ดนตรีจากขวดแก้ว ที่สอดแทรกเรื่องสุนทรียะและวิทยาศาสตร์

Share on

 222 

ถ้าใครได้รับชมงานถ่ายทอดสดกิจกรรมเปิดบ้านนักจัดการเรียนรู้โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบครั้งที่ผ่านมา จะพบกับการแสดงเปิดงานบนเวทีน่ารักจากน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านคลองคุ้ย ด้วยเวลาการแสดงและท่วงทำนองดนตรีขับกลอนรำโนราห์ ‘ปากแจ่มบ้านเรา’ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดตรัง โดยใช้ทำนองเพลง ‘ชวนน้องล่องใต้’ โดยเนื้อเพลงสะท้อนเรื่องวัฒนธรรมของตำบลปากแจ่ม มีภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ถ้ำแรด ถ้ำตรา เหมืองดีบุกโอบล้อมด้วยภูเขา พร้อมนำเสนอการแสดงด้วยสุดฮิตอย่าง ทรงอย่างแบด บุพเพสันนิวาส ที่สร้างความตื่นตารื่นหูกับผู้เข้าร่วมงาน โดยมี ‘ครูตอง’ ว่าที่ร้อยตรี กันตภณ เดโชศาสตร์ เป็นผู้ดูแลการแสดงของเด็ก ๆ ที่ได้รับชมกัน

วันนี้โครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลกที่ฟังดูเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เสียส่วนใหญ่ แต่ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนศิลปศาสตร์อย่างวิชาดนตรีได้อย่างไร ในบทความสัมภาษณ์ครูตอง กันตภณ นี้มีคำตอบ 

“ดนตรีเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ครับ” เป็นประเด็นน่าสนใจที่กระตุ้นความอยากรู้อยากถามต่อถึงวิทยาศาสตร์ในดนตรีเป็นอย่างไรกันแน่ 

ครูตองเล่าให้ฟังว่า ดนตรีเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ เสียงที่ได้ยินจากเครื่องดนตรีนั้นเป็นวิทยาศาสตร์เสียงที่เกิดจากวัตถุกระทบกัน แต่ความไพเราะเป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ดังนั้นห้องเรียนวิชาดนตรีของครูตองจึงมีส่วนผสมทั้งสองศาสตร์

ทำไมวิชาประสบการณ์โลกถึงกลายเป็นขวดแก้วในวิชาดนตรี

ครูตองเล่าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า ขวดแก้วพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน เด็กหยิบมาเคาะเล่นบ้าง บางคนก็ดีดกีตาร์เคาะขวดกันไปตามประสา พอเป็น Active Learning จากโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก เด็กก็เกิดความคิดว่า พวกเขาอยากแก้ปัญหาขยะขวด เพราะว่าในธรรมชาติน้ำตก ภูมิศาสตร์บ้านปากแจ่มเป็นพื้นที่ภูเขา ในธรรมชาติมีขวดแก้วแตกอยู่เยอะ บางคนไปเที่ยวน้ำตกแล้วเกิดอุบัติเหตุ ขวดบาดมือ บาดเท้า เกิดแผล หรือข้างถนนพอเดินไป เขาถางหญ้าโดนขวด ขวดกระเด็นแตกเป็นเศษแก้ว ซึ่งถามเด็กแล้วบอกว่าเศษแก้วน่ากลัวมาก ขยะชิ้นอื่นไม่น่ากลัวเท่า ในมุมมองเด็กขวดแก้วถือเป็นขยะอันตราย จึงมีความคิดว่าอยากจะแก้ปัญหาขยะจากขวดแก้ว ลดปริมาณ โดยนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

ขวดแก้วถูกเปลี่ยนจากขยะเหลือใช้ในชุมชนกลายเป็นอุปกรณ์หลักในการสอนดนตรี สร้างความสนุกสนาน  รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  โดยเริ่มจากการที่นักเรียนนำขวดแก้วชนิดต่าง ๆ ที่เหลือใช้ในโรงอาหาร  บ้านเรือน  ชุมชน เพียงมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าแล้วใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง 

กระบวนการวิทยาศาสตร์เริ่มต้นที่นี่ ทดลองสร้างเสียงโน้ตโดยการเติมน้ำลงไปในขวดแล้วเคาะเทียบเสียงด้วยเครื่องจูนเนอร์ด้วยความถี่ที่  440  Hz  และความถี่ที่  430  Hz  โดยใช้ช้อนหรือตะเกียบ และไม้มาร์ชชิ่งเบลเคาะตีจนเกิดเสียงที่ต้องการ  ซึ่งความถี่  440  Hz  เป็นระดับความถี่มาตรฐานในการตั้งเสียงหรือเทียบเสียงในระบบเสียงดนตรีสากล  ส่วนความถี่ที่  430  Hz  เป็นระดับความถี่มาตรฐานในการตั้งเสียงหรือเทียบในดนตรีระบบเสียงดนตรีไทย  หลังจากที่เติมระดับน้ำลงไปในขวดและเทียบเสียงเพื่อให้ได้ค่าโน้ตหรือเสียงโน้ตที่นักเรียนต้องการแล้ว  นักเรียนจะนำเสียงที่ตนเองหรือเพื่อนในกลุ่มที่สร้างได้มาทำการเรียงระดับเสียงจากเสียงต่ำไปหาระดับเสียงสูง  ตัวอย่าง  โด  เร  มี  ฟา  ซอล  ลา  ที  โดสูง  ส่วนระดับโน้ตที่มีเสียงชาร์ปและระดับโน้ตที่มีเสียงแฟลต  จะมีการแทรกระหว่างโน้ตเสียงหลัก หลังจากนั้นจะมีการเคาะเทียบระดับเสียงโดยการไล่เสียงอีกครั้งเพื่อเช็คความแม่นยำหรือให้ใกล้เคียงกับเสียงโน้ตที่ต้องการมากที่สุด แล้วทำการนำเชือกมาผูกที่ปากขวดที่มีเสียงระดับเสียงโน้ต  ขั้นตอนต่อไปคือนำขวดที่เตรียมไว้ไปแขนหรือผูกกับราวเหล็ก  ในขั้นสุดท้ายจะมีการเช็คระดับน้ำหรือจูนเสียงอีกรอบก่อนทำการบรรเลงเพลง 

หลังจบกระบวนการวิทยาศาสตร์เสร็จสิ้น สุนทรียศาสตร์ก็เริ่มต้นขึ้น …

เมื่อเทียบเสียงได้โน้ตตามที่ต้องการแล้ว เสียงเพลงการบรรเลงเดี่ยวหรือการบรรเลงแบบวงดนตรี  หรือจะใช้การผสมผสานการบรรเลงในรูปแบบต่างๆ  ตามที่นักเรียนการออกแบบเสียงประสาน  ส่วนบทเพลงที่ใช้จะเริ่มฝึกจากเพลงที่ง่าย ๆ ก่อนแล้วเริ่มฝึกไปหาเพลงที่มีความยากซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ  

ครูตองเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่เติมน้ำในขวดแต่ละประเภทเป็นช่วงเวลาที่ครูสามารถสังเกตเห็นทักษะของเด็กแต่ละคนได้ดีว่าเป็นที่เรียนรู้เร็ว/ช้า มีสมาธิดีหรือไม่ดี ซึ่งการเรียนรู้ด้วยกระบวนการตรงนี้เป็นการฝึกทักษะการเป็นนักช่างสังเกตว่าเสียงที่เกิดจากขวดแก้วแต่ละขวดแม้มีขนาดน้ำในระดับที่เท่ากันแต่จะให้เสียงที่หนาเบาไม่เท่ากัน เด็กก็หัดฝึกการสังเกต และจดจำทำบันทึกความแตกต่างของเสียงที่เกิดขึ้น  อีกเรื่องคือ สมาธิ เด็กจะเกิดสมาธิและจดจ่องานตรงหน้าเพิ่มขึ้น เพราะต้องตั้งใจฟัง ใช้สมาธิเพื่อแยกความแตกต่างของเสียงของขวดแต่ละประเภท ซึ่งภาษาทางดนตรีเรียกว่าการฝึก ears training เป็นทักษะที่สำคัญของคนที่เรียนดนตรี แต่ว่าจะเรียนรู้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพยายามและพัฒนาการเด็กแต่ละคนที่ตัวคุณครูต้องปล่อยให้เด็กได้ใช้เวลาให้เด็กได้เรียนรู้สักพักหนึ่ง เพื่อให้เกิดผลที่เด็กเกิดการเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง 

ครูตองทำอย่างไรให้ดนตรีขวดแก้วเล่นได้ทั้งโน้ตสากลและโน้ตไทยเดิม

เดิมที่โรงเรียนมีวงดนตรีบรรเลง สากล พอเราทำเสียงจากขวดแก้ว เราตั้งเสียงมาตรฐานระบบสากลด้วยเครื่องจูนเนอร์ สามารถบรรเลงเข้ากับเครื่องสากลต่าง ๆ ได้ พอเป็นเพลงโนราห์ นักร้องในวงดนตรีมีคุณพ่อเป็นนายโนราห์ จึงขออนุญาตแกะโน้ตเทียบเสียง แม้คุณพ่อของนักเรียนบอกว่ามีหลายจุดที่ยังไม่ได้จะต้องพัฒนาต่อไป แต่เมื่อถามความรู้สึกของนักดนตรีว่าคุณพ่อรู้สึกอย่างไร  ‘คุณพ่อชอบค่ะ เหมือนว่าเป่าเมโลเดียน พอมีงานในโรงเรียนเราก็ทั้งรำ ทั้งเอาเมโลเดียนไปเป่าได้ให้นักร้องมาร่วมร้อง เป็นสิ่งที่หนูชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ ฟังแล้วไพเราะ หนูชอบเสียงเพลงค่ะ’

ไม่เพียงแค่วิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์เท่านั้น การเรียนรู้ในห้องเรียนตามกระบวนการเรียนรู้ Active Learning โครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก “เสียงเพลงจากขวดแก้ว” เป็นการบูรณาการด้วยความรู้  8  กลุ่มสาระวิชา เข้าไว้ด้วยกัน วิชาดนตรี  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  สังคมศึกษา การงานอาชีพ ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา ตอนที่เขียนแผน 6 ขั้นตอนสอนเด็ก ทำให้เกิดความสนิทสนมเหมือนเป็นเพื่อนกัน “ผมบอกเด็กว่าอย่ามองว่า ครูตองเป็นครู มองเป็นเพื่อนคนหนึ่ง พวกเราชวนครูเล่นด้วยได้ เขาไม่เกร็งมีความสุขกับการเรียน พร้อมที่จะกล้าทดลองอะไรแปลกใหม่ แม้แต่เรียนวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยทดลองเท่านี้มาก่อน เด็กสมัยนี้เรียนรู้เร็ว ดนตรีจะช่วยสร้างสมาธิให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น 

ความพิเศษของเสียงดนตรีในห้องเรียนของครูตอง

“เสียงเกิดขึ้นได้จากทุกอย่าง ทั้งการเคาะ ตี เขย่า ลมพัด ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เสียงสัตว์ เป็นแนวทางต่อยอดสร้างเสียงมีวิธีหลายวิธี แต่เราต้องทดลองด้วยหลักวิทยาศาสตร์ความรู้หลักดนตรีบวกจินตนาการที่ทำให้การเรียนรู้ที่เข้าใจกระบวนการจริง ๆ พร้อมสนุกสนานไปด้วย” ครูตองกล่าวทิ้งท้าย

กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูตอง

📌 สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนด้วยการเรียนการสอนด้วยโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก 

สามารถเข้าอบรมพร้อมรับเกียรติบัตรหลังจบการอบรมได้ที่
https://onlinelearning.iamkru.com/course-online/courses/7

🎥 รับชมเทปบันทึกการถ่ายทอดสดงาน เปิดบ้าน “ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning”

โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบได้ที่

▪️ ช่วงแรก

https://fb.watch/o1tmTBop33/

▪️ ช่วงที่สอง

https://fb.watch/o1tkxX8X0y/

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า