สร้างความสุขและความสำเร็จในห้องเรียน ด้วย “AL & PBL” และ “จิตวิทยาเชิงบวก”

เครื่องมือพื้นฐานจาก TSQP และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน ทุกช่วงวัย

Share on

 1,492 

“จุดเด่นของโครงการที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กและครูชัดเจน คือการใช้จิตวิทยาเชิงบวก เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเด็ก ทำให้พวกเขาอยากมาเรียนทุกวัน”

นายพิเชษฐ ศรีระวัตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จ.กำแพงเพชร

การศึกษา “วิธีไหน” ที่จะทำให้เด็กพัฒนาตัวเองได้ทุกวัน แถมครูและเด็กยังเข้าใจกันมากขึ้น? 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินการ “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” หรือ TSQP เป็นโครงการที่มุ่งเน้น “เปลี่ยน” เพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ทั้งการเรียนแบบเดิม ๆ ให้เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ได้ผลจริง และพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียน ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 45 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ 

สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการ TSQP และพันธมิตรในโครงการ พัฒนาการสอนและการจัดการโรงเรียนอย่างไรบ้าง และมีวิธีวัดอย่างไรว่านักเรียนเก่งขึ้น การเรียนการสอนดีขึ้นจริง และงานบริหารของโรงเรียนเป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม 

ความร่วมมือที่ดี ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

โครงการ TSQP รุ่นที่ 2 นี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาช่วยกำหนดทิศทางการบริหารและการศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ ในรูปแบบ Whole School Approach ทั้งการกำหนดเป้าหมาย (Goal) ของโรงเรียน การพัฒนาระบบสารสนเทศ และการนำข้อมูลไปใช้ด้วยระบบ Q-info การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ (PLC) การสร้างเครือข่าย (Network) การสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning แนวทางปรับรูปแบบการเรียนการสอน รวมถึงแนวทางการดูแลเด็กด้อยโอกาส และช่องทางสนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียนทั้ง 45 แห่ง

ผศ.ดร.อนุชา กอนพ่วง รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 45 แห่ง ครู รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งตัวแทนต้นสังกัด ผู้ปกครอง ชุมชน ให้มีความเข้าใจในโครงการ กรอบทิศทาง แนวทางในการขับเคลื่อน และพร้อมสร้างความร่วมมือในการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ 

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดตั้งทีม “โค้ชส่วนกลาง” เพื่อวางทิศทางการทำงานตั้งแต่การจัด “หลักสูตร Main course” ในการพัฒนาครู และการอบรมในคอร์สต่าง ๆ ทีมโค้ชส่วนกลางประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ และกลุ่มผู้มีประสบการณ์ เช่น บุคลากรจากโครงการ TSQP รุ่น 1 ที่เชื่อมกับเครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงศึกษานิเทศก์ ที่มีประสบการณ์การทำงานกับโรงเรียน และยังมีทีม “โค้ชพื้นที่” ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ และอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา แบ่งเป็น 4 ทีม ตามพื้นที่ในการดูแลโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย 4 จังหวัด วิธีการทำงานของกลุ่มโค้ชคือ ตัวแทนโค้ชส่วนกลางจะร่วมลงพื้นที่โรงเรียนไปกับโค้ชในพื้นที่ด้วย ปกติจะลงพื้นที่โรงเรียนเดือนละ 1 ครั้ง โค้ชจะได้เข้าใจโรงเรียน รู้ข้อมูลจริง และนำแนวทางการทำงานจากการจัดประชุมทุกต้นเดือนเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการ TSQP กล่าวว่า โครงการฯ ได้ดำเนินการมาประมาณ 1 ภาคการศึกษาแล้ว ซึ่งหากสถานการณ์ปกติก็จะเห็นกระบวนการทำงานในโรงเรียนที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินโครงการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ได้ จึงมีการประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom แทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษา Whole School Approach และความคืบหน้าในการปรับใช้แผนดังกล่าว ว่าแต่ละโรงเรียนทำได้มากน้อยแค่ไหน ติดปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่เราจะการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และพิสูจน์ว่า การทำงานในระยะไกล (remote working) ก็สามารถทำได้แบบมีประสิทธิภาพ

เรียนรู้จากปัญหา และให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง

โครงการ TSQP และมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญกับวิธีการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนมากที่สุด ในรุ่นที่ 2 นี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรแนะนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning (AL) และ Problem–based Learning (PBL) ให้ผู้บริหารและครูแต่ละโรงเรียนเลือกวิธีที่เหมาะกับนักเรียนของตนมากที่สุด

Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมผ่านการปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่อ้างอิงจากสถานการณ์ที่เด็กจะได้เจอจริง ๆ ในชุมชน ในสังคม ซึ่ง Active Learning จะดึงดูดเด็กที่ไม่เห็นความสำคัญของห้องเรียน ให้กลับมาตั้งใจเรียนได้ดี ส่วนกระบวนการเรียนรู้แบบ Problem-Based Learning คือ Problem-Baesd Learning เหมาะกับโรงเรียนที่ต้องการฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ให้เด็ก ทั้งสองแบบยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง 

ผศ.ดร.อนุชาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ ใช้รูปแบบผสมทั้ง AL และ PBL ส่วนโรงเรียนสังกัดเทศบาลส่วนใหญ่จะเลือกรูปแบบ AL ทั้งหมด เพราะมีนโยบายเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับท้องถิ่น แต่โดยภาพรวมแล้ว โรงเรียนร้อยละ 80 จะเลือก PBL ที่มองไปสู่สมรรถนะองค์รวมมากกว่า

ผลลัพธ์ความเก่ง ดี มีสุข ของโรงเรียนท้องถิ่น

ผลจากการดำเนินโครงการฯ มา 1 เทอม ผศ.ดร.อนุชาพบโรงเรียนที่มีความโดดเด่น มีผู้บริหารโรงเรียนที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก ได้แก่ โรงเรียนวัดบ้านมุง โรงเรียนบ้านเขาชะโงก และโรงเรียนบ้านโพธิ์เอน

ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ ลาไม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมุง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า โรงเรียนเลือกรูปแบบการเรียนการสอนแบบ PBL เป้าหมายของโรงเรียนมองไปที่เด็ก อยากให้เด็ก “เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยมีครูดี เด็กดี และมีความสุข” โรงเรียนได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ PBL โดยให้ผู้ปกครองได้มาร่วมทดสอบกิจกรรม และสามารถมาร่วมประชุมเพื่อให้คณะกรรมการสถานศึกษาตัดสินใจ และอนุมัติการจัดกิจกรรม PBL 

“การตอบรับเข้าร่วมโครงการ เพราะ “เด็กคือเป้าหมายสำคัญกับอนาคตของชาติ” ดังนั้น การตัดสินใจเพื่อเด็กไม่มีอะไรต้องรั้งรอ ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา การตอบรับจากผู้ปกครอง ความใส่ใจ การให้การสนับสนุนในทุก ๆ เรื่องเข้ามาอย่างมากมาย หากมีการเสนอแนะเราก็พร้อมในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์กับลูกหลานของเรามากขึ้น” 

ครูรุ่งนภา เอี่ยมอ่อน ครูโรงเรียนวัดบ้านมุง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยนเรศวรทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งตัวครูและนักเรียน นักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น และเกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากการเรียนรู้แบบ PBL จึงตั้งใจดำเนินการตามโครงการต่อไป และหากในอนาคตทางมหาวิทยาลัยนเรศวรถอยออกไป  โรงเรียนก็สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยตนเอง เพราะสิ่งที่โค้ชจากส่วนกลางมอบให้คือความรู้ในเบื้องต้น เมื่อเราเดินเป็นแล้ว ครูก็พาเด็กเดินต่อไปได้เอง 

มากกว่าเด็กได้เรียนรู้ คือครูเข้าใจเด็กมากขึ้น

นายขำ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาชะโงก โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ TSQP กล่าวว่า หากยังใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม ในลักษณะครูบอกความรู้ให้กับเด็ก นักเรียนก็จะเป็นผลผลิตเหมือนกับเราสมัยเด็ก ๆ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป การจัดการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ฉะนั้น นวัตกรรมนี้จะทำให้นักเรียนมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับความเจริญของโลกในปัจจุบัน” 

นายขำ เห็นว่าวิสัยทัศน์เดิมของโรงเรียนไม่สามารถใช้กับนวัตกรรมใหม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้หลุดกรอบไปจาก พ.ร.บ. การศึกษา และสมรรถนะที่จะเข้ามาใหม่ จึงได้ทำงานร่วมกับครูแกนนำ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายของโรงเรียน โดยให้ครูแกนนำร่วมกันระดมความคิด และนำสิ่งที่ได้มาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ว่าโรงเรียนของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยใช้รูปแบบ PBL จึงขอให้เข้าใจถึงสิ่งที่โรงเรียนกำหนดว่าคืออะไร และให้ผู้ปกครองเห็นการปฏิบัติจริง ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดตารางเรียนแบบใหม่ ช่วงเช้าเป็นการเรียนวิชาหลัก และช่วงบ่ายเป็นการบูรณาการ PBL 

จิตวิทยาเชิงบวก สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีกว่า

สิ่งสำคัญของนวัตกรรมนี้คือการสร้าง “สนามพลังบวก” ในโรงเรียน ที่ผ่านมานายขำเป็นคนดุ ใช้ไม้เรียว ใช้ความรุนแรงเพื่อสอนนักเรียน แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนมาใช้ “จิตวิทยาเชิงบวก” เพิ่มกำลังใจให้นักเรียนแทน จนนักเรียนทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จากความตั้งใจของตนเอง 

นายขำ กล่าวว่า การใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับกระบวนการนี้ค่อนข้างเห็นผลดี เพราะการเรียนการสอนแบ่งเป็นช่วงวิชาหลัก กับช่วงบูรณาการ เด็กบางคนเรียนเนื้อหายาว ๆ ยาก ๆ ไม่ทัน แต่ช่วงบูรณาการ เด็กกลุ่มนี้มีความสุขมาก สามารถทำชิ้นงานออกมาได้ดี ส่วนหนึ่งเพราะได้ครูที่เพิ่มพลังบวกให้พวกเขา การนำการเรียนรู้รูปแบบ AL และ PBL มาใช้ สามารถสนับสนุนการเรียนในวิชาหลัก และเพิ่มกำลังใจให้นักเรียน นักเรียนรู้สึกปลอดภัย บ่มเพาะความงอกงาม นำสู่การพัฒนาด้านวิชาหลักในอนาคต ดังนั้น สำหรับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าจะเลือกใช้รูปแบบ PBL หรือ AL หรือผสมผสาน ก็ควรบูรณาการจิตวิทยาเชิงบวกเข้าไปด้วย

นายพิเชษฐ ศรีระวัตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จ.กำแพงเพชร โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในโครงการ TSQP รุ่นที่ 2 กล่าวว่า จากการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ PBL และใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการสอน เด็กเริ่มมีแนวคิดสะท้อนมุมมองของเด็กออกมาว่าเขาอยากทำอะไร สามารถช่วยพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบได้จริงและดีมาก เด็กได้นำเสนอผลงานที่มาจากความคิดของตนเอง และเด็กก็มีความสุขในการทำงานมาก ส่วนครูต้องทำงานหนักขึ้น เปลี่ยนสิ่งที่เคยทำมาในอดีตทั้งหมด เลิกการสอนตามหนังสือ จี้เด็ก ดุเด็ก ด่าเด็ก หรือพฤติกรรมเชิงลบทั้งหมด สำหรับวิธีการทำงานของโรงเรียน โรงเรียนจัดครูเป็น 4 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มทำงานด้วยกัน แบ่งเป็นครูระดับอนุบาล, ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3), ช่วงชั้น 2 (ป.4-6) และกลุ่มใหญ่คือครูทั้งโรงเรียน เพื่อวางแผนการบูรณาการแต่ละสัปดาห์ ทั้งแบบต่อหน้าและออนไลน์ ช่วงแรกอาจจะใช้เวลาปรับตัวนานมาก เพราะครูครึ่งต่อครึ่งอยู่ในวัยอาวุโส ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่ครูทุกคนก็มีความสุข ถ้าหากครูทุกคนปรับตัวได้สำเร็จ การสอนแบบ PBL และการใช้จิตวิทยาเชิงบวกก็จะง่ายขึ้น

จุดเด่นของโครงการที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กและครูชัดเจน คือการใช้จิตวิทยาเชิงบวก เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเด็ก ทำให้พวกเขาอยากมาเรียนทุกวัน ขอยกตัวอย่างเด็กพิเศษชั้น ป.5 เด็กคนนี้มาโรงเรียนร้องไห้ตลอด มาสายทุกวัน เมื่อจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เด็กคนนี้กลายเป็นตัวนำ เพราะว่าเขาสนุก อยากมาเรียนมาโรงเรียนเช้าทุกวัน และไม่เคยร้องไห้อีกเลย ส่งผลถึงเรื่องการดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ชัดเจนมาก”

นายพิเชษฐ กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบห้องเรียน ให้เป็นห้องเรียนเพื่อการเติบโต ทางโครงการ TSQP และบุคลากรทุกคนยังมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนากระบวนการให้ดีกว่าเดิม ขอเพียงแค่ทุกโรงเรียนตั้งใจทำเพื่อเด็ก เห็นเด็กเป็นศูนย์กลาง และมองเป้าหมายให้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ AL PBL และจิตวิทยาเชิงบวก เป็นเครื่องมือพื้นฐานของห้องเรียนที่ครูสามารถหยิบเนื้อหาอื่นมาเติมได้ไม่จำกัด สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเติมเนื้อหาที่เหมาะกับการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ ได้เป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขกับการเรียนในทุก ๆ วัน

 1,493 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า