เรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเข้าใจโลกผ่านวรรณกรรม

Share on

 788 

โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล) สพป.นครพนม เขต 1 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง ด้านการทำงานวิชาชีพของครูติ๊ก ฉัตรวรีย์ นั้นเริ่มปฏิบัติงานวิชาชีพครูมากว่า 31 ปี โดยเริ่มต้นอาชีพครูที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่มีความพร้อมค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนรัฐในต่างจังหวัด เมื่อกลับมาสอนที่นครพนม ทำหน้าที่เป็นครูที่สอนทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งข้อได้เปรียบนี้เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ครูทำให้เข้าใจเด็กทั้ง 2 ช่วงวัยได้เป็นอย่างดี

ด้วยในอำเภอที่โรงเรียนตั้งอยู่มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนใกล้ ๆ กันถึง 3 โรงเรียน เกิดเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างจุดเด่นที่แตกต่างกว่าโรงเรียนใกล้ ๆ กันได้ จึงลองมองหานวัตกรรมเข้ามาเป็นจุดเด่นในการเรียนการสอน จึงนำเรื่องจิตศึกษาและการสอนแบบบูรณาการ PBL การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญาภายนอกเข้ามาเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล) แห่งนี้ และใช้จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายในที่เป็นเรื่องความเข้าใจต่อตัวเอง ต่อชีวิต ต่อโลก และจักรวาล สร้างความตระหนักรู้ มีสติชำนาญ การเคารพคุณค่าตัวเองและคนอื่น และรับผิดชอบหน้าที่ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องมีเสียงออดเสียงระฆังคอยกำกับว่าถึงเวลาต้องทำอะไร มีกิจกรรมหน้าเสาธงใช้เวลาเท่าที่จำเป็น

เปลี่ยนที่ครูเปลี่ยนที่นักเรียน

จากครูดุ ๆ แบบครูติ๊ก ที่มีระเบียบเป๊ะ ๆ มีลำดับขั้นตอนแบบคนเรียน + สอนวิทยาศาสตร์ พอจิตศึกษาเข้ามาการเปลี่ยนแปลงเริ่มที่ครูก่อน ครูติ๊กเริ่มเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น และสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงในเด็กคือการที่เด็กรู้ตนเอง กำกับตนเอง จัดการอารมณ์ได้ การทะเลาะวิวาทลดลง สมาธิการทำงานเพิ่มขึ้น มีความมุ่งมั่นในการทำงานทำให้ชิ้นงานสำเร็จ เด็กมองเห็นคุณค่าของตนเองว่าพวกเขาทำได้ โดยทุกการเรียนการสอนมีการสะท้อนผล (Reflection) ให้เกิดการเรียนรู้ข้อผิดพลาดเพื่อพัฒนาต่อไป

ไม่ใช่แค่โรงเรียนผู้ปกครองเองก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

เมื่อได้เข้าอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ แรก ๆ ก็ไม่พบเจอทางว่าจะนำมาปรับใช้ในโรงเรียนอย่างไร พอมาถึงจุดหนึ่งเริ่มมองเห็นจุดเปลี่ยนที่จะนำเรื่องจิตศึกษามาใช้ในโรงเรียน และเปลี่ยนโครงสร้างเชิงระบบ จุดแรกเปลี่ยนตารางเรียนใหม่ วิถีก็เปลี่ยน จากที่สอน 8 กลุ่มสาระวิชา เหลือเพียงแค่ 1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) ภาษาอังกฤษ ส่วนสาระวิชาที่เหลืออีก 5 วิชากลายเป็นบูรณาการวิชา Problem Based Learning (PBL) โดยที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เพียงแค่นักเรียน ผู้ปกครองนั้นก็ต้องเรียนรู้เรื่องจิตศึกษาไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจการเรียนรู้ในแบบเดียวกัน ซึ่งผู้ปกครองก็รับรู้ถึงกระบวนการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการที่จะได้เห็นผลงานนักเรียนที่เป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์มากกว่าเรื่องพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

จากครูวิทย์ต้องสอนภาษาไทย และทำไมต้องภาษาผ่านวรรณกรรมสู่การคิดขั้นสูง

จากครูวิทยาศาสตร์ต้องมาสอนภาษาไทย ครูติ๊ก มีความคิดที่ว่า ‘การสอนภาษาไทยได้ดีต้องจบเอกภาษาไทย’ แต่เมื่อต้องมาสอนแล้วจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพอย่างไร ครูติ๊กเริ่มจากเปิดหนังสือสอนตามเนื้อหาที่ให้มาก่อน ไม่นานก็มาถึงจุดเปลี่ยนการเรียนการสอนภาษาไทยจากวิชาเรียนที่เด็ก ๆ เบื่อหน่ายกลายเป็นวิชาที่เด็ก ๆ เรียกร้องอยากเรียน

จากคำของ ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง แนะว่า สอนแบบเดิมก็ได้ผลแบบเดิม ด้วยความเป็นครูวิทยาศาสตร์มาก่อนก็เกิดความท้าทาย ต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก็ลองไปศึกษางานวิจัยพบว่าที่ประเทศนิวซีแลนด์มีการสอนภาษาจากสภาพแวดล้อม เรียนรู้จากวิถีธรรมชาติใช้วรรณกรรมเป็นสื่อ จึงลองมาใช้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรมตามแผนที่ได้มา แรก ๆ ก็ติด ๆ ขัด แต่ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน จากแบบเรียนที่เป็นเล่ม ๆ ก็เริ่มออกนอกตำราไปเรียนรู้วรรณกรรมที่มีความงดงามมากกว่าในตำราเรียน ไม่ได้สอนให้เรียนรู้ภาษาไทยแค่อ่านออกเขียนได้ แต่ให้เป็นการเรียนเพื่อเข้าใจชีวิตที่ขยายขอบเขตความรู้ที่กว้างขึ้น ให้นักเรียนเข้าใจโลกและใช้ชีวิตเป็นผ่านตัวละครในวรรณกรรมที่สอดแทรกแบบอย่างการดำรง ชีวิต ทัศนคติที่มีทั้งด้านบวก ด้านลบ ความดีงามต่อสิ่งต่าง ๆ  เมื่อการเรียนรู้ขยายขอบเขตกว้างขึ้นเด็ก ๆ ก็มีคลังคำมากขึ้น เขาสามารถสื่อสารผ่านภาษาไทยได้ดีขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งภาษาไทยขั้นสูงเป็นเรื่องของสมรรถนะการสื่อสาร โดยย้อนกลับไปดูมาตรฐานและตัวชี้วัดเป็นหลัก ซึ่งมี 5 สาระหลัก ๆ 1) การอ่าน 2) การเขียน 3) การฟัง การดู และการพูด 4) หลักการใช้ภาษา 5) วรรณคดีและวรรณกรรม เพื่อให้นักเรียนสามารถสรุปหลักการของภาษาได้ด้วยตนเองจึงเป็นการเรียนรู้ที่คงทนกว่าการท่องจำ และติดตัวไปใช้จริงในชีวิตประจำวันที่แตกต่างจากการเรียนภาษาไทยในแบบเดิม

จากมุมมองของครูติ้กข้างต้น ทำให้เราได้มองเห็นว่าไม่ว่าการเรียนรู้วิชาใดถ้าไม่ตอบโจทย์การนำไปใช้งานในชีวิตจริง ผู้เรียนจะตั้งคำถามว่า พวกเขาจะเรียนสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ดังนั้นคุณครูมีหน้าที่ทำให้การเรียนรู้ในสาระวิชาต่าง ๆ แปลงค่าจากการเรียนรู้เพื่อท่องจำเป็นการเรียนรู้ที่ติดตัวผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต

บทความที่เกี่ยวข้อง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีด้านภาษาไทยผ่านวรรณกรรม
https://iamkru.com/2023/09/04/novel-tsqp/

 789 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า