เริ่มต้นสร้าง ‘สนามพลังบวก’ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

เริ่มต้นสร้าง ‘สนามพลังบวก’ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

Share on

 1,422 

‘สนามพลังบวก’ คือหนึ่งในแนวคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ โดยถูกไม่กำหนดกรอบการเรียนรู้ให้อยู่แค่ภายในห้องเรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและเด็กมีโอกาสแสวงหาความเข้าใจตนเอง ด้วยนวัตกรรม 3 อย่างคือ กระบวนการ ‘จิตศึกษา’ แนวทางการสอนผ่าน ‘การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน’ (Problem – based Learning : PBL) และ ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู’ (Professional Learning Community : PLC)  โดยสิ่งเหล่านี้ควรทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

คำบอกเล่าของผู้บุกเบิกเส้นทางการเรียนการสอนรูปแบบใหม่

“เราเริ่มต้นพัฒนาการเรียนการสอนในระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มต้นที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนเครือข่าย ซึ่งการจะทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ต้องทำให้ได้ 400-500 โรงเรียนต้นแบบและขยายไปยังโรงเรียนลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร”

อ.วิเชียร ไชยบัง กล่าวไว้

ปัจจุบันมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนากลายเป็น 1 ใน 5 หน่วยวิชาการสำคัญที่มาร่วมช่วยพัฒนาเติมความรู้ให้กับโรงเรียน ในพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัด ผ่านการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา โดยกสศ.มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบโรงเรียน และครูเกิดการเตรียมพร้อมให้แก่เด็กในศตวรรษที่ 21 

โรงเรียนไร้กรอบทางความคิดและเสียงออด

การเรียนรู้ควรเกิดการออกแบบร่วมกัน นักเรียนมีโอกาสเป็นผู้เลือกเรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยมีครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในชั้นเรียน และทุกคนมีความสุขจากการเป็นส่วนหนึ่ง  ทั้งนี้ PBL จึงมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนซึ่งได้ผลเป็นที่ยอมรับและกำลังถูกขยายผลต่อยอดไปสู่โรงเรียนแห่งอื่น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริง

จนกระทั่งที่นี่ถูกเรียกว่า ‘โรงเรียนนอกกะลา’ จากแนวคิดการไม่มีกรอบทางความคิด และมีความเชื่อว่า

“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้จะทำอะไร เวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เวลาเข้าแถว เข้าห้องเรียนแล้ว”

อ.วิเชียรกล่าว

และอาจารย์ยังพูดเสริมอีกว่า

“ตัวแปรที่สำคัญคือโรงเรียน ผู้บริหาร ระบบราชการที่มีวิธีคิดอีกแบบ ซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยเขาพัฒนา ปลุกเขาให้ตื่น เพราะแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน และเมื่อตื่นแล้วค่อยช่วยสร้างทักษะให้เขาเพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง เกิดเป็นโรงเรียนที่ดี คาดว่าประมาณสองปีจะสามารถเห็นผลได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย” 

นวัตกรรมแห่งการพัฒนา ‘ปัญญาภายใน’

สิ่งแรกที่เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและครูคือ ‘จิตศึกษา’ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ‘ปัญญาภายใน’ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเริ่มตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กระบวนทัศน์ที่ต้องทำให้ครบโดยเริ่มจากการสร้าง ‘สนามพลังบวก’ ของครูให้แก่นักเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัย แล้วมีสภาพทางกายภาพที่ดีและสะอาด เป็นส่วนช่วยทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับลูกศิษย์ พร้อมเกิดความเคารพซึ่งกันและกัน

จากนั้นครูต้องใช้ ‘จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก’ โดยการมองหาสิ่งที่ควรลดหรือไม่ทำ รวมทั้งสิ่งที่ควรทำเพิ่มบนพื้นฐานการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของเด็ก เช่น การเปรียบเทียบหรือจัดอันดับ การชื่นชม การไว้วางใจต่อเขา เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยเสริมให้สมองส่วนกลางของเด็กรู้สึกปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกได้รับเกียรติและมีคุณค่าพอที่จะเรียนรู้ได้เทียบเท่ากับเพื่อนทุกคน

สุดท้ายคือการใช้ ‘กิจกรรมจิตศึกษา’ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ภายใน 20 นาทีแรกก่อนเข้าเรียน เริ่มจากการสร้างสภาวะจิตให้แก่เด็กของครู เช่น บริหารสมอง (เบรน ยิม) หรืออะไรก็ตามเพื่อสร้างสติภายใน 2-5 นาที แล้วให้เด็กไตร่ตรองและสะท้อนมุมมองถึงสิ่งที่ได้สัมผัสไป เพื่อให้สมองส่วนหน้าได้คิดวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่าง จากนั้นปิดท้ายด้วยการสร้างเสริมพลังบวกให้แก่เด็ก ๆ

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมุ่งไปสู่เป้าหมาย 3 ระดับคือ ฝึกให้เด็ก ‘เกิดความชำนาญ มีสติ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง’ ตลอดเวลา แล้วยังช่วยให้เด็กความสามารถตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรมได้ เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและเป้าหมายระดับสูงคือการฝึกให้เด็กเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นจริงในแบบของสิ่งนั้นโดยไม่ถูกตัดสินถึงความดีเลวใด ๆ 

“การฝึกอย่างนี้สัก 200 วัน โครงสร้างสมองย่อมเปลี่ยน มีภาวะการใคร่ครวญ สูงมาก เขาจะเลือกตัดสินใจอะไรด้วยความระมัดระวัง ดูผลกระทบ เขาจะพบตัวเอง เป้าหมายคือการทำให้เขาปฏิบัติต่อสิ่งที่เข้ากระทบตัวเองอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรให้ไม่เบียดเบียนคนอื่น คอนเซ็ปต์ทั้งหมดสามารถใช้ได้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึง ม.3 แต่ก็จะแตกต่างไปในลักษณะกิจกรรมที่เป็นไปตามวัย”

อ.วิเชียร อธิบายผลลัพธ์

เมื่อทุกการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

การเสริมสร้าง ‘ปัญญาภายนอก’ ควรเป็นสิ่งที่ถูกใช้ควบคู่กับปัญญาภายใน และสิ่งนี้สามารถเพิ่มทักษะแก่นักเรียนได้จากการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้น ‘PBL’ จึงเป็นกระบวนการที่เหมาะสมกับขั้นตอนนี้และใช้วิธีการแบบ Active Learning เข้ามาช่วยเน้นให้เด็กเกิดความเข้าใจโลก เข้าใจในศาสตร์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตหรือเกิดทักษะสำหรับการทำงานในอนาคต

รวมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ครูหรือ ‘PLC’ ก็ส่งผลต่อนักเรียนเช่นกัน ดังนั้น สิ่งนี้จึงถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและใช้ได้ผลในโรงเรียน โดยมีปัจจัย 2 ส่วน ได้แก่  ปัจจัยเกื้อหนุนคือการมีสถานที่สะอาดปลอดภัย มีวิถีวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงวิธีการทำให้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาเป็นปัจจัยเรียนรู้คือการมีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันหลากหลายแบบ ตั้งแต่การถอดบทเรียน  Lesson study, Case study ไปจนถึงการทำ System study ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้จำเป็นต้องฝึกทักษะครูก่อนจึงจะสำเร็จได้ โดยเฉพาะด้านการรับรู้และกำกับตัวเองของครูผ่านด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น Deep Listening, Dialogue รวมไปถึงทักษะการเป็น กระบวนกร หรือ Facilitator หากครูสามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้จะช่วยทำให้ PLC ขับเคลื่อนครูให้เก่งและถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนได้ดียิ่งขึ้น

ประโยคที่กล่าวว่า ‘เมื่อครูเปลี่ยนเด็กก็เปลี่ยน’ ของอ.วิเชียร แสดงผลลัพธ์ทันทีหลังจากทดลองใช้นวัตกรรมทั้งหมดในโรงเรียน สามารถเห็นได้จากการที่เด็กขาดเรียนน้อยลง จนถึงขั้นไม่ขาดเรียน ต่อมาพวกเขาสนิทกับครู รักครู และเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น เริ่มกำกับตัวเองให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียน ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนของเด็กนั้นสูงขึ้น

“ถ้า PLC ได้ผลทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลง ครูเริ่มตื่นรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นไม่ถูกกับเด็ก ไม่ถูกกับวิธีการจัดการเรียนรู้ของมนุษย์ หลังจากนั้นจะเห็นความพยายามเปลี่ยนวิธีการจัดการของตัวเองโดยใช้ PLC เป็นตัวช่วย เขาเริ่มมีความเป็นครูแบบ Active Learning และเข้าใจเด็กมากขึ้น เริ่มวางการสอนน้อยลง เปลี่ยนเป็นสร้างการเรียนรู้ที่มากขึ้น มองเห็นได้ชัดเจนจากที่ไปมาทุกโรงเรียนสัมผัสได้”

อ.วิเชียรกล่าว

ในอนาคตสิ่งที่ควรถูกเน้นย้ำอาจไม่ใช่แค่เรื่องผลการเรียนอีกต่อไป แต่เป็นทักษะการเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ใช้ตลอดชีวิต หากใครอยากวัดผลสัมฤทธิ์ด้านอื่น ๆ อีกก็ย่อมได้เช่นกันแต่ควรสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นก่อน เพราะถ้ามีทักษะเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลาทุกอย่างก็จะปรับได้ตามถานการณ์

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดการร่วมกันของทุกคนถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้เกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวของอ.วิเชียร “เมื่อมนุษย์รักการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะเห็นความเข้าใจจริงต่อสิ่งต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกันเพราะคุณภาพการจัดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน”

 1,423 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

Through 'Psycho-Education,' Children Learn to Think Boldly and Solve Problems Independently
In search of teachers of Kru Rak Thin to fill in the educational gap by bringing them home
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save