ผลลัพธ์โรงเรียนพัฒนาตนเอง : จากจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงผลลัพธ์โรงเรียนพัฒนาตนเอง: จากจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ ว่าจากการดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียน ทั้ง 11 เครือข่าย 636 โรงเรียน ตลอดระยะเวลา 4 ปี ภายใต้แนวคิด Whole School Approach ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพด้านการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ โดยความร่วมมือของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนทุกคน ด้วยมาตรการและเครื่องมือที่สำคัญมุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยความเสมอภาคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน (Core Learning Outcomes) โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม เกิดโรงเรียนต้นแบบที่สามารถขยายผลในเชิงกลยุทธ์ จาก10% ของโรงเรียนขนาดกลาง หรือประมาณ 7,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจะให้ 10% นี้ไปช่วยขยับหรือขยายผลใน 90% ต่อไปได้อย่างยั่งยืนโดยการดำเนินงานของหน่วยงานต้นสังกัด
“โครงการนี้ ถือเป็นโครงการแรก ๆ ของกสศ.ในการทำงาน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562-2565 จาก 5 เครือข่ายเป็น 11 เครือข่าย โดยมีเป้าหมาย 700 โรงเรียน แต่ด้วยการไม่ได้บังคับว่าโรงเรียนทุกแห่งต้องเข้าร่วมทำให้ขณะนี้โรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 636 โรงเรียนในการดำเนินงาน ส่วนในปี 2566-2567 นี้ จะเป็นความพยายามการขับเคลื่อนเชิงระบบเพื่อขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ต้นสังกัด”
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานในโครงการ มีมาตรการและเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนโรงเรียนได้แก่
- การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียน (School Goal)
- ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community (PLC)) มีทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์
- ข้อมูลด้านสารสนเทศ (Information Data)
- นวัตกรรมห้องเรียน (Classroom Innovation)
- การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning )
- เครือข่ายโรงเรียนและสถานศึกษา (School Networking)
- ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (Students Support System)
ซึ่ง สพฐ.มีระบบนี้อยู่แล้วแต่อาจเป็นระบบกลาง แต่การจะช่วยเหลือนักเรียนจะพิจารณาจากพฤติกรรมในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาปัจจัยนอกห้องเรียนร่วมด้วย เช่น การประเมินผลเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation (DE)) และ Growth Mindset ซึ่งในวันข้างหน้า ด้วยความซับซ้อนที่เกิดขึ้นอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการสนับสนุนและเครื่องมือพัฒนา
กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้บริหารปรับระบบบริหารจัดการภายในโรงเรียน ครูเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ เกิดการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้สารสนเทศคุณภาพการทำงานที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ มีการปรับเปลี่ยนวิธีวัดและประเมินผลผู้เรียน และเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด และภาคีเครือข่ายการที่กว้างขวาง
“สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งด้านคุณค่า ทัศนคติ ทักษะ และความรู้ (Values-Attitudes-Skills-Knowledge) เครื่องมือการพัฒนาตามแนวทาง Empowerment: Online PLC & DE ซึ่งทาง กสศ. มองว่าเป็นเครื่องมือและโรงเรียนน่าจะได้ใช้ประโยชน์ โดยสามารถนำไปใช้จริง ๆ ผ่านการประยุกต์ หรือออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนนำไปต่อยอดได้ รวมถึงรูปแบบ / ระบบ / กลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งกสศ.มองว่าการทำงานมาจนถึงปี 2566 และ2567 งาน กสศ.มีอยู่ในประเทศไทยหลายงาน ในปีนี้และปี 2567 คงไม่ได้มองเป็นแนวตรงอย่างเดียวแต่ต้องมองข้างๆ ไปด้วย”
บทเรียนสำคัญทั้งหมด 5 เรื่อง ที่ได้จากการดำเนินงานมี ดังนี้
1. การให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคน ยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ตามแนวคิดความเสมอภาคโดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้เรียนตั้งแต่การออกแบบการเรียนรู้ไปถึงการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ เด็กนักเรียนในห้อง 20 คน คงใช้สูตรเดียวกันไม่ได้
2. กระบวนการ Professional Learning Community (PLC)และ Developmental Evaluation (DE) เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ก่อให้เกิดการเปิดใจของทีมงานแต่ละระดับ และเกิดการขยายผลนวัตกรรมไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งการทำงานทั้ง 2 เรื่องนี้ ต้นทุนของโรงเรียนถึง 24 โรงเรียน เป็นฐานปฏิบัติการทั้ง 2 เรื่องนี้ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น การเชื่อมโยงเรื่องนี้ไปกับเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นได้จริงการขยายผลนวัตกรรมต้องมีวงหรือมีพื้นที่
3. นำผลการเรียนรู้ไปพัฒนานักเรียน โดยความร่วมมือของผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชนทำให้พบว่าจุดเปลี่ยนของการปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้เป็นการดำเนินการเฉพาะในรั้วโรงเรียนเท่านั้น
4. นวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ เป็นต้นแบบเพื่อการบูรณาการและก่อให้เกิดการต่อยอดและประยุกต์อย่างต่อเนื่อง เกิดแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ Learning Organization และมี KM เป็น Learning Platform ซึ่งองค์กรแห่งการเรียนรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเขตพื้นที่ทีมโค้ชทั้ง 11 ทีม และคนในกสศ.จะได้เห็นเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยเฉพาะโค้ชที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และ5. การมีส่วนร่วมจัดการศึกษา โรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน เกิดการบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ (Area Based) ออกแบบการทำงานร่วมทั้งภายในและภายนอก กสศ.
“เป้าหมายสุดท้าย หรือผลลัพธ์ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง คือตัวของนักเรียน เราเลือกที่จะทำงานกับคุณครูเพื่อเด็ก เพราะครูอยู่ในโรงเรียนหลายปี ภาพโรงเรียน ผู้บริหาร หรือครูจะเป็นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ และไม่ได้ดำเนินการเพียงในโรงเรียน เนื่องจากต้องยอมรับว่าพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่อยู่เฉพาะในโรงเรียนแต่ยังมีโลกออนไลน์ โซเซียลมีเดียที่เด็กสามารถอยู่ในนั้นได้ทั้งวัน ซึ่งโชคดีที่ครูกว่า 600 โรงเรียนรู้เท่าทัน ฉะนั้นการผลักดันนโยบายเป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามทำให้ครู โรงเรียนไม่ได้มีภาระ เพิ่มแต่เป็นตัวช่วยที่เป็นภาคนโยบายในการพัฒนาครูสู่ผลลัพธ์ของเด็ก”
สำหรับผลลัพธ์ (Outcome) ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ด้านโรงเรียนมีระบบการจัดการเรียนรู้และบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพ เกิดวงจรการเรียนรู้ภายใน และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การภายนอกรวมถึงสามารถตั้งเป้าหมาย และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาตนเองได้ และประเมินผลการพัฒนาตนเองได้ ขณะที่ผู้บริหารสามารถวางแผนอย่างมีส่วนร่วมและดำเนินงานได้ครบวงจรทั้งระบบบริหารจัดการและจัดเรียนการสอน ส่วนครูสามารถออกแบบการเรียนรู้พัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 (เกิดเป็นหลักสูตรสถานศึกษา)
ด้านนักเรียน ทำให้เกิดการลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น นักเรียนเรียนรู้จนจบการศึกษาภาคบังคับด้วยรูปแบบที่หลากหลาย และมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นทุกระดับขั้น (CLOs: Values-Attitudes-Skills-Knowledge) และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และประเมินตนเองได้ สุดท้ายทำให้เกิดระบบนิเวศทางการเรียนรู้ เกิดพื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่ เป็นทางเลือกในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ตามเป้าหมายที่จะผลักดันไปสู่นโยบายให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้ และกลไกความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และการเรียนรู้ร่วมกันของภาคีเครือข่ายและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการศึกษา (บุคลากร กสศ.)
ขณะนี้ มีการนำแนวคิด มาตรการ และเครื่องมือจาก TSQP ไปใช้ออกแบบและประยุกต์ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แบ่งเป็นการหนุนเสริมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 1,019 โรง โรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) 636 โรง การพัฒนาคุณครูโรงเรียน ตชด.72 โรง และอาสาสมัครทางการศึกษา 56 แห่ง รวมเป็น 1,741 แห่งใน 1,124 ตำบล 486 อำเภอ และ 69 จังหวัด
“โมเดลของ TSQP มีการนำเครื่องมือที่ใช้อยู่มาเป็นตัวอย่างและถ้าเรื่องเหล่านี้จะหมุนต่อไปเป็นวงจรแห่งการพัฒนาจะช่วยยกระดับการศึกษาไทยได้มากขึ้น โดยการนำต้นทุนจาก TSQP มาใช้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องงบประมาณแต่เป็นการใช้สินทรัพย์ทางปัญญาที่มีอยู่ในทำงานจะช่วยขับเคลื่อนทุกโรงเรียนทุกเครือข่ายสามารถเดินด้วยตนเองได้ไปพร้อมกับต้นสังกัด ซึ่งกสศ.คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเพื่อสู่ความยั่งยืน”
สรุปเนื้อหาจากงานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. และ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น
Writer
- Admin I AM KRU.