เปลี่ยนความกลัวการเรียนภาษาอังกฤษด้วยการหนุนเสริมด้วยจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อให้นักเรียนพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

Share on

 266 

เมื่อความกลัวเป็น Pain Point สำคัญของคนที่อยากเรียน อยากพูดภาษาอังกฤษ แล้วครูจะจัดการห้องเรียน ใช้เครื่องมืออะไรที่จะหนุนเสริมนักเรียนให้ไม่กลัวและพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษ 

ห้องเรียนจิตวิทยาเชิงบวก (Strength-based Classroom) เป็นตัวเลือกที่ครูกอล์ฟ  ไกรวุฒิ ใจเพียร ครูวิชาภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโนนสบาย จังหวัดสุรินทร์ เลือกใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพนักเรียน 

“ปัญหาหลักของคนไทยนักเรียนไทย ส่วนใหญ่เรื่องภาษาอังกฤษคือ ‘ความกลัว’ ตัวครูกอล์ฟมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้ใช้ภาษาอังกฤษการแบบเจ้าของภาษาจริง ๆ ไม่ใช่การเรียนแค่แกรมมาร์ แต่ต้องรู้ทั้งหมด”

💬 : ครูกอล์ฟ ลด ‘ความกลัว’ ภาษาอังกฤษของนักเรียนอย่างไร ? 

ครูกอล์ฟ : อันดับแรกครูต้องเป็นที่เริ่มต้นพูดก่อน ผมพูดภาษาอังกฤษกับครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน ผมรู้สึกว่าจิตวิทยาเชิงบวกจะเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุดที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็ได้ 

จะดีกว่าไหมถ้าเด็กรู้ว่าเรียนแล้วเขาไม่โดนด่า เขาผิดแล้วสามารถแก้ไขได้ เรียนวิชาอะไรก็มีความสุข อีกอย่างพอเรามี 24 Characters Strength หรือ 24 จุดแข็งที่ทำให้เขารู้ตัวเอง ไม่ว่าเราจะกล้าแสดงออกหรือไม่กล้าแสดงออก อย่างน้อยเรารู้ว่าตัวเองเป็นยังไง อันนี้คือจุดสำคัญเลยที่นำเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้

💬 : อยากให้เล่าถึงก่อนหน้าและหลังจากที่ครูกอล์ฟใช้จิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน

ครูกอล์ฟ : ก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้ครับ พอนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน ทำให้แตกต่างจากเดิมมากครับ เพราะว่าเราเครียดกับเด็กมากเกินไปตอนแรก หนังสือเขียนมาแบบนี้ต้องสอนแบบนี้ เราไม่ต้องทำสื่อใช้แค่หนังสือก็ได้ สอนนักเรียนว่าต้องไปจำอันนี้มานะ 

แต่พอได้เรียนรู้จิตวิทยาเชิงบวก วิธีการเราก็เปลี่ยนไป เราชื่นชมเขา ไม่ด่าเขา เราก็จะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันในขณะเรียน แต่เราก็เว้นระยะห่างระหว่างเพื่อนกับครูด้วย แล้วก็บอกเขาว่าสู้ ๆ ช่วยกันทำ ถ้าเพื่อนไม่ได้ก็บอกว่าไปช่วยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ไม่ใช้แผนการเรียนแบบนี้ พอเพิ่มเรื่อง Character Strength ตรงกับคุณลักษณะที่คาดหวัง ทั้งหมด 24 ตัว ว่าเรียนเรื่องนี้เราอยากได้อะไรจากเด็กบ้าง อย่างเรื่องนี้เราอยากได้ความกล้าหาญ ความมั่นใจ ก็จะทำแบบประเมินมา เรียนอันนี้เสร็จเราก็จะประเมินว่า วันนี้ก้องได้ความกล้าหาญเท่าไหร่ 1 2 3 น้อยสุดถึงมากสุด แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ ก็จะรู้ว่าเด็กถนัดเรื่องใด มีความกล้าแสดงออกในเรื่องใด บางคนเรียนเรื่องนี้กล้าแสดงออก บางคนเรียนรู้จากภาพ หรือจากตัวหนังสือ บางคนจากการฟัง ไม่เหมือนกัน อย่างผมจะชอบสถาปัตย์ อยากเป็นสถาปนิกมาก่อน ถ้าผมมองภาพผมจะมองออกเลย บางคนมองตัวหนังสือแล้วจำได้ แต่ผมลืม แต่ถ้าเห็นภาพผมจะจำตลอดชีวิต คือเราจะได้รู้ว่าเด็กในแต่ละคาบเรียน พอเราทำแบบประเมิน สังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วม อันนี้ Character Strength เรียนเรื่องนี้ได้อะไรบ้าง เป็นผู้นำขนาดไหน เกิดการตัดสินใจขนาดไหน กระตือรือร้น คิดสร้างสรรค์ แล้วก็นำมารวบรวมตอนสุดท้ายว่าคาบนี้เด็กได้อะไรบ้าง บางคนเรารู้สึกว่าเขามั่นใจขึ้น แต่บางคาบนี้ยังไม่ถึงเรื่องที่เขาชอบเขาเลยยังไม่มีความมั่นใจ 

💬 : วิธีการส่งเสริมจุดแข็งผู้เรียนในสไตล์ครูกอล์ฟ ? 

ครูกอล์ฟ : วิธีของผมหรือครับ ผมชื่นชมในสิ่งที่เขามี เช่น สะกดคำนี้ถูก แสดงว่าเขาทำได้แล้วเราจะชมเขา สมมติคนไหนสะกดไม่ถูก แต่กล้าแสดงออก เช่น funny แต่ออกมาสะกดเป็น fa เราก็ชมในสิ่งที่เขามี แต่บางคนสะกดถูกเป๊ะเลยแต่ไม่กล้าออกมาก็มี เช่นผมถามว่า Who wants to go in front of the class? ใครอยากออกมาหน้าห้องบ้าง คนที่ยกมือตอบไม่ถูกนะครับแต่อยากออกมา อย่างน้อยเราควรจะชื่นชมว่าเก่งมากเพื่อนมีความกล้าแสดงออกปรบมือให้เพื่อนหน่อยครับ ส่วนคนที่เก่งอยู่แล้วแต่ไม่กล้าออกมานั้นไม่ใช่ว่าคุณออกมาแล้วคุณเก่ง คนเรามีความเก่งแตกต่างกันครับ 

💬 : สิ่งที่อยากฝากถึงครูภาษาอังกฤษ ?

ครูกอล์ฟ : ผมเป็นคนที่สำเนียงไม่เป๊ะมาก่อน ได้แรงบันดาลใจในการพูดภาษาอังกฤษตั้งแต่ตอน ม.6 ส่งให้ผมชอบภาษาอังกฤษตั้งแต่ตอนนั้นเพราะพูดกับฝรั่งแล้วรู้สึกว่าเราก็พูดได้นี่!  แต่ผมอยากไปให้สุดมากกว่านั้น ผมมีโอกาสไปต่างประเทศได้ไปสอนนักเรียนที่อเมริกาตอนเรียนปี 3 ครับ เลยรู้สึกว่าการใช้ภาษาอังกฤษถ้าจะให้เด็กพูดได้ ทำได้ เขียนได้ ต้องเริ่มจากการฟังก่อน พูด อ่าน แล้วก็เขียน แต่พอเรากลับมาดูวิธีการสอนแบบไทย นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ เพราะเกิดมามนุษย์ต้องฟังเป็นอันดับแรก ฟังเสียงพ่อแม่ เพียงแค่เรายังพูดไม่ได้กว่าเราจะพูดได้คำแรก แม่ พ่อ เด็กฝรั่งก็เป็น Dad Mom พยายามจำลองสถานการณ์ตามบริบทภาษาไทยให้เป็นแบบนั้นเหมือนกัน อย่างเช่น เราก็สอนให้เด็กพูด Dad, Mom, My brother, Sister, Teacher เอาคำพวกนี้ไปก่อน หรือ Good morning,  How are you every single day ? ผมทำแบบนี้ทุกวันเจอเด็กก็ทักทาย What’s up! (ว่าไง) เมื่อเวลาทำผิดเขาจะรู้จักคำว่า Sorry,  Teacher ถ้าผมยื่นของให้เด็กเขาก็จะ Thank you โดยอัตโนมัติ หรือพอผมจะปล่อยไปกินข้าวผมก็จะบอก Hey! primary 6, Are you ready? Stand up. Please let’s go have lunch. Thank you teacher. ประมาณนี้ แรก ๆ เด็กอาจจะพูดไม่ได้แต่พอเขาฟังเป็นร้อยครั้งเขาจะจำได้ วิธีนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ได้แบบไม่เครียด เพราะเขาไม่รู้ตัวว่ากำลังเรียนอยู่ นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกครูทุกคน 

สำเนียงเขาได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ขอให้เขาพูดถูกและมั่นใจที่จะพูด เวลาเจอต่างชาติอยากให้เขารู้สึกแบบเดียวกับเจอพ่อแม่พี่น้อง ผมพาชาวนิวซีแลนด์ แคมารูน อเมริกัน มาเยี่ยมโรงเรียนได้ลองให้เด็กคุยด้วย เด็กมาถามครูครับผมอยากรู้เขาชื่ออะไร ก็บอกเขาลองไปถามดูสิ What’s your name ? อยากรู้อายุเขา How old are you ? ลองไปถามสิ เด็กจะรู้สึกว่าชินกับภาษาอังกฤษตอนนี้เขาก็ชินกับครูต่างชาติแล้ว ไม่กลัวแล้ว

💬 : ในมุมมองครูกอล์ฟคิดว่าจิตวิทยาเชิงบวกสำคัญกับการที่ครูจะนำมาใช้ในห้องเรียนขนาดไหน ? 

ครูกอล์ฟ : สำคัญแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ในชีวิตครับ สมมติว่าเราใช้ชีวิต 50% อันนี้ก็จะเป็นอีก 50% มันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เด็กได้รู้จักตัวเอง ครูก็จะได้รู้จักตัวเองด้วย เราก็จะได้บอกเด็กได้ด้วยว่าเขาถนัดอันนี้ เขาสมควรไปต่ออาชีพไหนในอนาคต แต่เขามาเรียนกับเราเขาก็จะได้รู้ว่าเขาเก่งเรื่องนี้ ชื่นชมเขาไปเลย อย่างเด็กชายก้องกล้าแสดงออก จะไปเป็นอันนู้นอันนี้ได้ เป็นนักร้องได้ ครูสนับสนุนนะ ต่อยอดตรงนี้ได้ ผมโชคดีมากที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้และพยายามจะใช้ให้ชัดเจนกว่านี้ ประเมินได้มากกว่านี้ ทำสื่อ พัฒนา เข้าถึงเด็กได้มากกว่านี้นักเรียนและโรงเรียนก็จะพัฒนาไปได้ดี

การพัฒนาทักษะการเรียนของผู้เรียนโดยการบูรณาการแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกับหลักจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน PERMA แนวคิดนี้ได้เปิดโอกาสให้คุณครูพูดถึงความเชื่อของคุณครูและนักเรียนในชั้นเรียน ที่บางครั้งอาจจะมีความแตกต่างกัน แนวคิดที่แตกต่างกันนี้ บางครั้งก็อาจส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนและการจัดการชั้นเรียน คุณครูจึงได้ยกในส่วนของทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก หรือแนวคิด P.E.R.M.A ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับนักเรียน และใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยประกอบไปด้วยหลักการ 5 ข้อ ดังนี้

P (Positive Emotions) สิ่งที่ทำให้รู้สึกดี มีความสุข มีความหวัง ประทับใจ

E (Engagement) มีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนั้น

R (Relationships) การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความสุข สงบ คอยซัพพอร์ต เป็นกำลังใจ

M (Meaning) รู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

A (Accomplishment) รู้สึกถึงความสำเร็จจากการร่วมมือ เห็นพัฒนาการของตนเอง

แผนการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกับหลักจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน PERMA (หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 What do you want to be?)

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 vocabulary review

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 2 Are you bossy?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 3 Who is that?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4 What is he like?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5 What does he do?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 6 What do you want to be? And why?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7 What are you good at?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 8 What should she do?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 9 Writing about myself.

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 10 What job should I do?

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 11 The grammar focus 

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 12 Sing along (What do you want to be?)

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 13 Who’s who?

5 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้

ขั้นนำ (Warm up) 

ครูนำเสนอลักษณะเด่นหรือจุดแข็ง 24 ประการเพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายถึงลักษณะดังกล่าว

ขั้นนำเสนอ (Presentation)

ครูและนักเรียนนำเสนอเนื้อหาสาระที่จะเรียนร่วมกัน โดยผ่านการทำกิจกรรมหรือการเล่นเกม

ขั้นฝึกปฏิบัติ (Practice)

นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติโดยการเล่นเกมส์หรือการทำกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนนั้นรู้จักลักษะเด่นหรือจุดแข็งของตนเอง

ขั้นนำไปใช้ (Production)

นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากการเล่นเกม การทำกิจกรรม หรือการเรียนรู้ที่ได้เรียนรู้มา เพื่อนำมาออกแบบให้เป็นตัวเองมากที่สุด ในรูปแบบของชิ้นงาน

ขั้นสรุป (Wrap up)

นักเรียนทุกคนในห้องเรียนร่วมกันสรุปลักษณะเด่นของตนเอง โดยผ่านถามตอบ เพื่อนและครู เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนรู้จักตนเองมากที่สุด และนำลักษณะเด่นของตนเองนั้นไปปรับใช้กับการเรียนหรือการทำกิจกรรมในคาบเรียนถัดไป

สรุปแล้ว!! การใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวกควบคู่ไปกับการเรียนการสอน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักจุดเด่นของตนเอง และครูรู้จุดเด่นของนักเรียน เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า