สงครามเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นอสุรกาย- Gyeongseong Creature (2023)

Share on

 176 

สภาพแวดล้อมบีบให้มนุษย์
กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหี้ยมโหด

“คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์มั้งคะ ที่ปรับตัวได้ไวไม่ว่ากับเรื่องอะไร ไม่ว่าจะความเจ็บปวดหรือแม้แต่ความสิ้นหวัง”

.

Gyeongseong Creature กล่าวถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1945 ที่เมือง ‘คยองซอง’ ประเทศเกาหลี ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะสิ้นสุดลง ‘จางแทซัง’ (พัก ซอ-จุน) ชายหนุ่มผู้มั่งคั่ง เจ้าของโรงรับจำนำสมบัติทองคำ ต้องร่วมมือกับ ‘ยุนแชอ๊ก’ (ฮัน โซ-ฮี) นักแกะรอยสาว จำเป็นต้องร่วมมือกันออกตามหาชาวหญิงสาวชาวเกาหลีที่หายตัวไป โดยอาจมีกองทัพญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การทดลองอันแสนโหดร้ายในการพยายามสร้าง ‘อสุรกาย’ ของกองทัพญี่ปุ่น สามารถรับชมได้ตอนนี้ผ่านทาง Netflix

ในยามสงครามทุกฝ่ายต่างใช้ทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะฝ่ายปรปักษ์ให้ได้ แม้จะต้องสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไปก็ตาม เรื่องราวของ Gyeongseong Creature เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นใกล้จะพ่ายแพ้สงครามเต็มที กองทัพญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายที่จะทำการทดลองสร้างอสุรกายขึ้นมา โดยวาดหวังว่าอสุรกายตนนี้จะเป็นอาวุธที่ใช้ต่อกรกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ แม้ว่าจะต้องสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายก็ตาม ทำให้ระหว่างดำเนินเรื่องเราจะได้เห็นความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวเกาหลีราวกับไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร ทรมานหรือจับไปเป็นเข้าร่วมการทดลองที่ละเมิดศีลธรรมและจรรยาบรรณ ซึ่งการกระทำของมนุษย์ดูน่ากลัวและโหดร้ายกว่าอสุรกายในเรื่องเสียอีก

แม้ว่า Gyeongseong Creature จะเป็นการดัดแปลงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์จริง เพื่อเรียบเรียงให้เข้ากับเนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอ แต่ก็มีการอ้างอิงถึงหน่วย Unit 731 ที่มีตัวตนอยู่จริง ๆ ซึ่งปฏิบัติการในช่วง ค.ศ. 1936-1945 โดยมีเป้าหมายในการทดลองอาวุธชีวภาพ สารเคมี เชื้อโรค วัตถุระเบิด อาวุธ แน่นอนว่าทั้งหมดทดลองกับมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งคาดการณ์ในปัจจุบันว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการทดลองราว ๆ 400,000 คน อาจดูเหมือนเป็นการขุดประวัติศาสตร์ที่ไม่ชวนพิสมัยขึ้นมา ทำให้มีชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ จนส่งผลให้นักแสดงซีรีส์เรื่องนี้ถูกโจมตีผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่หากลองได้ดูแล้วซีรีส์เรื่องนี้อาจแค่ต้องการพาเรากลับไปทบทวนความโหดร้ายที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนมนุษย์มากกว่าสร้างความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เรากลับไปเดินบนเส้นทางที่ผิดพลาดดังในอดีต

“คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์มั้งคะ ที่ปรับตัวได้ไวไม่ว่ากับเรื่องอะไร” เป็นประโยคที่ตัวละครผู้ตกเป็นเชลยของทหารญี่ปุ่นพูดขึ้น เพื่อประโลมใจจิตรกรหนุ่มที่เสียขวัญจากการเริ่มทำงานในหน่วย Unit 731 เป็นวันแรก เป็นคำพูดปลอบประโลมที่ช่วยเยียวยาและชวนสิ้นหวังไปพร้อมกัน เป็นคำพูดที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์สามารถปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้ คล้ายกับ ‘การปรับตัวแบบไม่บูรณาการ’ (Non-integrative Adjustment) เมื่อไม่สามารถเผชิญกับหรือแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็จะหาวิธีคิดเพื่อคลายความทุกข์ลง เป็นการใช้กลไกป้องกันตัวเพื่อลดทอนความเครียด เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย แต่จะดีกว่าหากไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่อของสงคราม

สภาพแวดล้อมไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ผู้ถูกกระทำแต่ตัวเปลี่ยนแปลงผู้กระทำด้วยเช่นกัน ในภาวะสงครามมนุษย์สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่ไร้ศีลธรรมได้ โดยรู้สึกผิดน้อยลง โดย ‘การทดลองของมิลแกรม’ (Milgram Experiment) และ ‘การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด’ (Stanford Prison Experiment) ช่วยสะท้อนผลให้เห็นว่าคนปกติสามารถทำคำสั่งของผู้มีอำนาจได้ถึงขนาดสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากพวกเขาเชื่อว่ารับว่าอำนาจของตนกำลัง ‘ทำตามหน้าที่และทำสิ่งที่ถูกต้อง’ และเชื่อว่าตัวเองมีความชอบธรรมในการทำร้ายผู้อื่น และเชื่อว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำที่เกิดขึ้น 

เราอาจสรุปได้ว่าสงครามและคำส่งของผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงให้คนธรรมดากลายเป็นอสุรกายที่เข่นฆ่ามนุษย์โดยไม่รู้สึกผิดได้ เฉกเช่นเดียวกับการสร้างห้องเรียนที่ดี ครูจำเป็นต้องระวังในการใช้อำนาจ เพราะบางครั้งการมอบอำนาจให้นักเรียนบางคนมากเกินไปก็สามารถสร้างความขัดแย้งในกลุ่มนักเรียนได้ หรือบางทีครูอาจเป็นผู้ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตจน อย่างการใช้ความรุนแรงลงโทษ พูดจาข่มขู่ พูดประชดประชัน จิกกัดปมด้อย โดยไม่รู้ตัวเลยว่าครูกำลังเป็นผู้ที่ทำลายพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ และแทนที่ครูจะสร้างพลเมืองดีเข้าสู่สังคมอาจกลับกลายเป็นการสร้างอสุรกายแทนก็เป็นไปได้

Unit 731
https://thaipublica.org/2023/12/series-society50-gyeongseong-creature/
การปรับตัวของมนุษย์
https://www.blockdit.com/posts/6183623ec82c8d0509aabda5
การทดลองของมิลแกรม
https://www.thepeople.co/read/30465

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

Through 'Psycho-Education,' Children Learn to Think Boldly and Solve Problems Independently
In search of teachers of Kru Rak Thin to fill in the educational gap by bringing them home
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save