ครูรัก(ษ์)ถิ่นโรงเรียนอ่าวกะพ้อ: ต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล

พัฒนาการศึกษาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนา "นักเรียน" ในท้องถิ่น

Share on

 5,570 

พัฒนาการศึกษาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนา “นักเรียน” ในท้องถิ่น

 

“โครงการนี้จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่โรงเรียนตั้งไว้ก็คือทำให้เด็กดี เด็กเก่ง เด็กมีความสุข” – ผอ.อุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ

 

 ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของการศึกษาไทยมีที่มาจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญมากได้แก่ สถานที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่เขาสูง หรือพื้นที่บนเกาะ จะมีปัญหาเรื่องทรัพยากรไม่เพียงพอและการเดินทางที่ไม่สะดวก บ้างต้องนั่งรถนานกว่า 2 ชั่วโมง บ้างต้องอาศัยเรือเพื่อเดินทาง ความลำบากในการเดินทางเป็นอุปสรรคให้ครูที่มาจากต่างถิ่นไม่สามารถสอนที่โรงเรียนเหล่านี้ได้นาน  เมื่อครูย้ายออกไป โรงเรียนที่ห่างไกลเหล่านี้ก็จะขาดครูผู้สอนไปช่วงระยะหนึ่ง การเรียนรู้ของนักเรียนจึงไม่ต่อเนื่อง

จะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีครูเป็นคนท้องถิ่น?

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกิดขึ้นจากความตั้งใจแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนครู เนื่องจากสถานที่ตั้งของโรงเรียน ด้วยการผลิตครู เพื่อกลับมาสอนในโรงเรียนท้องถิ่นของตนเอง

การให้ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นในแต่ละปี เริ่มต้นจากการค้นหาเด็กที่มีความสามารถ ความตั้งใจที่จะเป็นครู ฐานะยากจน และอาศัยในพื้นที่ห่างไกล เพื่อมอบทุนการศึกษาในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้วก็จะกลับไปบรรจุเป็นครูประจำโรงเรียนในชุมชนของตัวเอง ไม่ต้องปรับตัวกับการเดินทาง ไม่ต้องทำความรู้จักพื้นที่และชุมชนใหม่ คุณครูเหล่านี้ก็จะสอนได้ในระยะยาว ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น

โครงการนี้ นอกจากช่วยให้โรงเรียนท้องถิ่นมีจำนวนครูเพียงพอ สามารถดำเนินการสอนอย่างต่อเนื่อง ยังช่วยพัฒนาโรงเรียนปลายทางด้วยการเพิ่มคุณภาพครู และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนได้อีกด้วย

โรงเรียนตัวอย่างที่ได้ประโยชน์จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

        “โรงเรียนอ่าวกะพ้อ” เป็นโรงเรียนตัวอย่างในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น     รุ่นที่ 1 โรงเรียนนี้อยู่ที่ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา ทำเลที่ตั้งของโรงเรียนอยู่กลางทะเลฝั่งอันดามันระหว่างจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต การเดินทางที่เร็วที่สุด คือเดินทางข้ามฟากด้วยเรือเฟอร์รี ใช้เวลา 1 ชม. ในช่วงมรสุมก็จะเดินทางลำบากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น และไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีอื่นได้ ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เคยประสบปัญหาอัตราการโยกย้ายของคุณครูที่มาประจำการสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ “โรงเรียนทางผ่าน” ของบรรดาคุณครูต่างถิ่น

“ครูที่โรงเรียนย้ายบ่อยมาก เพราะครูที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ มาอยู่สักพักก็ไป แต่ก่อนที่เห็นก็คือมาบรรจุเป็นครูผู้ช่วย พอเริ่มปรับตัวได้เด็กเริ่มคุ้นเคยกับครูก็ขอย้าย ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนที่ไม่ต่อเนื่อง บางคนต้องอยู่ 4 ปี แต่พอ 2 ปี ก็ทำเรื่องขอย้ายเป็นกรณีพิเศษ” ผอ.อุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ เล่าถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา

ด้วยสาเหตุนี้ เมื่อโรงเรียนได้รับการติดต่อมาให้เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจเข้าโครงการทันที จนได้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 2 คน เมื่อจบโครงการแล้วคนหนึ่งจะกลับมาบรรจุที่โรงเรียนเดิม ส่วนอีกคนจะไปบรรจุที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน

ผอ.อุดม มองว่าโครงการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ได้ 100% เพราะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ก็คุ้นเคยกับชุมชนกับโรงเรียนอยู่แล้ว เมื่อได้มาเป็นครูก็จะไม่ย้ายไปไหน และยังเข้าใจชุมชน เข้าใจวัฒนธรรมของตัวเองมากกว่าครูจากที่อื่น ผู้คนในพื้นที่แถวนี้นับถือศาสนาอิสลาม ถ้าหากมีครูที่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม ก็จะช่วยให้เกิดความผูกพันกับชุมชนได้ง่ายขึ้น

“ตัวผมเองก็เป็นคนในพื้นที่บ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนไป 400 เมตร ตอนเด็กก็เรียนที่นี่ เป็นศิษย์เก่าที่นี่ ต่อมาก็เป็นครูที่นี่ เป็นรองผอ.ที่นี่  สุดท้ายก็ขอย้ายกลับมาเป็น ผอ.ที่นี่ ตอนนี้ก็พยายามชวนครูที่เป็นคนในพื้นที่ให้กลับมาสอนที่โรงเรียน” 

คืนครูให้โรงเรียนห่างไกล = คืนอนาคตให้เด็ก

ผอ.อุดม เล่าให้ฟังอีกว่า ทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาก็ประสานมาให้ช่วยพาไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในพื้นที่ ตนเองได้พาทีมงานไปเยี่ยมบ้านนักเรียนจนครบทุกคน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งที่คณะทำงานได้มาลงพื้นที่ ได้มาเห็นของจริง ได้สัมผัสได้พูดคุยกับพ่อแม่เด็กโดยตรง บางทีเราเองยังนึกไม่ถึงเลยว่าเด็กเขาลำบากกันถึงขนาดนี้  บางหลังที่ไปนี่คุยไปพ่อแม่เขาร้องไห้ไปด้วย บอกว่าถ้าไม่มีโครงการนี้ลูกของพวกเขาคงไม่ได้เรียน เช่นเดียวกันกับนักเรียนจากโรงเรียนอ่าวกะพ้อที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้งสองคน ทั้งคู่เป็นเด็กตั้งใจเรียน ความประพฤติดี แต่ฐานะยากลำบาก โครงการนี้ช่วยให้พวกเขาได้เรียนต่อ และได้กลับมาทำอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝัน

สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 2 ขณะนี้ทางโรงเรียนได้รับข้อมูลแล้วว่าจะมีโควตาสำหรับนักเรียนในท้องถิ่น ให้กลับมาบรรจุที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง 1 อัตรา  ผอ.อุดม มองว่า การทำงานจะง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมาเพราะทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว  แต่ขั้นตอนการคัดเลือกนักเรียนน่าจะยากขึ้น เพราะคิดว่ามีจำนวนนักเรียนที่จะเข้ามาสมัครในโครงการมากกว่าเดิม เพราะได้เห็นตัวอย่างจากรุ่นที่ 1 และผู้ปกครองจำนวนมากอยากให้ลูกหลานจบมารับราชการครูเพราะเห็นว่ามีสวัสดิการที่ดี

ผอ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ความสนใจโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นอย่างมาก ยิ่งได้เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่สองคน ซึ่งชาวบ้านทุกคนอยากให้เด็ก ๆ เข้าโครงการกลับมาเป็นครูสอนหนังสือที่บ้านตัวเอง  และเชื่อว่าสุดท้ายโครงการนี้จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่โรงเรียนตั้งไว้ก็คือทำให้เด็กดี เด็กเก่ง เด็กมีความสุข”

 5,571 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า