จากครูผู้สอนกลายเป็นครูนักบริหารกับการเดินทางกว่า 30 ปี ของครูมืออาชีพที่สร้างโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

Share on

 197 

จากเดิมที่เป็นครูการุณ ชาญวิชานนท์ คนในพื้นที่ชุมชนบ้านโกรกลึก เป็นครูธรรมดาคนหนึ่งที่มองเห็นปัญหาหลายอย่างที่อยากแก้ไขด้วยหัวใจและกำลังของครูที่มี แต่ด้วยในขณะนั้นโอกาสยังไม่เอื้ออำนวยจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างที่ใจต้องการ หลังจากย้ายออกไปเป็นผู้อำนวยการในโรงเรียนนอกพื้นที่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2552 มีโอกาสได้กลับมาที่โรงเรียนบ้านโกรกลึกในฐานะผู้อำนวยการการุณ ชาญวิชานนท์ การกลับมาคราวนี้จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญที่ได้พิสูจน์ฝีมือด้านการพัฒนาโรงเรียนและคุณภาพการศึกษาของชุมชนอย่างที่เคยได้ตั้งใจไว้

บริบทโรงเรียนบ้านโกรกลึกนั้นเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ชั้นประถมศึกษา 6  มีนักเรียนประมาณ 134 คน ครูส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีความสัมพันธ์กับชุมชนค่อนข้างดี รู้จักคนในชุมชนพร้อมเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างดี ถือเป็นข้อได้เปรียบด้านพื้นที่และสัมพันธ์ชุมชน

ผอ. การุณ เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ย้ายกลับมาประจำที่นี่ ก็เริ่มกำหนดเป้าหมายและเริ่มวางแผนการแก้ปัญหาของที่โรงเรียนและชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ปัญหาที่ว่านั้นเป็นเรื่อง ‘เด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส’ และ ‘ ขาดความพร้อม’ ทั้งในด้านฐานะทางการเงิน และการสนับสนุนจากครอบครัวเพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย  พบว่าเด็ก ๆ ขาดทักษะในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้ ใฝ่รู้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่อะไรเพราะทางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาได้ แต่ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขคือ ปัญหาเรื่องทักษะการคิด ที่ยังคิดไม่ลึก คิดไม่ถี่ถ้วน หรือคิดไปข้างหน้า เมื่อขาดทักษะตรงนี้จึงส่งผลด้านพฤติกรรม คิดแล้วพูดเลย ส่งผลให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว ชุมชน 

จะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กคิดให้มากขึ้น คิดให้ถี่ถ้วน คิดลึกซึ้ง ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะลงมือ ก่อนที่จะเรียนรู้ ผอ.การุณ และครูในโรงเรียนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือการแก้ที่ทักษะกระบวนการคิด แก้ที่วิธีคิดของเด็กจะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและแก้ปัญหาได้มากกว่า การแก้ปัญหาเรื่องทักษะกระบวนการคิดจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของครูทั้งโรงเรียน นี่เป็นจุดเริ่มของการนำตัวนวัตกรรมจิตศึกษาเข้ามาใช้ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึกแห่งนี้ และพร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดโอกาส คุณภาพการศึกษา ความปลอดภัย และชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ควบคู่ไปด้วยอีกทางหนึ่ง 

เริ่มเดินทางไปศึกษาดูงานหลายที่หลายโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมเพื่อนำมาแก้ปัญหาของโรงเรียน

ผอ.การุณ เริ่มต้นด้วยศึกษาดูงานโรงเรียนที่มีนวัตกรรมหรือโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว นำหลายวิธีการ หลายรูปแบบตามที่โรงเรียนตัวอย่างปฏิบัติแล้วได้ผลจริง เมื่อทดลองทำตามโรงเรียนต้นแบบแล้วก็พบว่า กระบวนการบางอย่างได้ผลดีเฉพาะบริบทโรงเรียนต้นแบบ แต่พอมาใช้ที่โรงเรียนของตนเองกลับไม่เกิดผลที่น่าพอใจ เมื่อมองกลับไปก็พบว่าโรงเรียนเขาและโรงเรียนเรามีความแตกต่างกัน จึงเริ่มมองหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์และมีบริบทใกล้เคียงกัน 

ลองนำนวัตกรรมจิตศึกษาของลำปลายมาศพัฒนามาใช้แก้ปัญหา จากที่ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์คณะครุศาสตร์จาก มรภ.ราชสีมา ระหว่างที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน มาชี้เป้าเรื่องการพัฒนาทักษะเด็กถึงนวัตกรรมจิตศึกษา ว่ามีตัวอย่างความสำเร็จที่หลายโรงเรียนทำอยู่และมีตัวอย่างความสำเร็จของหลาย ๆ โรงเรียนจากนวัตกรรมตัวนี้ เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจจึงลองให้ครูที่โรงเรียนไปเรียนรู้และศึกษาดูงาน ก็พบว่าเป็นนวัตกรรมที่คุณครูเข้าใจและมีแบบแผนปฏิบัติที่ทำได้ง่าย

นวัตกรรมจิตศึกษาเข้ามา โรงเรียนเปลี่ยน ห้องเรียนเปลี่ยน ไปอย่างไร 

ปลายปี พ.ศ. 2558 เดินทางไปดูงานที่โรงเรียนบ้านท่าเสา จังหวัดระยอง พอต้นปี พ.ศ. 2559 นวัตกรรมจิตศึกษาได้เริ่มใช้ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึก แม้จะอยู่คนละจังหวัดแต่โรงเรียนบ้านท่าเสากลับมีบริบทโรงเรียนที่ใกล้เคียงกัน โรงเรียนบ้านโกรกลึกจึงใช้แผน กระบวนการ และนำสื่อการสอนมาใช้ 

1 เดือนผ่านไป สิ่งที่ค้นพบเด็กเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมที่เห็นได้ชัด จากเป็นเด็กที่กำกับตนเองไม่ค่อยได้ หยุกหยิก การตอบคำถามเป็นการตามอย่างเพื่อนขาดความคิดสร้างสรรค์ เป็นผลสำเร็จขั้นแรกที่ ผอ.การุณและครูเห็นประจักษ์จากที่นำจิตศึกษามาใช้ที่โรงเรียน 

แต่พอใช้ไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดปัญหาว่าเทคนิคที่นำมาใช้นั้นนำมาจากโรงเรียนต้นแบบที่ไปศึกษาดูงาน เกิดภาวะที่เรียกว่าตันไปต่อไม่ได้เพราะเป็นกระบวนการที่เน้นจำมาใช้เสียส่วนใหญ่ 

จากปัญหาเปลี่ยนเป็นโอกาส ผอ. การุณ จึงใช้โอกาสนี้พาครูไปศึกษานวัตกรรมที่โรงเรียนเจ้าของนวัตกรรมถึงที่ลำปลายมาศพัฒนา จึงได้หลักคิดที่แท้จริงของการใช้นวัตกรรมจาก ครูใหญ่ วิเชียร ผอ.โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ครูได้เรียนรู้นวัตกรรมที่เข้าไปถึงหลักคิดสำคัญที่ทำให้สามารถใช้จิตศึกษาที่นำไปปรับใช้ได้ในทุกกระบวนการ 

เป็นธรรมดาของทุกโรงเรียนที่ครูต้องมีการโยกย้าย เกษียณราชการ และมีครูบรรจุใหม่ เหลือครูในโรงเรียนที่เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมโดยตรง แต่สิ่งนี้ไม่เป็นปัญหาเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้จิตศึกษา ผอ.การุณ บอกเล่าให้ฟังแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรหรือนโยบาย ไม่มีผลกระทบต่อจิตศึกษา เพราะโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบใช้จิตศึกษาเป็น ‘วิถี’ ที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาเชิงระบบตั้งแต่ตัวครู ตัวเด็ก กิจกรรมการเรียนจะดำเนินต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกลายเป็นการซึมซับจากครูรุ่นต่อรุ่น ครูสู่นักเรียน และสู่ชุมชน 

นวัตกรรมจิตศึกษาอย่างเดียวนั้นอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร โรงเรียนบ้านโกรกลึกใช้เพื่อหนุนเสริมด้วยนวัตกรรม PLC  PBL โดยมีจิตศึกษาเป็นร่มใหญ่ที่คลุมโรงเรียนไว้เป็นสนามพลังบวกที่ทำให้เกิดความร่วมมือ เห็นคุณค่า การเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ด้อยค่าความคิดคนอื่น เกิดเป็นสัมพันธภาพที่ดีในองค์กร และภายใต้ร่มจิตศึกษา นั้นมีกระบวนการ PLC ทำให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจะพัฒนาครูใหม่และครูรุ่นเก่าพัฒนาไปด้วยกันได้ ซึ่งทำประจำกันทุกสัปดาห์ และ PBL การนำปัญหารอบตัวเป็นฐานในการเรียนรู้

มีจุดร่วมที่น่าสนของโรงเรียนที่ใช้จิตศึกษา นอกจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปพบว่าเด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ผอ.การุณ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเพราะจิตศึกษาใช้กระบวนการ ชง เชื่อม ใช้ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย โดยครูใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกับเด็กกระตุ้นด้วยคำถามให้คิด โดยใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นตัวตั้ง วางแผนและออกแบบหน่วยการเรียนรู้ร่วมกับวิชาการโรงเรียน ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนแผนเพื่อการพัฒนาระหว่างโรงเรียนในเครือข่าย เพื่อให้การเรียนรู้ตลอดปีการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานตัวชี้วัด 

  • ชง กระตุ้นเด็กคิดตระหนักถึงเรื่องที่กำลังจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องที่จะเรียนรู้ ว่าจะเกิดประโยชน์ มีโทษอย่างไร มีความสำคัญต่อตัวเด็กอย่างไร โดยนำประสบการณ์ที่ครูอยากให้เด็กเรียนรู้มาช่วยกันขบคิดกันเสียก่อน 
  • เชื่อม เด็กเข้าเข้าสู่กระเรียนรู้ว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงต่อตัวเด็ก ด้วยการนำเสนอ แลกเปลี่ยนด้วยการเล่า การถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ ให้คนอื่นได้รับรู้
  • ใช้ โดยการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ทั้ง การรู้ตัว การกำกับตน การจดจ่อ การมีจิตใหญ่  การรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม  การเห็นความเชื่อมโยง และการเคารพในความต่างเห็นคุณค่าต่อตัวเองและสิ่งอื่น

ในระหว่างที่ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านโกรกลึก ทีม  I AM KRU. ได้เดินสำรวจห้องเรียนต่าง ๆ ของโรงเรียนบ้านโกรกลึกแห่งนี้จะมีผลงานนักเรียนอัดแน่นติดเต็มพื้นที่โดยผลงานนั้นมีความหลากหลายทางความคิด เทคนิค และฝีมือการนำเสนอ ผอ.การุณ เล่าว่าผลงานนักเรียนที่ติดอยู่นั้นเป็นชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการคิดและลงมือทำด้วยกันเป็นความสำเร็จของนักเรียนทุกคนเป็นพื้นที่แสดงผลงาน เป็นเรื่องที่โรงเรียนให้ความสำคัญ เพราะเด็กจะเห็นคุณค่า และภาคภูมิใจผลงานของตัวเอง โดยผลงานเขานั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นอีกเทคนิคการสร้างบรรยากาศภายในชั้นเรียนที่เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ และเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจแก่นักเรียนที่โรงเรียนอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้  

รางวัลครูโลกของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 

ผอ.การุณ เล่าถึงความสำเร็จของรางวัลนี้ที่เกิดจากการทำงานที่มุ่งมั่นด้านพัฒนาโรงเรียนบ้านโกรกลึกในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี เห็นผลสำเร็จที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ของครูที่ดีขึ้น วิธีการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนแปลง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ พร้อมทั้งมีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเพื่อให้โรงเรียนอื่นได้เกิดการพัฒนาขยายวงกว้างออกไปและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

ถ้าเปรียบโรงเรียนบ้านโกรกลึกเป็นขุนเขาสักลูกคงเป็นขุนเขาที่กว้างใหญ่แข็งแกร่งตระหง่าน ร่มเย็นและมีสายน้ำเชื่อมโยงกับสายน้ำลำอื่นเพื่อหลอมรวมเป็นสายน้ำสำคัญที่เรียกว่าสายน้ำแห่งการพัฒนา

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า