ครูดำรงฤทธิ์ คุณสิน ครูนักทดลองที่ผนวกการเรียนรู้นวัตกรรมโคดดิ้งเข้ากับบอร์ดเกม

บทความสัมภาษณ์: โครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ

Share on

 723 

I AM KRU. เดินทางมายังจังหวัดพิจิตร ณ โรงเรียนวัดวังเรือน เพื่อมาเยี่ยมชมห้องเรียนต้นแบบ โครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ สนับสนุนจากสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 

วันนี้ท้องฟ้าที่พิจิตรสดใส ไร้ฝุ่นละออง ทีมงาน I AM KRU. มีโอกาสพบกับ คุณครูดำรงฤทธิ์ คุณสิน หรือที่เด็ก ๆ และเหล่าเพื่อนครูเรียกว่า ครูบอน คุณครูมืออาชีพที่เป็นต้นแบบด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผสมผสานเข้ากับบอร์ดเกม เพื่อสร้างสื่อการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมด้วยความสนุกสนานในทุกคาบที่มีการเรียนการสอนของครูบอน จึงถือโอกาสพูดคุยกับครูบอน ครูนักวิทย์ที่รักการทดลอง ถึงการทำงานในฐานะครูต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับคุณครูทุกท่าน 

ใจบันดาลแรงในการทำงานของครูบอน

ครูบอนเล่าให้ฟังว่าไม่ได้จบครูโดยตรง จบมาทางด้านชีววิทยาแล้วมาสอบวิชาชีพครู เริ่มอาชีพเป็นครูอัตราจ้างก่อน ตอนที่มาสอนใหม่ ๆ ก็สอนด้วยความตั้งใจและเห็นปฏิกิริยาเด็กในห้องตั้งใจเรียนกันทุกคนเด็ก ๆ นั่งฟังกันนิ่ง ก็เลยคิดว่าวิธีการสอนแบบนี้มาถูกทางแล้ว แต่เมื่อวัดผลสรุปสุดท้ายออกมาแล้วก็พบว่า เด็กไม่รู้อะไรเลย 

ปฏิกิริยานิ่ง ๆ ของเด็กนั้นเป็นสัญญาณเตือนว่ามันไม่ใช่การเรียนรู้ ไม่ได้การแล้ว ทักษะการสอนตอนนี้ไม่เพียงพอแล้ว ครูบอนจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา ที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทุกครั้งที่จบห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย ครูบอนได้นำเทคนิคการสอนที่เพิ่งเรียนมาทดลองใช้สอนในห้องเรียนของตัวเอง การตัดสินใจครั้งนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิธีคิดของครูบอนไปอย่างสิ้นเชิง 

ปฎิกิริยาในห้องเรียนที่เปลี่ยนไป 

หลังจากที่นำวิธีการเรียนการสอนมาปรับใช้ในห้องเรียนแล้วเด็กในห้องเรียนก็มีปฏิกิริยาเชิงบวก  

เด็ก ๆ เริ่มพูดคุยเด็ก มีความสนใจเรียน แสดงความต้องการที่จะเรียนรู้อีกครั้งต่อไป ไม่ใช่แค่มาเรียนไปแล้วก็นั่งฟังครูสอนเฉย ๆ อีกสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนของครูบอน คือได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่าบอร์ดเกมที่เพื่อนครูท่านหนึ่งได้แนะนำให้รู้จักเกมกระดาน (Boardgame) ก็เกิดความปิ๊งว้าวว่ามันมีเกมอย่างนี้ด้วยหรือ เกมนั้นคือเกมการอยู่ร่วมกันทุกสิ่งมีชีวิตเป็นภาวะอิงอาศัยของสิ่งมีชีวิต เป็นเกมง่าย ๆ ว่าด้วยการแก่งแย่งกันในเรื่องการใชัทรัพยากร จึงนำมาให้เด็กมในห้องเรียนได้ทดลอง ปรากฏว่าเด็ก ๆ สนุกสนานกับเกมนี้เป็นอย่างมาก แต่ทว่าไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็กได้

การพัฒนาที่เกิดจากเสียงของนักเรียนกลับมาที่ตัวครู 

การพัฒนาบอร์ดเกมคือเริ่มจากตัวเด็ก แล้วก็การพัฒนาจากตัวครูของเพื่อนครูที่ให้คำแนะนำ ตอนนั้นมีเงินเท่าไหร่ก็มุ่งไปกับตัวเกมหมดเลย ไปสืบเสาะหาว่าที่ไหนมันถูกสุดหรือไม่ก็ไล่หาซื้อจากต่างประเทศ ใช้เงินงบประมาณเราเองหมด หวังแต่ว่าอยากให้สื่อตัวนี้มันดีตามที่เด็กต้องการตอนนั้นก็คิดแค่นั้นแหละ ยิ่งเอาให้เด็ก ๆ เล่นปุ๊บก็เกิดปฏิกิริยาของเด็กเปลี่ยนแปลงทันทีครั้งแรกที่เล่น พวกเขาเริ่มพูดคุยสนุกสนาน เด็กก็เริ่มเรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกมมาเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงเนื้อหา 

พอเริ่มเห็นประโยชน์ของบอร์ดเกมจึงได้นำบอร์ดเกมที่ชื่อว่า Dream On (ทีมสร้างฝัน) เป็นเกมที่ช่วยให้เด็กฝึกการสื่อสารด้านการเล่าเรื่องราว (storytelling) ผ่านการเล่าความฝัน แต่จะทำอย่างไรหละที่จะสร้างบอร์ดเกมของตัวเองเพื่อนำไปใช้ในห้องเรียนได้ ก็พอดีว่าท่านศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 จ.พิจิตร ท่าน นุตประวีณ์ เป็นผู้ชักนำสู่โครงการของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็เลยได้รู้จัก ครูแสนเมือง ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (แฟนเพจนายแสน Facilitator & board game) ที่พี่สาวคือ ครูเหมี่ยว วนิดา คุณสิน รู้จักก่อน พี่เหมี่ยวเป็นแฟนเพจแล้วก็ชวนก็ไปลองดูอยากรู้แค่ว่าเขาเรียนเขาสอนการออกแบบกันอย่างไร เราได้ความรู้วิธีการคิด การออกแบบ ที่ได้จากครูแสนไปใช้ในการสร้างบอร์ดเกมอย่างมาก 

อยากให้ครูบอนช่วยเล่าถึงความสำเร็จของกิจกรรมการประยุกต์ใช้โคดดิงเข้ากับบอร์ดเกม สองสิ่งนี้ไปผูกรวมกันได้อย่างไร

ผมให้เด็ก ๆ ฝึกเขียนโปรแกรมกันตั้งแต่ประถม. 1- 2- 3 แต่เป็นการเขียนคอนเซ็ปต์โคดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) เช่นการเขียนบอกทิศทางลูกศรซ้าย-ขวา กำหนดทิศทางซ้าย-ขวา ที่พาหนูแดงไปเก็บขนมปัง ว่าจะไปทางใดเห็นเส้นทางการเดิน แต่พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มสอนเขียนโปรแกรมโคดดิ้งอย่าง Scratcher /  Make Code /  Micro: bit ต่อมาผมก็เขียนไปขอทุนสนับสนุนหุ่น Lego Mindstorm Ev3 ได้มาทั้งหมด 5 ตัว แต่ว่าต้องเขียนโคดดิ้งแยกอีกต่างหาก ตัวเราและเด็ก ๆ ไปเริ่มเรียนรู้โปรแกรม makecode for EV3 

หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนโปรแกรมที่จะให้สู่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร ตอนนั้นมีโจทย์จากเกมบอร์ดที่ครูแสนสอนเข้ามาพอดี ก็ลองคิดว่า จะเอาบอร์ดเกมไปรวมกับตัวหุ่นยนต์ยังไงที่เด็กเขียนได้ และนำไปผูกโยงเรื่องราวในท้องถิ่นในจังหวัดพิจิตรมีของดีอะไร มีบึงสีไฟ ชาละวัน เหมืองแร่ทองคำอัครา ในหมู่บ้านมีเหมืองมีแร่ยิปซัม แล้วก็ออกแบบการ์ดเกมเพื่อให้เด็กไปเขียนสคริปต์คำสั่ง แล้วก็สรุปผลกันในชั้นเรียน 

สอนให้เด็กเรียนรู้การทำงานเป็นทีม

ตอนแรกที่ออกแบบกิจกรรมตั้งใจให้เด็ก ๆ แค่ทำหน้าที่ของเขาให้ดีให้เชี่ยวชาญ คนเขียนโค้ดก็เขียนไป คนทำการ์ดก็ทำหน้าที่ตัวเองไป ทีนี้เด็กก็สะท้อนมาระหว่างกิจกรรม พอเขาเริ่มเห็นเพื่อนทำก็อยากลองทำบ้าง เขาเห็นทักษะบางอย่างว่าเขาน่าจะทำได้ ก็ให้เด็กลองทำดู ก็เกิดการหมุนเวียนหน้าที่กันภายในทีม กลายเป็นว่าทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองและสามารถทำแทนเพื่อนอีกคนได้ 

รายล้อมด้วยคนสายซัพ (พอร์ต) ที่ทำให้ครูบอนประสบความสำเร็จ

รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับมาครูบอนบอกว่า เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของทุกคน เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัวภรรยาและ ลูก ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเนื้อหาบอร์ดเกม  เพื่อนครูที่ช่วยแสดงความคิดเห็น ช่วยเหลืออุปกรณ์ในด้านต่าง ๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่สนับสนุนทั้งอุปกรณ์ และผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น  ไม่มีคำว่า “ไม่มี ไม่ได้” ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และที่ขาดไม่ได้คือเสียงสะท้อนของนักเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้ครูต้องพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการเรียนรู้ของเด็ก และก้าวให้ทันเทคโนโลยี

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า