วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า: ว่าด้วย Q-info เครื่องมือป้องกันเด็กไทยหลุดจากระบบ

ชวนรู้จักเส้นทางการสร้างระบบฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนไทย

Share on

 1,039 

“โรงเรียนจะต้องมีเป้าที่ชัดเจน ว่าในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปถึงเป้าก็ต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของโรงเรียนตัวเองก่อน สิ่งที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ก็คือ ข้อมูล” –
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า ผู้พัฒนาระบบ Q-info 

การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากจะต้องลงมือทำในพื้นที่จริง เข้าถึงนักเรียนจริง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนและชีวิตของพวกเขา สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ระบบข้อมูล” ที่มีความพร้อม เก็บข้อมูลของเด็ก ๆ ไว้หลากหลาย และเข้าถึงได้ทันทีที่ต้องการ

โครงการ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งคือการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ

เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่นี้เรียกว่า Q-info เป็นระบบสารสนเทศช่วยพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา สามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของนักเรียนได้เกือบจะเรียลไทม์ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เวลาการมาเรียนของนักเรียน ทั้งแบบรายวันและรายวิชา ขาดเรียนกี่ครั้ง ผลการสอบ คะแนนกิจกรรม ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปประเมินผลนักเรียน เจาะลึกถึงปัญหาของเด็กแต่ละคน และนำมาปรับปรุงการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้นได้ และเนื่องจากระบบนี้มีข้อมูลของนักเรียนในทุกด้าน ซึ่งลดขั้นตอนและระยะเวลาการเก็บข้อมูล รวมถึงขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลได้ดี กสศ.จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือ Q-info มาให้ทุกฝ่ายใช้ในกระบวนการพัฒนาโรงเรียนได้

Q-info ถูกใช้ในระบบการศึกษาหลายประเทศ เช่น บราซิล เครื่องมือนี้ช่วยให้ผลการสอบเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาระดับประเทศ หรือ PISA ของประเทศบราซิลเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาแล้วกว่า 10 ปี และสหรัฐอเมริกา ก็ได้ใช้ Q-info เพื่อยกระดับการแข่งขันของนักเรียนภายในประเทศด้วย

 สำหรับในประเทศไทย เครื่องมือนี้ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลความคาดหวังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา อาทิ โรงเรียน ผู้ปกครอง ครู ศึกษานิเทศก์ กองการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะสรุปเป็นตัวบ่งชี้ทางการศึกษา 3 ข้อ ได้แก่ โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม คุณภาพ และประสิทธิภาพของการศึกษา จนกระทั่งปี 2559 ได้นำไปใช้ในพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการขยายผลเป็น 200 โรงเรียน และกำลังจะเพิ่มอีก 773 โรงเรียนในอนาคตง

 

กว่าจะมาเป็น Q-info ทำอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกับข้อมูลใน Q-info คือ ‘ระบบหลังบ้าน’ ของ Q-info ซึ่งผู้ที่สามารถอธิบายเส้นทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่นี้ได้ดีที่สุดก็คือ ‘ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า’ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  หลายคนอาจยังไม่รู้จัก ดร.วรลักษณ์ แต่เมื่อพูดถึง ‘จ่าเฉย’ จะต้องอ๋ออย่างแน่นอน ซึ่งจ่าเฉยถือเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่มี ดร.วรลักษณ์อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

“งานวิจัยชิ้นนั้น เป็นการทำงานร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (image processing) โดยเริ่มต้นจากการจราจรบนคอสะพาน ถ้ามีรถที่ขับทับเส้นทึบเข้ามาจะมีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับและออกใบสั่งได้โดยอัตโนมัติ เริ่มต้นเราทดลองใช้ที่แยกดินแดง ก่อนจะขยายผลไปยังที่อื่นๆ อีก 21 จุด”

จากเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยทางจราจร
สู่เทคโนโลยีเกี่ยวกับการศึกษา 

ดร.วรลักษณ์เข้ามาช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศของ กสศ. ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการศึกษา ผ่านการสร้างฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง  

“โจทย์แรกที่ได้รับจาก กสศ. คือ ต้องการได้ข้อมูลที่จะนำมาช่วยปฏิรูปการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ เราจึงจะต้องกลับมาดูว่า มีข้อมูลตัวไหนหรือตัวบ่งชี้ตัวไหนที่จะเกิดประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะพบว่ามีอยู่ประมาณ 3 เรื่อง คือ หนึ่ง-โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สอง-ความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพการเรียนการสอน และสาม-ความเหลื่อมล้ำในด้านประสิทธิภาพของสถานศึกษา
เมื่อเรามาดูแผนพัฒนาสถานศึกษาโดยรวม เราอยากจะได้แผนพัฒนาโรงเรียนที่มีคุณภาพและประโยชน์ในการใช้งาน แน่นอนโรงเรียนก็จะต้องมีเป้าที่ชัดเจน ว่าในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปถึงเป้าก็ต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของโรงเรียนตัวเองก่อน สิ่งที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ก็คือ ข้อมูล”
ปัญหาสำคัญที่จุดประกายให้เกิดระบบฐานข้อมูล

ก่อนที่จะมีระบบฐานข้อมูล โรงเรียนต่าง ๆ มีความต้องการเก็บข้อมูลของนักเรียนอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนต่าง ๆ ต้องใช้เวลาและกำลังอย่างมากในการประมวลผล บุคลากรต้องสละเวลาการเตรียมการสอน และการทำหน้าที่อื่น ๆ เพื่อมาทำข้อมูลนักเรียน แต่ที่มากกว่านั้นคือข้อมูลขาดความต่อเนื่อง เมื่อไม่มีความต่อเนื่องจึงไม่สามารถประมวลข้อมูลที่สำคัญบางอย่าง เช่น การติดตามผลการเรียนของเด็กนักเรียนในแต่ละปี ฉะนั้น Q-info จะเข้ามาช่วยดูความต่อเนื่องของการวัดผล และดูแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงได้แบบหลายปีต่อเนื่องกัน

“อย่างแรกเลยคือ ข้อมูลที่เป็นรายบุคคล จากเดิมเรามีข้อมูลของเด็กชั้น ป.1 แต่พอขึ้น 
ป.2 ข้อมูลเหล่านั้นกลับหายไป ไม่ได้ถูกส่งต่อ และเป็นการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบของกระดาษ แต่ถ้าเราเก็บไว้ในระบบสารสนเทศไม่ว่าจะเป็น ป.2 ป.3 ป.4 ป.5 ป.6 ก็สามารถย้อนกลับไปดูข้อมูลในชั้น ป.1 ได้ ข้อมูลจะถูกส่งไปในทุกชั้นปีในรูปแบบสารสนเทศ เพื่อดูจุดอ่อน จุดแข็ง และความต้องการพิเศษของเด็กทุกคน 
อย่างที่สอง สามารถติดตามความก้าวหน้าของสถานศึกษาได้ เพราะใช้เปรียบเทียบกับแผนพัฒนาในแต่ละปีของสถานศึกษา มีการตั้งเป้า มีตัวชี้วัด โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ในปีถัดไป เพื่อเปรียบเทียบได้ว่ามีการพัฒนาจากปีที่แล้วหรือไม่”

ระบบฐานข้อมูล กับการเจาะลึกช่วยเหลือท้องถิ่น

เมื่อมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่ใช้ระบบฐานข้อมูล Q-info โรงเรียนท้องถิ่นจึงเข้าถึง Q-info ได้มากขึ้น ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการศึกษาเพื่อดูย้อนหลัง ทำให้ครูสามารถตั้งเป้าหมายพัฒนาความรู้เด็กได้ตรงจุด และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์กับปีที่ผ่านมาได้

“ตอนที่เริ่มทำ Q-info ความตั้งใจแรกคือ การนำมาใช้ในการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (area base education) เพราะฉะนั้นในช่วงแรกๆ เราได้จับมือกับเทศบาลนครภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ถ้าเราจะพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเชิงพื้นที่ ก็ต้องถามว่าในพื้นที่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอแล้วหรือยัง ซึ่งก็พบว่ายังไม่มี 
เราจึงพัฒนาตัวบ่งชี้ 3 ด้าน คือโอกาส คุณภาพ และประสิทธิภาพทางการศึกษา ซึ่งถ้าเราใช้วิธีการเก็บข้อมูลเหมือนสมัยก่อน คุณก็ส่ง template ไป แล้วให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนกรอกข้อมูลกลับมา ว่าแต่ละโรงเรียนมีเด็กยากจนเท่าไหร่ ติดศูนย์เท่าไหร่ ติด ร. มส. เท่าไหร่ มีเด็กที่สุขภาพไม่ดีเท่าไหร่ ถามว่าข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้แค่ไหน ใช้ช่วยเด็กได้ทันท่วงทีไหม บางทีอาจจะไม่ได้
ฉะนั้นข้อมูลที่จะนำมาใช้งานได้ต้องเกิดจากการทำงานจริงๆ ของโรงเรียน จะเห็นว่าข้อมูลของ Q-info จะมีการแจ้งผลการเรียน ปรินต์จากระบบให้ผู้ปกครอง จะมีตาหลายตาช่วยเช็คข้อมูล” 
ข้อมูลจากการวิจัย ที่น่าเป็นห่วง และน่าสนใจ 

ในฐานะผู้พัฒนาระบบฐานข้อมูล ดร.วรลักษณ์กลายเป็นผู้ได้รับรู้ประสบการณ์ของนักเรียนมากมายผ่านช่วงการเก็บข้อมูล มีกรณีที่เป็นปัญหาควรแก้ไข เช่น 

“มีข้อมูลเด็กคนหนึ่งที่ติดศูนย์เป็น 10 ตัว เพราะสะสมมาหลายชั้นปี และติดศูนย์มาโดยตลอด พอเรียนจบ ม.3 แล้วรอเรียนต่อ ม.4 เพราะเขาได้โควตานักกีฬา ก็มาขอใบจบการศึกษา ครูก็ให้ไม่ได้ เพราะติดศูนย์มาหลายชั้นปี แล้วไม่มีคนมารับผิดชอบตรงนี้ ครูสอนชั้นนี้เสร็จก็จบไป เด็กก็เสียโอกาสไปเลย
อีกเรื่องคือ พอเราเริ่มเก็บข้อมูลอัตราการเข้าเรียน จะพบกรณีที่เด็กคนหนึ่งขาดเรียนบ่อยทุกวันจันทร์ เราเห็นแนวโน้มว่าเด็กประสบปัญหาการขาดเรียน ครูก็เลยเริ่มหาสาเหตุแล้วติดตามก่อนจะพบว่า แม่ของเด็กต้องไปทำงานรับจ้างทุกวันจันทร์ ไม่สามารถมาส่งเด็กไปโรงเรียนได้ เด็กก็เลยต้องขาดเรียนวันจันทร์ 
ประเด็นเรื่องอัตราการมาเรียน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันผู้คนมักสนใจเรื่องผลสัมฤทธิ์ แต่จริง ๆ แล้วการมาโรงเรียนของเด็กมีความสำคัญอันดับต้น ๆ เพราะจากการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การที่เด็กขาดเรียนบ่อยเป็นสัญญาณสำคัญว่าเด็กกำลังจะหลุดจากระบบ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากปัญหาเรียนไม่ไหว ปัญหาสุขภาพ การที่ต้องดูแลคนที่บ้าน ฯลฯ ทำให้เด็กต้องขาดเรียนบ่อย”

 ก้าวต่อไปของระบบฐานข้อมูล และการศึกษาไทย

สำหรับอนาคตของระบบฐานข้อมูล เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ดร.วรลักษณ์ได้วางทิศทางไว้ว่า นอกจากจะต้องเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องมีการ ‘แจ้งเตือน’ อย่างรวดเร็ว ให้ครูทราบปัญหาของนักเรียน โดยไม่ต้องเข้ามาเป็นผู้ค้นหาข้อมูลของเด็ก 

“ถึงที่สุดเราจะมีระบบที่สามารถประมวลผล เพื่อติดตามและช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที อย่างเช่นหน้าจอการเตือน early warning หรือเด็กที่มีแนวโน้มว่าจะหลุดออกนอกระบบ โดยสามารถแสดงผลของเด็กเป็นรายบุคคล แบ่งเป็นสีเขียว เหลือง และแดง มองเห็นแต่ละมิติของเด็ก ตัวไหนบ้างที่นักเรียนแต่ละคนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ สถานะทางเศรษฐกิจ และอัตราการมาเรียน”
 

 1,040 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า