เปลี่ยนแปลงเชิงระบบไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้นำลงมือทำจริง

Share on

 234 

        โรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 เป็นโรงเรียนขนาดกลาง จัดการเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 – ชั้นประถมศึกษา 6 โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (TSQP) โรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQA) จังหวัดนครราชสีมา

พฤติกรรมขาดจิตสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารไม่อาจมองข้าม 

        นอกจากเรื่องจิตสาธารณะแล้วยังมีปัญหาเรื่องการขาดสมาธิ รวมถึงความก้าวร้าว การใช้คำพูดคำจาที่ไม่เหมาะสม การใช้ความรุนแรง การทะเลาะวิวาทกัน และอุบัติเหตุภายในโรงเรียนที่เกิดขึ้นเป็นประจำ สัปดาห์ละถึง 2-3 ครั้ง ที่ต้องส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน การพนัน สิ่งเสพติด และการลักขโมย

        และสื่อโชเชียลมีเดียก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ปัญหาเพิ่มขึ้น ผอ.เอกฉันท์ เล่าผ่านมุมมองประสบการณ์การทำงานที่พบเจอเด็ก ๆ มาหลายรุ่น ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กอย่างเห็นได้ชัด เด็กบางคนติดเกมจนไม่ยอมไปโรงเรียน ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก เบื้องต้นได้แค่ติดตามนักเรียน ครูไปพบกับผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งก็พบอีกปัญหาว่า เด็กนักเรียนมากกว่าร้อยละ 62 พ่อแม่หย่าร้าง และผู้ปกครองเด็กต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลหรือปรับพฤติกรรมเด็กได้เท่าที่ควร 


โรงเรียนต้องสอนทั้งเรื่องวิชาการ

และบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีของผู้เรียน

แต่สภาพที่การเรียนรู้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับที่เป็นอยู่ 

จุดเริ่มต้นการปรับปรุงและพัฒนาพฤติกรรมเด็ก 

เริ่มจากการสังเกตการณ์ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก่อน พอได้สัมผัสการเรียนการสอนและพฤติกรรมนักเรียน ก็ค้นพบว่าเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการ จึงขอนำนวัตกรรมมาใช้ที่โรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ แบบไม่ต้องรอรับเงินงบประมาณสนับสนุนจะได้หรือไม่ แต่ด้วยโอกาสที่เหมาะสมโรงเรียนที่เข้าร่วมถอนตัว โรงเรียนบ้านกล้วยจอหอจึงได้เข้าร่วมโครงการพร้อมได้รับเงินงบประมาณไปพร้อมกัน 

เมื่อจิตศึกษาเข้ามาครูก็นำไปปรับใช้ในเรื่องที่ตนเองสนใจและอยากปฏิบัติ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนหลากหลาย ไม่เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นเอกภาพ ผอ.เอกฉันท์ จึงใช้ PLC เพื่อนำเรื่องจิตศึกษามาแก้ไขในวาระเร่งด่วน คือ ‘แก้ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียของนักเรียน’ โดยที่ตลอดทั้งสัปดาห์จะ PLC เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยกำหนดเป้าหมายในแต่ละวันว่าจะ ชง เชื่อม ใช้ เรื่องใดในกระบวนการจิตศึกษา สิ่งนี้นอกจากแก้ปัญหานักเรียนหยุดเรียนเพราะติดเกม พฤติกรรมติดโทรศัพท์ แล้วยังพัฒนาศักยภาพครูไปในตัวอีกทางหนึ่ง

PLC โรงเรียนเข้มแข็ง สู่ PLN เข้มแข็งของเครือข่าย 

Professional Learning Network (PLN) เป็นการเดินเข้าไปสู่พื้นที่แลกเปลี่ยนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เพราะการที่ทำอยู่แค่ในโรงเรียนทำให้มองไม่เห็นความก้าวหน้าของตนเองเท่าไหร่ ครูคิดว่าตนเองถดถอย พอได้ไป PLC –  PLN ระหว่างกัน ทำให้มองเห็นความงอกงามของตนเอง และของโรงเรียนอื่นที่สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขคุณภาพวง PLC เพื่อพัฒนาโรงเรียนของตนเองได้  และยิ่งมีการมาดูงานจากต่างโรงเรียนยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนบ้านกล้วยจอหอมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บุคลากรในโรงเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง กลายเป็นครูต้นแบบที่สามารถยกระดับและนำองค์ความรู้ของตนเองไปแลกเปลี่ยนในวง PLN ในระดับเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืนของนวัตกรรมนี้ได้

Co-Parent เปิดบ้านสร้างความมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง

เมื่อผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ก็เกิดการตั้งคำถามว่าลูกหลานของพวกเขาเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงเรียนที่ทำให้พฤติกรรมของเด็ก ๆ เปลี่ยนไป สิ่งนี้ส่งผลให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนนั้นได้ทั้งความรู้ทางวิชาการ และเด็กได้เรียนรู้ด้านพฤติกรรมและอุปนิสัยที่ดีจากโรงเรียนด้วย จึงทำให้ผู้ปกครองให้การสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนเพราะพวกเขามองว่าลูกหลานได้รับประโยชน์โดยตรง เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่หลายพื้นที่สนใจมาดูงาน และผลพลอยได้ที่เป็นรางวัลเป็นเกียรติกับโรงเรียนและชุมชน

“ผู้นำโรงเรียนต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการ”

การที่โรงเรียนจะพัฒนาตนเองได้นั้นต้องเริ่มต้นจาก ผู้บริหารโรงเรียนนั้นต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการ ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการเปลี่ยน Mind Set และต้องมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ผู้บริหาร ตระหนักรู้และสร้างเป้าหมายเดียวกันว่า การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในปัจจุบันนั้นต้องเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนใน การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม  เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ ต่าง ๆ ในชีวิตจริง เป็นการเรียนรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น

พลิกหน้ามือเป็นหลังใช้เวลาเพียงสัปดาห์กับผลลัพธ์ที่งอกงาม

หลังจากที่กลับมาจากไปดูงานที่โรงเรียนบ้านโกรกลึก อ.ด่านขุนทด จึงให้หัวหน้าฝ่ายวิชาการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ทันที เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมให้กลายเป็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพียงสองสัปดาห์ก็เห็นผลลัพธ์ จากครูที่เคยพูดเสียงดังกลายเป็นครูที่เสียงนุ่มนวล แรก ๆ เด็กก็รู้สึกตกใจว่าทำไมครูเปลี่ยนไปจากเดิม โต๊ะเรียนเรียงแถวเหลือเพียงพื้นที่นั่งล้อมวง ที่ครูและนักเรียนอยู่ในระดับที่เท่ากัน ส่งผลต่อความรู้สึกเด็กว่าเขาสามารถคุยกับครูได้ทุกเรื่อง 

ผลคะแนนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ถือ เป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC

จุดร่วมหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องผลคะแนนการสอบในระดับต่าง ๆ ของโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมจิตศึกษา คือ นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นและคะแนนสอบที่ดีขึ้น ทาง I AM KRU. จึงขอให้ทาง ผอ.เอกฉันท์ แลกเปลี่ยนมุมมองในส่วนนี้ 

“ในปีสองปีแรกของการใช้นวัตกรรมนั้นโรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ มีการจัดติวเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ ONET-NT แต่มีจุดหนึ่งที่การติวเกิดขึ้นไม่ได้ จึงจัดการเรียนรู้ไปตามปกติ แต่ผลที่ได้คือคะแนนการสอบ ONET –  NT ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเหมือนเดิม เมื่อถามว่า สิ่งนี้เชื่อมโยงกับจิตศึกษาอย่างไร เมื่อกลับไปมองที่เรื่องจิตศึกษา คือ เรื่องของการเตรียมสภาวะจิต เพื่อให้เด็กพร้อมที่จะเรียนในชั่วโมงเรียนนั้น การเข้าแถวหน้าเสาธง อากาศก็ร้อน ครูเวรพูดยาว ๆ ยืนนานทำให้เด็กเหนื่อยล้า พอขึ้นห้องก็เริ่มการเรียนการสอนทั้งที่สภาวะร่างกายและจิตใจเด็กยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้ เมื่อเปลี่ยนมาใช้จิตศึกษา ก่อนเข้าเรียนมีการทำ Brain Gym เพื่อเตรียมสภาวะจิตให้พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ในเพื่อการเรียนรู้ในวิชานั้น และการเรียนรู้ PBL ที่เป็นวิชาที่เด็ก ๆ ชอบมาก เป็นสิ่งที่เขาได้ลงมือทำด้วยตนเอง เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ เราปล่อยให้เด็ก ๆ ล้มเหลวให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเกิดการเรียนรู้ เป็นการสร้าง Growth Mindset เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาและเขาจะเรียนรู้เพื่อการพัฒนา โดยที่โรงเรียนจิตศึกษาออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า ( Brain Gym )  ช่วงเที่ยง (Boddy scan) และช่วงก่อนกลับบ้านเป็นช่วงที่สำคัญเราเรียกว่า ‘ช่วงจัดกายจัดใจ’ ให้เด็กได้สำรวจและทบทวนตนเองก่อนกลับบ้าน ซึ่งจิตศึกษาทั้ง 3 ช่วงเวลาช่วยเสริมสร้างให้เด็กเกิดการกำกับตนเอง ( Self Control ) ได้ดีขึ้น” 

ส่วนหน่วยการเรียนรู้ PBL โคราชบ้านเอง (โคราชบ้านฉัน) ที่เป็นเรื่องของดีเมืองโคราช ตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ย่าโม วัฒนธรรม อาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช หน่วยนี้ทำให้เด็กได้ออกเดินทางไปเรียนรู้สถานที่สำคัญของจังหวัดตนเอง นอกจากเกิดการเรียนรู้ของดีในบ้านเกิดถิ่นที่อาศัยแล้วยังสร้างให้เด็กอยากอนุรักษ์และหวงแหนทุนวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งการเรียนรู้แบบเดิมที่ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อาจไม่สามารถสร้างสำนึกรักบ้านเกิดที่พร้อมให้เด็กได้เรียนรู้เป็นเจ้าของปัญหาที่พวกเขาสงสัยและอยากคิดด้วยตนเอง

เมื่อโลกเปลี่ยน ครูเราจึงต้องเปลี่ยนให้ทันโลก กระบวน PLC เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพครูอย่างนุ่มลึกและต่อเนื่อง ที่ครูได้ซึมซับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในโรงเรียน จนเกิดเป็นความงอกงามจากการใช้นวัตกรรม จนสามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้ สามารถยกระดับกระบวนการเรียนรู้และนำองค์ความรู้นั้นไปร่วม PLN ในระดับเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืนของนวัตกรรมนี้ได้



.

การถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

โรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ

 โรงเรียนพัฒนาตนเองจังหวัดนครราชสีมา (TSQA)

โดย นายเอกฉันท์  โชติฉันท์

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ

สพป.นครราชสีมา เขต 1

ประเด็นที่ 1 : การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุงสู่การพัฒนาผู้เรียนด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ จุดจองมองสำคัญที่โรงเรียนควรให้ความสำคัญมีประเด็นอะไรบ้าง

1.     ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ตระหนักรู้และมีเป้าหมายเดียวกันว่า การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนใน การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม  ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ ต่าง ๆ ในชีวิตจริง เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น

2.     สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน (สนามพลังบวก : สถานที่+กิจกรรม+จิตวิทยาเชิงบวก) สัมพันธ์ภาพระหว่างคนกับสถานที่ สัมพันธ์ภาพระหว่างคนกับคน (ครูกับนักเรียน) รู้สึก อบอุ่น ร่มเย็น ปลอดภัย ส่งผลต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ

3.     ตัวนวัตกรรมหรือกิจกรรมที่ดีและเรียบง่ายสำหรับครูผู้สอนที่จะนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดได้

4.     รูปแบบการประเมินและวัดผล ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น

5.     กระบวนการ PLC เป็นกระบวนการที่ทำให้ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ส่วนผู้ปกครองเป็นผู้เกื้อหนุนการเรียนรู้หรือสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเปลี่ยนชุดความคิดด้านการสอนแบบเก่าๆ มาเน้นกระบวนการเรียนรู้ฐานสมรรถนะได้

ประเด็นที่ 2 : การนำครู และผู้ปกครองไปสู่การมีกรอบความคิดที่เติบโต หรือ Growth Mindset เพื่อที่จะเปิดใจต่อการปรับเปลี่ยนบทบาท และแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันไดอย่างไร

ผมเชื่อกระบวนการ PLC เป็นกระบวนการที่สามารถทำให้ครูและผู้ปกครองเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การได้เรียนรู้ร่วมกันจะทำให้เกิดความเข้าใจ  ทัศนคติ ความเชื่อ และความเข้าใจในคุณค่าของตนเอง (self esteem)  ซึ่งผมเชื่อว่า self esteem คือปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิด Growth Mindset ที่จะสามารถเปลี่ยนบทบาทครูที่จะเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ส่วนผู้ปกครองเป็นผู้เกื้อหนุนการเรียนรู้หรือสนับสนุนการเรียนรู้ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันได้

ประเด็นที่ 3 : การนำกระบวนการ PLC Professional Learning Community มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของครูสู่การพัฒนานักเรียนบนฐานสมรรถนะนั้นควรเป็นอย่างไร ครูควรได้รับการฝกทักษะพื้นฐานใดบ้างเพื่อให้การจัดกระบวนการ PLC นั้นได้รับผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน

1.     ความเป็นชุมชน (สนามพลังบวก) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน (สนามพลังบวก : สถานที่+กิจกรรม+จิตวิทยาเชิงบวก) สัมพันธ์ภาพระหว่างคนกับสถานที่ สัมพันธ์ภาพระหว่างคนกับคน (ครูกับนักเรียน) รู้สึก อบอุ่น ร่มเย็น ปลอดภัย   การนำองค์กร การสร้างคุณค่าร่วมกัน เป้าหมายร่วม วิถี วัฒนธรรมองค์กรใหม่

2.     กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน : การถอดบทเรียน เรียนรู้จากความสำเร็จ-ไม่สำเร็จ แก้ปัญหา คิดนวัตกรรม

3.     ทักษะ Deep Listening / Dialogue / Facilitator

4.     กระบวนการ : 4.1 การเตรียมสภาวะจิต  4.2 การแบ่งปันความสำเร็จ 4.3 ระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา

 4.4 Empower

ประเด็นที่ 4 : การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะจะทำให้นักเรียนสามารถสอบคัดเลือกเขาเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือที่ใจมุ่งหวังได้จริงหรือ

        ผมเชื่อว่าได้ การเรียนรู้แบบเดิมที่แยกเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาจเหมาะกับการสอบคัดเลือกเข้าเรียนนต่อหรือการสอบแข่งขัน เพราะมันถูกออกแบบมาตามรูปแบบที่เรียนมาและต้องอาศัยการท่องจำ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนใน การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม  ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ ต่าง ๆ ในชีวิตจริง ผมเชื่อว่าเด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะมีกระบวนการในการจัดการตนเอง และวิธีการหรือกระบวนการ ที่สร้างสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เขามีกับการสอบคัดเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ประเด็นที่ 5 : การเรียนแบบแยกส่วน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เช่นในอดีต กับการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้สู่การบูรณาการจะทำให้นักเรียนได้ชุดความรู้ครบถ้วน และสามารถไปใช้สอบเข้า และพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในอนาคตได้อย่างไร

1.        ผู้เรียนที่เรียนรู้สู่การบูรณาการจะรู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น

2.        ผู้เรียนสามารถจัดการอารมณ์และความเครียดรวมถึงการจัดการปัญหาเพื่อไปสู่ความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิต

3.        ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างรอบด้านอย่างเป็นเหตุเป็นผล

4.        ผู้เรียนสามารถสื่อสารโดยใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

5.        ผู้เรียนสามารถจัดระบบและกระบวนการทำงานทั้งของตนเองและร่วมกับผู้อื่น อย่างมีแบบแผนขั้นตอนให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

6.        ผู้เรียนเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในกติกาและกฎหมาย มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีวิจารณญาณอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

ประเด็นที่ 6 : การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะจะช่วยทำให้นักเรียนค้นหาความถนัด จุดแข็งหรือพรสวรรค์ได้เร็วกว่าการจัดการเรียนรู้แบบเดิมได้อย่างไร หากไม่มีการทดสอบเพื่อให้เห็นคะแนนที่จะเป็นตัวบ่งชี้ความถนัดของนักเรียน

        ผ่านการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยการลองถูก ลองผิด ผ่านการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ ต่าง ๆ ในชีวิตจริง เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น

ประเด็นที่ 7 : ดังเช่นต่างประเทศที่เริ่มไม่มีการวัดผลผ่านการทดสอบนักเรียนด้วยชุดข้อสอบ แต่ปรับเปลี่ยนการวัดประเมินผลด้วยสมรรถนะ และความสามารถในการปฏิบัติเชิงประจักษ การวัดผลดังกล่าวที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจะเป็นประโยชนตอทั้งตัวนักเรียน ครู และผู้ปกครองได้อย่างไร

        ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม  ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้การได้จริงในสถานการณ์ ต่าง ๆ ในชีวิตจริง เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น

    ครูเป็นโค้ชที่เรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็ก เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ เป็นผู้สร้างสถานการณ์ เพื่อเป็นการดึงศักยภาพของผู้เรียนเอาชนะโจทย์หรือสถานการณ์ที่ครูเป็นผู้สร้างขึ้น

        ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุนและได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็กตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดรับกับยุคสมัย และเข้าใจถึงคำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประเด็นที่ 8 : นักเรียน ครู และผู้ปกครองจะตองปรับตัวอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงที่มีผลทำให้การศึกษานั้นเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ

        ปรับเปลี่ยนมุมมอง เมื่อโลกเราเปลี่ยนเราจึงต้องเปลี่ยนให้ทันโลก  คงเริ่มจากการมองโลกอย่างเข้าใจ เริ่มต้นจากทัศนคติหรือวิธีคิด (Mindset) ที่เป็นการคิดเชิงบวกซึ่งจะไปกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้อีกทอดหนึ่ง Mindset สำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการเรียนรู้ เช่น Growth Mindset คือแนวคิดที่มองว่าทุกสิ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงเติบโตได้ มองอุปสรรคเป็นโอกาส รักที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่กลัวที่จะผิดพลาด มองการล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ

—-

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า