มนุษย์หัวใจครู ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข

Share on

 574 

วันนี้รายการ “มนุษย์หัวใจครู” จะนำทุกท่านไปรู้จักกับ ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านมอโก้คี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัลอันทรงเกียรติ “ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2566” มูลนิธิในพระอนุเคราะห์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดมอบให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และครูผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต 

บริบทโรงเรียนในพื้นที่สูง

ครูมะนาว : “อยากให้เล่าถึงโรงเรียนและงานของครูนิวัฒน์น์ว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้างครับ”

ครูนิวัฒน์ : “ผมเป็นคนในพื้นที่ อ. ท่าสองยาง ผมเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง บุกเบิกตรงนี้มา 22 ปีแล้วครับ ก็จะรับผิดชอบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง 5 แห่ง และห้องเรียนสาขาย่อยอีก 1 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 6 ศูนย์การเรียนครับ มีนักเรียนรวมทั้งหมด 180 คน หน้าที่หลักของผมจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุบาล ป. 1-6 ตอนนี้นักเรียนผู้ใหญ่ ม.ต้น 2 คน นักเรียน และ ม. ปลาย 1 คน ใช้การเรียนแบบครบกลุ่มที่ศูนย์การเรียน 

ครูมะนาว : “ถ้าพูดถึงความต่างของการศึกษาในพื้นที่ราบกับพื้นที่สูงอะไรคือความแตกต่าง” 

ครูนิวัฒน์ : “ความต่างบนดอยความเหลื่อมล้ำคือเรื่องการคมนาคม ความห่างไกลที่ทำให้ห่างไกลโอกาสเข้าถึงบริการต่าง ๆ รวมถึงรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัติธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะฤดูฝนเด็กนักเรียนมาเรียนด้วยความยากลำบากมาก บางครอบครัวพ่อแม่ติดฝิ่นทำให้เด็กบางคนมาโรงเรียนไม่ได้เพราะต้องดูแลน้องแทนพ่อแม่ ปัญหาเรื่องรายได้ทำให้พ่อแม่ผลักเด็กออกจากโรงเรียนให้ไปช่วยงานหาเงิน ปลูกข้าว ทำไร่  แทนที่จะให้ลูกมาเรียนหนังสือ” 

ครูมะนาว : “ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง แล้วอะไรที่ทำให้ครูไม่ไปไหนและทำไมครูถึงสู้ต่อ” 

ครูนิวัฒน์ : “ผมเจอปัญหาหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ปัญหายาเสพติด ครูเป็นสมาชิกคนหนึ่งในหมู่บ้าน ที่ได้รับโอกาสไปเรียนต่อที่อื่นจนจบ ป.ตรี อะไรที่ชาวบ้านเกิดปัญหาที่พอช่วยได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพอจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ก็หาวิถีทางช่วยกันให้ครบถ้วน ช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อให้ชาวบ้านเขา แต่คนอื่นพอมีโอกาสได้ย้ายก็ย้ายกลับ”

“ครูบุกเบิกมาตั้งแต่ต้น พ่อแม่พี่น้องที่นี่ก็เปรียบเสมือนพ่อแม่พี่น้องผมคนหนึ่ง ไม่คิดอยากย้ายไปไหน อยากช่วยที่นี่ไปตลอด พยายามคิดนอกกรอบ หาสิ่งที่เกิดประโยชน์กับนักเรียน ชาวบ้าน ยิ่งคิดงานยิ่งเยอะแต่ก็ยินดี เพราะถ้ามันเกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ หรือว่าชาวบ้าน ก็จะประสานงานปัจจัยต่าง ๆ เพื่อมา สนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์  นักเรียน ชาวบ้านเรียนรู้ ก็จะเป็นประโยชน์ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต วันหนึ่งที่เราเดินออกมา พวกเขาก็พึ่งพาตนเองได้ ดูแลหมู่บ้านชุมชนได้” 

‘ทุกกิจกรรมมีความหมายต่อการเรียนรู้’

ครูมะนาว : “เท่าที่ฟังจากครูเล่าไม่ได้สอนนักเรียนอย่างเดียว แล้วครูนิวัฒน์จัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างไรบ้าง”

ครูนิวัฒน์ : “ตลอดที่ผ่านมา ผมจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสอดแทรกผ่านกิจกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียน มีอบรม โครงการคุณธรรมจริยธรรมคุณงามความดีต่าง ๆ สอดแทรกผ่านกิจกรรมหน้าเสาธง เพื่อให้กระบวนการเรียนได้เข้าไปสู่เด็กนักเรียนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นทักษะการดำเนินชีวิตที่ค่อย ๆ ซึมซับพฤติกรรมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นทักษะตัวไปตลอดชีวิต”

‘มนุษย์หัวใจครู’ 

คือผู้ที่มีความตั้งใจจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียน 

ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีที่สุดกับตนเองและการดำเนินชีวิต’

ครูมะนาว : “ผมมองเห็นความทุ่มเทในสิ่งที่ครูนิวัฒน์ทำงานในฐานะครู ผมมีคำถามหนึ่งอยากถามว่า คำว่า มนุษย์หัวใจครู ในความคิดของครูนิวัฒน์เป็นแบบไหนครับ”

ครูนิวัฒน์ : “คำว่ามนุษย์หัวใจครูในความคิดของผม คือผู้ที่มีความตั้งใจจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี เกิดผลที่ดีที่สุดกับตนเอง ในการดำเนินชีวิต มีความเมตตา เสียสละเวลา ทรัพย์สิน เพื่อช่วยลูกศิษย์ ให้มีความตั้งใจเรียน จบมาจะได้พัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ตอบแทนบุญ การเรียนไม่ใช่ทำดีเพื่อตนเอง ถ้าเรามีชีวิตที่ดีขึ้นเราจะได้กลับมาดูแลพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน พัฒนาท้องถิ่นของเรา  

ครูมะนาว : “ผ่านมา 22 ปี มีงานอะไรที่ครูนิวัฒน์ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดครับ”

ครูนิวัฒน์ : “ตลอดที่ทำหน้าที่ครู 22 ปี คือการมุ่งมั่นจัดตั้งโรงเรียนให้กับหลาย ๆ หมู่บ้านในพื้นที่ แต่เดิม พวกเขาไม่มีห้องเรียน เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ยิงนก ตกปลา หาของป่า ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนในเมือง จึงเริ่มต้นจากจัดทำประชาคมหมู่บ้านก่อน ให้ทุกคนในหมู่บ้านเห็นพ้องสร้างโรงเรียนร่วมกัน แล้วก็เสนอผ่านอำเภอ จนถึงผู้ว่าได้รับอนุญาตจัดตั้ง ศศช.บ้านซอแข่ลู่  ศศช.บ้านโจ๊ะเก้ปู่  ศศช.บ้านทีหนึคี และห้องเรียนสาขามอโก้คีใหม่”

ไม่ใช่แค่ทำเรื่องก่อตั้ง ครูต้องก่อสร้างโรงเรียน 

“ระยะทางไกลเป็นอุปสรรคหนึ่ง ค่าขนส่งที่ต้องดูแลอีกหนึ่ง มิหนำซ้ำต้องรับผิดชอบการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อพร้อมรองรับการเรียนการสอน อุปสรรคที่ว่านี้บรรเทาลงเพราะได้รับความร่วมมือ ลงแรงร่วมใจจากครูในพื้นที่ คนในชุมชนแม้คนหมู่บ้านอื่นก็ขันอาสาร่วมกันออกแรงคนละไม้ละมือ จึงสำเร็จเป็นโรงเรียนสักแห่งได้”

‘การเรียนไม่ใช่ทำดีเพื่อตนเอง 
ถ้าเรามีชีวิตที่ดีขึ้นเราจะได้กลับมาดูแลพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน 
พัฒนาท้องถิ่นของเรา’

การมีโรงเรียนในชุมชนเห็นภาพแตกต่างจากเดิม

ครูนิวัฒน์ได้เล่าย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2545 ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานในพื้นที่

“ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปลูกฝิ่น คนในพื้นที่ติดฝิ่นจนก่อปัญหาอาชญากรรม จี้ปล้น รวมถึงสาธารณสุขที่เข้าไม่ถึงในพื้นที่ห่างไกล ผมใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ติดตามการพัฒนา และใช้ความสัมพันธ์กับคนในชุมชน พอเป็นครูที่นี่เหมือนกับสมาชิกในหมู่บ้านคนหนึ่ง ต้องติดตาม มีการประชาคม ไม่ใช่ทำแค่ครั้งเดียวแล้วก็จบ ผมทำแบบนี้ต่อเนื่องอยู่หลายอย่างจนกว่าฝิ่นจะลดลงและหมดไป 

ครูเป็นคนอำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนในหลายด้าน  การจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่เดิมเด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะเดินทางไปข้างล่างทั้งไกลและเส้นทางก็ลำบาก การมีโรงเรียนในพื้นที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งได้งบประมาณจากทางสำนักงาน กศน. และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานทุนสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อีกทางหนึ่ง

การมีโรงเรียนไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านเท่านั้น โรงเรียนเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคนในชุมชนสำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้ จัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความเห็น พื้นที่จัดงานพิธีการต่าง ๆ สำหรับคนในชุมชนด้วยอีกทางหนึ่ง”

‘อย่าดึงครูออกจากห้องเรียน’

ครูมะนาว : “เมื่อเป้าหมายครูคือการพัฒนาเด็ก ครูนิวัฒน์อยากให้หน่วยงานของรัฐช่วยสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง”

ครูนิวัฒน์: “ผมอยากให้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนโยบายการทำงาน ลดการอบรม ลดการประชุม ลดงานเอกสาร และลดงานนอกที่กระทบเวลาการสอนนักเรียน เพราะด้วยสถานที่ครูอยู่บนพื้นที่สูงถึงแม้จะมีถนนเข้าถึงแต่ระยะทางเป็นอุปสรรคในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ยกตัวอย่างเรื่องเอกสารผิด 1 ชุด ต้องเดินทางจาก รร. ลงมาเพื่อเอกสาร ถึง 3 ชั่วโมง แก้เอกสาร 15 นาที เสร็จ เดินทางกลับอีก 3 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง  ตอนนี้ที่โรงเรียนมีบุคลากรครูมี 2 คน ที่ต้องดูแลเด็กนักเรียนถึง 70 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดูแลเด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ได้อยู่แล้ว และยิ่งต้องออกนอกพื้นที่บ่อย ๆ ทำให้ไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอน แต่ถ้าทางภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนโยบายการจัดการเอกสาร ส่งรายงาน ให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ ทำให้ครูมีเวลาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น มีเวลาจัดกระบวนการเรียนรู้ จัดกิจกรรมให้กับนักเรียนได้มากขึ้น จะช่วยให้เด็กเกิดทักษะความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากขึ้นด้วย”

วันที่สัมภาษณ์เป็นวันที่ครูนิวัฒน์ลงจากโรงเรียนมาประชุมเพื่อรับนโยบายจากจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ กศน. อำเภอท่าสองยาง การสัมภาษณ์เป็นช่วงหลังเวลาราชการ แต่ระหว่างทำการสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดอุปสรรคเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ขาดหายบ้างเล็กน้อยในบางช่วง เพราะครูนิวัฒน์ยังต้องติดต่อประสานเรื่องงานจากเพื่อนครูให้ซื้อและขนอุปกรณ์ก่อสร้างโรงเรียนติดรถตอนขากลับขึ้นดอยไปด้วย การเดินทางไม่ใช่จบแค่ขนส่งวัสดุถึงพื้นที่เท่านั้น เมื่อถึงพื้นที่แล้วต้องก่อสร้างโรงเรียนให้ลุล่วงพร้อมจัดการเรียนการสอน ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่มีเวลาใดที่ “มนุษย์หัวใจครู” ผู้นี้จะหยุดทำงานเพื่อนักเรียนเพื่อชาวบ้านบนพื้นที่สูง 

ติดตาม “มนุษย์หัวใจครู” ผู้อุทิศตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงนักเรียน ห้องเรียน และการศึกษา ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานคนต่อไปเร็ว ๆ นี้ 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า