มนุษย์หัวใจครู ณิชกมล แสงราช นักศึกษาโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น

Share on

 472 

โครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น หนึ่งในโครงการของสำนักพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา โครงสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล สร้างครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชนบ้านเกิด โครงการนี้ดำเนินมากว่า 5 ปีแลัว โดยมีนักซึ่งในปีการศึกษา 2567 ที่จะถึงนี้ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จะได้ลงพื้นที่บรรจุเป็นครูเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิดอย่างเต็มตัวในโรงเรียนปลายทาง

ซึ่งการคัดเลือกนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในแต่ละรุ่นนอกจากจะมีเกณฑ์การคัดเลือกจากเป็นโรงเรียนปลายทางในพื้นที่เป้าหมาย สภาพครอบครัว ผลการเรียนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ หัวใจของความเป็นครูที่มีหัวใจนักพัฒนา เพื่อสร้างนักเรียน ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชน ให้แข็งแกร่งเจริญเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

วันนี้ I AM KRU. X อะไรอะไรก็ครู ได้รับโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับว่าที่ครูคนใหม่ที่กำลังฝึกความพร้อมวิชาชีพครูอย่างเต็มกำลัง เพื่อกลับไปประจำโรงเรียนบ้านกกจาน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย  โรงเรียนประถมขนาดเล็ก ที่ นางสาวณิชกมล แสงราช หรือ น้องมิ้ว ได้กำหนดเป็นโรงเรียนที่จะกลับไปพัฒนา

ครูมะนาว :  “มนุษย์หัวใจครู” ครั้งนี้เราจะมาพูดคุยกับน้องณิชกมล แสงราช หรือน้องมิ้ว นักศึกษาโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่เส้นทางครู เรามาทำความรู้จักกันเลยครับ

 

สวัสดีครับ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ปีอะไรครับ หรือสามารถเรียนครูได้หรือยังนะครับ 

ครูมิ้ว : ตอนนี้ปีที่ 4 แล้วค่ะตอนนี้กำลังฝึกสอนค่ะ ก็ยังเรียกว่าครูไม่เต็มปากค่ะ (หัวเราะ)

ครูมะนาว : คำถามแรกทำไมถึงเข้าร่วมโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น 

ครูมิ้ว : อยากเป็นครูค่ะ และเห็นประกาศจากเพจหนึ่งว่ามีโครงการให้ทุนการศึกษาฟรี เรียนจบปริญญาตรี แล้วครอบครัวยากจน ลงทุนทำการเกษตรแล้วไม่ได้กำไร หนูก็พยายามหาทางเรียนต่อให้ได้  เลยไปปรึกษาครู ครูก็แนะนำให้ว่าตำบลเรามีโรงเรียนบ้านกกจานที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เลยพยายามหาข้อมูลว่าต้องใช้คุณสมบัติอะไรบ้าง เขาให้แสดงศักยภาพตัวเอง สอบสัมภาษณ์ดูความตั้งใจ หนูก็จัดเต็มไปเลยค่ะ เล่านิทาน เรื่องเทพารักษ์กับคนตัดไม้ ก็ให้เพื่อน ๆ ช่วยแสดงจัดแจงตัวละครแจกบท แล้วตัวเองก็เล่นเป็น เทพารักษ์ 

ครูมะนาว : ดูว่าการคัดเลือกค่อนข้างเข้มข้นมากเลยนะครับ กว่าจะได้ครูรัก(ษ์)ถิ่นลงพื้นที่สักคน 

ครูมิ้ว :  ใช่ค่ะ ตอนแรกมีคนสมัคร 4 คน ทุกคนทำเต็มที่มากค่ะ แต่บางคนสละสิทธิ์ไป เพราะว่าชั้นเรียนที่จะไปประจำคิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง 

ครูมะนาว : อยากให้เล่าถึงตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาพื้นที่โรงเรียนปลายทาง ตั้งแต่เรียน ปีหนึ่ง จนถึงปีสี่ ว่าต้องทำอะไรบ้างครับ

ครูมิ้ว : เริ่มตั้งแต่ปีหนึ่ง จะเป็นการเก็บข้อมูล แต่ยังไม่เข้ามาฝึกสอนที่นี่ แต่ไปหัดฝึกสอนที่โรงเรียน ต้นแบบพัฒนาที่ จังหวัดร้อยเอ็ด  ปีสอง เข้ามาสังเกตการสอนที่โรงเรียนโดยตรง ปีสาม ก็เริ่มเข้ามาที่นี่ และปีสี่ได้เข้ามาเต็มตัว 

ครูมะนาว : ขอย้อนกลับไปก่อนหน้าอะไรที่ทำให้น้องมิ้วอยากเป็นครู 

ครูมิ้ว : ย้อนไปตอนอนุบาลค่ะ ไปเรียนเหมือนไปเล่น ไม่ได้คิดอะไรมาก ครูพยายามขัดเกลาให้เป็นเด็กดี มีวินัยในโรงเรียน ตอนนั้นก็มองไม่เห็นประโยชน์อะไร แต่พอขึ้นชั้นประถมคุณครูก็ยังให้ความรักความใส่ใจเหมือนตอนที่เรียนอนุบาล ส่งให้ไปประกวดโครงการนั้นนี้ เหมือนคุณแม่คนที่สองเลยค่ะ ถ้าโตขึ้นก็อยากเป็นครูแบบนี้บ้าง

ต้องมีทักษะความเป็นครูนักพัฒนาที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน 

ครูมะนาว : ครูท่านนี้ทำให้น้องมิ้วพอโตมาก็เลยเลือกเส้นทางที่ชัดเจนว่าอยากเรียนสาขาครุศาสตร์ สาขาประถมวัยแบบนั้น แล้วครูรัก(ษ์)ถิ่นในมุมมองของน้องมิ้วตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่หรือยัง

ครูมิ้ว : ตอบโจทย์ค่ะ ปกติครูจะสอนในโรงเรียนอย่างเดียวค่ะ แต่ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องทำงานกับชุมชน กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อบต. อนามัย ผู้ใหญ่บ้าน ต้องประสานงานพูดคุย ต้องมีทักษะความเป็นครูนักพัฒนาที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน ต้องมองภาพรวมในการทำงาน ไม่ได้แค่เรียนจบไปสอนอยู่บ้าน ต้องเป็นครูนักพัฒนาที่ทำประโยชน์ให้ชุมชนด้วยค่ะ

ครูมะนาว :  เมื่อปัญหาครูรัก(ษ์)ถิ่นคือการเข้าไปแก้ปัญหาเดิมแล้วปัญหาเดิมที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นไปแก้คือเรื่องอะไรครับ 

ครูมิ้ว : ปัญหาก็คือเรื่องวัฒนธรรมของชุมชนที่ไม่ได้ถูกส่งต่อให้คนรุ่นหลังค่ะ เพราะถ้าเด็กไม่สนใจเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือไปสัมผัสวัฒนธรรมในชุมชน วัฒนธรรมนี้ก็จะหายไป ที่ชุมชนของมิ้วเด่นเรื่องเครื่องจักสานทาง เลยมีไอเดียกับครูพี่เลี้ยงค่ะ อยากเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่เก่งเครื่องจักสานมาสอนในโรงเรียน สอนสานหวดนึ่งข้าว กระติบข้าว ให้เด็กเรียนรู้ค่ะ  

ครูมะนาว :  งั้นแสดงว่าตอนนี้ภาพที่โรงเรียนและชุมชน ไม่ได้เดินทางไปในทิศทางเดียวกัน หน้าที่ของครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นหน้าที่ประสานองค์ความรู้ในชุมชนในท้องถิ่น 

ครูมิ้ว : ใช่ค่ะ เราจะสอนให้ชุมชนมีความเกี่ยวเนื่องกัน เชื่อมต่อกัน เช่นบริบทชุมชน มาเป็นบทเรียนในชั้นเรียน ถ้าทำงานปะติด ก็เอาเมล็ดพันธุ์พืชที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ในห้องเรียนให้เด็กเรียนรู้

ครูมะนาว : ครูรัก(ษ์)ถิ่นเหมือนท่านทูตที่ไปประสานความสัมพันธ์ของครูและชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เอาของดีในชุมชนมาในโรงเรียน แล้วน้องมิ้วได้หยิบอะไรในโรงเรียนนำเสนอต่อชุมชนบ้างครับ 

ครูมิ้ว :  ถ้าในชุมชนจะนำเด็กนักเรียนไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะส่วนใหญ่ผู้ปกครอง ไม่ค่อยจะอยู่บ้านไปทำเกษตร ถ้าจะเจอก็เจอกันที่วัดในวันพระใหญ่ งานบุญ 

ครูมะนาว : ระหว่างที่เรียนอยู่ได้เข้ามาโรงเรียนปลายทางบ่อยไหมครับ

ครูมิ้ว : ได้เข้าพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนเลยค่ะ อาจารย์จะมีแบบฟอร์มให้เก็บข้อมูลชุมชนมาให้ ตอนแรก ๆ มาก็ไม่ได้ข้อมูลค่ะ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน จะมาขอข้อมูอย่างไร คนในหมู่บ้านก็ไม่ค่อยให้ เพราะเป็นคนแปลกหน้าในหมู่บ้านอยู่  ก็เลยลองหาวิธีถามแบบอ้อม ๆ แล้วมาเชื่อมโยงเข้าประเด็นที่เราอยากได้แทนค่ะ

ครูมะนาว : เหมือนเป็นการออกไปสำรวจดูห้องเรียนข้างนอกว่าทำงานอย่างไร และค่อยเข้ามาที่โรงเรียนปลายทาง แล้วตอนที่มาถึงสิ่งแรกที่อยากทำคือเรื่องไหนครับ 

ครูมิ้ว : อยากจัดการเครื่องใกล้ตัวก่อนค่ะและเป็นเรื่องที่เริ่มที่โรงเรียนได้ด้วย  มิ้วเห็นถึงปัญหาขยะ เพราะตอนที่มาฝึกสอนไม่มีที่ทิ้งขยะในชุมชน ใช้วิธีการเผาขยะในชุมชน พอกำจัดไม่หมดก็มีกลิ่นเหม็น 

ครูมะนาว : โครงการนี้ทำเฉพาะชั้นอนุบาลหรือยังไงครับ

ครูมิ้ว :  ทำกันทั้งโรงเรียนเลยค่ะ 

ครูมะนาว : ตอนนี้ได้เริ่มอะไรไปบ้างแล้วหรือยังครับ

ครูมิ้ว :   ตอนนี้ก็เริ่มลงมือทำโครงการขยะ และก็คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว  มีการคุยกับผู้นำชุมชน และจะได้แนะนำว่าขยะถ้าแยกบางชิ้นสามารถสร้างมูลค่าได้ เป็นรายได้ได้ด้วย

ครูมะนาว : เรื่องท้าทายที่สุดของมิ้วในการจัดการโครงการนี้

ครูมิ้ว :  ท้าทายที่สุดคือการเข้าชุมชนค่ะ เราไปปีหนึ่ง ปีสองก็จริงค่ะ รู้จักแค่ผู้นำค่ะ ต้องลงพื้นที่เพื่อรู้จักคนในชุมชนทั้งหมดต้องเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักคนในชุมชน ทักทายคนในชุมชนสอบความเป็นอยู่สบายดีไหม กินข้าวหรือยัง ถามราคาอ้อย ราคาข้าวโพดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน 

หมดไฟคือการที่เรามองไม่เห็นความสามารถและศักยภาพของตัวเอง 

ครูมะนาว : งั้นแสดงว่าในโรงเรียนเรารับมือไหวสบายมาก แล้ววัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นหรือมีอะไรที่ช่วยสนันสนุนเราบ้างไหมครับ 

ครูมิ้ว :  การทำงานที่นี่เหมือนพี่น้องร่วมงานกันเลยค่ะ ช่วยให้ทำงานงานมีอะไรสามารถปรึกษาอะไรก็ได้ทุกเรื่อง ให้ความรักความเมตตากับหนูมาก

ครูมะนาว : เท่าที่ฟังดูบรรยากาศการทำงานในโรงเรียนค่อนข้างดีมากเลยนะครับ ทีนี้พอลองมองไปที่ครูใหม่ที่มีไฟในการทำงาน พอได้ไปในโรงเรียนจริงๆ มันเกิดภาวะหมดไฟ แล้วถ้าเราเจอเพื่อนที่หมดไฟ เราจะมีวิธีการแนะนำเพื่อนที่หมดไฟอย่างไร หรือกำลังจะถูกกลืนไประบบแบบเดิม

ครูมิ้ว :  หนูก็จะแนะนำเพื่อนว่า สู้ๆ นะ ! การที่เราหมดไฟคือการที่เรามองไม่เห็นความสามารถและศักยภาพของตัวเอง ให้เขาลองทำอะไรที่ชอบสักระยะไหม เพื่อเพิ่มไฟในตัวเอง ปรับความเข้าใจกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ทำงานด้วยตัวเอง หนูเชื่อว่าต้องมีคนที่เห็นด้วยกับความคิดเรา ก็ลองไปทำงานกับคนที่เห็นด้วยกับเราก่อนดูไหม เริ่มจากคนกลุ่มนี้ดูก่อน ถ้าผลงานราบรื่นเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยกับเราอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ จะได้มาร่วมความคิดและพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน 

ครูมะนาว : เป็นการไม่ต้องสู้แต่เรามองหาคนที่เชื่อมั่นในสิ่งที่คิด เชื่อมั่นเหมือนเรา ไว้ใจเราก่อน แล้วก็ลงมือ ทำให้เกิดประโยชน์ แล้วเราต้องเปลี่ยนความคิดให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเราไหมครับ

ครูมิ้ว : เราไม่สามารถเปลี่ยน ความคิดของใครได้ แต่เราสามารถสร้างความคิดและส่งเสริมความคิดตัวเองอย่างเชื่อมั่น สักวันคนรอบข้างก็จะมองเห็นจุดที่เรามองไปด้วยกัน 

ครูมะนาว : ตอนนี้น้องมิ้วมีสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำมาก ๆ ลองเล่าให้ฟังหน่อย

ครูมิ้ว : ตอนนี้ภูมิใจที่ทำแผนการสอนที่เชื่อมโยงกับชุมชนได้ค่ะ (ยิ้ม) เช่นหน่วยการเรียนชุมชนของเรา เด็กไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำชุมชน ใครเป็นอะไร ในชุมชน มีอะไรบ้าง แต่เราสามารถนำโมเดลและสถานที่ในชุมชนมาถ่ายให้ดู สามารถเชิญผู้นำชุมชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับชั้นเรียนได้ แล้วก็ภูมิใจที่เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับหนึ่งค่ะ

ครูมะนาว : ถ้ามองในมุมที่ว่าครูอนุบาล เด็กยังเล็กเกินไปไหมที่จะไปเรียนรู้ในมุมมองของชุมชน 

ครูมิ้ว :  หนูว่าเด็กไม่ได้เล็กเกินไปค่ะ เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ แต่สามารถเรียนรู้ในแบบของเด็กในสิ่งที่เด็กพอจะทราบได้ เช่นสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม เครืองจักสาน ที่ไม่เกิดอันตรายสำหรับเด็กเลย 

ครูมะนาว : ผมนี่ดีใจแทนเด็กชุมชนบ้านกกจานที่ได้ครูที่เข้าใจชุมชน เข้าใจตัวเด็ก ให้ฝึกความรับผิดชอบตั้งแต่อนุบาลเป็นช่วงที่เขาสามารถเติบโตเจริญงอกงามได้ 

นโยบายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่แต่บางโรงเรียนมีปัญหาไม่เหมือนกัน 

ถ้าลงพื้นที่จะเห็นบริบทของปัญหาที่ไม่เหมือนกัน 

ครูมะนาว : ระยะทางโรงเรียนไกลจากตัวเมืองอยู่พอสมควร ความห่างไกลแบบนี้เกิดเหลื่อมล้ำบ้างไหมครับ

ครูมิ้ว : ถ้าจากนี่ไปเลยห่างจากตัวเมือง 140 กม. ถ้าอ.ด่านซ้าย 40 กม. จากที่เคยเรียนในเมืองจะได้รับการพัฒนาทุกปี แต่ที่บ้านกกจานสภาพอาคารเก่า น้ำรั่ว บางส่วนรอการซ่อมแซม ผู้อำนวยการทำเรื่องไปแล้วแต่ก็ยังไม่ผ่านการประเมินค่ะ และพวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เด็กเข้าถึงไม่ได้ทุกคน ต่างจากที่หนูเคยเรียนในเมืองก็จะมีใช้ ก็คิดถึงว่าทำไมบ้านเราไม่มีแบบนี้บ้าง ซึ่งก็คิดว่าอยากจะให้โรงเรียนที่บ้านบ้างค่ะ 

ครูมะนาว : ถ้าเป็นไปได้อยากบอกรัฐบาลให้มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้อย่างไรครับ 

ครูมิ้ว : ในความคิดหนูนะคะ เราไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนอะไรเขาได้ แต่อยากให้เขามองลงมาที่ที่ไม่ถึงความเจริญ ว่าพื้นที่เกิดปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร เพื่อรับทราบปัญหาและหาข้อแก้ไขมากกว่า อย่างนี้น่าจะเหมาะสมกว่าการไปปรับแก้นโยบาย 

วันที่สัมภาษณ์เป็นวันธรรมดาที่โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน หลังจากจบการสัมภาษณ์ เราถามครูมิ้วว่าวันนี้จะทำอะไรต่อ เธอบอกกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “เดี๋ยวจะไปโรงเรียน ไปจัดห้องเรียน วันนี้ไม่มีเด็กจะได้จัดห้องเรียนได้เต็มที่ค่ะ” 

ติดตาม “มนุษย์หัวใจครู” ผู้อุทิศตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงนักเรียน ห้องเรียน และการศึกษา ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ที่ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า