เรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วย “Learning Box” ที่ออกแบบได้

ความร่วมมือของ กสศ. และ Starfish Labz เพื่อรับมือกับวิกฤต COVID-19 และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้รายบุคคล

Share on

 1,425 

เรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วย “Learning Box” ที่ออกแบบได้

“เราเห็นพัฒนาการของเขาเกิดขึ้น มีการสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เด็กได้ใช้ประโยชน์จริง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีวินัยในตัวเอง”

ครูพิมพ์ วรรณพิศา พฤกษมาศ รร.บ้านป่าเหมือด

การเรียนการสอนในโรงเรียนยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอุปสรรคที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปิดกั้นความใกล้ชิดของครูกับนักเรียน อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้โรงเรียนจำนวนมากต้องปิดการสอนลงชั่วคราวในช่วงกลางปี 2563 และอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นปี 2564 ส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนต้องหยุดชะงัก และยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรการศึกษาต้องรีบหาทางออกคือ “วิธีการเรียนรู้เมื่อนักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนได้” ซึ่งวิธีนั้นต้องเป็นวิธีที่นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมีฐานะครอบครัวแบบใด และเป็นโอกาสดีที่จะหาวิธีการให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง เมื่อต้องอยู่ห่างไกลครูผู้สอน

กล่องเพื่อการเรียนรู้

 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ Starfish Academy ได้ร่วมกันสร้างเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองอีกเครื่องมือหนึ่งในช่วงวิกฤตนี้ ได้แก่ “Learning Box” เป็นกล่องบรรจุเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับนักเรียนแต่ละระดับชั้น ซึ่งมีอุปกรณ์การเรียนพร้อมใบงานให้นักเรียนได้ฝึกทักษะของตนเอง เป็นเครื่องมือสำหรับเสริมการเรียนรู้ในวันที่เด็กต้องหยุดอยู่กับบ้าน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล สัญญาณดาวเทียมเข้าไม่ถึง หรือเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

กสศ. และ Starfish ตั้งใจผลิตกล่องต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ให้สามารถออกแบบกล่องการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ และสอดรับกับสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เพราะผู้บริหารและครูแต่ละโรงเรียนย่อมเข้าใจวิถีชีวิตของนักเรียนได้ดีที่สุด

ใช้ Learning Box เพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ได้จริง

โรงเรียนบ้านดง จ.ลำพูน ถือเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ Learning Box ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 รอบที่ผ่านมา โดยเน้นการเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐาน และเน้นให้นักเรียนทุกคนสามารถฝึกทักษะผ่านกล่องนี้ได้ แม้ว่าแต่ละคนจะมีพื้นฐาน และความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกัน

วันเพ็ญ อินต๊ะขัติย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดง เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ต้องหยุดเรียนเพราะโควิด ทางโรงเรียนได้แจก Learning Box ให้นักเรียนทุกคน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 โดยเน้นเนื้อหา 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ภายใน Learning Box จะประกอบไปด้วย อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา สมุด ดินสอ สี​ ไม้บรรทัด ยางลบ ​แบบฝึกหัดของทางกระทรวง ประยุกต์รวมกับแผ่นใบงาน ที่เคยไปฝึกอบรมกับทาง Starfish Academy  ที่มีหลักการคือ ให้เด็กได้คิดด้วยตัวเองว่าอยากจะหาความรู้เรื่องอะไร แล้วไปหาสาเหตุ กระบวนการ วิธีการค้นคว้า ว่าตนเองค้นคว้าอย่างไร ​มีอุปกรณ์รวม 30-40 ชุด แบ่งออกเป็นช่วงชั้นต่าง ๆ ได้แก่ อนุบาล ป.1-3 และ ป.4-6

ติดตามผล และปรับให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคนได้

หลังจากทางโรงเรียนมอบ Learning Box ให้เด็กแล้ว คุณครูก็ได้ลงพื้นที่ไปช่วยติดตามผล ให้คำแนะนำสัปดาห์ละครั้ง เพราะปัญหาที่โรงเรียนพบคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อ่านเขียนภาษาไทยได้น้อย จึงอาจมีปัญหาในการควบคุมดูแลการเรียนรู้ของลูกหลาน สำหรับการลงพื้นที่ ครูจะรวมกลุ่มเด็กบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 5-6 คน เพื่อมาอธิบายเนื้อหาพร้อมกัน ส่วนบ้านเด็กที่แยกห่างไกลออกไป ครูจะไปเยี่ยมบ้านเป็นรายบุคคล โดยโรงเรียนบ้านดงมีครู 10 คน ดูแลนักเรียนทั้งหมด 197 คน

การติดตามผลจะช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนแต่ละคนเรียนรู้ได้มากน้อยต่างกันแค่ไหน และสามารถออกแบบเนื้อหาสำหรับนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ เด็กบางคนเรียนรู้ไว ก็จะได้ปรับชุดการเรียนเพิ่ม ส่วนเด็กที่เรียนช้าครูก็จะปรับให้ง่ายขึ้นในรอบสัปดาห์ถัดไป​ และในส่วนของ Steam Design Process หรือกระบวนการพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ที่ครูได้สอดแทรกไปใน Learning Box เด็กจะได้กำหนดหัวข้อที่อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ถ้าเด็กอยากรู้เรื่องปลูกลำไย ทอผ้ากระเหรี่ยง ก็จะไปสอบถามจากผู้ปกครอง คนในชุมชนและออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองนอกจากการเรียนในวิชาปกติ

รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง อุดช่องทางพื้นที่ไกลสัญญาณดาวเทียม

“Learning Box ที่นำมาใช้ถือว่าได้ผลดีทีเดียว เพราะในพื้นที่ไม่สามารถเรียนแบบออนแอร์ได้ ผู้ปกครองไม่มีจานดาวเทียมที่บ้าน มีโทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีเงินเติมอินเทอร์เน็ต กล่องนี้ก็ได้เข้าไปช่วยทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ขาดช่วง อาจไม่ได้ผลเท่ากับมาเรียนที่โรงเรียนแต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้า จากการสำรวจกว่า 60% การเรียนรู้ดีขึ้น โดยนอกจากครูที่จะลงไปช่วยดูแลเด็กทุกสัปดาห์แล้ว ในพื้นที่ก็จะมีรุ่นพี่มัธยม ที่หากน้องคนไหนมีปัญหาก็ให้รุ่นพี่ช่วยอธิบายได้”​ ผอ.วันเพ็ญอธิบายเพิ่มเติม

ในการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ โรงเรียนบ้านดงยังเปิดการเรียนการสอนได้ปกติ ​​จึงยังไม่ได้นำ Learning Box มาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยทางโรงเรียนยังคงรักษาความเข้มงวดในการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ติดตามประวัติการเดินทางของนักเรียนผู้ปกครองเพื่อเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน

Learning Box กับการกู้วิกฤตรอบ 2 รร.บ้านป่าเหมือด

ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ โรงเรียนบ้านป่าเหมือด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีคำสั่งให้ต้องปิดเรียนเพราะการระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่ นักเรียนจึงไม่สามารถมาเรียนได้ตามปกติ แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ Learning Box ในการแพร่ระบาดรอบที่แล้ว รอบนี้จึงนำกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งเป็นกล่องเดียวกันกับที่เด็กทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงป.6 ​เคยได้รับ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนใบงานและรายละเอียดกิจกรรมในกล่องใหม่ ให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย

ครูพิมพ์-วรรณพิศา พฤกษมาศ ครูระดับชั้นอนุบาล 3 รร.บ้านป่าเหมือด มองว่า จุดเด่นของ Learning Box ก็คือเด็กจะถือไปเรียนที่ไหน ในห้องเรียน นอกห้องเรียน  ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่พกพาไปได้หมด ช่วงโควิดระบาดปิดเรียนเด็กก็นำไปใช้ที่บ้าน เปิดเรียนก็นำมาใช้ที่โรงเรียน จนรอบใหม่ก็นำกลับไปใช้ที่บ้านได้อีกรอบ  

สำหรับอุปกรณ์ใน Learning Box ​ของนักเรียนบางชั้นจะมีอุปกรณ์อื่นเสริม อย่างของใช้ส่วนตัวเพื่อความปลอดภัยช่วงโควิด​ คู่ไปกับใบงานที่จะบูรณาการวิชาต่าง ๆ ​ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่กำหนด  

ร่วมมือกับผู้ปกครอง พัฒนาการศึกษาของบุตรหลาน

จากการใช้ Learning Box รอบที่แล้ว พบอุปสรรคคือผู้ปกครองจำนวนมากเป็นไทยใหญ่อ่านภาษาไทยไม่ได้ จึงไม่สามารถช่วยดูบุตรหลานให้ทำใบงานได้ รอบนี้ครูพิมพ์จึงเปลี่ยนเป็นการอัดคลิปเสียง และคลิปวีดีโอ ว่าใบงานแต่ละเรื่องต้องทำอย่างไร อยากให้ผู้ปกครองช่วยดูแลตรงไหนบ้าง และส่งผ่านไปทางไลน์กลุ่ม โดยห้องเรียนอนุบาลที่ครูพิมพ์สอนมีนักเรียน 23 คน ผู้ปกครองมีมือถือและอินเตอร์เน็ตใช้ 22 คน ส่วนหนึ่งคนที่ไม่มีก็ให้ผู้ปกครองที่บ้านอยู่ติดกันช่วยประสานงานให้​ วิธีนี้ถือว่าได้ผลดีผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่ารอบก่อน 

“เมื่อเด็กทำเสร็จผู้ปกครองก็จะถ่ายรูปส่งมาในกลุ่มไลน์ ทุกคนก็จะได้เห็นได้เรียนรู้ร่วมกัน มีคอมเมนต์ ให้ฟีดแบ็ก อธิบายเสริม เสร็จแล้วก็รวมเป็นแฟ้มผลงานว่าทำไปถึงระดับไหน เก็บไว้ในระบบ “สตาร์ฟิช คลาส” เมื่อจบเทอมก็จะปริ้นท์เป็นรีพอร์ตออกมาให้ผู้ปกครอง ซึ่งห้องของครูพิมพ์ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมากถึง 90%”

เครื่องมือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และวินัย

ครูพิมพ์เล่าว่าการระบาดของโควิดรอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้มากนัก เพราะมีประสบการณ์แล้ว Learning Box ช่วยให้ห้องเรียนเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเด็ก ๆ จากเดิมที่เคยคิดว่าการเรียนต้องอยู่แต่ในห้อง แต่พอครูได้มาเห็นเขาวาดรูป ออกแบบของเล่น ทำกิจกรรมชุมนุม หรือนอกเวลาเรียน นั่นแสดงว่าเขาสามารถนำ Learning Box ไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอื่นได้  

“เขาสามารถใช้อุปกรณ์ในกล่องไปเพิ่มการเรียนรู้ได้ เราเห็นพัฒนาการของเขาเกิดขึ้น มีการสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เด็กได้ใช้ประโยชน์จริง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีวินัยในตัวเอง จุดสำคัญคือครูที่จะต้องคอยอำนวยความสะดวกให้เขาว่าอยากได้อะไร ทำให้กล่องนี้นำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ เป็น​กล่องที่เสริมการเรียนรู้ได้ทุกที่เวลา อยู่ที่การออกแบบร่วมกันของครูและนักเรียน” ​

ความสำเร็จของ Learning Box เป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเสริมทักษะนอกห้องเรียน หรือเครื่องมือเพื่อรับมือกับสภาวะที่ไม่คาดคิดในอนาคต โดยคณะครูตั้งใจจะพัฒนา Learning Box ไม่ให้หยุดอยู่แค่นี้ และหน่วยงานการศึกษาอย่าง กสศ. และ Starfish ก็ตั้งใจจะผลิตเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เหมาะกับโรงเรียนในพื้นที่ที่แตกต่างกันต่อไป

 1,426 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า