ๆ โดยมีครูเป็นผู้ซักถามรายละเอียด เช่น ทำไมให้คะแนนตัวเองเท่านี้ วันนี้ทำจุดไหนได้ดี มีจุดไหนที่ทำไม่ดี มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง

ข้อดีของการที่เด็กได้ประเมินตัวเอง คือ สามารถสะท้อนบางมุมที่คุณครูอาจจะมองไม่เห็นว่าเด็กคิดอย่างไร ทำอะไรบ้างในคาบนั้น และทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ซึ่งขวดน้ำเป็นเพียงแค่รูปแบบหรือจุดเริ่มต้นหนึ่งของการประเมินตัวเอง ยังมีอีกหลายวิธีที่โรงเรียนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

“ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นคะแนนตัวเลขแต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่จะไปตัดสินความดี ความชั่ว ความเก่ง ความอ่อนของผู้เรียน แต่เป็นไปเพื่อดูพัฒนาการของแต่ละทักษะว่ามีขึ้นมีลงอย่างไร ในอนาคตจะมีหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ คือไม่ได้สอบวัดผลแต่จะเป็นการวัดว่าทำได้ไม่ได้ เหมือนสอบเลื่อนขั้นของเทควันโดจากสายเหลืองไปจนถึงสายดำ ที่จะต้องแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา การประเมินแบบนี้จะเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ แบบฐานสมรรถนะมากขึ้น”

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าว

5. ปางปอยเมกเกอร์ พื้นที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

การเรียนรู้ที่ดี คือการเรียนรู้ผ่านการลงมือคิดจริง ทำจริง และได้ผลงานของตนเองจริง

มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมจึงสร้าง STEAM Design Process หรือเครื่องมือพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา ผ่านการออกแบบผลงานตนเอง ซึ่งกระบวนการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ “ปางปอยเมกเกอร์” กิจกรรมของโรงเรียนบ้านปางปอย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยการสร้างผลงานใน “ปางปอยเมกเกอร์” ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้

  1. ตั้งคำถาม” ว่าเราจะทำอะไร อยากจะผลิตอะไรออกมา
  2. จินตนาการ” ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ว่าหน้าตาของสิ่งนั้นจะเป็นอย่างไร
  3. วางแผน” ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อค้นหาข้อมูล และวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง
  4. ลงมือ” สร้างสรรค์ผลงานด้วยทักษะที่ตนเองมี
  5. สะท้อน” (reflect) และ “รีดีไซน์” เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานให้ดีขึ้น

ตัวอย่างผลงานนักเรียนที่สร้างจากปางปอยเมกเกอร์ คือ “ทองพับสมุนไพรจากแป้งกล้วยน้ำว้า” ผลงานนี้ผ่านการผลิตและต่อยอดจนได้รางวัลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประเภทกิจกรรมการประกวดแปรรูปอาหารปี 2562 นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของการปรับรูปแบบการเรียนเปลี่ยนการสอน ที่เลิกท่องจำสูตรเดิมๆ และ หันมาเน้นพัฒนาสูตรใหม่ด้วยตัวเอง

“การทำหน้าที่ของครูคือจะเปลี่ยนจากคนสอน คนบอกสูตร มาเป็นคนที่แค่คอยชี้แนะให้คำแนะนำให้เขารู้จักไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น การทำแป้งจากกล้วยน้ำว้า เด็กก็ต้องไปหาวิธีทำจากในอินเตอร์เน็ต การทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จ นักเรียนก็ต้องมาปรับแก้ไข ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning”

ครูศิริพร เตชนันท์ ครูโรงเรียนบ้านปางปอยกล่าว

5 กิจกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนลงมือทำด้วยความสนุก โดยสอดแทรกความรู้เข้าไปในทุกกระบวนการ ทุกกิจกรรมเป็นผลงานที่ กสศ. และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือล้วนภาคภูมิใจ และอยากให้โรงเรียนทั่วประเทศนำไปปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างครบถ้วน  

 3,903 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า