“อนาคตเป็นสิ่งที่หากไม่ถึงเวลาของมันก็ไม่มีวันรู้” – Sonny Boy (2021)

Sonny Boy (2021) เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปี 3 ที่กำลังดำเนินชีวิตประจำวันในโรงเรียน แต่กลับถูกส่งมาในโลกต่างมิติที่เวลานั้นหยุดนิ่ง นักเรียนแต่ละคนได้รับ ‘พลังพิเศษ’ ที่แตกต่างกันออกไป เป้าหมายของทุกคนมีร่วมกันคือ การหาทางหนีออกจากโลกที่ไร้ซึ่งความสมเหตุสมผลเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

Share on

 371 

Sonny Boy (2021) เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปี 3 ที่กำลังดำเนินชีวิตประจำวันในโรงเรียน แต่กลับถูกส่งมาในโลกต่างมิติที่เวลานั้นหยุดนิ่ง นักเรียนแต่ละคนได้รับ ‘พลังพิเศษ’ ที่แตกต่างกันออกไป เป้าหมายของทุกคนมีร่วมกันคือ การหาทางหนีออกจากโลกที่ไร้ซึ่งความสมเหตุสมผลเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย และหาทางกลับไปที่โลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขาจากมา ในขณะที่เด็กบางคนก็เริ่มตั้งคำถามว่าพวกเขาอยากจะกลับไปที่โลกเเห่งเดิมจริงไหม? สามารถรับชมซีรี่ย์แอนิเมชัน Sonny Boy (2022) ได้ทางได้ทางสตรีมมิ่ง ‘Prime Video’

‘Sonny Boy’ เป็นแอนิเมชันที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนในเนื้อหาที่ต้องอาศัยการตีความถึงความหมายที่แฝงเข้ามาใน ‘คำพูด’ หรือ ‘การกระทำ’ ของตัวละครอยู่ตลอดเวลา และโดดเด่นในด้านของการลำดับเรื่องราว ที่จะไม่ได้ถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่เปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความเรื่องราว เกิดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่แตกต่างจจากแอนิเมชันส่วนมาก ตัวละครในเรื่องเป็น ‘เด็กวัยรุ่น ชั้นมัธยม’ ที่เริ่มตั้งคำถามต่อเส้นทางของชีวิตที่แสนสับสน  รวมถึง  ‘พลังพิเศษ’ ของตัวละครเปรียบเหมือน ‘สิทธิพิเศษ’ (privilege) ยิ่งมีพลังที่ ‘เเข็งแกร่ง’ ‘มีประโยชน์’ ก็ยิ่งสร้างสถานะทางสังคมให้ดีขึ้นได้ กลายเป็นผู้นำที่มีสิทธิตัดสินใจ ส่วนผู้ที่ไร้พลังทำได้เพียงเป็นผู้ตาม หรือ ไม่ก็ถูกกำหนดให้เป็นคนที่ไม่มีคุณค่าต่อส่วนรวม ทั้งที่จริงแล้ว ‘พลังพิเศษ’ ไม่สามารถวัดคุณค่าของมนุษย์ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยความสามารถของตัวเอง แต่เป็น ‘สิทธิพิเศษ’ ที่ ‘สังคม’ ‘ครอบครัว’ มอบให้ตั้งแต่เเรก

โลกแห่งความเป็นจริง และ โลกต่างมิติ ใน ‘Sonny Boy’ ต่างมีจุดเชื่อมโยงกัน ของความคิดที่สับสนที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กวัยรุ่น เมื่อต้องตัดสินใจเลือก ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘เส้นทางชีวิต’ ต่อจากนี้ไป บางกลุ่มเชื่อว่าชีวิตได้ถูกกำหนดไว้แล้วด้วย ‘โชคชะตา’ ‘คำทำนาย’ หรือ ‘กฎเกณฑ์’ ที่คอยตีกรอบความคิดและการกระทำ คอยชี้ให้เราเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ยอมรับในความหมายของชีวิตถูกเตรียมไว้ในปลายทางของ ‘อนาคต’ แล้ว เเละเมื่อเกิดการตั้งคำถามต่อ ‘ชีวิต’ ทำให้เกิดคนอีกกลุ่มที่อยากจะกำหนดนิยามของชีวิตขึ้นด้วยตัวเองมากกว่าจะยอมให้ใครมาคอยชี้นำ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันทางความคิดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความขัดเเย้งกันภายในความคิดของ ‘เด็ก’ ที่กำลังเติบโตอยู่บนโลกที่เราไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ‘ชีวิต คืออะไร ?’ ‘เราเป็นใคร ?’ ‘เราต้องทำอะไร ?’ และยังมีคำถามอีกมากที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาของความสับสนนี้ ‘บรรยากาศในโรงเรียน’ และ “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก” ที่จะช่วยให้คำเเนะนำเด็กได้ โดยเริ่มต้นจากการ ‘รับฟัง’ เป็นผู้ฟังที่ดี การฟังอย่างตั้งใจจะช่วยทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เเม้เราจะตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้เช่นกัน

แน่นอนว่าเราทุกคนสามารถกำหนดเส้นทางของชีวิตได้ แต่หากต้องการขยายความเป็นไปได้ของเส้นทางในชีวิต จำเป็นต้องอาศัยความรู้จาก ‘การศึกษา’ เพื่อสร้างโอกาสเปิดกว้างทางความคิด แต่สังคมไทยของเราที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ จึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทุกคนมีโอกาสเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘เด็กในระบบการศึกษา’ หรือ ‘เด็กนอกระบบ’ ก็สมควรที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี และสนับสนุนให้เด็กได้เกิด ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ (Lifelong Learning) เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง และมองเห็นความเป็นไปได้ของการใช้ชีวิต ในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ

บางทีแล้วเราอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก หรือปลายทางของเป้าหมายที่เรากำลังจะเดินทางไปอาจไม่ได้สวยงามเหมือนที่คาดหวัง บางทีแล้วการเป็น ‘มนุษย์’ อาจไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แต่ใจความสำคัญของการเป็นมนุษย์ไม่ใช่การตามหาความหมายของชีวิต แต่เป็นการที่เรามีอิสระที่จะกำหนดความหมายให้กับชีวิตของเราเอง สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่เราไม่กล้าที่จะ ‘ก้าวเดิน’ เพื่อ ‘เติบโต’ ในเส้นทางที่เราเลือกด้วยตัวเอง

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า