“การเรียนรู้แบบเชื่อมโยง” เรียน เล่น เน้นทักษะและความสุข

ทำความรู้จักกิจกรรม “เล่นในธรรมชาติ” สำหรับนักเรียนชั้นประถมต้น เปลี่ยนการเรียนให้เป็นการเล่น เพื่อความสนุกและเข้าใจ

Share on

 2,080 

การเล่นจะทำให้เขาเกิดความตื่นตัว และรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้นี้มีความหมายสำหรับเขา จากนั้น การที่ perception (การรับรู้) ของเขาจะไปผสานกับตัวความรู้ทั้งหลายที่ครูพยายามจะส่งมอบให้ ก็จะเกิดขึ้นโดยง่ายดาย

ครูจิ๋ว สกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ

เด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ชั้นเรียนสำหรับเด็กจึงควรเน้นการลงมือทำ การใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ โรงเรียนอนุบาลเน้นการเล่น แต่เมื่อพวกเขาขึ้นชั้นประถมศึกษา ส่วนใหญ่ต้องเจอการเรียนแบบเน้นการท่องจำ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบจากการเรียนระดับอนุบาลแบบฉับพลัน จึงน่าเสียดายถ้าเขาไม่ได้สนุกกับการเรียนอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ การเรียนที่พวกเขาได้ลงมือ ได้นำตัวเองไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมนั้น พวกเขาจะเกิดความคุ้นเคย รู้จักประโยชน์ของสิ่งนั้นเต็มที่ และมีพื้นฐานมั่นคงสำหรับการเรียนรู้ในระดับสูงต่อไป 

โครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ (PLC) จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้แบบขาดประสบการณ์ ที่กำลังเป็นปัญหาของการศึกษาไทย โดยที่ “ครู” ในโครงการนี้จะไม่ได้เป็นแค่ผู้สอน แต่จะกลายเป็น “ผู้ก่อการ” (Change Agent) เพื่อสร้างกระบวนการหรือกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมจะสร้างองค์ความรู้ที่ไม่ใช่แค่ระดับผิวเผินเหมือนการท่องจำ แต่สิ่งที่ได้จากกิจกรรมจะติดตัวนักเรียนไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ และเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น

การเล่นเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้

ความเชื่อสำคัญของโครงการนี้คือ “การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการลงมือทำ” ดังนั้นครูในโครงการจึงมักจะสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่สนุกและได้ประสบการณ์จริง ในทุกภาคการศึกษา

ครูเก๋ นิษฐา มิ่งมงคลรัศมี โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นครูคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ PLC นี้ และเป็นผู้ร่วมสร้างหน่วยการเรียนรู้ ‘เล่นในธรรมชาติ’ ในรายวิชาโครงงานบูรณาการสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 โดยได้รับความสนับสนุนจากครูจิ๋ว สกุณี บุญญบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ

‘เล่นในธรรมชาติ’ คือกิจกรรมที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ของความเปลี่ยนแปลง ผ่านการสังเกต เรียนรู้ และสร้างผลงานจากธรรมชาติรอบตัว ในตลอด 13 สัปดาห์ของการเรียนวิชาโครงงานบูรณาการ เด็ก ๆ จะได้เฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลในช่วงเวลาหนึ่งของปี ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในแต่ละฤดู ความชื้น ความแห้งแล้ง ที่แตกต่างกันในหนึ่งปีมีผลต่อต้นไม้ ต่อสัตว์ต่าง ๆ อย่างไร ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวของเขาเองมากน้อยแค่ไหน และให้นักเรียนได้ลงมือสัมผัสธรรมชาติ โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ของเล่น

ครูเก๋กล่าวถึงหน่วยการเรียนรู้เล่นในธรรมชาติว่า

“เด็ก ๆ จะได้เปิดมุมมองว่าของเล่นที่เราทำเอง แม้จะไม่แข็งแรงเหมือนของเล่นที่ซื้อมา แต่ก็ทำให้สนุกได้ ขณะที่ทักษะสร้างสรรค์ของเขาจะได้ต่อยอดผ่านการคิดประดิษฐ์ของเล่นใหม่ๆ ซึ่งความสำคัญอยู่ตรงที่เขาจะเกิดความรู้สึกภูมิใจที่สร้างของเล่นขึ้นมาเองได้ และในช่วง 13 สัปดาห์ที่ได้เรียนผ่านการเล่น ได้รู้สึกสัมผัสกับวิถีธรรมชาติ จะช่วยสร้างความเข้าใจและตระหนักได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข”

“เล่น” เพื่อ “เห็น” ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

‘เล่นในธรรมชาติ’ ประกอบด้วย 6 กระบวนการ คือ

  1. ครูนำนักเรียนสำรวจสภาพแวดล้อม
  2. ครูบันทึกข้อมูลการสังเกตของนักเรียน
  3. ครูให้โจทย์นักเรียนไปเก็บวัสดุในธรรมชาติมาประดิษฐ์ของเล่น
  4. นักเรียนนำของที่เก็บได้มาจัดไว้ใน Maker Space
  5. นักเรียนประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุที่นำมา
  6. นักเรียนออกไปเล่นของเล่นที่ประดิษฐ์ ก่อนเข้าสู่การประเมินผู้เรียนหลังกิจกรรมจบลง

การเรียนทุกคาบจะใช้กระบวนการเหล่านี้เป็นหลัก ซึ่งครูจิ๋วแบ่งระยะเวลา 13 สัปดาห์ของรายวิชานี้ออกเป็น 2 ส่วนตามฤดูกาล เพื่อให้เด็กสังเกตความแตกต่างของ 2 ฤดูกาลได้ชัดเจน

ช่วงแรกเริ่มที่ ‘เที่ยวเล่นฤดูฝน’ เด็ก ๆ จะสำรวจสภาพแวดล้อมในโรงเรียนในฤดูฝน แล้วร่วมกันทำกิจกรรม เช่น สร้างเมืองดินที่มีอ่างเก็บน้ำ จะเริ่มต้นจากการให้นักเรียนไปสำรวจต้นไม้ และดินประเภทต่าง ๆ ในโรงเรียน ให้นักเรียนสังเกตความแตกต่างของดิน แล้วดูว่าดินชนิดไหนสามารถเก็บน้ำได้ จากนั้นครูจะให้นักเรียนร่วมกันลงมือสร้างเมืองดินขึ้นมา กระบวนการนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของครู เมื่อสร้างเสร็จแล้วให้นักเรียนลองสังเกตผลงานของตนเอง ดูว่าอ่างเก็บน้ำในเมืองดินนั้นใช้ได้จริงหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะให้นักเรียนประเมินตนเอง ว่าได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้มากน้อยแค่ไหน 

หรืออีกกิจกรรมหนึ่งสำหรับ ‘เที่ยวเล่นในฤดูฝน’ ที่เป็นที่ถูกใจของเด็ก ๆ คือ การทำของเล่นจากธรรมชาติ โดยนำใบไม้กิ่งไม้ที่ยังคงลักษณะเขียวสดมาเป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ของเล่น ได้สัมผัสธรรมชาติที่ชุ่มชื้นตามแบบฤดูฝน และได้ความสนุกแบบเต็ม ๆ

ส่วนช่วงที่ 2 คือ ‘ลมหนาวมาเยือนแล้ว’ ในช่วงนี้เด็ก ๆ จะมองเห็นธรรมชาติค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเด็ก ๆ ไปเก็บวัสดุธรรมชาติมาผลิตของเล่น พวกเขาจะเห็นว่าใบไม้กิ่งไม้มีสีอ่อนลงจากเดิม สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป ความชุ่มชื้นหายไปแล้ว ท้องฟ้าโปร่งสดใส แดดจ้า ดินแห้งแตก ขณะที่ลมเย็นขึ้นและอุณหภูมิในอากาศเย็นลง จนเกิดความเข้าใจว่าฤดูกาลคือปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในธรรมชาติ

“ตอนเริ่มต้น ครูต้องออกแบบชุดคำถามเป็นโครงในการสำรวจ โดยเริ่มจากประเด็นที่เด็กสนใจ ผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กชั้น ป.1 มีการถ่ายภาพบันทึกสภาพแวดล้อมเพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบความต่างของสองฤดู จากนั้นครูจึงสังเกตวิธีการหาคำตอบของเด็ก เช่นการทำบ่อเก็บน้ำในฤดูฝน เขาจะเข้าใจว่าดินทรายเก็บน้ำไม่ได้ ก็ต้องสำรวจหาดินโคลนที่เก็บน้ำได้มาทำบ่อน้ำ แล้วพอถึงฤดูหนาวเขาจะเห็นว่าดินเปลี่ยนไปเป็นแห้งแตกและแข็ง ซึ่งไม่สามารถนำมาทำบ่อน้ำได้”

“หรือการทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติชิ้นเดียวกัน เขาก็จะพบว่าในหน้าหนาวกิ่งไม้ใบไม้จะมีความเปราะบาง การออกแบบวิธีการทำก็จะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งเขาต้องเข้าใจและสามารถเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาทำของเล่น แล้วอธิบายการทำของเล่นชิ้นนั้น ๆ ได้”

เพราะประสบการณ์คือพื้นฐานของการเรียนรู้

การเรียนรู้แบบเชื่อมโยงและเน้นประสบการณ์ของครูเก๋ สร้างโอกาสให้นักเรียนได้แบ่งปันความรู้กับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะสังคม ทักษะการสื่อสาร และครูมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาโดยตั้งคำถามกระตุ้นเพื่อให้เด็กคิดและหาทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เด็กจะได้รับจากกิจกรรมเล่นในธรรมชาติ คือความภูมิใจในตนเอง ที่สามารถสร้างผลงานจนสำเร็จ

ส่วนการประเมินนักเรียน ครูเก๋อธิบายว่า ครูสามารถสังเกตเด็กได้ในทุกช่วงกิจกรรม โดยแบ่งการประเมินเป็น 3 ครั้ง คือ ตอนออกไปเก็บวัสดุ ตอนสร้างของเล่น และตอนเล่น ซึ่งจะประเมินจากลักษณะของเด็กว่าเขามีความพยายาม ไม่ย่อท้อต่อปัญหามากน้อยแค่ไหน เขาแก้ปัญหาอย่างไรถ้าเขาเกิดปัญหาระหว่างสร้างของเล่น และเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในระหว่างกระบวนการ

“เราจะทราบได้ว่าเด็กมีการนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ จากการทำของเล่นสองครั้งในสองฤดู เขาจะพบว่าสิ่งที่เคยทำได้ในฤดูฝนจะใช้ไม่ได้ในฤดูหนาว เพราะไม้ที่เปราะกว่า หรือดินที่แห้งแตกไม่มีความชุ่มชื้นจากน้ำ ซึ่งครูต้องคอยสังเกตว่าเด็กจะแก้ปัญหาอย่างไร และทำให้เขาเข้าใจถึงสาเหตุของความแตกต่าง”

ครูเก๋ให้ข้อสรุป 

นักเรียนชั้น ป.1 ของครูเก๋กลายเป็นนักเรียนที่มีทักษะการใช้ชีวิตสูงขึ้น มีความสุข มีพัฒนาการดีขึ้น และจะเป็นนักเรียนที่เข้าใจธรรมชาติ รับรู้การเปลี่ยนแปลงได้เร็ว เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี เป็นนักพัฒนา และอยู่กับทุกสถานการณ์อย่างเป็นสุข

วิสัยทัศน์ต่อการเรียนรู้เพื่อประสบการณ์

ครูจิ๋ว สกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์อีกคนหนึ่ง กล่าวถึงการออกแบบกระบวนการสอนในวิชาโครงงานบูรณาการว่า หน่วยการเรียนรู้ ‘เล่นในธรรมชาติ’ มาจากการวางแผนร่วมกันของครูทุกคนในทีม ว่าจะทำให้เด็กไปถึงจุดมุ่งหมายสำคัญในการเรียนรู้ นั่นคือประสบการณ์ที่ดี และความรู้ที่ยั่งยืนได้อย่างไร

“อย่างแรก ครูผู้สอนต้องเข้าใจในเรื่องที่จะสอนเป็นอย่างดีก่อน แล้วต้องคิดต่อว่าเด็กจะเข้าใจได้อย่างไร ต้องใช้วิธีการไหน จึงต้องถอดกระบวนการว่า ‘อะไรคือสิ่งที่เด็กจะสังเกตเห็นชัดที่สุด’ แล้ววางกระบวนการไปตามขั้นตอนตั้งแต่การรับรู้เริ่มแรกถึงบทสรุป”

“โจทย์ที่เราคุยกันตอนแรกคือ เป็นไปได้แค่ไหนที่เด็ก ป.1 จะรับรู้ประสบการณ์ตรงจากธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงมองไปถึงสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กเสมอ คือ ‘การเล่น’ สิ่งนี้จะนำมาสู่การเรียนรู้และความเข้าใจทั้งหมด เพราะการเล่นจะทำให้เขาเกิดความตื่นตัว และรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้นี้มีความหมายสำหรับเขา จากนั้น การที่ perception (การรับรู้) ของเขาจะไปผสานกับตัวความรู้ทั้งหลายที่ครูพยายามจะส่งมอบให้ ก็จะเกิดขึ้นโดยง่ายดาย”

ครูจิ๋วกล่าว

สำหรับภาพในอนาคตของหน่วยการเรียนรู้ ‘เล่นในธรรมชาติ’ ครูจิ๋วเห็นว่ามีโอกาสที่จะขยายกระบวนการเดียวกันนี้ไปสู่ห้องเรียนของนักเรียนระดับชั้นที่สูงขึ้น ที่มีเนื้อหาลึกซึ้งขึ้น และ ‘เล่นในธรรมชาติ’ จะเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ นำไปพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ ครอบครัวและชุมชน ก็ยังสามารถใช้กระบวนการ 6 ขั้นของ ‘เล่นในธรรมชาติ’ เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เด็ก โดยไม่ต้องพึ่งห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

 2,081 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า