ทำความรู้จัก “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” โรงเรียนเอกชนที่เด็กยากจนก็เรียนได้

ทำความรู้จัก “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” โรงเรียนเอกชนที่เด็กยากจนก็เรียนได้

Share on

 2,301 

ทำความรู้จัก “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา”
โรงเรียนเอกชนที่เด็กยากจนก็เรียนได้

ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างก็พยายามส่งบุตรหลานเข้าเรียนใน ‘โรงเรียนที่ดี’ ยอมทุ่มเงินหลักล้านเพื่อ ‘ซื้อสังคมที่ดี’ และคาดหวัง ‘อนาคตดี ๆ’ ให้เด็ก ๆ ผู้เป็นที่รักและความหวังของครอบครัว อีกฟากบนเส้นทางการแข่งขัน ความยากจนกำลังผลักเด็กอีกกว่าสองล้านคนออกห่างจากลู่วิ่งแห่งการศึกษานี้ และแน่นอนว่ามีเด็กอีกห้าแสนคนที่รัฐไม่สามารถคว้าไว้ได้ พวกเขาหลุดลอยออกนอกเส้นชัยแห่งการศึกษา อันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน บาดเจ็บ ระหกระเหินเดินออกจากสนามนี้ไปพบกับโลกกว้างที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเจอกับอะไร

เมื่อการศึกษาเป็นขั้นบันไดแห่งความหวัง การเติบโต และเป็นเส้นทางพัฒนาชีวิต เหตุใดเล่าเด็กทุกคนถึงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม น่าเสียดายที่แม้แต่เรื่องการศึกษาก็ยังต้องอาศัยว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา

ผู้บริหารโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ดี ความมุ่งมั่นที่จะสร้างการศึกษาที่ดีและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมของเหล่าคุณครู ผลักดันให้เกิดโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาขึ้นมาได้ในที่สุด

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” โรงเรียนนี้มีดีอย่างไรที่ทำให้ครอบครัวหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากจ.บุรีรัมย์ ตัดสินใจทิ้งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ย้ายถิ่นฐานมาเพื่อส่งลูกชาย “น้องนนทิ” มาเข้าเรียนในที่แห่งนี้

​สุดาดวง นาคะสุวรรณ อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้เหตุผลที่พาน้องนนทิมาเล่าเรียนไกลถึงจ.บุรีรัมย์ไว้ว่า เมื่อครั้งที่ได้อ่านหนังสือของครูใหญ่ – วิเชียร ไชยบัง เล่าถึงการเรียนการสอนที่ต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ เพราะแนวคิดของครูใหญ่ที่เน้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตมากกว่าตำราหนังสือ โรงเรียนนำเรื่องจิตศึกษามาใช้ในการสอนร่วมกับการสร้างพลังงานเชิงบวก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในตัวเด็กมากกว่าผลการเรียน

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียนสักบาท เปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยก็สามารถเข้าเรียนได้ ห้องเรียนของโรงเรียนนี้มิใช่ห้องสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่กลับเป็นท้องฟ้าและผืนหญ้าที่ให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ฝึกทักษะการสังเกต เรียนรู้ ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง รวมไปถึงทักษะการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการเลือกสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้

“ก่อนหน้านี้เราก็อ่านหนังสือมาแทบทุกแนว Montessori ​Waldorf​ รุ่งอรุณ ดรุณสิกขาลัย แต่ก็ยังรู้สึกเฉียดๆ ยังไม่โดนเท่าไหร่ พอมาอ่านหนังสือของครูใหญ่แล้วดีเลย ทำให้อยากไปดูโรงเรียน พอขับรถไปดูก็ประทับใจบรรยากาศของโรงเรียน พลังเชิงบวกในโรงเรียน รู้สึกว่าเด็กเป็นอิสระ ตอนไปดูเป็นช่วงพักเที่ยง เด็กเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว วุ่นวาย ในขณะที่เมื่อถึงเวลาเข้าห้องเรียน ทุกคนก็รู้หน้าที่ โดยไม่มีเสียงประกาศ ทั้งโรงเรียนกลับเงียบสนิท เหลือแต่เพียงเสียงใบไม้ สายลม และเสียงนก ดูแล้วรู้สึกประทับใจมากที่เด็กมีวินัยได้ขนาดนี้”

สุดาดวงเล่าถึงความประทับใจก่อนจะเผยต่อไปว่า

“ตอนที่ตัดสินใจย้ายน้องมาเรียนที่นี่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งตนเองและสามี​อยู่กรุงเทพฯ จากที่เคยเป็นอาจารย์ พอคลอดลูกเสร็จ ก็ลาออกมาเป็นคุณแม่เต็มตัว ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าหาโรงเรียนที่เข้ากับลูกไม่ได้ ก็ตั้งใจจะทำโฮมสคูลเอง”

แต่เมื่อได้เจอกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทั้งครอบครัวจึงย้ายมาอยู่ที่จ.บุรีรัมย์ แต่ก็ต้องมีการปรับตัว เธออธิบายต่อว่า

“แรกๆ ก็ต้องเตรียมตัวจัดระเบียบวิธีการทำงานใหม่ เพราะเราเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ต้องเข้ามากรุงเทพฯ บ้างเพื่อประสานงาน จึงต้องผลัดเปลี่ยนให้สามีไปอยู่ที่บุรีรัมย์ เราก็เริ่มจากไปเช่าบ้านที่นู่น ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่เคยไปอยู่ต่างจังหวัดเลย ก็ไม่แน่ใจว่าจะปรับตัวได้ไหม”

ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เธอเห็นทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของเด็กไทยแย่ลงเรื่อย ๆ จึงคิดว่ากระบวนการศึกษาในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของเธอไม่ได้อยู่ที่ทำให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ หากแต่ต้องการให้ลูกได้รู้ตัวว่าชอบอะไร และจะสนับสนุนเขา

“เราสอนมหาวิทยาลัยมาก่อนเรารู้ว่าการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แปลว่าเด็กจะไปได้ดีเสมอ บางคนเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ได้ชอบทางนี้ก็มาดร็อปปีสุดท้าย บางคนออกไปเรียนทำอาหารก็มี หรือออกไปอยู่เฉยๆ ปีสองปีก็มี เพราะไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต”

หลังจากน้องนนทิเข้าเรียนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เธอพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและคุ้มค่า กระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้ เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและลงมือทำ ฝึกหาคำตอบและวิเคราะห์แก้ปัญหาด้วยตนเอง ส่วนคุณครูก็ใส่ใจและรับฟังนักเรียนอยู่เสมอ นอกจากจะดีต่อตัวเด็กแล้ว ยังดีกับเธอและครอบครัวที่สามารถไว้วางใจโรงเรียนให้ดูแลลูกได้โดยที่ไม่ต้องกังวล มีสมาธิกับงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ไม่ต่างจาก ​ปิยะนุช แสงสว่าง – คุณแม่ของน้องนะมะ นะโม ซึ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯ เช่นกัน เริ่มแรก เธอปรึกษาคุณหมอว่าควรให้ลูกเรียนโรงเรียนแบบไหนดี ต่อมา ได้คำแนะนำมาว่ามีโรงเรียนหนึ่งที่ไม่มีแบบเรียน ใช้วิธีเรียนแบบเล่น เธอจึงหาข้อมูลเพิ่มเติม ประจวบกับแฟนเป็นคนบุรีรัมย์พอดี จึงได้จังหวะมาเยี่ยมบ้าน และแวะมาดูโรงเรียนด้วย สุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อ.หนองกี่ ห่างจากโรงเรียน 60 กิโลเมตร

แม้จะต้องขับรถรับส่งลูกมาโรงเรียน ไปกลับวันละ 4 รอบ เป็นระยะทางร่วม 200 กิโลเมตรแต่เธอก็พบว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับ

“พอมาเรียนแล้วเราก็เห็นเขามีความสุขอย่างที่เราต้องการ เห็นพัฒนาการตามวัย เติบโตเป็นขั้นๆ เรามาคลุกคลีกับโรงเรียนบ่อย ๆ ตัวเราเองก็ได้ซึมซับวิถีไปด้วย ​ได้ปรับตัวทั้งแม่ทั้งลูก หากเรียนที่กรุงเทพฯ สิ่งที่ลูกเราจะไม่ได้ก็คือเรื่องทักษะชีวิต การช่วยเหลือตัวเอง การดูแลคนอื่น เรื่อง​จิตศึกษา ความรับรู้ตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ หากเป็นที่กรุงเทพฯ โรงเรียนแนวนี้ก็จะราคาสูง แต่ที่นี่เรียนฟรี นักเรียนก็จะมีความหลากหลาย ตั้งแต่ลูกคนงาน ลูกชาวนา ลูกหมอ ลูกทนาย เขาน่าจะได้เรียนรู้ความแตกต่างของสังคม และไม่ได้ตัดสินคนจากแค่เรื่องเงินหรือเทคโนโลยี”

คุณแม่น้องนะมะ นะโม กล่าวเสริมว่า

“ค่านิยมที่ต้องให้ลูกเรียนสูงๆ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้นั้น เราเองเรียนมาเยอะก็ยังไม่ได้ใช้ เดี๋ยวนี้เราอยากรู้อะไรก็แค่กดคลิกเดียวก็รู้แล้ว แล้วเขามีความสามารถในการค้นหามากกว่าเราอีก เลยมองว่าไม่จำเป็นต้องไปสอบเหมือนสมัยเรา ขอให้เขาคิดเป็น ตัดสินใจเป็นดีกว่า”

“วันนี้เราเห็นเขาสามารถรู้ตัวเองได้ก็ภูมิใจ เป็นทักษะที่สำคัญ ถ้ารู้ตัวก็จะตอบได้ว่าสิ่งที่เขาทำผิดหรือถูก แล้วจะเกิดผลอะไรต่อไป หากผลที่ออกมาไม่โอเคก็ต้องยอมรับในผลที่ตัวเขาเองเลือก ซึ่งเด็กที่ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องพวกนี้ ก็ยากต่อการเติบโตทางความคิด”

ปิยะนุชกล่าว

ปัจจุบันโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาหรือโรงเรียนนอกกะลา ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) เพื่อปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดกลางหลายแห่ง

 2,302 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า