ครูพี่เลี้ยง กับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

Share on

 1,823 

อ.พรพิมล ทักษะวรบุตร อดีตศึกษานิเนศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.ขอนแก่น เขต 1 ที่ยังคงมีใจในการพัฒนาการเรียนการสอนของประเทศไทย ปัจจุบันยังคงทำงานในวงการการศึกษาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันวิจัยและพัฒนาครูสำหรับอาเซียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ควบตำแหน่งพี่เลี้ยงครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้เชื่อในเรื่องของการเรียนรู้แบบภาระงานเป็นฐาน (on the job training) โดยมีครูพี่เลี้ยงเป็นผู้พาสอน ว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ครูตชด. ที่อยู่ในโรงเรียนนั้นสามารถออกแบบการเรียน และทำการสอนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

ทำไมจึงจำเป็นที่จะต้องมีครูพี่เลี้ยง

ครูตชด. แม้ว่าจะเป็นครูที่มีใจรักในการสอน และทุ่มเทให้กับงาน แต่ว่าครูตชด. ส่วนหนึ่งนั้นไม่ได้เรียนมาทางด้านครุศาสตร์ ได้รับการศึกษาเพียงแค่การอบรม 7 เดือน การที่ระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะทำให้สามารถจัดการ และออกแบบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นถือเป็นเรื่องยาก ยิ่งไปกว่านั้นครูโรงเรียน ตชด. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การเป็นครู แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจควบคู่กันไป แถมยังมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากนี้ที่เข้ามาอีก ทำให้แค่จะสอนนั้นก็แทบจะไม่มีพลังแล้ว การจะเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองเพิ่มเติมนอกเหนือเวลางานอีกจึงถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ครูพี่เลี้ยงจึงถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มทักษะในการสอนจริงให้ครูตชด. ยกระดับความรู้ความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอน

เพื่อที่จะให้ครูตชด. หรือครูมือใหม่ได้เรียนรู้วิธีการสอน ให้รู้ว่าในแต่ละกระบวนการต้องมีวิธีการจัดการอย่างไร วิธีการใดได้ผล วิธีการใดไม่ได้ผล ครูพี่เลี้ยงสามารถมาช่วย ให้ความเห็น ช่วยทำให้สถานการณ์การเรียนรู้ภายในห้องเรียนเกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นการพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนและภาระงานเป็นฐาน มีครูพี่เลี้ยงพาเรียนรู้ ออกแบบ และสะท้อนไปในแต่ละกระบวนการ โดยในช่วงแรกนั้นครูพี่เลี้ยงอาจเข้าไปช่วยเหลือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อครู ตชด. เริ่มสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้วครูพี่เลี้ยงจึงค่อยถอยออกมา วิธีการนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนรู้ผ่านการอบรม ที่เหมือนเป็นแบบฝึกหัดให้ครูทดลองมากกว่าที่จะเป็นการปรับจากการทำงานจริงแบบการใช้ภาระงานเป็นฐาน บริบทในห้องอบรมนั้นแตกต่างจากสิ่งที่ตัวครูเจอจริงในห้องเรียนของตัวเอง ทำให้ยากต่อการนำไปปรับใช้    การมีครูพี่เลี้ยงจึงเป็นตัวช่วยครูตชด. ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าความรู้นั้นจะถูกส่งไปถึงห้องเรียน และครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ที่เหมาะสมกับห้องเรียนที่รับผิดชอบได้

ห้องเรียนแบบไหนที่จะมาช่วยครู ตชด.

ด้วยความที่โรงเรียน ตชด. นั้นมีทรัพยากรครูไม่เพียงพอต่อจำนวนชั้นเรียนที่มีในโรงเรียน ตชด. ทำยังไงจึงจะทำให้ภาระงานนั้นสามารถยุบรวมเพื่อช่วยเหลือครูตชด. ได้ ‘ห้องเรียนแบบคละชั้น’ จึงถือเป็นคำตอบของคำถามนี้ โดยการให้เด็กที่ต่างช่วงชั้นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น ป.1-ป.2 หรือ ป.3-ป.4 เข้ามาเรียนด้วยกัน ในห้องเดียวกัน ซึ่งช่วยครูโรงเรียนตชด. ลดภาระในการเตรียมการเรียนการสอนของครูที่ได้ถูกมอบหมายให้สอน แทนที่จะสอนทีละห้องก็สามารถสอนสองห้องพร้อมกันได้ หรือตอนที่มีครูภายในโรงเรียนลา ครูคนอื่นก็สามารถนำวิธีนี้เพื่อให้เด็กไม่ว่าง และได้มีการเรียนการสอน แทนที่จะอยู่เฉย ๆ หรือนั่งเล่นกันได้ นอกจากนี้ห้องเรียนของโรงเรียนตชด. นั้นจะมีเด็กอยู่ไม่มาก บางครั้งอาจมีเพียงแค่ 5-6 คนต่อห้องเรียน ห้องเรียนแบบคละชั้นก็จะเป็นตัวช่วยทำให้เด็กในห้องมีจำนวนมากพอที่จะทำให้กระบวนการปฏิสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลายนั้นเกิดขึ้น

“เราเป็นนักการศึกษา เรารู้ว่ากลุ่มที่จะทำกิจกรรม แลกเปลี่ยน เกิดปฏิสัมพันธ์ และการเรียนรู้ดีที่สุดมันอยู่ประมาณ 15-25 คน”

อีกเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วยครูตชด. ได้ก็คือ การเรียนรู้แบบปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning) โดยเป็นวิธีการนำปรากฏการณ์ หรือการที่สถานการณ์มากมายนั้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกจริง เช่น ปรากฏการณ์โควิด มาใช้ในการเรียนการสอน เปลี่ยนบทบาทของผู้เรียนจากคนที่คอยรับข้อมูล กลายเป็นผู้สืบเสาะเนื้อหาด้วยตัวเอง (Active Learning) และเปลี่ยนบทบาทของครูเป็นคนที่ตั้งประเด็น และคอยเสนอแนะไม่ใช่คนที่สอนโดยตรง ทำให้เด็กภายในห้องสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของ และยังทำให้ให้เด็กที่เรียนได้รู้ว่าตัวเองทำไมต้องเรียนในแต่ละเนื้อหา

นอกจากครู ตชด. แล้วใครอีกบ้างที่ยังต้องเปลี่ยน

ระยะก้าวข้ามจากการเรียนการสอนแบบเดิม ไปสู่การเรียนการสอนแบบใหม่ หรือวัฒนธรรมภายในโรงเรียนแบบใหม่ นั้นคือระยะที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่จะอยู่ที่ช่วงนี้ การมีครูพี่เลี้ยงช่วยในการเปลี่ยนครู ตชด. อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

“มันต้องเปลี่ยนจนกลายเป็นวัฒนธรรมจึงถือว่าสำเร็จ พอครูใหญ่ไม่อยู่ ผอ.ไม่อยู่ถึงเวลา ครูมานั่งประชุมเพื่อออกแบบ แลกเปลี่ยนกัน มาดูกันมีตารางที่ฉันว่างเธอสอน แล้วไปดูกัน สะท้อนกัน แล้วก็มาปรับ แผนที่ใช้แล้วก็เก็บเป็นคลังข้อมูล ปีต่อไปถึงระยะนี้ก็ดึงออกมาปรับปรุง”

หากเปลี่ยนแค่เจตคติของครูให้เปิดรับการเรียนการสอนแบบใหม่ และเพิ่มทักษะความรู้ในการสอน และออกแบบการเรียนการสอน ใช้เวลาขั้นต่ำคือ 3 เดือน แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ว่าโรงเรียนนั้นสามารถเปลี่ยนได้จริงไหมอาจต้องคอยติดตามผลถึง 1 ปี เพราะไม่ใช่แค่ตัวของครูตชด. เท่านั้นที่จะต้องเปลี่ยน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนทั้งครูใหญ่ ผู้นำในโรงเรียน และคนที่เกี่ยวข้อง ทุกคนต้องเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน มีการทำ PLC (Professional Learning Community) เป็นระยะ ทำให้กระบวนการทั้งหมดนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในโรงเรียน

“เปลี่ยนครูต้องเปลี่ยนทั้งหมด เปลี่ยนคนเดียวมันเดียวดาย”  ไม่ใช่เพียงแค่คนใดคนหนึ่ง หรือครูคนใดในโรงเรียนที่จะต้องรับหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงคนเดียว แต่มันคือทั้งโรงเรียนนั้น สภาพแวดล้อมทั้งหมดภายในระบบที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันคุณภาพของการศึกษา ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของโรงเรียนนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

#iamkru #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา #กสศ #โรงเรียนบ้านนาชมภู 

 1,824 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า