จิตศึกษาคือการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลทั้งปัญญาภายในปัญญาภายนอก
นักเล่าเรื่องทั้ง 4 ท่าน ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จิตศึกษาและจิตศึกษาพรีเมียม
ครูพัทธ์ธีรา แนวบุตร โรงเรียนบ้านกองทูล (พิทักษ์ราษฎร์วิทยาคาร) จังหวัดเพชรบูรณ์
ครูวิรันตรี หิริโอ (ครูกุ้ง) โรงเรียนสาธิตวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร
ครูมัลลิกา กล้าหาญ (ครูหมิง) โรงเรียนบ้านหนองหิน จังหวัดพิษณุโลก
ครูภัทร์รวี สุขโทน (ครูส้ม) โรงเรียนบ้านกองทูล (พิทักษ์ราษฎร์วิทยาคาร) จังหวัดเพชรบูรณ์
จิตศึกษาธรรมดา ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถามขึ้นไปอีกขั้นถึง การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ส่งผลต่อสังคมที่เป็นอยู่อย่างไร
กระบวนการจิตศึกษา
‘ชง เชื่อม ใช้’
กระบวนการ ‘ชง เชื่อม ใช้’ ถือเป็นส่วนหนึ่งของจิตศึกษาและเป็นตัวช่วยในการจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม’ ได้ชัดเจนที่สุด และนักเรียนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์เหล่านั้น
ขั้นตอนแรกเริ่มจากการ ‘ชงประเด็น’ ของครูถึงประเด็นที่จะเรียนในวันนั้น ๆ อาจเปิดด้วยการให้นักเรียนดูคลิปวิดีโอ หรือบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง แล้วค่อยถามคำถามเชิงการสังเกตเพื่อทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่นักเรียนได้รับ จากนั้น ‘เชื่อมคำถาม’ จากสถานการณ์หรือประเด็นนั้นเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสแสดงความเห็นและทดลอง ‘ใช้การจำลองสถานการณ์’ ผ่านคำถามที่ให้นักเรียนคิดว่าหากตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์นั้นควรจะทำอย่างไร
กระบวนการจิตศึกษาพรีเมียม
‘ชงประเด็น’ เรื่องราวที่นำมา ‘ชง’ เป็นเรื่องราวที่เปิดกว้างทางความคิด ใช้คำถามที่สะท้อนความลึกซึ้งมากขึ้น
‘เชื่อมคำถาม’ผ่านบทความ สิ่งของ เรื่องราว ขยายขอบเขตเรื่องราวกว้างขึ้น ให้เด็กค้นพบตนเองว่าประทับใจอะไรให้มากที่สุด เกิดการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ ความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของตัวกับเรื่องราวที่ได้รับฟัง ถามแบบใคร่ครวญมากขึ้น ลึกขึ้น สะท้อนไปถึงสังคม ให้ค้นหาว่าถ้าเป็นตนเองจะส่งผลอย่างไร
‘ใช้การจำลองสถานการณ์’ สถานการณ์ที่หากตัวนักเรียนอยู่ในสถานการณ์นั้นจะทำอย่างไร จิตศึกษาพรีเมียม นั้นไม่ได้เน้นการสะท้อนการกระทำเพื่อตัวเอง แต่ขยายวงไปยังโรงเรียน เพื่อน สังคม ซึ่งหมายความว่าใช้กับทุกสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
ประสบการณ์จากโรงเรียนของนักเล่าเรื่องทั้ง 4 ที่ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ ว่าจิตศึกษาพรีเมียมเกิดความงดงามอะไรขึ้นมา พอใช้จิตศึกษาขั้นพรีเมียมที่เป็นการฝึกการคิดแบบใคร่ครวญมากขึ้น ฝึกใช้คำ ใช้รูปประโยคที่มีความยาวและซับซ้อนมากขึ้น เมื่อถามว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไหม ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือความคิดของนักเรียนที่คิดดีขึ้นไปอีกระดับ
🏫 ครูภัทร์รวี สุขโทน (ครูส้ม) “จิตศึกษาแบบเดิม ครูก็เน้นไปในความเป็นตัวตนของนักเรียนซึ่งก็ได้ผล แต่ก็ยังไม่เชื่อมโยงไปถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พอได้เสริมในส่วนของความคิดของนักเรียนในรูปแบบจิตศึกษาแบบพรีเมียม ทำให้นักเรียนมองลึกลงไปกับสิ่งที่ต้องทำเพื่อสังคม โลก และประเทศชาติอย่างไร เด็กนักเรียนมองถึงสิ่งที่ทำนั้นกระทบอะไรกับใครอย่างไรบ้าง เป็นการสร้างความตระหนักต่อตนเอง สังคม และสังคมรอบข้าง โดยใช้วิธีการตั้งคำถามสอบถามกับนักเรียน”
เคสตัวอย่างที่แลกเปลี่ยนจากนักเล่าเรื่อง
ครูส้ม ยกตัวอย่างเรื่องขยะที่เมื่อทิ้งด้วยความไม่รับผิดชอบจะส่งผลต่อตนเอง สิ่งแวดล้อม อย่างไร นักเรียนก็มองเห็นถึงประเด็นว่าการกระทำของมนุษย์ทำให้โลกร้อน
🏫 ครูมัลลิกา กล้าหาญ (ครูหมิง)
ได้ยกตัวอย่างเรื่องการแกล้งเพื่อนของนักเรียนชั้นประถม 1 ที่นำรองเท้าเพื่อนไปซ่อน นักเรียนก็คิดต่อไปอีกขึ้นว่า ถ้ารองเท้าที่เอาของเพื่อนไปซ่อนเกิดหายขึ้นมา ผู้ปกครองของเพื่อนจะต้องเสียเงินซื้อให้ใหม่ ถ้าแกล้งเพื่อนจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อนจะไม่ได้มาเรียนผู้ปกครองเพื่อนจะต้องลางานมาดูแล เด็กจะมีความคิดที่ลึกขึ้นคิดซับซ้อนมากขึ้น บางครั้งนักเรียนก็นำคำถามที่ใช้ในจิตศึกษาไปถามเพื่อนที่แกล้งกันว่า รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนถ้าทำแบบนี้แล้วจะเป็นยังไงต่อ เป็นการซึมซับเป็นพฤติกรรมติดตัวของนักเรียนไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้นนักเรียนเกิดความภาคภูมิใจผลงานของตนเอง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ปกครองรับฟังและเกิดความชื่นชมในพฤติกรรมของนักเรียน
🏫 ครูวิรันตรี หิริโอ (ครูกุ้ง)
ครูกุ้ง เพิ่งย้ายมาจากที่อื่นได้แค่ 2 เดือน ซึ่งโรงเรียนก่อนหน้านั้นไม่ได้มีกระบวนพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือการจิตศึกษา พอมาสอนที่โรงเรียนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจิตศึกษาคืออะไร ถ้านึกตามความเข้าใจเป็นแค่การล้อมวงคุย ทำสมาธิ และแยกย้าย พอมาที่นี่เรียนรู้จิตศึกษาจากผู้อำนวยการและรุ่นพี่ในโรงเรียน พอได้ใช้จิตศึกษาเหมือนเด็กไว้ใจเรา ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักเรียนในหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสังคมในห้องเรียน นอกโรงเรียน หรือที่บ้าน
ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ ครูกุ้งได้แชร์ประสบการณ์ว่า คือความสม่ำเสมอ ความทั่วถึง ทุกห้อง ทุกคน ตัวครูต้องเป็นนักสังเกตคอยฟังคำตอบนักเรียนว่าถึงจุดที่ต้องการหรือยัง คำตอบของนักเรียนจะบ่งบอกอุปนิสัยและตัวตนว่าเป็นคนอย่างไร เช่น คำตอบที่ตอบมาจับใจความได้ว่ายังเป็นคนที่เห็นแก่ตัวอยู่ ครูก็ต้องทำต่อเพื่อให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น วง PLC เป็นส่วนที่ช่วยเสริมในการทำจิตศึกษาได้ เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาระหว่างกัน และที่สำคัญครูต้องเป็นแบบอย่างด้านพฤติกรรมที่ดีกับนักเรียนด้วย เพราะเด็กจะซึมซับจากสิ่งที่ครูเป็น สิ่งที่ครูปฏิบัติ
การฝึกฝนการใช้คำถามในกิจกรรมนั้น ๆ
ครูส้ม การตั้งคำถามต้องเหมาะสมกับช่วงวัย ระดับชั้น การเลือกคำถาม วิธีการถามที่เหมาะสมจะช่วยดึงคำตอบที่สะท้อนสิ่งที่เด็กคิดออกมาได้
การออกแบบและวางแผน จะช่วยมองเห็นภาพรวมตั้งแต่การตั้งคำถาม ชง เชื่อม ใช้ ว่าเรื่องนี้จะสะท้อนอะไรได้บ้าง หรือมีการสลับคำถาม เชื่อม – ใช้ เพื่อให้ถึงการตระหนัก
ปัญหาที่เกิดและการแก้ไข
ครูส้มในฐานะที่ทำเรื่องจิตศึกษามานาน เล่าถึงประสบการณ์ในโรงเรียนก็มีบางห้องไม่ปฏิบัติร่วมกัน ก็แก้ปัญหาโดยใช้ PLC นิเทศติดตาม และวิพากษ์แผนก่อนเปิดเทอมและปิดเทอม ที่สำคัญผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความเป็นผู้นำ มีความเข้มแข็ง หนักแน่นที่จะเดินตามแผนดำเนินการให้ลุล่วงได้
หากโรงเรียนที่มีครูแกนนำ ก็ต้องสังเกต สอดส่อง พฤติกรรมเด็กแต่ละห้อง เมื่อเห็นปัญหาก็เข้าไปแนะนำเพื่อนครูถึงแนวทางที่จะทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร หรืออาจจะเขียนแผนให้เพื่อนครูไปปฏิบัติก็ได้
Writer
- Admin I AM KRU.