เปลี่ยน ‘แผงไข่’ ให้เป็น ‘สื่อการสอน’

สอนเศษส่วนให้เข้าใจจาก ‘แผงไข่ในครัว’

Share on

 2,343 

สอนเศษส่วนให้เข้าใจจาก ‘แผงไข่ในครัว’

‘PLC Coaching Online ชุมนุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้เชื่อมโยงออนไลน์’ พาไปทำความรู้จัก ‘ครูสุ’ สุภาพร กฤตยกรณุพงศ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนเพลินพัฒนา ผู้ริเริ่มพัฒนาแนวทางการสอนรูปแบบใหม่ ที่หยิบใช้สิ่งรอบตัวมาประยุกต์เป็นสื่อการสอน ระดับชั้น ป.3 โดยใช้ ‘แผงไข่’ มาช่วยเด็ก ๆ ในการทำความเข้าใจเรื่องเศษส่วน โดยมีผู้อำนวยการและครูจากเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล (พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา) และเครือข่ายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเรียนรู้ออนไลน์รวม 16 โรงเรียน

เปลี่ยน ‘แผงไข่’ ให้เป็น ‘สื่อการสอน’

เพียงแค่เห็นครูถือแผงไข่เข้ามาในชั้นเรียน เด็ก ๆ ทั้งห้องก็รู้สึกตื่นเต้น ต่างจินตนาการไปว่าครูจะเอาไข่ไก่มาให้ทำอะไรในคาบวิชาคณิตศาสตร์ แม้แต่เด็กที่เข็ดขยาดวิชาคำนวณดั่งกินยาขมก็ยังให้ความสนใจกับแผงไข่ตรงหน้า

แต่ละกลุ่มจะมีแผงไข่เป็นของตนเอง ในแผงไข่นั้นจะแบ่งแนวตั้งได้ 5 แถว และแนวนอนได้ 6 แถว เมื่อคุณครูให้โจทย์ว่า ให้ใส่ไข่ลงไปเศษหนึ่งส่วนสองของแผง เด็ก ๆ ต่างสนุกสนานกับการช่วยกันเรียงไข่ลงบนแผงให้ได้ครึ่งหนึ่ง

“เศษสามส่วนหก” สิ้นคำสั่งโจทย์ใหม่ เด็ก ๆ รีบช่วยกันเรียงไข่ลงบนแผงอีกครั้ง แต่คราวนี้ พวกเขาพบว่าไม่ต่างจากโจทย์เดิมเลย เพราะเศษหนึ่งส่วนสองมีค่าเท่ากับเศษสามส่วนหกนั่นเอง ครานี้เองที่เด็ก ๆ เข้าใจและเห็นภาพของการเปรียบเทียบเศษส่วนได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่าการแรเงาลงในกระดาษอย่างเคย

คุณครูให้โจทย์ใหม่ ๆ เพิ่มอีกหลายข้อเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องเศษส่วนมากขึ้น โดยที่นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อ แถมยังเรียกร้องขอโจทย์ใหม่เพิ่มอีก คาบเรียนที่แสนเบื่อหน่ายสำหรับเด็กบางคนก็กลายเป็นคาบเรียนที่สนุกขึ้นมาได้ ที่สำคัญ พวกเขาจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคาบเรียน ไม่ถูกทอดทิ้งเพียงเพราะไม่ถนัดหรือไม่เข้าใจคณิตศาสตร์

จะสังเกตได้ว่า แผงไข่ธรรมดาๆ นำไปสู่การถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเด็ก ๆ พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการลงมือทำ ได้หยิบจับสัมผัสสื่อการเรียนรู้ ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงจากประสบการณ์เดิมของตนเอง หรือที่เรียกว่า

ความรู้สะสม (Met Before) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณครูเคยสอน หรือประสบการณ์ที่เคยพบเจอ เมื่อต่างคนต่างประสบการณ์ จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และคำตอบกับเพื่อนๆ และเกิดการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ด้วยตนเอง

 

‘ความรู้สะสม’ ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้

ความน่าสนใจของแผงไข่คือ แต่ละคนจะจัดเรียงไข่ไม่เหมือนกันบนโจทย์เศษส่วนที่เหมือนกัน บ้างเรียงแนวตั้ง บ้างเรียงแนวนอน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ ‘ความรู้สะสม’ (Met Before) จากประสบการณ์เดิมของตัวผู้เรียน อาจจะเป็นความรู้ที่รับจากครูมาก่อนหน้านี้ ทั้งการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ

ในแต่ละคาบเรียน ครูต้องนําความรู้สะสมของนักเรียนแต่ละคนมาเป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ต้องคาดการณ์ ‘แนวคิดของผู้เรียน’ เพื่อให้เด็กแต่ละคนที่มีพื้นฐานไม่เท่ากัน สามารถไต่ลำดับความเข้าใจไปได้พร้อม ๆ กัน ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนที่เป็นมิตรต่อผู้เรียนอีกด้วย

Learning by Doing เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เด็กสนุก-ครูสังเกต

หากนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ จะทำให้คุณครูสามารถสังเกตเห็นวิธีแก้ปัญหาของเด็กแต่ละคน รวมถึงแบบกลุ่มได้ การที่ได้ลงมือทำนั้นจะทำให้เด็กๆ ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ไม่กลัวผิด เกิดการเรียนรู้ได้ทันที รวมถึงการได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันกับเพื่อนๆ เป็นการต่อยอดความรู้ร่วมกัน

นอกจากนี้คุณครูยังสามารถมองเห็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่านภาษากาย สีหน้าและแววตา ความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนวิธีคิดกับเพื่อนๆ รวมถึงเด็กที่นั่งนิ่ง ซึ่งอาจบอกได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังคิด หรือขาดความรู้สะสมเพียงพอทำให้ไม่รู้วิธีเริ่มต้นในการลงมือแก้ปัญหา

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้หมายความว่า คุณครูต้องหมั่นสังเกตและใส่ใจนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเก่งหรืออ่อน เด็กตั้งใจเรียนหรือเด็กซน เพราะเด็กทุกคนสำคัญเท่ากัน

คำแนะนำจากครู นำไปสู่การสร้างศิษย์

หลังจบบทเรียนหนึ่งๆ ครูสุจะคอยสะท้อนบทเรียนให้กับเด็กเป็นรายคน โดยเฉพาะในขั้นตอนการตรวจสมุดแบบฝึกหัด ครูจะสามารถเขียนอธิบายเพิ่มเติม แก้ไขผิดให้เป็นถูก หรืออาจเรียกนักเรียนมาทำความเข้าใจโจทย์อีกครั้ง และจะไม่ละเลยใครก็ตามที่ยังไม่สามารถเข้าใจบทเรียนได้จริง

ครูสุให้คำแนะนำว่า “ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเด็กว่าไม่มีใครอยากผิด ไม่อยากเสียความมั่นใจ เราอาจใช้คำพูดที่ไม่ตัดสินว่าอันไหนผิด แต่ลองพลิกแพลงคำถามใหม่เพื่อให้เด็กตรวจสอบด้วยตัวเอง เขาก็จะไม่เสียความมั่นใจ หรือแม้ว่าเขาจะตอบผิด แต่เด็ก ๆ ก็พร้อมจะหาคําตอบใหม่ และกล้าบอกว่าเขาผิดตรงไหน เพราะอะไร”

ครูสุภาพร กฤตยกรณุพงศ์ ในงานประชุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง
ณ โรงแรม อมารี ดอนเมือง

เมื่อการเรียนในห้องไม่ได้ต้องแย่งกันยกมือตอบ หรือเกิดความรู้สึกกังวลเมื่อตอบผิด แต่เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้เพื่อน ๆ ช่วยกันค้นหาคำตอบ จะเกิดพื้นที่ปลอดภัย เด็ก ๆ จะรู้สึกมั่นใจที่จะคิด ถาม ตอบ หรือแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ‘ครู’ จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตรแบบนี้ ครูต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ลองผิดลองถูก สุดท้ายแล้วเมื่อเขาเจอคําตอบด้วยตัวเอง เขาจะมีความมั่นใจและรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ไม่ปิดกั้นกับวิชาใด ๆ ก็ตาม

ขณะที่ ครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อํานวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา เสริมว่า การพาเด็กเรียนรู้แบบไต่ระดับ ครูต้องทำนั่งร้าน (scaffolding) หรือขาหยั่งให้เด็กไต่ไปทีละขั้น เริ่มจากครูต้องเข้าใจเรื่องความรู้สะสมของเด็กว่ามีอะไรบ้าง ต้องเห็นปลายทางสุดท้ายของระดับที่อยากให้เด็กไปถึง และต้องเห็นว่าจากจุดที่เด็กอยู่จนไปถึงเป้าหมายที่เราอยากให้เขาไปถึง สามารถทำนั่งร้าน หรือขาหยั่งที่เหมาะสมกับเด็กเพื่อไต่ระดับได้กี่ขั้น กี่ระดับ หมายถึงเราต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของสิ่งที่เด็กจะเรียน และธรรมชาติวิธีการเรียนของเด็ก เพื่อวางโจทย์หรือหาประสบการณ์ที่เป็นลำดับ

 2,344 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า