มนุษย์หัวใจครู ผอ.จันทร์เพ็ญ ดำคง และ ครูพรพิมล เพชรชู โรงเรียนบ้านบ่อเตย อ.เทพา จ.สงขลา

Share on

 512 

วันนี้รายการ “มนุษย์หัวใจครู” นำทุกท่านลงไปทางภาคใต้ของประเทศ ไปรู้จักกับโรงเรียนบ้านบ่อเตย โรงเรียนประถมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

บริบทของโรงเรียนบ้านบ่อเตย เป็นโรงเรียนชั้นประถมขนาดเล็ก ชาวบ้านในชุมชนเป็นมุสลิม 100% พูดภาษามลายู ฐานะผู้ปกครองค่อนข้างยากจน โรงเรียนมีกำลังครู 8 ท่าน ถึงแม้จะมีกำลังสอบบรรจุอีก 1 ตำแหน่ง ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอที่จะดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ

ชุมชนและโรงเรียนที่ตัว ผอ. ประจำอยู่เป็นท้องถิ่นใช้ภาษามลายู 100% มีคุณครูพูดไทยเพียง 3 คน ความแตกต่างทางภาษาไม่ได้มีผลต่อการเรียนรู้ ยิ่งเป็นผลดีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นักเรียนอยู่บ้านใช้ภาษาถิ่น ส่วนคุณครูพูดไทย เด็กก็เป็นครูสอนภาษามลายูให้ครู เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูนักเรียน

สิ่งที่น่าสนใจไปติดตามโรงเรียนดูการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ คือรางวัลสถานศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยรวมความสามารถทั้ง 2 ด้านสูงกว่าระดับประเทศ จากการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถม 1

 

พบกับมนุษย์หัวใจครูทั้ง 2 ท่าน ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาโรงเรียน TSQP กันได้เลยครับ

ครูมะนาว : “สวัสดีครับคุณครูทั้งสองท่าน อย่างแรกต้องขอเริ่มจากคำถามแรกตามธรรมเนียมของเราก่อนครับว่า “มนุษย์หัวใจครู” ในความหมายทั้งครูใหญ่และครูแอมเป็นอย่างไร”

ครูจันทร์เพ็ญ :  “คำว่า มนุษยหัวใจครู คือครูผู้ให้โอกาสอย่างรอบด้าน ครูน้อมนำปรัชญาในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้และจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำคือ ‘การให้โอกาส’ การให้โอกาสคน ทุกคนมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน การให้โอกาสกับนักเรียนที่ดูแลและรับผิดชอบในพื้นที่ ที่ขาดแคลนทุกอย่าง โรงเรียนต้องคอยสนับสนุนทั้งหมด เสื้อผ้า อาหาร ครูถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทุ่มเทและเสียสละอย่างจริงจังจึงได้มีวันเห็นโรงเรียนพัฒนาขึ้นมา”

ครูแอม พรพิมล :  “สำหรับครูแอม คือผู้ให้ความรู้ ให้ทุกอย่างที่นักเรียนขาด มีส่วนเติมเต็ม ทำความเข้าใจเขา ครูต้องให้เวลานักเรียน ให้เวลาที่พวกเขาต้องปรับตัว”

ครูมะนาว : “ตอนที่ครูใหญ่มารับตำแหน่งที่ รร. บ้านบ่อเตย ตอนนั้น รร. เข้าร่วมโครงการ TSQP เกิดขึ้นอยู่แล้วหรือเปล่าครับ”

ครูจันทร์เพ็ญ : “ยังไม่มีค่ะ แต่คุณครูก็รู้เรื่องโครงการจากโรงเรียนอื่น ว่าถ้าเข้าร่วมงานจะเยอะขึ้น ครูจะเหนื่อยหน่อย เสาร์- อาทิตย์ ไม่ได้หยุดนะ”

ครูมะนาว :  “แล้วอะไรทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียน TSQP ทั้งที่จะมีปัญหาเหล่านี้ตามมา”

ครูจันทร์เพ็ญ: “พี่ได้อ่านโครงการว่าเป็นการสอนแบบวิทยาศาสตร์ มีทักษะและกระบวนการที่บูรณาการได้กับทุกวิชา พี่มองเห็นโอกาสในขนาดที่เรากำลังขาดแคลน มันน่าจะ ‘เป็นโอกาสมากกว่าจะเป็นประเด็นปัญหา’ หรือเป็นภาระหนัก คุณครูได้เรียนรู้คือการพัฒนาคุณครู ถ้าหยุดนิ่งในขณะที่เพื่อนเดิน เท่ากับเราถอยหลัง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเดินหน้า

อีกสภาพแวดล้อมคือโรงเรียนบ้านบ่อเตยเป็นขนาดขนาดเล็ก คุณครูมีน้อย นักเรียนค่อนข้างขาดโอกาส คนที่มีโอกาสจะเข้าไปโรงเรียนระดับอำเภอ หรือโรงเรียนที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า เมื่อเขาไปไม่ได้และเขาตั้งใจต้องมาเรียนอยู่ในหมู่บ้านเราแล้ว ทำอย่างไรให้ความตั้งใจที่เขาต้องอยู่ในพื้นที่เสริมสร้างโอกาส ถ้าครูไม่หยิบยื่นโอกาสให้ลูก ๆ และไม่สร้างโอกาสให้ครูด้วยกันร่วมเรียนรู้สิ่งใหม่ จึงต้องก้าวไปพร้อมกันให้โรงเรียนพัฒนาตนเองได้

ตอนแรกก็ไม่เข้าใจในกระบวนการ เพราะเข้าไปปีที่สอง ตอนเพิ่งย้ายมาที่ รร. บ้านบ่อเตยที่นี่ จะทำกันอย่างไร แต่ดีที่มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง 

ตอนที่สมัครคุณครูในโรงเรียนไม่เห็นด้วย คุณครูก็มีแบบครบชั้นเรียน เพราะบุคลากรไม่พอขาดลาไปไหนก็ยากมากไม่มีกำลังครูไปทดแทน โครงการนี้ต้องไปอบรม เสาร์-อาทิตย์ ไหนต้องทำรายงานเอกสารเยอะขึ้น อบรมเยอะขึ้น แทนที่ครูจะได้พักผ่อน

แต่เมื่อ ‘มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้เด็กอย่างยั่งยืน’ ทำให้เดินหน้าเข้าร่วมโครงการต่อ เนื่องด้วยโครงการพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่ยั่งยืน เป็นการให้กระบวนการ ให้วิธีคิด โดยให้ผู้เรียนไปศึกษา ไปหาวิธีการนั้น มานำเสนอได้ อธิบายได้ กล้าแสดงตัวตนพร้อมที่จะพัฒนาโรงเรียนและคุณครูไปด้วยกัน” 

ครูมะนาว : “จากที่ครูใหญ่เล่าเห็นภาพในช่วงแรกครูในโรงเรียนไม่ค่อยเห็นด้วย นี่ถือเป็นความท้าทาย หรือมีประเด็นอื่น ๆ ที่ท้าทายกว่านี้ไหมครับ”

ครูจันทร์เพ็ญ  : “ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากค่ะ เพราะว่าก่อนที่จะเข้าโครงการ เพื่อน ๆ ที่เป็นครูโรงเรียนอื่นที่เคยเข้าร่วม ครูในโรงเรียนก็ไปฟังจากสมาชิกที่เข้าร่วม เขาเคยทำแต่ก็หยุดไป เพราะมันยาก มันเหนื่อยนะพี่ ไหนต้องส่งรายงาน มีการติดตามตลอด ครูก็ถามว่า ผอ. เอาอีกแล้วหรือปีนี้จะต่อไหม พี่ก็ตอบว่าไปต่อ 

พอครูที่ไม่ได้จบวิทยาศาสตร์ก็จะมองกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก เลยต้องปั้นครูสักคนเพื่อเป็นแกนนำคอยชี้แนะว่า
‘วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก’ พอผ่านไปปีหนึ่ง ปีสอง มาแบบได้เต็มที่บ้างไม่เต็มที่บ้าง เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง พักบ้าง แต่ก็ต้องขับเคลื่อนไปทั้งโรงเรียน ที่เข้าเข้าร่วมโครงการ TSQP นั้นเพราะเห็นผลลัพธ์จะอยู่ที่ตัวนักเรียน เราจะเห็นว่าเด็กกล้าแสดงออก รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม รู้จักกระบวนการ และเป็นกระบวนการเรียนที่สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่ ที่เน้นกระบวนการสอนแบบ Active Learning มาผนวกประเมินใช้กับ PA ที่ครูประเมินด้วย ทำครั้งเดียวและได้หลายเรื่อง”

‘ทำแบบเดิมผลลัพธ์เหมือนเดิม 

พอใช้ TSQP ได้กระบวนการที่ผลลัพธ์เปลี่ยนไปจากเดิม

ไปสร้างโอกาสในการเข้าถึงความรู้แก่ผู้เรียนโดยไม่ต้องรอขอความช่วยเหลือ’

ครูมะนาว :  “พอเราพูดถึงโอกาส ส่วนใหญ่จะหมายถึง ให้ทุนการศึกษา มีสื่อการสอน ปัจจัยอื่น ๆ แต่ ‘โอกาสที่ครูใหญ่พูดถึง คือกระบวนการ’ อยากให้ขยายโครงการนี้ที่เป็นต้นแบบให้โรงเรียนปฏิบัติ มันส่งผลให้นักเรียนแตกต่างจากเดิมอย่างไร”

ครูจันทร์เพ็ญ : “ก่อนหน้าสิ่งที่ขาดคือโอกาสเปลี่ยนแปลงกระบวนการและวิธีการสอน ครูที่ใช้รูปแบบการสอนเดิม ๆ สอนตามเนื้อหา แจกใบงาน ทำการบ้าน ก็จบกัน อนาคตข้างหน้าเขาก็จะจำไปแบบเดิม ๆ แต่การใช้ TSQP เป็นโอกาสที่จะหยิบยื่น ทักษะ กระบวนการ หยิบยื่นวิธีการที่ฝังลึกและถูกต้องให้นักเรียน พอเกิดโครงการนี้ขึ้นมาก็เกิดการชี้แนะ แนะนำทาง มอ. ให้ทุนสนับสนุนแนะนำการสอน 4 ขั้นตอน เดี๋ยวครูแอม พรพิมลจะอธิบายช่วงหลังค่ะ

การทำแบบเดิม ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องการวาดภาพทิวทัศน์ ถ้าเด็กเรียนแบบเดียวกันก็จะวาดภูเขา ต้นไม้ ทิวทัศน์ มีมะพร้าว มีเรือ มีทุ่งนา เหมือน ๆ กัน เป็นความทรงจำเดิมที่เด็กติดอยู่ในความคิด ทีนี้ลองสอนด้วยวิธีการแบบใหม่ แบบจิตตปัญญา ลองทำด้วยตัวเอง นำสิ่งที่ได้มานำเสนอลองเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีผิดไม่มีถูก ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิด กล้าทำ กล้าพูด เด็กหลังห้องก็กล้าที่แสดงออก ทุก ๆ ปี โรงเรียนจะเปิดบ้านวิชาการแสดงผลงานนักเรียน ครู ที่ผ่านมาทั้งปี ผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ชัด” 

ครูมะนาว : “กรณีที่ว่าครูบางท่านมีความรู้สึกว่ามันฝืน ไม่อยากทำ ครูใหญ่มีเทคนิคอย่างไรให้ทั้งโรงเรียนขับเคลื่อนไปด้วยกันให้องค์กรมองเป้าหมายเดียวกัน”

ครูจันทร์เพ็ญ : “อันดับแรกคือการทำความเข้าใจ เชิญประชุมผู้ปกครองมาพูดคุยเล่าถึงโครงการและกิจกรรมนี้ ว่าส่งผลดีต่อบุตรหลานอย่างไร และที่สำคัญคือบรรจุลงในแผนปฏิบัติการ มอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจนเพื่อให้ทุกคนลงมือปฏิบัติ จัดตารางเรียน ตารางสอน แล้วก็คอยอธิบายเมื่อมีคำถาม ตามลำดับขั้นตอน พร้อมให้ครูเข้าร่วมรับฟังกับ มอ. ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อฟังเสียงสะท้อนว่าโครงการนี้เป็นอย่างไรในมุมมองของโรงเรียนอื่น ๆ  คุณครูก็เริ่มมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มีคุณครูแอม (ครูวิทยาศาสตร์) เป็นแกนนำ ไม่นานคุณครูเข้าใจว่าแท้จริงแล้วไม่ยากอย่างที่เราคิด พอถึงคาบที่จัดนักเรียนก็กระตือรือร้นว่าครูจะมีอะไรมาสอน ผู้ปกครองก็คอยติดตามว่าลูกของพี่ทดลองอะไรบ้าง เป็นการใช้พลังจากผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมรับรู้เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ”

‘เมื่อเราเห็นปลายทางที่ดีแล้ว ถ้าจะไม่ลงมือทำก็เป็นเรื่องที่เสียโอกาสมาก ๆ’ 

ครูมะนาว

ในช่วงถัดมาครูแอม พรพิมล ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ เล่าถึงบรรยากาศในห้องเรียนที่นักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนช่วงกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา ช่วงที่ทุกคนสามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่มีถูกผิด เป็นคำถามปลายเปิดที่ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดยใช้กระบวน 4 ขั้นตอน ซึ่งเปลี่ยนมุมมองการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนได้อย่างเด่นชัด 

  1. จิตตปัญญา คุณธรรม กิจกรรมจะมีหลากหลาย หาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเรียน
  • บริหารสมอง (Brain Gym)  เพื่อให้สมองพร้อมรับการเรียนรู้
  • เล่าเรื่องให้นักเรียนฟังเพลง เรื่องสั้น หลังจากดูจบตั้งคำถามให้นักเรียนวิเคราะห์ แต่ก็พบว่านักเรียนจะไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่เมื่อสังเกตก็พบว่าเพราะนักเรียนต้องใช้ภาษาไทยกับครูทำให้ต้องนึกก่อน จึงให้เวลาเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด แรก ๆ ก็ติดขัด แต่พอทำบ่อย ๆ เด็กก็เริ่มคล่องแคล่วขึ้นกล้าแสดงออกมากขึ้น 
  1. ขั้นหลักคิด ให้กระบวนการกับนักเรียนว่าทำอย่างไร จะมีกฎ 4 ข้อให้นักเรียนปฏิบัติ รับผิดชอบ แบ่งงาน แบบคละทักษะ เด็กอ่อน เด็กเก่ง อยู่ด้วยกัน
  2. ขั้นปฏิบัติ ให้นักเรียนทำงานร่วมกัน แต่ละคาบจะมีการนำเสนอหน้าชั้นเรียน แนะนำวิธีการนำเสนอให้พูดเป็นธรรมชาติ เด็กบางคนไม่เคยได้พูดก็มีโอกาสได้พูด 
  3. ขั้นสะท้อนผล นักเรียนก็แสดงความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร และค้นพบว่ามีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้มาพูดหน้าชั้นเรียน ในส่วนของครูก็เข้าใจนักเรียนมากขึ้น เพราะครูเป็นคนต่างถิ่นไม่เข้าใจภาษามลายู พอใช้การเรียนแบบนี้เด็กจะเปิดใจให้คุณครูมากขึ้น 

เด็กหลังห้องที่เคยไม่มีตัวตนในห้องเรียน

กลายเป็นเด็กที่มีส่วนร่วมในห้องเรียน กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น

กลายเป็นผู้นำในชั้นเรียน

ครูแอมได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับน้องอาซาน นักเรียนที่ไม่พูด ไม่แสดงออก แต่เมื่อปรับการเรียนการสอนทำให้เขากล้าแสดงออก ในวันที่เปิดบ้านวิชาการ น้องอาซานแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในชั้นเรียนด้านภาษาอังกฤษจนได้ฉายาน่ารักว่า “King of English”

ครูมะนาว : “จากแววตาที่ครูแอมเล่าแล้วมีความสุขมาก อยากรู้ว่าอะไรเป็นขั้นตอนที่ยากสุดในการสอนครับ”

ครูแอม : “ช่วงแรกที่มาใช้งานกระบวนการ 4 ขั้นตอน ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จะทำยังไง จัดการอย่างไร พอเข้าใจก็ผ่านจุดนั้นมาได้ แต่ละขั้นตอนก็ช่วยเห็นพัฒนาการและความสุขในการเรียนรู้ของนักเรียน

ถ้าถามว่าตอนไหนยากสุด ก็คงเป็นตอนที่ให้หลักการในการทำงานค่ะ เพราะเป็นการฝึกให้นักเรียนวิเคราะห์เหตุและผล ในช่วงแรกจะยาก แต่ก็ให้เด็กใช้กระบวนการวิเคราะห์แผนผังก้างปลาที่เรียนรู้จาก มอ. พอลองใช้ไปเรื่อย ๆ ก็เห็นผลลัพธ์ที่ตามมา” 

ครูมะนาว : “มาถึงคำถามสุดท้ายของเราแล้วครับ คุณครูคิดว่าโอกาสอะไรที่จะทำให้การทำงานของครูลื่นไหลต่อไปได้”

ครูใหญ่ : “ทางโรงเรียนมีไปเยี่ยมบ้านเพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ พบว่านักเรียน 140 คน มีเด็กยากจนพิเศษถึง 80 กว่าคน โรงเรียนพยายามหาทุนมาสนับสนุนตรงนี้ที่ได้จาก กสศ. และทุนทรัพย์ของผู้ปกครองในชุมชนที่ระดมทุนช่วยเหลือกัน ไม่ว่าชุดนักเรียน ชุดพละ ที่พยายามหามาช่วยสนับสนุนเรื่องการศึกษาอย่างเต็มกำลังความสามารถ 

และเรื่องอาหารเช้าเด็กบางคนแทบจะไม่ได้กินก็พยายามช่วยเหลือ ส่วนอาหารกลางวันที่แจกจ่ายไม่หมดก็ให้เด็กนำกลับบ้านเป็นอาหารเย็น วนรับกันเพื่อให้สามารถแจกจ่ายได้ทั่วถึง และจะมีว่าที่ครูคนใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จาก มรภ.ยะลา จะเข้ามาดูแลอีกทางหนึ่ง” 

ครูแอม :  “คงเป็นเรื่องอาหารอย่างที่ ผอ.บอกค่ะ จากที่ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนบางบ้านลำบากมาก ต้องเดินจากถนนเข้าไปลึกเป็นกิโล สภาพบางบ้านทรุดโทรม บ้างก็ไม่มีห้องน้ำ”  (พอมาถึงจุดนี้ครูแอม ก็น้ำตาไหล)

ครูมะนาว : “วันนี้เป็นตอนหนึ่งที่เราได้พูดคุยมนุษย์หัวใจครูอย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่พูดคุยกันตั้งแต่ต้นเริ่มต้นก็พบคำว่า ‘โอกาส’ มาจนถึงช่วงท้ายในความหมายของมนุษย์หัวใจครูทั้งครูใหญ่ ครูแอม ก็พูดถึงโอกาส พอถามว่าโรงเรียนต้องการอะไร โรงเรียนก็ต้องการนำสิ่งที่ได้มาให้นักเรียนอีก พอได้ฟังทำให้มองย้อนถึงตนเองว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่จะทำให้เราเข้าไปถึงความเป็นมนุษย์หัวใจครู” 

ติดตาม “มนุษย์หัวใจครู” ผู้อุทิศตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงนักเรียน ห้องเรียน และการศึกษา ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานคนต่อไปเร็ว ๆ นี้ 

Writer

3.5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า