กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนการจัดการความรู้สู่มหกรรมโรงเรียนและครูสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังพล ที่ทั้งตอบโจทย์ผู้เรียนให้ได้เรียนจบการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ตรงความต้องการ และสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานของจังหวัดสุรินทร์
ดร. อุดม วงศ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา เป็นตัวแทนในนามของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และภาคีเครือข่าย มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ที่ร่วมจัดงานในวันนี้ โดยดร. อุดม ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย
“ตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อให้หน่วยโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ระดับต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินงานและเกิดเป็นผลสำเร็จได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ความสำเร็จไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ได้ เป็นการสร้างเครือข่ายกันในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ไปสู่งานมหกรรมการศึกษาไทย กิจกรรมครั้งนี้เป็นหนึ่งใน 6 ครั้ง ที่จะเป็นการประชุมในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้จะเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาไทยประดับประเทศ ผ่านการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายระดับปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่มีตัวอย่างและ Good Practice ที่ดีจำนวนมาก ทั้งของคุณครู ผู้บริหารจากโรงเรียนตัวอย่าง 37 ตัวอย่าง ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับการทำงานด้านนโยบาย เป็นการถ่ายทอด ถ่ายโอนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นความเข้มแข็งทางด้านการศึกษาในพื้นที่จะนำไปสู่มหกรรมระดับประเทศที่ กสศ. และภาคีเครือข่ายกำลังจะจัดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งระหว่างทางที่จะถึงเป้าหมายงานที่จะเกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ตามแต่ละจังหวัดของโรงเรียนและภาคีเครือข่ายที่จะกลายเป็นวงจรของระบบการพัฒนาการศึกษาไทยที่สำคัญเป็นอย่างมาก”
นายสันทัด แสนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวเปิดงานโดยมอบนโยบายและแนวคิดการจัดการการศึกษาโครงการจัดการความรู้เพื่อมหกรรมโรงเรียนและคุณครูสู่ผู้นำความเปลี่ยนแปลงในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ใจความว่า
“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นประธานในพิธีเปิดในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ภาคเครือข่ายทางการศึกษาจากภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อจัดมหกรรมโรงเรียนและครูสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่แสดงให้เห็นถึงพลังการศึกษาจากทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการศึกษาเพื่อเด็กไทยของเรา และพร้อมกระตุ้นการพัฒนาทั้งระบบไปพร้อมกัน
การศึกษาและการสร้างทุนมนุษย์ต้องเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่เน้นในเรื่องใหญ่ ๆ คือความฉลาดทางสติปัญญา (Intellingence Quotien: IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) และต้องเน้นเรื่องความฉลาดในการรับมือกับปัญหา (Adversity Quotient : AQ) เป็นภูมิคุ้มกันในชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่นอกเหนือวิชาความรู้ที่ทำให้เรียนรู้อยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขและสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ การที่เด็กสามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ทำให้ในอนาคตเด็ก ๆ สามารถจัดการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันการ ผู้บริหารและครู จึงจำเป็นต้องจัดการออกแบบการเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในด้านความรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย
- สมรรถนะด้านการคิด
- สมรรถนะด้านการสื่อสาร (รับ – ส่งสาร)
- สมรรถนะด้านทักษะชีวิต
- สมรรถนะด้านการแก้ปัญหา
- สมรรถนะด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยี
ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการ 6 ด้านของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ที่ได้สิ้นสุดโครงการและกำลังก้าวเข้าสู่โครงการขับเคลื่อนขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ในปีนี้ โดยสำนักศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฐมวัยสุรินทร์ทุกเขต (สพป. สุรินทร์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ (สพม. สุรินทร์) สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้สุรินทร์ กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนหน่วยงานทางการศึกษาทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงที่เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ยอดเยี่ยมในทางปฏิบัติ
พื้นที่เป็นฐานการพัฒนานักเรียนเป็นฐานสู่ผู้บริหารและโรงเรียนให้มีคุณภาพที่เป็นไปได้จริง ขอขอบคุณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มูลนิธิสยามกัมมาจล สมาคมและหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ ที่พยายามผลักดันขับเลื่อนทางการศึกษาให้ก้าวทันยุคสมัยเป็นพลวัตให้ทันโลกที่มีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ก้าวไปด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลและพัฒนาทั้งองคาพยพอย่างมั่งคงและยั่งยืน
สรุปเนื้อหาจากพิธีเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย” โดย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา และนายสันทัด แสนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์
วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องรัตนสุวรรณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์
Writer
- Admin I AM KRU.
- เว็บไซต์ที่ต้องการให้เป็นเสมือนฟิตเนสพัฒนาศักยภาพครูผ่านเครื่องมือใหม่ ๆ