‘บุญผะเหวด’ งานบุญประเพณี เพื่อพัฒนาทักษะการคิดในห้องเรียน Active Learning

Share on

 243 

โรงเรียนบ้านตาจ่อยหนองสระ จังหวัดร้อยเอ็ด จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นปฏิบัติ (แต่ไม่ได้ทุกคาบ ทุกวิชา) เช่นวิทยาศาสตร์ การงาน จะมีกิจกรรมลงมือปฏิบัติ ลงพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นทุนการเรียนรู้ที่แข็งแรง ส่วนห้องเรียนภาษาไทยของครูคีม อภิสิทธิ์ แดงหนองแปน นั้นปกติการเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบ Active Learning มีทั้งเกม มีกิจกรรมให้ปฏิบัติ แต่ว่าก็ไม่ได้สอนทุกคาบ ด้วยเพราะบางคาบที่เป็นคอนเทนต์หนัก ๆ ครูคีมจะพานักเรียนลงมือทำกิจกรรม แล้วค่อย ๆ ถอดบทเรียนก่อน จนเขาเกิดคำถามว่ามันทำยังไง (กระบวนการถามคือสอน) จากนั้นค่อยลงมือปฏิบัติ แต่บางคอนเทนต์ที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนได้ เช่น กิจกรรมบนรถไฟ เราก็บูรณาการในส่วนนั้น ส่วนกิจกรรมที่เป็นเกมเช่น คำราชาศัพท์ เป็นประโยค เป็นบิงโก เกมโดมิโน จะบูรณาการก่อนหลังจากที่บูรณาการแล้วเด็กเกิดความรู้สึกอยากเรียนต่อ (กระบวนการสะท้อนคิดคือเรียน) ก็จะเข้าสู่ตัวคอนเทนต์หนักทันทีพอเขาสนุกแล้วพาเครียดเลย (กระบวนการเขียนคือคิด) ก็จะสลับกันไป  แต่บางคอนเทนต์หนัก ๆ ก็ต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น ถ้านักเรียนมีคอมพิวเตอร์ก็ฝึกการทำคอนเทนต์ ใช้เว็บไซต์ แต่บางคอนเทนต์ก็ต้องสร้างกระบวนการความรู้ บางอย่างมันก็ให้ลงมือทำก่อนได้ แต่บางอย่างก็ต้องปรึกษาครูก่อนเพราะกันความรู้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ว่าส่วนใหญ่ก็พาเด็กทำ เด็กได้ลงมือเป็นส่วนใหญ่  I AM KRU. ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักห้องเรียนภาษาไทยที่นำหลักสูตรการเขียนเพื่อการพัฒนาทักษะการคิดในห้องเรียน Active Learning มาปรับใช้ของครูคีมให้มากขึ้น …

💬 : ภาพรวมการเรียนการสอนของครูคีมเป็นห้องเรียนหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดอย่างไรบ้าง เล่าให้มิตรเพจ I AM KRU. ฟังสักนิด

ครูคีม : สำหรับธีมหลักของหลักสูตรจะเป็นหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดในห้องเรียน Active Learning ครับ ซึ่งพอเราได้ไปทำกิจกรรมกับครูต้นแบบรุ่นที่ 1 แล้วก็เลยมาสู่พื้นที่ขยายผล เราก็ได้รับคัดเลือกทำกิจกรรมรายวิชาภาษาไทยของ ป.6 ซึ่งจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยการบูรณาการกับ ‘บุญผะเหวด’* เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นกิจกรรมที่นักเรียนกับชุมชนได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว หากนำมาบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ของนักเรียนให้สามารถเขียนและคิดได้อย่างสร้างสรรค์ 

💬 : เทคนิคการร้อยเรียงเรื่องราวในวิชานี้นักเรียนวางแผนอย่างไร

ครูคีม : เริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งกลอน ทำหนังสือเล่มเล็ก โดยเนื้อหาในหนังสือวางแผนกันว่านำเสนอเนื้อหาร้อยกรอง กลอนสุภาพ เนื้อหาเกี่ยวกับ ‘บุญผะเหวด’ ว่าเขามีกระบวนการทำอย่างไรบ้าง มีความเชื่อ ความรู้เพิ่มเติม สิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารของประเพณีคืออะไรบ้าง ซึ่งกว่าที่เขาจะได้ตัวคอนเทนต์นี้ต้องวางแผนการทำงานผลิตคอนเทนต์โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปกครอง ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ซึ่งในละแวกโรงเรียนมีงานบุญผะเหวด 2 หมู่บ้าน วัด 2 แห่ง นักเรียนเตรียมงานลงพื้นที่สัมภาษณ์เพื่อนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม เพื่อนำเสนอว่าแต่ละหมู่บ้านเหมือนกันยังไงต่างกันยังไง แล้วทำเป็นแผนผังความคิด วางโครงเรื่อง สิ่งไหนควรไฮไลต์ ประเด็นไหนอยากสื่อสารกับผู้อ่าน อยากขึ้นต้น กลางเรื่อง จบเรื่อง แบบไหนนักเรียนจะเป็นคนออกแบบเนื้อหาทั้งหมด

ร้อยเรื่องราวด้วยการวางลำดับโครงเรื่อง ไกด์ให้เด็กๆ สามารถวางโครงเรื่องได้ว่าเราจะเปิดเรื่องแบบไหน เรื่องของเราจะเอาอะไรเป็นไฮไลต์ อยากสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน หรือว่าจะจบด้วยแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นข้อคิด คติ หรือเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นแต่งกลอนตามเนื้อหาที่เราวางลำดับโครงเรื่อง วาดภาพประกอบ ในการวาดภาพประกอบต้องคุยกับนักเรียนค่อนข้างเยอะเรื่องวางแผนซีนแตกช็อต เราอยากจะให้เด็กได้สื่อสารออกมาแบบไหน อาจไม่ต้องเป็นชีวิตจริงมาก ให้เป็นเชิงการ์ตูนเพื่อว่าคนอื่นมาอ่านจะได้เข้าใจง่าย หรือจะทำเป็นสารคดีเชิงสร้างสรรค์ เป็นขั้นตอนให้นักเรียนออกแบบ

💬 : ผลผลิตจากกระบวนการสอนที่ได้ออกมาเป็นรูปแบบไหนบ้าง

ครูคีม :  หลังจากแต่งกลอน วาดรูปเสร็จ เข้าเล่มเรียบร้อย จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำ E-Book ให้เด็กสแกนทำ E-Book เรียบร้อยแล้วก็มีการนำเสนอในชั้นเรียนแล้วเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

💬 : ครูและนักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมเหล่านี้

ครูคีม : ซึ่งพอจัดกิจกรรมเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว แต่ว่าเรานำมาจัดกระบวนการให้เขาได้เห็นว่ามันสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเรียนได้ ทั้งการเขียนการคิดการสื่อสาร กลายเป็นโปรเจกต์ที่เห็นภาพชัดเจนว่าเขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว ได้ลงมือปฏิบัติ ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อน กับคนในชุมชน หรือได้สนทนากับครูเองด้วย 

💬 : อะไรคือกระบวนการที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้

ครูคีม : ในเรื่องการปฏิบัติงานมีการทำ PLC กับคุณครูด้วยว่า ถ้าเราจัดกิจกรรมแบบนี้มันเกิดปัญหา เช่นเด็กไม่ค่อยตอบเลยทั้งที่เขาคิดได้ ไม่กล้าที่จะสื่อสารออกมา จึงเปิดวง PLC กับครู PLC กับเขต ฯ เพื่อหาชุดคำถามแบบไหนเพื่อกระตุ้นให้เขาคิดและสื่อสารออกมา ปรากฏว่าเด็กสื่อสารออกมาได้ การเขียนกับการคิดเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกัน พอนำเรื่องใกล้ตัวของเขามาด้วย เขาเลยเข้าใจ และสามารถเห็นภาพชัดเจนและต้องการจะต่อยอดสื่อสารไปได้แบบไหนบ้าง เป็นกระบวนการที่เห็นภาพชัดเจน ซึ่งจะมีหลักฐานคือ Learning log ว่าความรู้ที่ได้รับ ความรู้สึกจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นสามารถสื่อสารมาในรูปแบบไหนบ้าง พอจัดกิจกรรมเสร็จก็มีการต่อยอดกับระดับชั้นอื่น โดยพานักเรียนชั้น ม.ต้นลงพื้นที่ทำบุญบั้งไฟเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อำเภอปทุมรัตต์ (อำเภอที่ตั้งของโรงเรียน) เพื่อให้รู้ความเป็นมาของอำเภอปทุมรัตต์ ว่ามาจากไหนใครเป็นคนก่อตั้ง มีมาแล้วกี่ปี โดยมีการบูรณาการเริ่มจาก ป.6 ไปถึงถึงระดับ ม. 1 – 2 – 3 

💬 : แสดงว่าทักษะนี้ที่เรียนรู้นี้เหมาะกับการใช้งานในเชิงสร้างสรรค์รวมถึงการออกแบบคอนเทนต์ ไปจนถึงการทำสื่อโซเชียลมีเดีย ครูคีมมีวิธีการเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการการสอนยังไงบ้าง

ครูคีม: เวลาที่พูดไปนักเรียนอาจไม่เห็นภาพ อันดับแรกคือเราหาสื่อ เช่น มีอินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ที่เขามีความสามารถให้เด็กศึกษาวิดีโอเน้นถอดรหัสจากตัวอย่าง  เช่น วิดีโอของบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ดก็จะมีสกู๊ปให้ดู จากนั้นมาถอดรหัสว่าเขาดำเนินการยังไง มีประเด็นอะไรบ้าง แล้วงานของเรามีประเด็นอะไรบ้าง เราขาดประเด็นไหน วิธีการใช้คำพูดของเราเป็นแบบไหน พูดช้าพูดติดขัดอยู่มั้ย ถ้าเราพูดช้าพูดติดขัดแล้วคนฟังเขาจะอึดอัดตามมั้ย ถ้างั้นเรามาลองพูดแบบสปีดขึ้น มีลีลามีชีวิตชีวามากขึ้นไม่ดูเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งครูก็จะเป็นตัวกระตุ้น เวลาทำใบงานออกมาก็จะไปตรวจ ไปชี้แจงว่าถ้าแต่งแบบนี้ก็ดีนะ พวกหนูคิดว่ายังไง จะเป็นการกระตุ้นถามก่อน คิดดัง ๆ ว่าถ้าเป็นครู ครูจะทำแบบนี้นะ ถ้าเป็นเราจะแก้แบบไหน เราคิดแบบไหน แบบนี้มันดียังไง มีข้อเสียยังไง ให้เขานึกภาพว่าอะไรดีอะไรไม่ดีก่อนที่เขาจะตัดสินใจ ความคิดของเพื่อน ความคิดของเรา 

💬 :  ย้อนกลับไปที่ตัวเด็กซึ่งพื้นฐานทักษะมีความแตกต่างกัน ครูคีมมีวิธีจัดการให้เด็กที่อ่อนพัฒนาขึ้น แล้วรักษาเด็กที่เก่งให้เก่งขึ้นยังไงบ้าง

ครูคีม: กระบวนการแรก การจัดกลุ่มเราจะแบ่งเป็นสองเซต ครูจะดูเนื้อหาก่อนแล้วมาดูกิจกรรมที่เราออกแบบไว้ คือแบ่งชนิดแรกจะคละความสามารถ กระบวนการแบบที่สอง จะคัดตามความสามารถ คือเก่งกับเก่ง อ่อนกับอ่อน วิธีนี้จะได้ไปชาร์จกลุ่มที่ยังไม่ทันเพื่อน ส่วนกลุ่มที่เก่งแล้วอาจจะพูดไม่ต้องเยอะเขาก็ทำได้ แต่ว่ากลุ่มที่ความสามารถไม่ทันเพื่อนเราจะต้องเข้าไปชาร์จ ใช้เวลากับจุดนั้น แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องดูคอนเทนต์เนื้อหาก่อน แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์แบบนี้จะมีการวางแผนในใจแล้วว่าจะให้คนนี้เป็นผู้นำกลุ่ม แต่จะไม่บอกโดยตรงจะมีวิธีเสี่ยงดวง โดยที่ครูเป็นคนกำหนดวางแผนช่วงแรกเราต้องทำแบบนี้ก่อนเพื่อที่จะให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ก่อน ด้วยเด็กในห้อง ป.6 มีจำนวนไม่มากรุ่นที่ทำกิจกรรมมีแค่ 8 คน สามารถดูแลได้ทุกคน แต่ว่าพอเข้ากลุ่มแล้วไม่ว่าจะความสามารถต่างกันหรือเหมือนกันจะให้เขาแบ่งหน้าที่กันในกลุ่ม  เวลาที่แบ่งกลุ่มเราจะให้เขาแบ่งหน้าที่ว่าใครจะทำหน้าที่ในส่วนไหนเพื่อให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วม อีกอย่างหนึ่งคือตัวคอนเทนต์ครูรู้แล้วว่าความสามารถของนักเรียนประมาณนี้ ปัญหาเป็นประมาณนี้ ข้อดีมีประมาณนี้ เริ่มความยาก-ง่ายตามขั้นบันได แต่ถ้าคอนเทนต์ไหนที่เขาทำได้สนุกสนานเราก็ใส่คอนเทนต์หนักได้เลย 

💬 : เด็ก ๆ เอาทักษะนี้ไปใช้ในโซเชียลมีเดียบ้างมั้ยคะ หมายถึงเป็นบล็อกเกอร์ เขียนคอนเทนต์ หรือรีวิวอะไรที่ตัวเองสนใจ หรือต่อยอดอย่างไรบ้าง

ครูคีม : ตอนนี้ยังเป็นในส่วนของการพัฒนาและต่อยอดอยู่ ตอนนี้นักเรียนเริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าเขาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งที่เขาปฏิบัติอยู่ได้ ซึ่งจะมี ป.6 ที่เขาทำอ่านข่าว บุญบั้งไฟ ทำวิดีโอ ตอนนี้อยู่ในช่วงของการประมวลผลเพื่อที่จะสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย อาจเป็นคอนเทนต์ที่เขาได้คิด ได้วางแผน โครงเรื่องที่ชัดเจน อาจเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน ทำให้น่าสนใจ เช่นความสำคัญของลำน้ำเสียวที่เป็นลำน้ำสำคัญท้ายหมู่บ้าน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ทำเป็นสกู๊ป เพื่อพัฒนาการเรียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารที่เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมเหล่านี้สอดแทรกความรู้ทั้งด้านวิชาการ วิถีประเพณีในชุมชน ส่งผลให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน เกิดความภาคภูมิใจ ความหวงแหน สามารถนำองค์ความรู้การเขียนเพื่อการพัฒนาการคิดไปใช้สร้างคอนเทนต์ในรูปแบบที่ตนเองอยากนำเสนอ เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามต่อคนรุ่นหลัง 

ลิขิตกานต์สานคุณค่า สืบศรัทธาบุญผะเหวด ศรีสาเกตนคร ในเวทีเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ครูและนักเรียนได้นำเสนอผลลัพธ์ของกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะการคิดในห้องเรียนที่บูรณาการวิชาภาษาไทยกับงานบุญพระเพณีบุญผะเหวดในท้องถิ่น นำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์บุญผะเหวด หนังสือเล่มเล็กในชุดซีรีส์ บญผะเหวดบ้านเฮา การนำเสนอเครื่องประดับ สถานที่สำคัญในการทำบุญผะเหวด การร้องหมอลำเกี่ยวกับบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงการสาธิตการทำของที่ระลึกจากการบุญผะเหวดของจังหวัดร้อยเอ็ด 

🔰 การจัดงานบุญผะเหวดของ 2 หมู่บ้าน 🔰

การจัดงานบุญผะเหวดของสองหมู่บ้านวันที่ 1 จะเตรียมงาน วันที่ 2 เขาจะเป็นวันงาน วันที่ 3 จะเป็นวันกัณฑ์เทศน์ มีการแสดงมหรสพสมโภชน์ นอกจากการเตรียมงานวิธีปฏิบัติก็จะเหมือนกันในช่วงเดือน 4 ตามสุริยคติคือเดือนมีนาคม แต่วันที่ปฏิบัติจะไม่เหมือนกันยึดตามความสะดวกของแต่ละหมู่บ้านด้วย เช่นในพื้นที่ชุมชนใกล้โรงเรียน บ้านตาจ่อยทำวันนี้ บ้านหนองสระก็จะทำอีกช่วงหนึ่ง เพื่อให้ชุมชนแต่ละที่ได้ไปร่วมกิจกรรมของกันและกัน (เพื่อจุดมุ่งหมายที่เป็น) พลวัต เป็นนัยของความร่วมมือร่วมแรงสามัคคีกันระหว่างหมู่บ้าน

5 แผนบูรณาการรายวิชาภาษาไทยกับประเพณีชุมชน ‘บุญผะเหวด’ 

การจัดกิจกรรมเรียนรู้ของครูคีม อภิสิทธิ์ แดงหนองแปน สอดคล้องกับหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดในห้องเรียน  Active Learning  ด้วยการปฏิบัติตามกระบวนการ 3 ประการ ประกอบด้วย ‘ถามคือสอน’ ‘สะท้อนคิดคือเรียน’ และ ‘เขียนคือคิด’ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ประกอบด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 5 แผน ซึ่งบูรณาการรายวิชาภาษาไทย กับงานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นประเพณีในชุมชนที่ควรอนุรักษ์และสืบสานไว้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

🔰 แผนที่ 1  ลิขิตกานท์ประสานความ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งผลให้ผู้เรียนสามารถถ่ายทอดบทเรียนและเรียนรู้กับการแต่งคำประพันธ์ ซึ่งขั้นตอนนี้ครูได้จัดกิจกรรมถอดบทเรียนด้วยการฝึกให้นักเรียนได้ “เขียนคือคิด” ด้วยการลองแต่งกลอนสุภาพทั้งในส่วนของชิ้นงานทั้งห้อง ชิ้นงานกลุ่ม และชิ้นงานเดี่ยว เพื่อสร้างความเข้าใจในชั้นเรียน

🔰แผนที่ 2  งามหลายบุญผะเหวดบ้านเฮา เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ปกครองหรือ ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน เพื่อถอดรหัสเกี่ยวกับบุญผะเหวด จากนั้นนำมารวบรวมและนำเสนอในชั้นเรียน โดยครูจะใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนอธิบาย และนำเสนอเรื่องราวที่ตนเองและกลุ่มและศึกษามาว่ามีเรื่องราวและรายละเอียดอย่างไร (ถามคือสอน) เพื่อให้ผู้เรียนได้กระตุ้นคิด นำสู่การ ‘สะท้อนคิดคือเรียน’ ด้วยการทำแผนผังความคิดเพื่อนำเสนอรายละเอียดของกลุ่มตนเองในชั้นเรียน เกิดการวิพากษ์และเสนอและเพื่อปรับปรุงชิ้นงาน จากนั้นเกิดการ ‘เขียนคือคิด’ ด้วยการบันทึกสรุปความเข้าใจด้วยภาษาและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเข้าใจของตนเอง

🔰แผนที่ 3  ร่วมพลังเราวางโครงเรื่อง เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนสามารถวางแผนและลำดับเรื่องราวได้ โดยครูจะใช้คำถามกระตุ้นเพื่อให้นักเรียนในกลุ่มสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องของกลุ่มตนเองที่ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (ถามคือสอน) จากนั้นนักเรียนได้ร่วมกันวางโครงเรื่อง ซึ่งเป็นการแสดงความเข้าใจของกลุ่ม (สะท้อนคิดคือเรียน) และร่วมแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุญผะเหวดจากข้อมูลที่กลุ่มตนเองได้รวบรวมและศึกษามา (เขียนคือคิด)

🔰แผนที่ 4  ความคิดฟูเฟื่องด้วยหนังสือสร้างสรรค์ นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยการนำผลงานการประพันธ์ของกลุ่มตนเองมาวาดภาพประกอบเป็นหนังสือเล่มเล็ก ซึ่งสื่อถึงความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาของบุญผะเหวด ซึ่งสื่อสารด้วยการเขียนประเภทฉันทลักษณ์และการเขียนที่เป็นรูปภาพเชิงสัญลักษณ์

🔰 แผนที่ 5  ประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่พัฒนา นักเรียนได้นำเสนอผลงานในชั้นเรียน เกิดการให้กำลังใจการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์เพื่อการพัฒนา ตลอดจนเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียด้วยการทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ( e-book)

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาทักษะและการคิดในห้องเรียน  Active Learning ของครูคีม นั้นใช้การปฏิบัติตามกระบวนการหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย ‘ถามครูสอน’  ‘สะท้อนคิดคือเรียน’ และ ‘เขียนคือคิด’ การจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ ส่งผลให้นักเรียนสามารถแต่งกลอนสุภาพได้อย่างถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ลำดับโครงเรื่องได้อย่างชัดเจน ทั้งมีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถนำความรู้เรื่อง ‘บุญผะเหวด’ ถ่ายทอดในรูปแบบกลอนสุภาพ และสร้างสรรค์เป็นหนังสือเล่มเล็กประเภทสารคดีเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถพูดนำเสนอผลงานของตนเองได้อย่างถูกต้อง แสดงข้อมูลจากการปฏิบัติชิ้นงานด้วยรูปแบบ e-book เพื่อเผยแพร่

ทั้งนี้จากที่นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละแผนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการเขียน  Learning log  เพื่อทบทวนความเข้าใจ สิ่งที่ได้เรียนรู้ รวมถึงความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมมา ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวมานี้ ทำให้นักเรียนสามารถแสดงความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพทางด้านวิชาการและวิถีประเพณีในชุมชน ส่งผลให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ ความหวงแหน และการสืบสานประเพณีในยุคปัจจุบันอย่างมั่นคงและถาวร

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า