“แม้ความมืดจะคลืบคลานเข้ามา เมื่อเธอต้องการเพื่อนช่วยพยุง เมื่อเธอแตกสลายอยู่บนพื้นจะมีผู้ที่หาเธอเจอ” -Dear Evan Hansen (2021)

Share on

 448 

Dear Evan Hansen (2021) เป็นเรื่องราวของ ‘อีวาน แฮนเซน’ เด็กนักเรียนไฮสคูลที่มีอาการวิตกกังวลและหวาดกลัวการเข้าสังคม ส่งผลให้เขาต้องพบกับความโดดเดี่ยวเสมอมา ทำให้การเขียนจดหมายถึงตัวเอง เป็นสิ่งเดียวที่อีวานใช้เป็นเครื่องมือปลอบประโลมจิตใจ จนในวันที่เพื่อนร่วมชั้น ‘คอนเนอร์ เมอร์ฟีย์’ ได้เก็บจดหมายของอีวานกลับไปและเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คอนเนอร์ได้ปลิดชีวิตตัวเองลงจดหมายของอีวานที่คอนเนอร์เก็บไว้ได้ถูกพบ นำไปสู่เรื่องราวการค้นหาตัวตน และก้าวข้ามความโดดเดี่ยวในจิตใจของอีวาน สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Dear Evan Hansen (2021) ได้ทางสตรีมมิ่ง ‘HBO GO’

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการพาเราเข้าไปสำรวจจิตใจตัวละครของอีวาน เด็กชายที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาโดยตลอด เมื่อโอกาสที่เขาได้มีตัวตนในโรงเรียนมาถึงเขาก็ยินดีที่จะรับเอาไว้ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ตาม ไม่เพียงแค่ตัวละครของอีวานทุกคนต่างก็มีความโดดเดี่ยวในจิตใจไม่ต่างกัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดไปได้ ในช่วงเวลาที่แสนโดดเดี่ยวสิ่งที่สำคัญที่สุดคือใครสักคนที่คอยเคียงข้างและรับฟังปัญหา ไม่มีใครสมควรต้อง ‘อยู่อย่างโดดเดี่ยว’ เพราะสำหรับบางคนความโดดเดี่ยวนั้นเจ็บปวดไม่ต่างจากการถูกบุลลี่หรือทำร้ายจิตใจเลยแม้แต่น้อย

ปัญหามากมายที่เด็กนักเรียนต้องเจอ ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครอบครัว ความรุนแรง ยาเสพติด ความเจ็บป่วยทางจิตใจ การบุลลี่ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้นักเรียนบางส่วนไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ‘ระบบช่วยเหลือนักเรียน’ จึงควรที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนที่มีปัญหาต้องได้รับการดูเเลและจัดแจงสถานที่ปลอดภัย บางครั้งเราอาจจะคิดว่าการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าเป็นหน้าที่ของครูแนะแนวและครูฝ่ายปกครอง แต่ความเป็นจริงครูทุกคนสามารถเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สายเกินไป

ความรู้สึก ‘ไร้ค่า’ ‘ไร้ตัวตน’ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เป็นวัยสำคัญของการเรียนรู้และค้นหาตัวตน ทักษะความสามารถของตัวเอง ในวันนี้คุณครูควรใช้สายตามองเด็กทุกคนในห้องเรียนให้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘นักเรียนดีเด่น’ หรือ ‘นักเรียนหลังห้อง’ ก็ไม่สมควรต้องมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทุกคนล้วนมีตัวตนในห้องเรียนและครูคือผู้ที่จะช่วยดึงศักยภาพเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันออกมา เพื่อช่วยให้เด็กได้มีพื้นที่ได้แสดงตัวตน ให้เกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อนละสังคม

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าครูและโรงเรียนมีอิทธิพลต่อเด็กเป็นอย่างมาก เพราะในบางวันเด็กต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงเรียนมากกว่าบ้านเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ครูและโรงเรียนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเเต่เป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า