“ร่วมออกผจญภัย ตามหาความฝัน” – One Piece (2023)

เส้นทางความฝันของเด็กนักเรียน ไม่ควรถูกจำกัดด้วยโครงสร้างทางสังคม ซีรี่ส์ One Piece (2023)

Share on

 380 

“ฉันจะเป็น…ราชาโจรสลัดให้ได้เลย” 

One Piece ว่าด้วยเรื่องราวการผจญภัยของ ‘กลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง’ นำด้วยกัปตันอย่าง ‘มังกี้ ดี. ลูฟี่’ ออกทะเลเดินเรือมุ่งหน้าสู่แกรนไลน์ เพื่อออกตามหาสมบัติที่ราชาโจรสลัดได้ทิ้งไว้ให้ และกลายเป็นราชาโจรสลัดแห่งท้องทะเลคนต่อไป

One Piece คือหนึ่งในมังงะชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น เป็นมังงะรายสัปดาห์ที่เผยแพร่ลงในนิตยสาร ‘weekly shonen jump’ จากสำนักพิมพ์ชูเอฉะ ที่สามารถครองใจนักอ่านทั่วโลกมายาวนานกว่า 26 ปี พร้อมการันตีด้วยยอดตีพิมพ์รวมมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ทำให้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า One Piece คือมังงะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ และบัดนี้การผจญภัย มิตรภาพ และความฝัน ความสนุกสนานที่แสนคุ้นเคยจากมังงะได้ถูกส่งต่อมาสู่ซีรีส์แล้ว

นอกเหนือจากเรื่องราวของการผจญภัยแล้วอีกสิ่งที่น่าสนใจใน One Piece คือ ‘ความฝัน’ ของลูฟี่ที่ต้องการเป็น ‘โจรสลัด’ ในอดีตลูฟี่ได้รับการเลี้ยงดูโดย ‘การ์ป’ ผู้เป็นปู่ของลูฟี่และยังมีตำแหน่งเป็นพันโทแห่งกองทัพเรือ จึงตั้งความหวังไว้ว่าในสักวันลูฟี่จะเติบโตไปกลายเป็นทหารเรือที่ยอดเยี่ยมตามรอยของตัวปู่ แต่ลูฟี่มีจิตใจที่รักอิสระจึงเลือกที่จะเป็นโจรสลัดศัตรูกับกองทัพเรือ ซึ่งลูฟี่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าการเป็นโจรสลัดไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ชั่วร้าย ออกปล้นสะดม หรือเข่นฆ่าผู้คนเสมอไป ตัวของลูฟี่ได้นิยามการเป็นโจรสลัดในแบบของตัวเอง คือการออกผจญภัย ตามหาสมบัติ และต่อสู้กับความอยุติธรรม ณ จุดนี้ของ One Piece มันชวนให้เรากลับมามองการนิยามความฝันของเด็กนักเรียน ซึ่งแต่ละคนอาจตีความอาชีพที่ใฝ่ฝันในแบบของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องถูกตีกรอบด้วยค่านิยมหรือแบบเรียน

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” หากถามกับ ด.ช. ลูฟี่ก็คงจะต้องตอบว่า “ฉันจะเป็น…ราชาโจรสลัดให้ได้เลยยย” แต่ถ้ากลับมาถามเด็กไทยเราอาจจะได้คำตอบว่า “ยังไม่รู้” เเม้ว่าเด็กไทยในวัยเรียนจะได้อยู่ในโรงเรียน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่การมาโรงเรียนทุกวันคือการมาเรียนด้านวิชาการส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเอง บางคนแม้จะเรียนจบไปแล้วจนเข้าสู่วัยทำงาน ก็ยังไม่รู้ว่า ‘ความฝัน’ หรือ ‘เป้าหมาย’ ของตัวเองคืออะไร ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่โรงเรียนไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ลองผิดลองถูกมากพอ จะเป็นไปได้หรือไม่หาก ‘ห้องเรียน’ จะเปลี่ยนเป็น ‘ห้องทดลอง’ สำหรับครูและเด็กในการทดสอบและค้นหาเป้าหมายในอนาคตผ่านการทำกิจกรรมในห้องเรียน

โรงเรียนควรให้โอกาสเด็กนักเรียนค้นหาตัวตน หรือค้นหาเป้าหมายในอนาคตของตัวเอง เเม้จะอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย และมีปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำเข้ามาแทรกแซง แต่การสร้างพื้นที่ให้เด็กนักเรียนได้สำรวจตัวเอง จะเป็นแรงหนุนเสริมที่ดีให้เด็กนักเรียนรู้เป้าหมายได้เร็วก็ยิ่งขึ้น ต่อยอดไปสู่การฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อเส้นทางอาชีพในอนาคต โดยมีครูทำหน้าที่เปรียบเสมือนโค้ช คอยให้คำปรึกษาชี้แนะไม่ชี้นิ้วสั่งสอน เพื่อให้เด็กได้มีเจตจำนงเสรีในการเลือกทางเดินอนาคตของตัวเอง

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า