เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้“โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21″

Share on

 519 

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“VASK กับการสร้างนักเรียนเป็นผู้คิดเชิงสร้างสรรค์”

นำเสนอโดย 

เกริกฤทธิ์ สุขสมบูรณ์

โรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม จังหวัดภูเก็ต 

เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

บริบทโรงเรียนวัดลัฏฐิวนารามเป็นจุดเชื่อมต่อที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม เด็กส่วนใหญ่มีทักษะชีวิตดี กล้าแสดงออก ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นทื่ที่เดินทางเข้ามาทำงานในจังหวัดภูเก็ตแต่รายได้ครัวเรีอนนั้นค่อนข้างน้อย

โรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม ได้ตั้งเป้าหมายโรงเรียน School Goal ไว้อยู่ทั้งหมด 4 ด้าน 

  1. นักเรียนรู้จักและจัดการตนเอง
  2. นักเรียนมีพัฒนาการสมวัย มีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการตามเป้าหมายของสถานศึกษา มีทักษะการ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  3. นักเรียนรู้รักสืบสานภูมิปัญญา
  4. นักเรียนมีสุขภาพกายและใจที่ดี

การเข้าร่วมโครงการ TSQP เกิดขึ้นเมื่อ 2563 โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในปีแรก ๆ โรงเรียนวางเป้าหมายให้นักเรียนมีทักษะอาชีพ คิดวิเคราะห์ได้ หลังจากผ่านไปหนึ่งปึมีการปรับเป้าหมายจากคิดวิเคราะห์ไปคิดสร้างสรรค์ และเกิดทักษะของฐานสมรรถนะขึ้นมา 

การสร้างห้องเรียนที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ VASK กับการบรรลุ Course Learning Outcome (CLO) นั้นได้ออกแบบการเรียนรู้ มาตรฐาน ตัวชี้วัด เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ 

สมรรถนะหลัก

1. การจัดการตนเอง

2. การคิดขั้นสูง

4. การรวมพลังทํางานเป็นทีม

6. การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และวิทยาการอย่างยั่งยืน

สมรรถนะเฉพาะ

ตั้งคําถาม สืบค้น วิเคราะห์และสรุปข้อมูล อย่างรอบด้าน ด้วยความเข้าใจอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีผลต่อการดําเนินชีวิต

มาตรฐาน

มาตรฐาน : ส 5.1

เข้าใจลักษณะทางกายภาพของโลกและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งซึ่งมีผลต่อกันใช้แผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการค้นหา วิเคราะห์และสรุปข้อมูลตามกระบวนการทางภูมิศาสตร์ตลอดจนใช้ภูมิสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรฐาน : ส 5.2

เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิถีการดําเนินชีวิต มีจิตสํานึกและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตัวชี้วัด

ส 5.1 ป.5/1 

สืบค้นและอธิบายข้อมูลลักษณะทางกายภาพในภูมิภาคของตนด้วยแผนที่และรูปถ่าย

ส 5.1 ป.5/2

อธิบายลักษณะทางกายภาพที่ส่งผลต่อแหล่งทรัพยากร และสถานที่สําคัญในภูมิภาคของตน

ส 5.2 ป.5/2

วิเคราะห์อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดวิถีการดําเนินชีวิตในภูมิภาคของตน

จุดประสงค์การเรียนรู้ของกิจกรรมพรมแดงชนเผ่า 

ประยุกต์ใช้ นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้

ให้เหตุผล นักเรียนเข้าใจและสามารถให้เหตุผลความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับวิถีการดําเนินชีวิตได้

ใช้เครื่องมือ นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาทางภูมิศาสตร์ได้

รับผิดชอบ  นักเรียนรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนในทีมเพื่อทํางานให้บรรลุเป้าหมายของทีมได้

  ที่มา: สไลด์นำเสนอของเกริกฤิทธิ์ สุขสมบูรณ์ (ผู้นำเสนอ)

แนวคิดในการจัดการดำเนินงานและการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการสองอย่างโดยใช้ฐานการเรียนรู้

– การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน Problem Based Learning 

-การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน Project Based Learning 

โดยใช้พื้นฐานการเรียนรู้แบบปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ Phenomenon Based Learning ที่จากเรียนรู้จากโครงการ TSQP นี้ และส่วนที่ไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองจากหนังสือ Finnish Lessons 2.0: What Can the World Learn from Educational Change in Finland? 

ด้วยเนื้อหาพรมแดงชนเผ่า คุณครูเกริกฤทธิ์ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุมทุกหน่วยการเรียนรู้ของ ป.5 ได้ทั้งหมด โดยการเรียนรู้ทั้งหมดใช้เวลา 12 สัปดาห์ เรียนจบหน่วยของ ป.5 เรื่องภูมิศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 loop การเรียนรู้ 

  1. Problem Based Learning  4 สัปดาห์
  2. Project Based Learning 8 สัปดาห์ 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

  • ทักษะการตั้งคําถาม สืบค้น วิเคราะห์และสรุปข้อมูล
  • เข้าใจลักษณะทางกายภาพของโลกและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง
  • ใช้แผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์
  • เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
  • สืบค้นและอธิบายข้อมูลลักษณะทางกายภาพในภูมิภาคด้วยแผนที่
  • ประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้
  • ให้เหตุผลในเชิงภูมิศาสตร์เกิดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
  • นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียน
  • ตระหนักรู้ เข้าใจ ถึงความแตกต่าง
  • จัดการตนเอง ดูแลกํากับตนเอง

ปัจจัยความสําเร็จ

• การบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก

• ศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก

• ใช้เครื่องมือ Sociometry จัดกลุ่ม

• ครูเป็น Facilitator

• การประเมินเพื่อการเรียนรู้ Assessment for Learning

• Small AAR ทุกคาบ

• PLC

• ครูและนักเรียนเกิดวิถีการเรียนรู้

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“VASK กับการสร้างนักเรียนเป็นผู้คิดเชิงสร้างสรรค์”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN1l__Dgkr/

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“Q-INFO สู่ห้องเรียน”

นำเสนอโดย 

พัชรินทร์ พรมจันทร์  และ กัญรดา นายะโส 

โรงเรียนเทศบาลจอมทอง 1 (ชุมชนบ้านข่วงเปาเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่  

เครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต

ทำไมต้องทำ 

ในช่วงที่เกิดภาวะโควิด – 19  เด็กออกจากระบบการศึกษา ส่วนเด็กที่ยังอยู่ในระบบเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้  การเรียนออนไลน์เด็กเข้าไม่ครบตามจำนวนแค่ประมาณ 50-60% ต่อห้องเท่านั้น ความจำกัดด้านเทคโนโลยีที่บางบ้านไม่เอื้อให้เด็กใช้งาน บางบ้านเด็กก็อยู่กับปู่ย่าตายายที่ไม่สามารถดูแลเด็กให้เข้าเรียน online ได้ ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่เต็มศักยภาพเท่ากับเรียนที่โรงเรียน

พอผลการเรียกออกก็ดูรายงานกลุ่มเสี่ยงพบว่ามีอัตราผลการเรียนตอนสิ้นปีการศึกษาก็พบว่าอัตราเกรดเฉลี่ยของเด็กที่ต่ำว่า 2.00 เกิดขึ้น  อัตราการไม่มาเรียนสูงและขาดเรียนบ่อย  นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาภาวะโภชนาการ เด็กเรียนอยู่บ้าน กินแต่ขนมขบเคี้ยว  ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้วิ่งเล่นทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินรูปร่างอ้วนขึ้น 

ทางตัวคุณครูเห็นความสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นจึงได้จัดทำ Google Map ดูแลโดยใช้กระบวนการวงจรบริหารงานคุณภาพ Plan-Do-Check-Act (PDCA) ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC ที่ดำเนินกิจกรรมกันทุกสัปดาห์ 

เมื่อทำ google map สิ่งที่ได้จะได้แผนที่บ้านของเด็กนักเรียน เพื่อแก้ปัญหาของครูพัชรินทร์ (ครูอ้อ) เอง เพราะว่าครูอ้อไม่ใช่คนในพื้นที่ ไม่ค่อยรู้จักชุมชนในโรงเรียนที่สอนอยู่เท่าไหร่ จึงนำ google map ที่ปักหมุด นำมาวางแผนการเยี่ยมบ้านเด็ก ปักหมุดแผนที่บ้านของเด็กเพื่อทำให้การเยี่ยมบ้านและจัดทำข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ทำให้โรงเรียนได้ฐานข้อมูลวางแผนออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้ได้เส้นทางที่ได้ประโยชน์สูงสุด 

นอกจากจะมีแผนที่บ้านเด็กแล้วในระบบ Q-INFO ยังมีข้อมูลสำคัญที่ช่วยออกแบบการช่วยเหลือเด็กได้ด้วย เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ผลการเรียน รวมถึงรายได้ของผู้ปกครองที่อยู่ระหว่าง 3,000 -10,000 ข้อมูลตรงนี้ทำให้โรงเรียนเกิดการวางแผนการพัฒนาโรงเรียน ที่เรื่องที่ผู้ปกครองเด็กไม่สามารถสนับสนุนในบางรายการ กลายเป็นต้นเรื่องที่จะนำมาของบต้นสังกัดได้อย่างไรบ้าง โดยครอบครัวเด็กที่มีปัญหาเรื่องรายได้อยู่ที่ 3,000 ใช้ฐานข้อมูลเพื่อพิจารณาเด็กเข้ารับทุนโรงเรียนก็จะจัดหาทุนการศึกษาให้เด็กจากแหล่งต่าง ๆ 

  • หน่วยงานต้นสังกัด เทศบาลตำบล
  • ผู้ใหญ่ใจที่สนับสนุนทุนการศึกษา อปท. ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน
  • ทุนเสมอภาค กสศ.

ส่วนปัญหาอาชีพของผู้ปกครอง รายได้ไม่พอที่จะสนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนออนไลน์ ไหนจะไม่มีเวลาดูแล เพราะว่าพ่อกับแม่ไปรับจ้างทำงานนอกบ้าน ทิ้งเด็กให้อยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย 

ในฐานข้อมูล Q INFO พบว่าผู้ปกครองเด็ก 6 คน ไม่มีรายได้ ไม่ประกอบอาชีพ  ทางโรงเรียนก็จัดการหาโครงการสนับสนุนปราชญ์ชาวบ้านสู่ห้องเรียน มาสอนวิชาชีพแก่ผู้ปกครองเพื่อให้นำไปต่อยอดเสริมอาชีพรายได้ด้วย

อีกปัญหาสำคัญเรื่อง ทุโภชนาการ เด็กน้ำหนัก ส่วนสูง ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ทางโรงเรียนก็จัดเมนูอาหารกลางวัน ประชาสัมพันธ์ห้องเรียน line กลุ่มห้องเรียน นม อาหารเสริม กลางวัน ให้ผู้ปกครองรับทราบว่าทางโรงเรียนกำลังดูแลเรื่องนี้

ข้อมูล midmap ทางวิชาการจาก Q-INFO ช่วยโรงเรียนในเรื่องความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็ก นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ใช้การสังเกต คัดกรองเด็ก ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาพิเศษเขต 8 ให้มีการอบรมจัดการเรียนรู้ คัดกรอง สอนเสริมเด็กพิเศษ ทำงานประสานกัน ได้รับการสนับสนุนให้ทางเทศบาลจัดการอบรม เพื่อให้ครูมีความรู้เพื่อคัดกรองเด็กได้ 

หลังจากที่คุณครูได้รับการอบรมต่าง ๆ ก็ทำงานออกแบบหลักสูตร การศึกษาพิเศษเรียนรวม นำมาสู่การพัฒนานักเรียน ทำแผนการสอนเฉพาะบุคคล Individualized Education Plan (IEP) จัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่มีความบกพร่องต่าง ๆ ที่พบ 

คุณครู พัชรินทร์ (ครูอ้อ) และ กัญรดา (ครูนาย) ได้เล่าเสริมต่อไปว่า

โรงเรียนมีเด็กความต้องการหลากหลาย ทั้งเด็กที่มีความบกพร่อง มีเด็กเก่ง เด็กอ่อน เด็กปานกลาง ก็สร้างวัฒนธรรมให้เด็กช่วยเหลือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ส่วนครูก็สอนเสริมหลังเลิกเรียนให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษช่วงเย็น หรือช่วงเวลาว่าง 

เด็กปานกลางที่ไม่ค่อยเรียนรู้ และแก้ปัญหาเด็กที่มีความบกพร่อง โดยใช้การมองหาจุดแข็งของเด็กว่ามีความสามารถอะไร พัฒนาต่อมีความสามารถในการวาดภาพระบายสี ให้งานแตกต่างจากเพื่อน แล้วก็ออกแบบการประเมินผลเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

ซึ่งครู พัชรินทร์ (ครูอ้อ) และ กัญรดา (ครูนาย) ได้เล่าให้ทางทีม I AM KRU. ฟังถึงผลสำเร็จของการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้สำเร็จ จากการค้นหาความสามารถของเด็กที่มีอยู่ ก็พบว่าเด็กคนนี้มีทักษะการวาดภาพ และมีจินตนาการสูงคิดในสิ่งที่แตกต่างจากเพื่อน จากนั้นก็ทำขั้นตอนต่อไปให้เพื่อนในกลุ่มเกิดการยอมรับความสามารถของเด็กคนนี้ ให้ทำความร่วมกันและยอมรับกัน ภายหลังเด็กคนนี้ก็เป็นดาวเด่นของห้อง กลายเป็นเด็กที่เพื่อน ๆ ต้องการคนมีฝีมือวาดภาพก็จึงดึงตัวเด็กคนนี้ไปร่วมกลุ่ม 

สามารถเข้าชมกระบวนการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กต้องการพิเศษที่คุณครูทั้งสองเล่าถึงได้ที่

นอกจาก  Q-INFO จะช่วยจัดการเรียนพิเศษ การประเมินผลที่แตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ได้  อีกปัญหาหนึ่งที่ต้อง ดำเนินการคือจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน เด็กที่ชอบการเรียนรู้ แอคทีฟ งานที่มอบหมาย การบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเก่ง  สนใจในการเรียนรู้  แล้วส่วนเด็กที่อยู่หลังห้องไม่ค่อยกระตือรือร้น จะทำอย่างไรดี คุณครูต้องออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ให้มีงานกิจกรรมที่หลากหลาย ต้องไปสังเกตผู้เรียน มีความสนใจเรื่องอะไรบ้าง เพื่อดึงศักยภาพเด็กออกมาให้ได้

ก็จัดกระบวนการPLC ร่วมกันก็ได้ออกมาเป็นการ์ดรวมพลังนินจาเต่า เด็ก ๆ เข้าถึงง่ายเพราะว่าการ์ตูนเป็นสิ่งที่เด็กชอบแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนว่าใครทำอะไรบ้าง กลายเป็นว่าเด็ก ๆ ชอบเล่นการ์ด มาเสริมแรงทางบวก การ์ดพลังนินจาเต่าเพิ่มพลังบวกให้กับเด็ก 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและโครงการในอนาคต

การแข่งขันทักษะวิชาการ เด็กเก่ง มีให้เลือกไปแข่งขันได้เยอะมากขึ้น ความสามารถอื่น ๆ เช่นดนตรี ดนตรีพื้นเมือง การแสดง การฟ้องรำ ที่เด็กมีความสามารถ อนาคตที่จะทำเรื่อง Q-INFO กับ google map ปราชญ์ชาวบ้าน ดนตรี การทำอาหาร ให้เด็ก ๆ ที่มีความสนใจเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น 

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“Q-INFO”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN1l__Dgkr/

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียน โดยใช้การศึกษาชั้นเรียนแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated Open Approach : TLSOA)”

นำเสนอโดย 

จิดาภา จันทร์เพ็ง 

โรงเรียนบ้านโคกสีวิทยาเสริม จังหวัดขอนแก่น

เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น

บริบทและปัญหา

เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครูครบชั้นเรียน นักเรียนส่วนมากอาศัยอยู่กับตายาย พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดนักเรียนเรียนรู้จากการท่องจำและทำแบบฝึกหัด ตอบตามตำรา เด็กขาดการพัฒนาตนเองในการจัดการเรียนรู้ นักเรียนขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง ส่วนคุณครูก็จัดการเรียนการสอนไปตามแบบเดิม ไม่ได้คำนึงถึงว่าผู้เรียนจะต้องเกิดกระบวนการคิด หรือในระหว่างที่แก้ปัญหา จะดูแค่ว่าตอบถูกหรือผิด ไม่สนใจที่กระบวนการคิดเพื่อให้ได้คำตอบ 

ปัญหานี้จะแก้ได้ต้องเริ่มจากการสร้างทีมศึกษาชั้นเรียน แต่กลับเป็นปัญหาที่ยากอยู่พอสมควร เพราะครูแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่การสอนแต่ละคนแน่นอยู่แล้ว และงานนอกการสอนอีก และคุณครูบางท่านก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการศึกษาชั้นเรียนจะเป็นอย่างไร จะช่วยหรือเพิ่มภาระครู 

ครูจิดาภา เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้คำถามปลายเปิดเข้าไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เอามาจากหนังสือเรียนญี่ปุ่น เอามาปรับให้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาของเรา เปลี่ยนการหาคำตอบ มาดูที่กระบวนการว่าทำอย่างไรถึงได้คำตอบ  เปลี่ยนจากเด็กนั่งเรียน ให้กลายเป็นคนเล่าวิธีคิดให้ครูและเพื่อน ๆ ฟัง  จนเพื่อนครูข้างห้องเริ่มสนใจวิธีการเรียนของเด็กที่แตกต่างไปจากเดิม จากนั้นก็เริ่มชักชวนเพื่อนครูเข้าร่วมทีมการศึกษาชั้นเรียน โดยใช้กระบวนการ 3 ขั้นตอน 

ขั้นที่ 1

การสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน

(Collaboratively Plan) ทีมการศึกษาชั้นเรียนเตรียมโจทย์หรือสถานการณ์ปัญหา บริบท+เงื่อนไข

พัฒนาจากหนังสือเรียนญี่ปุ่นรวมทั้งออกแบบสื่อหรืออุปกรณ์ คาดการณ์การมีปัญหาเป็นของตนเองของนักเรียน และแนวคิดทางคณิตศาสตร์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน

ขั้นที่ 2

การสังเกตการสอนร่วมกัน (Collaboratively Do)

ทีมการศึกษาชั้นเรียนร่วมกันสังเกตการสอนในชั้นเรียนมีที่ใช้วิธีการแบบเปิด ให้ความสำคัญ

กับกระบวนการคิดของนักเรียน สังเกตและบันทึกวิธีการคิดที่นักเรียน นำมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่าง

ใกล้ชิด โดยไม่เน้นการพิจารณาความสามารถในการสอนของครูในการจัดการชั้นเรียน

ขั้นที่ 3

การสะท้อนผลบทเรียนร่วมกัน (Collaboratively See)

ทีมการศึกษาชั้นเรียนร่วมกันสะท้อนผล การมีส่วนร่วมของนักเรียนกับสถานการณ์ปัญหาแล้วมีปัญหาเป็นของตนเอง และแนวทางคิดคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เกิดจากการแก้ปัญหา เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ ปัญหา รวมทั้งสะท้อนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอเพื่อนำมาพัฒนาการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมถัดไป

ผลลัพธ์
นักเรียน– มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา – อยากรู้อยากเห็นสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย- เกิดการพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้น- นำแนวคิดมาแก้ไขปัญหาเป็น- ชื่นชมแนวคิดการแก้ปัญหาผู้อื่น- ยอมรับความแตกต่างของเพื่อนครู– มีทีมในการทำงาน- เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน- มีการพัฒนาการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง- เข้าใจแนวคิดนักเรียนมากขึ้น

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของผู้เรียนโดยใช้การศึกษาชั้นเรียนแบบเปิด

(Thailand Lesson Study incorporated Open Approach : TLSOA)”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN1l__Dgkr/

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“ห้องเรียนคณิตศาสตร์ Pro-Active”

นำเสนอโดย 

ว่าที่ ร.ต.หญิง ณัฐวดี ทองขาว

โรงเรียนบ้านหนองขาม จังหวัดนครปฐม

เครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒน

ร.ต.หญิง ณัฐวดี ได้แนะนำว่าโรงเรียนบ้านหนองขาม เป็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโดยใช้นวัตกรรมในการเรียนการสอน 

  1. จิตศึกษา เพื่อพัฒนาปัญญาภายใน 
  2. Problem-based Learning เพื่อพัฒนาปัญญาภายนอก 
  3. PLC เพื่อพัฒนาองค์กร ในวง PLC ทุกคนเท่ากัน 
  4. Q INFO ลดภาระงานครู

รูปแบบการใช้นวัตกรรมเริ่มต้นจากตั้งแต่ชั้นอนุบาลเน้นการพัฒนาการในด้าน

  • การพัฒนาการเรียนรู้
  • Self ในด้านต่าง ๆ 
  • การฝึกทักษะสมองส่วนหน้า Executive Functions

ชั้นประถมเน้นในการพัฒนาด้านปัญญาทั้งภายในและภายนอก 

ปัญญาภายใน (จิตศึกษา)

ตั้งแต่ระดับ ต้น กลาง สูง ที่มุ่งเน้นให้เด็กส่องกระจกให้รู้จักตนเอง มีจิตที่ใหญ่ (ใจที่เปิดกว้างมอบความรักให้ทุกอย่าง) 

  • รู้ตัว สติชำนาญ รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง 
  • ตระหนักในตน กำกับความเพียรให้สำเร็จ
  • ตัดสินใจเชิงจริยธรรม เพื่อพัฒนาคุณลักษณะด้านการเรียนรู้ และด้านจริยธรรม 
  • เชื่อมสรรพสิ่ง 
  • จิตวิทยาเชิงบวก ลดการเปรียบเทียบ คำพูดด้านลบ 
  • กิจกรรมสนามพลังบวก

ปัญญาภายนอก (PBL) 

  • ทักษะหลัก (Core Literacy)
  • วิชาหลัก (Core Subject)
  • ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 

การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุดโดยเน้นเรื่องความปลอดภัยอย่างรอบด้าน 

ความปลอดภัยทางกาย 

  • สภาพแวดล้อม สะอาด สงบ ร่มรื่น 
  • วิถีวัฒนธรรม ที่สอดแทรก จิตศึกษา PLC AAR PBL ลงในคาบการเรียนช่วงต่าง ๆ ตลอดทั้งวันทั้งครูและนักเรียน
  • อาหาร สะอาด ครบ 5 หมู่ ไม่มีขนมขายในโรงเรียน
  • ลดการกลั่นแกล้ง (Bully) ในจิตศึกษาให้เห็นถึงผลกระทบและให้เด็กสะท้อนออกมา
  • ครอบงำ เด็กด้วยการเป็นคุณครูที่ดี เป็นนักตั้งคำถามให้เด็กเกิดการเรียนรู้ 

ความปลอดภัยทางใจ 

  • ลดการตัดสิน ไม่มีลำดับว่าใครสอบได้ที่เท่าไหร่ เปรียบเทียบ ทำโทษ ยัดเยียด และใช้คำพูดด้านลบกับเด็กนักเรียน
  • จิตวิทยาเชิงบวก 
  • เพิ่มความเชื่อมั่นใจในตนเอง มีตัวตนในโรงเรียน (Self Esteem) เสริมสร้างพลัง (Empower) กอดให้ความรัก

ความปลอดภัยทางจิตวิญญาณ

  • ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม 

การเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบ Pro-Active 

  1. Check in 

– เล่นเกมการคิด

– เรื่องเล่านำเรื่อง

– ทบทวนเนื้อหา 

  1. ขั้นสอน ชง เชื่อม ใช้ 

ชง – คิดจากโจทย์ สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

เชื่อม – คิดปัญหาด้วยตนเองคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองร่วมกัน ใช้สื่อรูปธรรม / ใช้สื่อกึ่งรูปธรรม (ภาพ) / ใช้สัญลักษณ์ เอาปัญหามาแชร์กันในวง

ใช้ – ให้โจทย์ในสถานการณ์ใหม่ใกล้เคียงสิ่งที่เป็นอยู่ ให้แก้ปัญหา

  1. ขั้นสรุป จดบันทึกความเข้าใจที่ได้เรียนรู้ สร้างข้อสรุปว่ามีหลักการหรือวิธีการอย่างไร

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“ห้องเรียนคณิตศาสตร์ Pro-Active”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN7KT0rL4O/

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“เรื่องเล่าจากเด็กชาวเล ‘ไม่รู้สา แต่รู้สึก’
การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยโครงงานฐานวิจัย”

นำเสนอโดย

มารีสา บินรัตแก้ว

โรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา จ.สงขลา

เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คุณครูมารีสาเล่าให้ฟังถึงบริบทโรงเรียนของคนชาวเลเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของคนในพื้นที่ที่ต้องพูดกันเสียงดัง เพื่อสู้กับลมทะเล ซึ่งคนที่ไม่คุ้นชินมักจะคิดว่ากำลังทะเลาะกัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นธรรมชาติการพูดคุยเป็นปกติ การเรียนการสอน

ปัญหาที่คุณครูพบในห้องคือนักเรียนชอบฉีกกระดาษโดยเฉพาะกระดาษที่ยังไม่ได้ใช้ นำมาพับเครื่องบินปา รถถังใส่กัน บรรยากาศไม่ใช่ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ แถมยังนำกระดาษมาใช้อย่างไม่รู้คุณค่าและสร้างขยะจำนวนมาก เพราะสมุดที่เด็ก ๆ ใช้นั้นเป็นสิ่งที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุนการศึกษาของโรงเรียน จะทำอย่างไรให้เด็กรู้คุณค่าว่ากระดาษหนึ่งแผ่นกว่าจะได้มาต้องเกิดกระบวนการอย่างไรบ้าง เสียต้นไม้ไปเท่าไหร่ คุณครูมารีสาจึงคิดเรื่องการจัดการการเรียนรู้ Active Learning ด้วยโครงงานฐานวิจัย เรื่องการทำกระดาษขึ้นมาในห้องเรียน 

“กระดาษหน่ะ มันจะทำยากกันแค่ไหนกันนะคุณครู” คำถามที่เด็กสงสัยกับกระดาษที่พวกเขาใช้อย่างไม่รู้คุณค่า เป็นจุดเริ่มต้น  ‘ไม่รู้สา แต่รู้สึก’ ที่ให้เด็ก ๆ ทดลองทำกระดาษด้วยตนเอง คุณครูมารีสาก็พาเด็กเข้าสู่กระบวนการโครงงานฐานวิจัยทันที 

เริ่มต้นด้วยให้เด็กไปลองศึกษา

  • นักเรียนศึกษาวิธีการ 

ผ่านจาก Youtube เพื่อศึกษาการทำกระดาษในรูปแบบต่าง ๆ แล้วก็ได้วิธีการที่จะทำกระดาษสา

  • ครูวางเงื่อนไข

ห้ามนักเรียนผสมกระดาษที่มีอยู่แล้วลงไปเพื่อทำกระดาษสา ห้ามใช้โซดาไฟ ให้นักเรียนไปหาวัสดุที่ผลิตกระดาษได้ตามเงื่อนไขที่คุณครูกำหนด 

  • นักเรียนนำเสนอไอเดีย เงื่อนไขคือข้อจำกัดเพื่อหาทางแก้ปัญหา เด็กหาวัสดุตามธรรมชาติที่ค้นพบได้ในท้องถิ่น ต้นกล้วย เปลือกไข่ ใบไม้แห้ง ก้านมะละกอ เป็นต้น 
  • ลงมือทำ

เด็ก ๆ ก็นำวิธีการศึกษาที่ได้จาก Youtube ประยุกต์เข้ากับสิ่งที่คุณครูวางเงื่อนไขให้ แล้วทดลองทำในแบบของตัวเองเอง

  • ผลลัพธ์  ล้มเหลว 1,2,3

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นครั้งที่ 1 2 และ 3 ยังไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทดลองทำตามกระบวนการพร้อมทดลองเปลี่ยนวัสดุและวิธีการไปเรื่อย ๆ เด็กเกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการและเงื่อนไขที่ครูวางไว้ ว่าถ้าเงื่อนไขที่ ไม่ใส่กระดาษ และไม่ใส่โซดาไฟ ไม่สามารถทำกระดาษได้ ครูและนักเรียนจึงเกิดการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน ลด-เพิ่ม เงื่อนไข และค้นหาวิธีการร่วมกันที่จะทำให้โครงงานเกิดผลได้

  • เปลี่ยนวิธีการ “สำเร็จผล” 

เมื่อทดลองและสังเกตผลแล้ว ไม่นานเด็กนักเรียนก็ค้นพบวิธีการผลิตกระดาษสา

ข้อค้นพบที่นักเรียนได้จากกระบวนการทำกระดาษสา “ก้านมะละกอ มีเส้นใยและยางที่เหมาะสมกับการทำกระดาษสา” 

เมื่อสรุปผลการทำกระดาษสา ได้ข้อค้นพบที่ครูและนักเรียนเกิดขึ้นร่วมกัน คือสิ่งที่เรียกว่า “บทเรียน” ลองผิดลองถูก ค้นหา สังเกต สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำโครงงานที่คุณครูและนักเรียนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง mindset ในการทำงานเป็นทีม ให้กำลังใจ ร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

คุณครูมารีสาปัจจุบันเด็ก ๆ กลุ่มนี้บอกว่าเลิกฉีกกระดาษเล่นแล้ว เพราะเขาได้เห็นว่ากระดาษแต่ละแผ่นกว่าจะได้มานั้นมีขึ้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลา

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“เรื่องเล่าจากเด็กชาวเล ‘ไม่รู้สา แต่รู้สึก’ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยโครงงานฐานวิจัย”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN7KT0rL4O/

การจัดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
“นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ”

นำเสนอโดย

จันทนา วงษ์จีน

โรงเรียนวัดใหม่ดงสัก จังหวัดกาญจนบุรี

เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

เครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต

บริบทโรงเรียน 

โรงเรียนวัดใหม่ดงสัก เคยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับรางวัล “โรงเรียนขนาดเล็กที่มี วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ระดับประเทศ” ในปี 2558 จากนวัตกรรม ความสุขเล็ก ๆ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ : 7 Happy to Happiness for All และได้ก้าวเข้าสู่การเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เมื่อปี 2559 

วิสัยทัศน์ของโรงเรียนวัดใหม่ดงสัก 

“โรงเรียนแห่งนวัตกรรม เป็นผู้นำด้านวิชาการ ครู คือนวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานความร่วมมือ”

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ 

คุณจันทนา เล่าให้ฟังถึงปัญหาของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษส่วนหนึ่ง คือ เด็กนักเรียนมีคติเชิงลบ ไม่ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเกิดความรู้สึกปิดกั้นทำให้เกิดอุปสรรคในการสอนวิชาภาษาอังกฤษ และอีกหนึ่งปัญหาคือปัญหาการสอนวิชาภาษาอังกฤษทั้งทักษะความรู้ของคุณครู และด้านสื่อการสอน ไม่กระตุ้น การเรียนรู้ของเด็ก ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ ไม่เห็นความสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษ และอีกปัญหาคือเป็นภาษาที่ไม่ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการหาแนวทางแก้ไขเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบ ทำให้คิดค้นสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ “6 Ways to English skill 6 แนวทางสร้างทักษะภาษาอังกฤษ” ที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีเจตคติเชิงบวกต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

ซึ่งประกอบไปด้วย 6 แนวทางสร้างทักษะดังนี้ 

  1. Phonics (รู้จักเสียงตัวอักษร)

เป็นวิธีการสอนอ่านภาษาอังกฤษด้วยการเชื่อมโยงหน่วยเสียงเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้เรียนสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้เอง ซึ่งผู้เรียนจะต้องเข้าใจเสียงของตัวอักษรต่าง ๆ โดยเริ่มจากสอนให้รู้จัก A – Z สอนให้รู้ว่าเขียนอย่างไร ตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็กเขียนอย่างไร หลังจากนั้นให้ผู้เรียนดูตัวอักษรแล้วอ่านออกเสียงตัวอักษรแต่ละตัว เรียกว่าการถอดรหัสเสียง

  1. Blend Sound (สอนผสมเสียง)

ครูจะสอนการผสมเสียงตัวอักษรให้เป็นคำ โดยผู้เรียนจะต้องฝึกผสมเสียงพยัญชนะ สระต่าง ๆ ที่หลากหลายจนคล่องแคล่วโดยใช้หลักโฟนิกส์แม้ว่าในช่วงแรกการเรียนแบบโฟนิกส์จะดูช้ากว่าการเรียนแบบท่องจำมาก เพราะผู้เรียนต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจเสียงและหลักการผสมคำจากง่ายไปยาก ต้องฝึกช้า ๆ เพื่อให้จำได้ แต่วิธีนี้เป็นวิธีการสอนที่ทำให้ผู้เรียนอ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้เองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

  1. Vocabulary (พร้อมเพรียงคำศัพท์)

เป็นการเติมคลังคำศัพท์รอบ ๆ ตัวให้ผู้เรียน การสอนคำศัพท์จากภาพ ชี้ภาพสิ่งของพร้อมพูดศัพท์ให้ฟัง หรือแสดงท่าทางให้ผู้เรียนดู จะทำให้ผู้เรียน เรียนรู้และเข้าใจความหมายของคำศัพท์จากการเห็นภาพ หรือจินตนาการจากท่าทาง มากกว่าการท่องจำแต่คำศัพท์อย่างเดียว

  1. Grammar (ปรับใช้แกรมม่า)

เป็นการเปลี่ยนวิธีการสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้และเข้าใจแกรมม่าผ่านกิจกรรมการสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยการให้พูดประโยคนั้น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจรูปประโยค ความหมาย และการใช้แกรมม่าในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องแทนการท่องจำ

  1. Conversation (สนทนามั่นใจ)

เป็นการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจรูปประโยค เข้าใจความหมาย และให้เรียนรู้ว่าการสนทนาในชีวิตประจำวัน เราไม่จำเป็นจะต้องแปลคำต่อคำ แต่เราสามารถใช้ความหมายหลัก ๆ ที่ต้องการสื่อสารก็เพียงพอ เพื่อการสนทนาได้อย่างมั่นใจ

  1. Communication (กล้าใช้ภาษาอังกฤษ)

ในชั่วโมงของวิชาภาษาอังกฤษ ครูตั้งกติกาให้นักเรียนทุกคนสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนกล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ หรืออาจจะสร้างกิจกรรมสมมติง่าย ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้การนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านั้น

ผลการดำเนินงาน/ประโยชน์ที่ได้รับของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

  • เข้าใจเสียงตัวอักษรสามารถผสมเสียงตัวอักษรออกมาเป็นคำได้ และสามารถพูดสื่อสารด้วย ประโยคง่าย ๆ ได้
  •  มีเจตคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้นกล้าพูดภาษาอังกฤษในห้องเรียนและสามารถพูดภาษาอังกฤษง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันได้
  • มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรายวิชา ภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น และส่งผลให้มีนักเรียนสอบระดับชาติ O-NET ได้คะแนนสูง กว่า 90 คะแนน

รับชมบันทึกการถ่ายทอดสด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” 

“นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ”

ฉบับเต็มได้ที่ 

https://fb.watch/lN7KT0rL4O/

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า