5 ไอเดียต่อยอดการเรียนทางไกล จากโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร

เมื่อครูและนักเรียนต้องอยู่ไกลกัน จะมีวิธีใดบ้างที่ทำให้นักเรียนไม่หลุดจากการศึกษา

Share on

 1,089 

“การจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นทำให้มีโอกาสในการพัฒนาเรื่องการใช้เทคโนโลยี หรือการคิด ขวนขวายหาวิธีการว่าจะทำยังไงให้เด็กทุกคนได้เรียน
และเรียนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
สมพิศ กอบจิตติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาคร

ช่วงปลายเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมีนาคม 2564 โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครได้รับคำสั่งให้ปิดทำการเรียนการสอนในโรงเรียน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่หนักขึ้น ครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด โรงเรียนแต่ละแห่งจึงต้องปรับตัว ปรับวิธีการสอนให้ห้องเรียนเกิดขึ้นได้แม้ผู้สอนกับผู้เรียนอยู่คนละสถานที่ ผ่านสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบต่าง ๆ และหาวิธีทำให้นักเรียนสนใจบทเรียนแม้ไม่มีครูคอยควบคุม บทความนี้จึงรวบรวม 5 วิธีการจาก 5 โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของ กสศ. ไว้สำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ที่กำลังหาไอเดียการสอนในยามที่ครูและนักเรียนจำเป็นต้องอยู่ไกลกัน 

หารูปแบบการเรียนใหม่ ๆ ให้ไม่เบื่อ ด้วย PLC

การปิดโรงเรียนสำหรับโรงเรียนวัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร ถือเป็นโอกาสในการหาวิธีเรียนรู้แบบใหม่ ด้วยการใช้กระบวนการของ PLC หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยที่ทีมโค้ชจาก TSQP ผู้บริหารโรงเรียน และคณะครูจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกสัปดาห์ ในเรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ และทักษะที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้

รัชนีพร บุญศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่หนองพะอง กล่าวว่า การปิดเรียนที่ยาวนานสร้างความอ่อนล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก แต่เด็ก ๆ กลับมองว่าเป็นมิติใหม่ ๆ ของการเรียนรู้ ทุกคนตื่นเต้นที่ได้เรียนในรูปแบบที่ต่างไปจากการเรียนในห้อง ครูจะใช้กระบวนการ PLC ทุกสัปดาห์เน้นการค้นหารูปแบบใหม่ ๆ ในการเรียนการสอน ครูทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี กิจกรรมที่ครูจัดต้องเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาการเรียน อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือเด็กบางคนแต่เดิมไม่สนใจการเรียน แต่เขากลับกลายเป็นคนขยันเรียนเมื่อได้เรียนแบบออนไลน์ ทำให้เราคิดว่ารูปแบบการเรียนก็ถือว่ามีผลต่อความสนใจของนักเรียนด้วย

ปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์คือเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสาร นักเรียนหลายคนยังขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเรียนออนไลน์ โรงเรียนวัดใหม่หนองพะองจึงใช้วิธีรวมเด็กบ้านใกล้กันมาเรียนด้วยกัน พยายามเข้าถึงนักเรียนทุกคน ทุกบ้าน ให้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนอย่างเท่าเทียม

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผอ.รัชนีพร กล่าวว่า การจัดการศึกษาในช่วง COVID-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือครูมีความ active ขึ้น กระตุ้นตัวเองในการหาสิ่งแปลกใหม่มาพัฒนาตัวเองและส่งให้กับนักเรียน วิกฤตครั้งนี้ทำให้ได้เห็นความสามัคคี อดทน และความทุ่มเทของบุคลากรโรงเรียนร่วมมือกันเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนต่อไปได้ ถึงแม้จะไม่เต็มร้อยก็ตาม

ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อเข้าถึงนักเรียนห่างไกล

สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ “การเรียนผ่านโทรทัศน์” ถือเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักเรียนเติมความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ ร่วมกับสื่อการเรียนรู้แบบใบงาน และ Learning Bag ที่เต็มไปด้วยความรู้คู่ความสนุก

สุพัตรา นาวิก ผู้อำนวยการโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล กล่าวว่า ประสบการณ์ COVID-19 รอบแรกทำให้โรงเรียนมีการสำรวจความพร้อมเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ของเด็ก โรงเรียนได้นำข้อมูลที่มีมาปรับใช้เป็นต้นแบบจัดการศึกษา เริ่มตั้งแต่การจัดให้มีการเรียนผ่าน DLTV ร่วมกับให้เด็กรับงานกลับไปทำ โดยครูจะตามงานเด็กทุกวัน ซึ่งผู้ปกครองของเด็กทุกคนจะสื่อสารกับครูโดยตรงผ่านไลน์กลุ่ม ครูจะบันทึกว่าเด็กเข้าเรียนกี่คน คนที่ไม่เข้าเรียนติดปัญหาอะไรบ้าง และหาทางแก้ไขให้ทันที

“โรงเรียนมีการจัดทำสื่อ ‘กสิกรรมชาแนล’ เป็นช่องที่ครูใช้เผยแพร่ความรู้ รวมถึงใช้สอนเด็ก ๆ ให้ทำคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารส่งต่อกันทางกลุ่มไลน์หรือเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน อีกทั้งช่องทีวีที่สร้างขึ้นยังใช้แลกเปลี่ยนเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ของโรงเรียนอื่น ๆ ในสมุทรสาครที่ประสบปัญหาเดียวกันด้วย และที่สำคัญคือ โรงเรียนปรับ Learning Box ที่ได้รับจาก กสศ. ให้เป็น Learning Bag และมอบให้เด็กตั้งแต่ชั้น อ.2 ถึง ป.6 เด็กจะได้รับ Learning Bag ประกอบด้วยชุดการเรียนรู้ โจทย์งาน และอุปกรณ์เพื่อนำไปทำชิ้นงาน และกลับมาส่งพร้อมรับถุงใหม่ทุกสัปดาห์ โดยรวมแล้วทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็ก ๆ สามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์วิกฤต แม้ชิ้นงาน การบ้าน หรือผลสะท้อนที่ส่งกลับมาอาจจะไม่ได้เต็มร้อยเหมือนตอนโรงเรียนเปิด แต่ทุกคนก็พยายามให้ความร่วมมือกับโรงเรียนอย่างเต็มที่”

ผอ.สุพัตรากล่าว

เรียนออนไลน์ สื่อสารกันได้แบบ real time

สำหรับโรงเรียนที่ทำการสำรวจความพร้อมของนักเรียนแล้วพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ หรือ นักเรียนเกิน 80% สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ ก็ควรจะจัดห้องเรียนผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ให้ครูและนักเรียนได้คุยกันแบบ real time และต้องไม่ลืมที่จะเตรียมแผนการสำรองสำหรับนักเรียนที่เกิดเหตุขัดข้องฉุกเฉิน หรือนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ได้ อย่างที่โรงเรียนบ้านบางปิ้ง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาครได้เตรียมการอย่างดีในเทอมที่ผ่านมา

รัติยา กาหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางปิ้ง กล่าวว่า โรงเรียนใช้วิธีจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM, Google Meet  และ DLTV สามารถเข้าถึงเด็กได้กว่า 89.72% จากเด็ก 400 คน มีเพียง 10.28 ที่เข้าไม่ถึง ซึ่งโรงเรียนได้ใช้วิธีติดต่อผู้ปกครองให้เข้ามารับและส่งงานที่โรงเรียน หรือให้ครูที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเด็ก ๆ เข้าไปส่งมอบและรับงาน ร่วมกับการใช้กล่อง Learning Box จากกสศ. ซึ่งมีแบบฝึกหัดและงานที่ครอบคลุมทุกสาระการเรียนรู้ ทำให้แม้ในเด็กกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาออนไลน์ ก็ยังสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้ในช่วงที่โรงเรียนปิด

“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้การตอบรับและร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่ครูและผู้ปกครองทุกคนคิดเหมือนกันคือ วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ชาวสมุทรสาครทุกคนต้องรับผลกระทบรุนแรงจากการเป็นพื้นที่สีแดง ครูและผู้ปกครองจึงกระตือรือร้นในการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ต่อไป ทั้งช่วยตามงานเด็ก สอบถามความคืบหน้าเรื่องบทเรียน และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ต่างยอมรับรูปกระบวนการจัดการศึกษาในรูปแบบของ TSQP ที่ใช้นวัตกรรมอย่าง Learning Box มาช่วยสร้างการเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุก ด้วยสื่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย และวิธีการสอนของครูที่ไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก”

ผอ.รัติยากล่าว

Maker Space พื้นที่แห่งกิจกรรมเพื่อความสนุก

สำหรับการเรียนในห้องเรียนออนไลน์ ถ้าเนื้อหาไม่มีประโยชน์และไม่น่าสนใจจริง เด็กก็จะมีโอกาสหลุดจากการเรียนในคาบนั้นสูงมาก ครูจึงต้องออกแบบกิจรรมห้องเรียนออนไลน์ให้น่าสนใจ ซึ่งหนึ่งในห้องเรียนที่นักเรียนให้ความร่วมมือดีคือโครงการ Maker Space ที่นักเรียนโรงเรียนบ้านยกกระบัตรต่างชื่นชอบและรอคอยที่จะทำกิจกรรมร่วมกับครูและเพื่อน 

สมพิศ กอบจิตติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ Maker Space คือ ครูจะทำตารางให้นักเรียนในห้องได้ทำกิจกรรมสัปดาห์ละครั้ง เปิดโอกาสให้เด็กคิดว่าอยากทำอะไร ตามความสนใจ ตามสภาพแวดล้อมของตน โดยห้องเรียนกิจกรรมจะแบ่งเป็น 6 ห้องให้เด็กเลือกเข้าเรียนห้องไหนก็ได้ตามความสมัครใจ เช่น ทำอาหาร สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ ซึ่งเด็กจะส่งงานเป็นภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอกลับมา การจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ทำให้ครูมีโอกาสในการพัฒนาเรื่องการใช้เทคโนโลยี ได้คิดขวนขวายหาวิธีการว่าจะทำยังไงให้เด็กได้เรียนและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การส่งผลงานเป็นคลิป การทำข้อสอบออนไลน์ โดยรวมครูทุกคนมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น

“ถึงแม้มีปัญหาอุปสรรคที่พบในการจัดการเรียนการสอนที่ทำอยู่ คือ เด็ก ๆ และผู้ปกครองไม่ได้มีความพร้อมทุกครอบครัว ทั้งเรื่องเวลาและเครื่องมือ แต่ครูของเราจะไม่ปล่อยใครไว้ จะเข้าถึงทุกคนในจำนวน 342 คนของนักเรียนทั้งหมด เราต้องตามทุกคน ใครหายไปครูจะเข้าไปหา ไปส่ง-รับใบงานถึงบ้าน”

ผอ.สมพิศกล่าว

การสอนแบบ ‘ออนแฮนด์’ เข้าถึงนักเรียนทุกคน ทุกครัวเรือน

แม้ว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบการสอนจะดีแค่ไหน แต่โฟกัสสำคัญที่สุดของารเรียนออนไลน์คือ “นักเรียน” ที่อยู่ไกลจากครู คุณครูภาษิตา เฉียงภาเลิศ โรงเรียนวัดปัจจันตาราม จังหวัดสมุทรสาคร เล่าให้ฟังถึงรูปแบบการสอนของโรงเรียนว่า ในการระบาดระลอกใหม่โรงเรียนใช้วิธี ‘ออนแฮนด์’ คือมีใบงาน ให้ครูอัดคลิปสอน แล้วให้ครูประจำชั้นส่งให้ผู้ปกครองเด็กทางกลุ่มไลน์ สำหรับ ป.4-6 ซึ่งเป็นเด็กโต จะเสริมด้วยการสอนออนไลน์ผ่าน Google Meet แล้วมีการติดตามผลโดยครูประจำชั้น ยกเว้นคนที่ไม่สะดวกเรียนออนไลน์ ก็จะเพิ่มเติมด้วยใบงานแทน

“สำหรับ Learning Box จากกสศ. ช่วยในการสอนได้เยอะ แต่เพราะจำนวนกล่องมีน้อยกว่าจำนวนนักเรียน เรานำของในกล่องมาแยก มาจัดทำใหม่ให้ครบตามจำนวนเด็ก ซึ่งใช้ได้จริงในหลาย ๆ วิชา ข้อดีของการจัดการศึกษาในช่วงนี้คือเด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง เขาจะสนุก มีอิสระ เลือกเวลาเรียนเองได้ประมาณหนึ่ง กลุ่มนี้จะเรียนประมาณ 10 โมง ถึงบ่าย ๆ บางคลาสขอเข้าเรียนตอนค่ำ เขาก็ตอบรับกันดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ส่วนชั้นประถมถือว่ามีความสนุกตื่นเต้น แต่อัตราเข้าเรียนยังอยู่แค่ 50% เพราะไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล” ครูภาษิตากล่าว

ครูภาษิตากล่าวว่า อุปสรรคสำคัญคือเด็กที่เริ่มโต ผู้ปกครองเขาจะพาไปทำงานด้วย ผู้ปกครองเขาจะคิดว่าโรงเรียนหยุด ก็ให้ไปช่วยขายของ ขายผัก ทำนาเกลือ จึงอธิบายว่าโรงเรียนปิดแต่เด็กยังต้องเรียน ยังต้องได้เติมความรู้ ซึ่งก็ต้องเป็นความพยายามของทางโรงเรียนที่จะทำความเข้าใจต่อไป

Learning Box ที่ กสศ. จัดทำขึ้นมา ถือว่ามีประโยชน์มากกับทั้ง 5 รูปแบบกิจกรรม ของ 5 โรงเรียนตัวอย่าง และสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ในโครงการ TSQP หรือโรงเรียนที่ร่วมมือกับกสศ. ต่างก็ได้รับ อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนในยามที่ครูและเด็กต้องห่างไกลกัน ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันของแต่ละโรงเรียนคือ วิธีการดึงดูดความสนใจของนักเรียน และการติดตามผลที่เกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ทำออกมาได้ดี อย่างไรก็ตาม การเรียนทางไกลไม่ได้เหมาะกับนักเรียนทุกคน ทุกครัวเรือน การเรียนในห้องเรียนยังถือเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีครู มีเพื่อนที่ช่วยกันเรียน ดังนั้นทุกโรงเรียนจึงต้องช่วยกันควบคุมสถานการณ์ให้ดี ไม่ให้เกิดวิกฤตโรคระบาดในโรงเรียนขึ้นอีกระลอกหนึ่ง 

 1,090 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า