เปลี่ยน ‘เด็กเรียนร้าย’ กลายเป็น ‘เด็กเรียนรู้’ โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษา

Share on

 223 

จะแก้ปัญหาเก่าพร้อมเปลี่ยนแปลงทุกอย่างทั้งโรงเรียนได้อย่างไร นี่คือความท้าทายของ นันทิยา บัวตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลักเพชร กำลังย้ายเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนที่มีทุนตั้งต้นที่แตกต่างจากโรงเรียนที่เคยบรรจุแทบทุกด้าน

ผอ.นันทิยา บัวตรี เล่าถึงในช่วงแรกที่เจอปัญหารอบด้านทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกระบบน้ำ – ไฟ มีปัญหา และที่สำคัญปัญหาขาดขวัญและกำลังใจของบุคลากรครูที่ไม่สามารถแก้ปัญหาของโรงเรียนในเรื่องความสามารถทางวิชาการ พฤติกรรมก้าวร้าว ท้องในวัยเรียน และปัญหายาเสพติด เด็กบางคนกำลังตกอยู่ในปัญหาที่เขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองแต่กลับไม่มีใครยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ และความท้าทายอีกเรื่องที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ครูในโรงเรียนมองเห็นเป้าหมายร่วมกันและมีใจร่วมพัฒนาโรงเรียนและชุมชนไปพร้อมกัน

สิ่งแรกที่ผู้อำนวยการนักแก้ปัญหาคนนี้เริ่มทำเป็นอันดับแรกคือการ ‘ลดอำนาจ’ วางหมวกผู้อำนวยการโรงเรียนที่สวมอยู่เพื่อเข้าพูดคุยรับฟังความต้องการของครูอย่างเปิดกว้างและจริงใจที่จะเข้ามาแก้ของโรงเรียนแห่งนี้ 

ด้วยความเป็นคนรักการเรียนรู้และสนใจการเรียนรู้ในหลาย ๆ ด้าน ผอ.นันทิยา ศึกษาวิชาการทั้งสายวิทย์และสายบริหารจนได้รับปริญญาถึง 4 ใบ และได้ไปเรียนรู้แนวคิดจากมูลนิธิลำปลายมาศที่ชื่อ ‘โรงเรียนนอกกะลา’ จึงได้รับ ‘นวัตกรรมจิตศึกษา’ เข้ามาใช้ที่โรงเรียน 

‘ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้หรอก 

ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง 

ที่นี่ลองมาทุกวิธีแล้ว’ 

‘ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้หรอก ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง ที่นี่ลองมาทุกวิธีแล้ว’ นี่คือเสียงสะท้อนจากครูในโรงเรียนเมื่อ ผอ.นันทิยา มีแผนจะนำเรื่องจิตศึกษามาช่วยแก้ไขปัญหาของโรงเรียนที่เป็นอยู่ แต่ครูในโรงเรียนบางท่านไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าแนวทางนี้ไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงขอเวลาและโอกาสที่จะนำ ‘จิตศึกษา’ มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะแก้ปัญหา ‘ขอลองเพียง 1 ภาคเรียน’ เป็นสิ่งที่ขอความร่วมมือจากคุณครูโรงเรียนวัดสลักเพชรทุกคนให้จับมือทดลองกับความหวังสุดท้ายที่แม้อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยแต่ให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจลองดูกันสักตั้ง !

ครูทุกคนนำองค์ความรู้ที่ได้เริ่มปฏิบัติโดยมี ผอ.นันทิยา เป็นผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และใช้กระบวนการ PLC ร่วมแต่ทว่าผลที่ได้นั้น…..

สำเร็จเกินความคาดหมาย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพฤติกรรมเด็กที่เริ่มเปลี่ยนไปจนคุณครูในโรงเรียนต่างนำสิ่งที่พบเจอมาแลกเปลี่ยนและสะท้อนความสำเร็จในวง PLC ที่จัดกันขึ้นในทุกวัน  ไม่เว้นแม้แต่ผู้ปกครองที่เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกหลานในความดูแล พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง โดดเรียนน้อยลง จากเสียงออดที่เรียกเตือนก่อนเข้าแถวหายไป กลายเป็นเด็กที่รู้เวลา รู้หน้าที่ ควบคุมตนเอง มีความเป็นระเบียบ มีวินัย เป็นพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากก่อนหน้านี้  เมื่อถามว่าเมื่อไม่มีโอวาทหน้าเสาธงเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ครูใหญ่ให้คำแนะนำอย่างไร ผอ.นันทิยาเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนเปลี่ยนการให้โอวาทหน้าเสาธง มาสู่วง PLC ครู ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี เพื่อหยิบประเด็นหรือเหตุการณ์สังคมที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ที่ออกแบบร่วมกันเพื่อจิตศึกษาก่อนเข้าวิชาแรก เช่น ยาเสพติดที่ระบาด บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน ซึ่ง ผอ.นันทิยา มองว่าเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรดีให้เด็กรู้เท่าทัน ตระหนักรู้ มีจิตใจที่เข้มแข็ง และตัดสินใจถูกต้อง

พฤติกรรมในโรงเรียนส่งผลถึงคนในชุมชนรอบข้างพบว่าเด็ก ๆ มีความสุขกับการมาโรงเรียนกว่าแต่ก่อนโรงเรียนเริ่มเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นสนามพลังบวก ครูใช้จิตวิทยาเชิงบวก รวมถึงกิจกรรมจิตศึกษา ‘ชง เชื่อม ใช้’ เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้เข้าสู่ตนเองได้ 

จากเดิมที่ครูเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยเปิดรับฟังปัญหาความต้องการของนักเรียน ทั้งดุด่าเมื่อทำผิด โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็ก ๆ ไม่อยากมาเรียน แต่ปัจจุบันคุณครูกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็ก ๆ สามารถเดินมาบอกปัญหาส่วนตัว สิ่งที่คิด ครูจะเปิดใจรับฟังและพร้อมแนะนำแนวทางแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่เด็กไม่กล้าไปบอกแม้แต่คนในครอบครัว  

‘กระบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมเริ่มที่เปลี่ยนความคิด’

ปัญญาภายในสู่ปัญญาภายนอก

จิตศึกษาคือปัญญาภายในที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ก็เริ่มดีขึ้นตามมา จากการจัดการเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning (PBL) ซึ่ง ผอ.นันทิยา ได้เล่าถึงกระบวนการของ PBL ของโรงเรียนวัดสลักเพชรใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ครอบคลุมตั้งแต่ตัว ของผอ.นันทิยา ครู นักเรียน บุคลากร และคนในชุมชน เป็นการนำปัญหามาวิเคราะห์โครงสร้าง ระบบ ว่าปัญหาเกิดจากอะไร จากนั้นไปพิจารณาที่ความเชื่อของผู้คน มีวิธีคิดอย่างไร ว่ามีความเชื่ออย่างไร เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา คือ เปลี่ยนความเชื่อในเรื่องเดิมก่อน จากนั้นเปลี่ยนโครงสร้างปัญหา เหตุการณ์ใหม่ก็จะเกิดขึ้นคือการแก้ปัญหาได้นั่นเอง แต่หากกระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ตรงกับที่ตั้งไว้ ไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลว แต่จะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ และก็กลับมาคิดทบทวนซ้ำอีกครั้ง บุคลากรทั้งโรงเรียนวัดสลักเพชรจึงไม่กลัวกับการได้สิ่งที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ใหม่’ ที่เกิดจากการลงมือทำเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง หากกระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ตรงกับที่ตั้งไว้ ไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลว แต่เรียกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่

ส่วนในการเรียนรู้แบบ PBL นั้นยังนำมาปรับใช้ในบูรณาการใน 5 กลุ่มสาระวิชา วิทยาศาสตร์ สังคม การงาน ศิลปะ พละและสุขศึกษา เด็กเรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม คิดค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ ถึงแม้โรงเรียนจะยกเลิกไม่นำการสอนแบบ STEM หรือ STEM Education (สะเต็มศึกษา) ที่เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนที่นี่ยังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจติดระดับดีของจังหวัด และสามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังบนฝั่งได้ เมื่อถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผอ.นันทิยา เล่าให้ I AM KRU. ว่านี่คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจิตศึกษาที่นำเรื่องของกระบวนการ ชง เชื่อม ใช้ ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว สิ่งนี้กลายเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กสามารถนำไปใช้ในทุกกระบวนการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและชีวิตจริง เรียกได้ว่าเป็นการ ‘ส่งเสริมกระบวนการคิด’ ไม่ใช่แค่การให้แค่ ‘ความรู้’ ซึ่งวิธีนี้จะอยู่ไปในการใช้ชีวิตเด็กในด้านต่าง ๆ เขาจะเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่นเคารพเกียรติของตนเองและเกียรติของผู้อื่น สามารถเลือกดำเนินชีวิตในสิ่งที่ถูกที่ควรที่อนาคตที่ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร 

เด็กที่นี่รู้ว่าต้องมาโรงเรียนเพื่ออะไร มาเรียนอะไร เพื่ออะไร 

ครูมีหน้าที่ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตามเป้าหมายที่เขาต้องการ

1 เทอมผ่านไป ผลสำเร็จของจิตศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนที่กลับมาให้การสนับสนุนโรงเรียน ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดจากอะไร ผอ.นันทิยา บอกเล่า เป็นเพราะตัวผู้อำนวยการ ครู ชุมชน ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘นักเรียน’ ทุกกระบวนการ ทุกนโยบาย และแผนการทำงานทั้งหมดต้องมีเป้าหมายเพื่อการ พัฒนานักเรียนของโรงเรียนเป็นสำคัญ

สิ่งที่น่าสนใจคำว่า ‘ครู’ ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโรงเรียนนั้นต้องเป็นครูแบบไหน ผอ.นันทิยา ได้ให้คำจำกัดความของครูกับ I AM KRU. ว่าคนที่จะได้ขึ้นชื่อว่าครูของที่นี่ต้องสามารถทำงานเพื่อพัฒนานักเรียนให้บรรลุเป้าหมายได้ก่อนจึงจะเป็นครูที่นี่โดยสมบูรณ์ และมีสิ่งที่น่าสนใจแม้ครูใหม่ที่เพิ่งเข้าบรรจุได้ไม่กี่วันนั้นก็สามารถนำชมห้องเรียนและจัดการเรียนรู้ได้อย่างคล่องแคล่ว 

โรงเรียนวัดสลักเพชรที่จากเดิมคนในชุมชนไม่ให้ความสำคัญ ครูในโรงเรียนเองก็ไม่มีกำลังใจพัฒนานักเรียนให้รอดพ้นปัญหา นักเรียนไม่มีเป้าหมายว่าการเรียนว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร เมื่อจิตศึกษาได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ เด็กเห็นคุณค่าตนเอง ให้ความเคารพผู้อื่น รู้ตน รู้หน้าที่ ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ มีชื่อเสียงด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการใช้นวัตกรรมจิตศึกษาที่กลายเป็นนวัตกรรมประจำโรงเรียนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างยั่งยืน และนโยบายสำคัญที่ ผอ.นันทิยา นักทดลองท่านนี้ อยากฝากถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าอยากเห็นนโยบายที่ให้การเรียนเป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนตามความต้องการและให้เขาได้มีเป้าหมายอนาคตและวิชาชีพที่สามารถเป็นทักษะการใช้ชีวิตหรือเครื่องมือทำมาหากินที่ติดตัวไปตลอด

การทำงานที่ผ่านมาหลายปีนี้ ผอ.นันทิยา บัวตรี ได้เตรียมดินพร้อมและหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาให้เติบโตอย่างงอกงามภายในจิตใจของเด็ก ครู บุคลากร และคนในชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้วันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้าย ต้นไม้หลายต้นที่นี่ยังคงงอกงามออกดอกขยายผลแห่งปัญญาสืบไปนานเท่านาน

สรุป Visual Note 

กิจกรรมการถอดบทเรียนโรงเรียนเปลี่ยนแปลง
ห้องเรียนเปลี่ยนไป และห้องผู้นำบันดาลใจ
ห้องเรียนที่ 1 โรงเรียนบันดาลใจ หอมไกล หอมนาน 

โดย นันทิยา บัวตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลักเพชร จังหวัดตราด

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า