อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง: นักเรียนตัวอย่างที่ปั้นแต่งขึ้นจากระบบที่ล้มเหลว

Share on

 59 


“ก็โครงสร้างประเทศนี้มันเอื้อให้มีไง”

ภาพยนตร์เรื่อง อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง เป็นผู้กำกับชาวไทย สรยศ ประภาพันธ์ ที่ต้องการจะสะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย ผ่าน อานน (กรดนัย มาร์ค เด๊าท์เซมเบิร์ก) นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ผู้โดดเด่นในเรื่องเรียนและสามารถชนะการแข่งขันวิชาการระดับชาติ เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของโรงเรียน แต่ตัวของอานนก็ไม่ได้ชื่นชอบในกฎระเบียบของโรงเรียน และมักจะมีปัญหากับครูอยู่เสมอ แต่แล้วอานนกลับได้เข้าไปรับรู้ถึงความดำมืดในแวดวงธุรกิจการศึกษาทำให้เขาต้องเลือกว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ล้มเหลวหรือไม่ สามารถรับชมได้แล้ววันนี้ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix

ภาพยนตร์ตลกร้ายเรื่องนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเท่าไหร่ เพราะสัดส่วนของมันไม่ได้เน้นไปที่ความบันเทิง แต่เน้นหนักไปที่การเสียดสี และ เย้ยหยัน ความเป็น “ไทย” ที่แฝงอยู่ในการดำเนินเรื่องตลอดเวลา ตัวละครอย่างอานนท์จะพาเราเข้าไปสำรวจโรงเรียนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง กลโกง ความรุนแรง ปัญหาที่แสนจะคุ้นเคยในระบบการศึกษา มีตั้งแต่ปัญหาภายในห้องเรียน จนไปถึงปัญหาระดับชาติในเรื่องของระบบการศึกษา ที่อาจเป็นเพียงผักชีโรยหน้าให้ดูดี แต่ข้างในกับกลวงโบ๋ ทำให้ตัวละครนักเรียนและครูภายในเรื่องดูจะมีคำถามอยู่เสมอ ต่อระบบการศึกษาที่เหมือนจะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน แต่เอื้อผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่มแทน

แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะให้น้ำหนักในเรื่องของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา แต่ก็ไม่ได้พูดถึงต้นสายปลายเหตุหรือที่มาที่ไปเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นประโยคสนทนาระหว่าง อานนท์ และ บี เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา อานนท์สงสัยว่าทำไมธุรกิจสีเทาที่เข้ามาหากินกับระบบการศึกษาถึงมีเยอะขนาดนี้ บีจึงตอบกลับคำถามของอานนท์ไปว่า “ก็โครงสร้างประเทศนี้มันเอื้อให้มีไง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องของระบบที่ทำให้ธุรกิจโกงข้อสอบ ยัดเงินใต้โต๊ะ เด็กเส้น เราสามารถเห็นปัญหาเหล่านี้ได้ตลอดเวลาทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์และด้วยตาของตัวเราเองราวกับเป็นเรื่องปกติ ผลประโยชน์ไม่ได้ตกลงสู่นักเรียนทั่วไป แต่เอื้อให้ ผอ.โรงเรียนบางคน โรงเรียนกวดวิชา ผู้ปกครองและนักเรียนที่มีฐานะร่ำรวย แน่นอนสุดท้ายแล้วช่องว่างของความเหลื่อมล้ำก็ขยายกว้างขึ้น จนนักเรียนที่มีฐานะปานกลางไปจนถึงระดับล่างกำลังจะไม่มีที่ยืนอยู่ในระบบการศึกษา

.

นอกจากปัญหาของ “โครงสร้าง” อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงควบคู่กันคือ “การเมือง” ซึ่งภาพยนตร์กำลังแสดงให้เห็นภาพขนาดย่อของสังคม เมื่อนักเรียนเกิดการตื่นรู้ในเรื่องสิทธิและความเสมอภาค และเข้าใจได้ว่าระบบหรือกฎของโรงเรียนกำลังกดทับความคิดของตัวเองอยู่ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านทางความคิดจนบานปลายไปสู่การจับกลุ่มกันประท้วงของนักเรียน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบ แต่ปัญหานั้นได้ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างและผู้อำนาจ(ของ ผอ.) ก็เลือกที่จะเพิกเฉยเพราะได้รับผลประโยชน์จากระบบที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ความตลกร้ายก็คือการที่เรามองเห็นปัญหาอยู่แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทำได้เพียงรอให้ปัญหาเหล่านั้นหายจางหายไปพร้อมกับชุดความคิดเดิมที่ฝังรากอยู่ในระบบ

นอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้ว ปัญหาเรื่องความรุนแรงอย่าง “ครูตีนักเรียน” โดยเชื่อมโยงไปถึงการที่ระบบเอื้อให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ โดยความรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผลจะนำไปสู่การต่อต้านของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมซึ่งมองเห็นว่าการลงโทษไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาแต่เป็นเพียงข้ออ้างในการควบคุมโดยใช้ความรุนแรงสร้างความกลัว ซึ่งในความเป็นจริงกฎระเบียบเป็นสิ่งที่พึงมีในระบบที่คนหมู่มากอยู่ร่วมกัน แต่กฎเหล่านั้นไม่สมควรเอื้อผลประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษก็เท่านั้น แต่บางทีมันอาจจะยังมีบางสิ่งที่ครูสามารถทำได้อยู่ คือการช่วยกันพยายามอุดรอยรั่วของระบบด้วยตัวของเราเอง โดยเริ่มจากหยุดความคิดที่ว่า “ต่อให้เราไม่ทำคนอื่นก็ทำอยู่ดี” เพราะสุดท้ายความคิดนี้ก็เป็นเพียงการหาความชอบธรรมให้กับตัวเราเองในการตัดสินใจเอาเปรียบผู้อื่น

                                          

#iamkru #สถานศึกษา #กสศ #ภาพยนตร์ #อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง #ระบบการศึกษา

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า