‘Ignite รังสรรค์ปัญญาปฏิบัติ’ ชุมนุมแห่งความตื่นรู้ของครูนักปฏิบัติ สู่กระบวนทัศน์ใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลง

Share on

 202 

‘Ignite รังสรรค์ปัญญาปฏิบัติ’ ชุมนุมแห่งความตื่นรู้ของครูนักปฏิบัติ

สู่กระบวนทัศน์ใหม่แห่งความเปลี่ยนแปลง

วันนี้ I AM KRU. เดินทางมาถึง รร. บ้านกระถุน อ.หยุห์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานเวทีเสวนา ‘Ignite รังสรรค์ปัญญาปฏิบัติ’ ที่มีวงเสวนาที่น่าสนใจทั้งเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา การสร้าง Character สำหรับโลกบริบทใหม่ และกิจกรรมห้องย่อยรังสรรค์ปัญญาครูนักปฏิบัติ ที่น่าสนใจถึง 6 ห้องปฏิบัติการ

โดยทีม I AM KRU. มีโอกาสพบผู้ร่วมเติมเต็มท่านแรกก่อนที่เวทีเสวนาจะเริ่มต้น ครูอ้อน ภานุวัฒน์ บุญเย็น รร. ลำปลายมาศพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนถึงการวัดประเมินตามหลักวิชาการนั้นเน้นไปสมรรถนะ 6 ด้าน 1) การจัดการตนเอง  2) การคิดขั้นสูง 3) การสื่อสาร 4) การรวมพลังทำงานเป็นทีม 5) การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6) การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน แต่จะเกิด 6 สมรรถนะหลักนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี “รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต” ที่ 3 สิ่งเหล่านี้บ่มเพาะได้จากปัญญาภายใน 

ขอสังเกตว่าโรงเรียนหลายโรงเรียนใช้ระฆัง สัญญาอ่อดแจ้งเตือน แต่ก็ยังมีคำถามว่าเด็กมีวินัยได้จริงหรือก็ได้คำตอบว่า 100 ร้อยกว่าปีมานี้ โรงเรียนส่วนใหญ่มีเสียงแจ้งเตือนมีเสียงตามสาย ทั้งฝ่ายปกครอง แต่เด็ก ๆ ก็ยังขาดวินัยกันอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้แบบเก่า สิ่งที่น่าสังเกตว่าการสอนในวิชาหลักไม่มีคือเรื่อง ‘จิตใจดี’ ซึ่งสิ่งนี้ถูกปลูกฝังในกระบวนการจิตศึกษาปัญญาปฏิบัติ และต้องทำควบคู่กับจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งจะช่วยเสริมกันให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี มีกระบวนสำคัญคือการ Reflection รู้ตนเองคิดอะไร และคนอื่นคิดอย่างไร  เด็กคิดเป็นเชิงระบบ เป็นผลสำเร็จที่เป็นประจักษ์ของโรงเรียนในเครือข่ายลำปลายมาศพัฒนา 

ออกไปดูโลกการเรียนรู้ของโรงเรียนอื่น
เพื่อเปิดโลกเรียนรู้ภายในให้กว้าง

โรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนเพียงลำพังโดยปราศจากเครือข่ายการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นสิ่งที่จะทำให้โรงเรียนถดถอยไม่เกิดการพัฒนา เครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงใช้กระบวนการ Professional Learning Network (PLN) การแลกเปลี่ยนความสำเร็จ กิจกรรมที่เปิดประตูโรงเรียนให้ครูนักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาออกไปเรียนรู้เพื่อนร่วมวิชาชีพว่าเขาทำงานกันอย่างไร แนวปฏิบัตินี้น่าสนใจแล้วนำสิ่งนั้นกลับมาสะท้อนการทำงานของตนเองเพื่อหาแนวทางการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ แต่ PLN ไม่ใช่แค่ในเครือข่ายระหว่างโรงเรียนเท่านั้น ยังหมายถึงผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน ที่ต่างเข้ามามีส่วนร่วมให้งานสำเร็จได้ อย่างที่ทีม I AM KRU. สัมผัสได้ถึงพลังบรรยากาศความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายตั้งแต่ยังไม่เดินเข้าประตูโรงเรียนก็ได้พบกับคนในชุมชนมายืนต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มอัธยาศัยและไมตรี

วงแลกเปลี่ยนรังสรรค์ปัญญาปฏิบัติต่อการค้นพบกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา พร้อมแล้ว !

ครูใหญ่ วิเชียร ไชยบัง มองว่าวิธีการจัดการศึกษามากมายที่ผ่านมาตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์เดิมที่เน้นการแข่งขัน การประกวด ต่างคนต่างเรียน ครูต่างคนต่างสอนจึงไปต่อได้ยาก “กระบวนทัศน์ใหม่ที่ควรเป็นการสังสรรค์จากฐานปัญญาปฏิบัติของแต่ละคนที่ค้นพบทั้งได้ผลและไม่ได้ผลจากการลงมือทำจริงที่เกิดการต่อยอดดูดกลืนปัญญาระหว่างกัน จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์เดิมที่เปลี่ยนการแข่งขันมาสู่การรังสรรค์ปัญญาปฏิบัติร่วมกัน เป็นคำถามของครูใหญ่ วิเชียร ได้จุดไฟประกายความคิดเพื่อเปิดพื้นที่เกิดการแลกเปลี่ยนว่ากระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาของผู้นำการเปลี่ยนแปลง” 

นิยามกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาเป็นอย่างไร ?

วงแลกเปลี่ยนเริ่มต้นด้วย ครูสมเดช อ่างศิลา อดีต ผอ.รร.วัดเนินกระปรอก  ได้ตั้งคำถามที่ว่า “ปัจจุบันการศึกษาเป็นเน้นการแข่งขันเพื่อมุ่งสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ หลงลืมความจริงของโลกที่เรียกว่า ‘โลกธรรม 8’” พื้นฐานความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วประเด็นแรกที่ ผอ.ชูชาติ โชติเสน จาก รร.บ้านวังวน จ.สระแก้ว กล่าวเสริมว่า “การศึกษาไม่ควรมองถึงลาภ ยศ สรรเสริญ แต่เน้นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้การลงมือทำเห็นคุณค่าในตนเอง”
ศน.ทองคำ จันทร์โสภา “มองว่าคนทุกคนมีความเป็นคนเท่ากันทุกคนดีได้ รู้มาก-น้อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าที่จะเติมเต็มให้ตนเองและผู้อื่นเป็นมนุษย์ที่เข้มแข็งได้อย่างไร แต่ก่อนที่จะไปถึงในจุดนั้นได้ เราจะพัฒนาเด็กที่ส่งต่อมาให้ดูแลอย่างไร”  

เป็นคำถามที่ส่งต่อไปยัง ครูติ๊ก ฉัตรวรีย์ บุญสิริเกียรติ รร.บ้านน้ำกล่ำ(สิทธิผลนุกูล) กล่าวว่า “อย่างแรกปรับที่ตัวของครูก่อน” พร้อมได้สะท้อนในมุมของการปรับตัว และการศึกษาของผู้เรียนต้องตอบโจทย์เรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิต เรียนไปแล้วสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ตนเอง

นฤมล สุภาทอง รอง ผอ.สพป.นครพนม เขต 1 ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “การก้าวออกจากความคิดเดิมที่เกิดจากทบทวนกระบวนการทั้งหมด ทั้ง 3 นวัตกรรม จิตศึกษา PBL และ PLC เพื่อพัฒนาร่วมกันโดยจิตศึกษาเป็นฐานเริ่มต้นของการต่อยอดในทุก ๆ เรื่องเกิดผลสำเร็จ จัดการเรียนรู้ Active Learning แบบไหนให้เกิดคุณภาพสามารถเชื่อมให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นจุดสูงของการเรียนรู้” 

วิชชา ครุปิติ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจากตราด กล่าวว่าแม้หน้าที่การทำงานของรองผอ.เขต มีความก้ำกึ่งในบทบาทด้านการบริหารและวิชาการ แต่เชื่อว่าโรงเรียนที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ต้องมีภาวะผู้นำด้านวิชาการ ผู้บริหารที่เข้าถึงทุกคนในโรงเรียนผ่านวง PLC ตลอดเวลา 

ผอ.เทอดศักดิ์ แสบงบาล รร.ชุมชนวัดอ่าวช่อ จ.ตราด กล่าวถึงข้อค้นพบจากปรากฏการณ์รังสรรค์ปัญญา จากจุดที่ตกต่ำที่สุดจนถึงจุดคลี่คลาย ครูทำไปแบบไม่เข้าใจกระบวนการจิตศึกษาว่าทำยาก ทำไม่ได้ ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร แต่ถ้าหยุดก็ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วจึงเดินหน้าจนถึงจุดที่เรียกว่าสันเขา จนคลี่คลายปัญหาจนก้าวผ่านเมื่อได้เจอ รร.ต้นแบบ และการออกไปสัมผัสความสำเร็จของโรงเรียนอื่นในเครือข่าย (PLN) เพื่อดูว่าการเปลี่ยนผ่านจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างไรและนำมา PLC เพื่อสะท้อนปัญหาจนเกิดความเชื่อมั่น

1) มีวิธีปฏิบัติที่เสมอต้นเสมอปลาย

2) เกิดความท้าทายที่อยากจะเรียนรู้

3) วิถีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ตัวผู้เรียนด้วยปัญญาบ่มเพาะ

มองเห็นว่ามาถูกทางแล้วนักเรียน ครูเกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ตัวชี้วัด เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง และนำนวัตกรรมนี้เป็นแสงสว่างไปสู่ชุมชน 

“กระบวนทัศน์เดิมคือครูทำไม่ไหว ทำไม่ได้หรอก” นี่คือสิ่งที่ ผอ.การุณ ชาญวิชานนท์ จาก รร.บ้านโกรกลึก กล่าวในช่วงต้นของการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อเป้าหมายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจึงเดินหน้าต่อ “วิถีต้องมั่นคง จิตศึกษา PLC PBL ต้องมีอยู่จริง” ที่ใครมาที่โรงเรียนก็ประจักษ์ด้วยสายตาของสิ่งที่เรียกว่าวิถีของ รร. การ PLC ขับเคลื่อน และพัฒนาครูอย่างสม่ำเสมอ เน้นเรื่องการพัฒนาครูที่เข้าทุกคนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าเมื่อครบเวลาโยกย้ายครูจะลากลับไปสอนที่บ้านเกิด วิถีการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งตัวครูจะนำพาต้นกล้าความงอกงามกับเด็กกลุ่มใหม่ในขอบเขตที่ขยายมากขึ้น

เมื่อเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 

ผอ.พิเชษฐ์ ศรีระวัตร จากโรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จ.กำแพงเพชร TSQP รุ่น 2 ที่เพื่อนพ้องค่อย ๆ หายไประหว่างทาง “ชวนครูให้มองเป้าหมายการเรียนนรู้มุ่งไปที่เด็ก สถิติในพื้นที่เด็กส่งไปแข่งขันตลอด แต่ก็มีไม่ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ท้องในวัยเรียน เกิดเป็นคำถามว่า เด็กไม่สามารถกำกับตนเองให้ประสบความสำเร็จใจชีวิตได้หากจัดการศึกษาระบบเดิม จึงกลับมาทบทวนกระบวนการเพื่อให้เด็กนักเรียนที่เรียนจบ กลับมาเป็นบุคลากรของชุมชนที่มีคุณภาพ”  “การมีเครือข่ายที่ดี ความเชื่อมั่น และศรัทธาทำให้เดินต่อไปได้ ” ผอ.เพ็ญฉวี นนทะชาติ รร. บ้านคูซอด กล่าวเสริม  

ด้านครูหนุ่ย อมรเทพ เสนตา รร.บ้านวังวน จ.สระแก้ว เสริมเรื่องความเชื่อ “ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำลงไปไม่ได้สูญเปล่า” ปัญญาที่มาจากการปฏิบัติคือสิ่งที่มีอยู่แล้ว แม้อาจจะไม่เห็นผลด้วยตนเองแต่การปฏิบัตินั้นได้ส่งผลอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึมซับสอดแทรกในระหว่างปฏิบัติกิจกรรมจิตศึกษา PBL เด็กทำแบบนี้ได้ รู้สึกแบบนี้ได้ โดยที่ครูเป็นต้นแบบและนำอย่างไร โดยที่ถอยห่างคอยเป็น ‘นักสังเกตการณ์’ และหลังจากจบการศึกษา เด็ก ๆ ได้มาสะท้อนให้เห็นกระบวนการที่ครูได้บ่มเพาะจนเกิดเป็นความงอกงามในชีวิตของพวกเขา 

รัตนา กิติกร ผจก. มูลนิธิสยามกัมมาจล ส่งต่อคำสำคัญให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ‘ครูเป็นผู้สังเกตการณ์ สำคัญต่อการเรียนรู้อย่างไร’ ชวนให้ครูใหญ่ วิเชียร ชวนขบคิด การศึกษาในกระบวนทัศน์ในบริบทโลกใหม่ มีสิ่งหนึ่งที่ยากมากสำหรับครู ‘ผู้เรียนเป็นใคร’ บริบทโลกเปลี่ยนผู้เรียนกลายเป็นนักเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิม การที่ครูถอยออกมาสังเกตเพื่อดูว่าผู้เรียนที่แท้จริงเป็นใคร ใช้วิธีการเรียนรู้แบบไหน เพื่อให้เครื่องมือการเรียนรู้ติดตัวผู้เรียนที่เป็นการซึมซับคุณค่าบางอย่างที่สอนตรง ๆ ไม่ได้ เช่นการเคารพในตัวตน ไม่ออกคำสั่ง ไม่ชี้นำ ให้เด็กได้เติบโตในแบบที่ต้องการโดยซึมซับผ่านการปฏิบัติของครู

ทองคำ จันทร์โสภา ศน. สพป. เขต 1 ได้เติมเต็มเรื่องการยอมรับผู้อื่นว่าทุกคนมีความรู้องค์ความรู้เฉพาะทางของตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกโดยถอยจากความเป็นครูเปลี่ยนเป็นนักสังเกต วิธีการนี้ช่วยให้เด็กมีอิสระมากขึ้น จะเกิดความงอกงามมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายกระบวนการไว้ ครูควรระมัดระวังคำพูดเล็ก ๆ น้อยที่พูดกันจนชินแต่อาจจะเป็นคมมีดที่บาดลึกในใจ เด็กจะเกิดความไว้ใจ อบอุ่นใจ ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยเกิดเป็นความสุขในห้องเรียน 

รัตนา กิติกร ผจก. มูลนิธิสยามกัมมาจล เติมเต็มกระบวนทัศน์ใหม่ทางการเรียนรู้ในปัจจุบันใช้ความปรารถนาดีจากครูอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องโอบอุ้มกันด้วยกระบวนการเรียนรู้จิตวิทยาเชิงบวก การเคารพความเป็นมนุษย์ ซึ่งกันและกัน 

“เด็กจะเป็นเหมือนที่ครูสอน แต่เด็กจะเป็นเหมือนที่ครูเป็น ถ้าครูเป็นนักเรียนรู้ เด็กก็เป็นนักเรียนรู้” เมื่อครูเปลี่ยนเป็นนักสังเกตการณ์ก็จะเห็นจุดที่จะพัฒนาได้อีกหลายจุด ครูต้องเริ่มสร้างให้เกิดกับตนเองก่อนที่จะนำไปถ่ายทอดกับเด็ก ผอ.การุณ ชาญวิชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย 

รับชมบันทึกเวทีเสวนา Ignite รังสรรค์ปัญญาปฏิบัติต่อการค้นพบกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา

โรงเรียนบ้านกระถุน จังหวัดศรีสะเกษ

วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567

https://web.facebook.com/watch/100069314678918/1058420228751052/

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า