Active Learning – ปรากฏการณ์เรือนกระจกโรงเรียนบ้านกู้กู กับห้องเรียน

Share on

 879 

โรงเรียนต้นเรื่อง โรงเรียนบ้านกู้กู 
ครูต้นเรื่อง ศิวพร ไกรนรา
ปรากฏการณ์เรือนกระจก
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

Visual Note โดย สุติมา งอกเงิน

Active Learning ในความหมายของครูตาล ศิวพร ไกรนรา คือการจัดการเรียนการสอนอย่างไรที่ให้เด็กคิด ในการคิดของเด็กนั้นอาจจะคิดได้หลายระดับตามบริบทและศักยภาพของนักเรียน หน้าที่ครูคือจะทำอย่างไรที่จะค้นหาวิธีการสอนที่ทำให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขสถานการณ์ และเชื่อมโยงในชีวิตประจำวันได้ เพื่อในอนาคตจะได้มองย้อนกลับมาถึงความสำคัญของการศึกษาได้ด้วย

หน่วยการเรียนรู้ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ของครูตาลออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ใน 4 ด้า

  1. มีวินัย
  2. ใฝ่เรียนรู้ 
  3. มุ่งมั่นในการทำงาน
  4. มีจิตวิทยาศาสตร์ 

โดยตั้งเป้าหมายด้านสมรรถนะให้ผู้เรียนเกิดเรียนรู้ 5 สมรรถนะ 

  1.  ความสามารถในการสื่อสาร
  2. ความสามารถในการคิด
  3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
  4. ความสามารถในการใช้ทักษะ/กระบวนการและทักษะในการดําเนินชีวิต
  5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

มาสังเกตห้องเรียน Active Learning ของครูตาลนั้นมีกระบวนการที่น่าสนใจซึ่งแต่ละขั้นตอนของการเรียนรู้ที่ครูตาลออกแบบมานั้นช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการ active ในการเรียนรู้ได้ในชั้นเรียนอย่างดี โดยแต่ละขั้นตอนมีดังนี้ 

ขั้นที่ 1 การสร้างความสนใจ (Engagement Phase)

– กระบวนการขั้นแรกนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนด้วยการนั่งสมาธิ เป็นเวลา 3 นาที เพื่อให้นักเรียนสงบพร้อมที่จะเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น 

– วันนี้เด็กนักเรียนแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 3 คน โดยคละเด็กทักษะ เก่ง กลาง อ่อน แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อทำงานกลุ่มร่วมกันในกิจกรรม เด็ก ๆ มีหน้าที่ช่วยกันในกลุ่มมากกว่าหนึ่งหน้าที่ โดยหลัก ๆ ทั้งหมดในงานกลุ่มต้องมีคนที่ต้องปฏิบัติงานทั้งหมด 4 หน้าที่ดังนี้

  • คนที่ช่วยอำนวยความสะดวก
  • คนที่มีหน้าที่วางแผนการทำงานร่วมกัน
  • คนที่มีหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ จดบันทึกผลในใบกิจกรรม
  • คนที่มีหน้าที่นำเสนอผลงาน สื่อสารและรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรม

▪ ช่วงที่เริ่มเข้าสู่การเรียนรู้ ครูตาลเปิดการเรียนรู้ด้วยคำถามดึงความสนใจนักเรียนด้วยภาพภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ตัวจังหวัดภูเก็ตทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง เพื่อเชื่อมโยงปรากฏการณ์เรือนกระจกกับสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวนักเรียน และเพิ่มเติมภาพประกอบด้วยเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาวะเรือนกระจกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ภาวะโลกร้อน ไฟป่า ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เป็นคำถามที่ช่วยกระตุ้นความคิดของนักเรียนได้อย่างดี

▪ ขั้นตอนนี้ครูตาลกับนักเรียนพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้เดิมเรื่องภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ว่ามีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง ครูตาลใช้คำถามกระตุ้นความคิดให้นักเรียนดึงความรู้เดิมที่มีอยู่ออกมาเพื่อแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน จากนั้นก็เริ่มให้นักเรียนอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองเพื่อให้เห็นว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกจำนวนมากทำให้เกิดโลกร้อน และวางแผนออกแบบเตรียมอุปกรณ์หรือขั้นตอนในการสร้างแบบจำลองอย่างไร ที่จะแสดงผลของการเกิดขึ้นของภาวะโลกร้อน

▪ ในขั้นตอนนี้ครูตาลให้นักเรียนอภิปรายร่วมกัน ว่าจะสร้างแบบจำลองว่าแก๊สเรือนกระจกปริมาณมากส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน จากนั้นก็ให้ตระเตรียมอุปกรณ์และสร้างแบบจำลองหรือการทดลองอย่างไร โดยให้เวลาเตรียมอุปกรณ์ 5 นาที 

ขั้นที่ 2 สำรวจและค้นหา (Exploration Phase)

– การเข้าสู่การสำรวจและค้นหา ครูตาลให้ข้อมูลเรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เพื่อให้นักเรียนตั้งคำถามตามที่สนใจในประเด็นที่อุณหภูมิมีผลอย่างไร จนนำไปสู่การอภิปรายจนกลายเป็นคำตอบของห้องเรียนถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และให้นักเรียนไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าเชื่อถือจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อออกแบบการทดลองร่วมกัน 

ขั้นตอนการระดมความคิด

– กำหนดปัญหาที่ต้องการศึกษา

– ตั้งสมมุติฐาน และตัวแปร

– ระบุวัสดุที่ต้องการใช้ในการทดลอง

– ออกแบบตารางบันทึกผลการทดลอง 

– นักเรียนนำเสนอกิจผลงานการออกแบบชั้นเรียน นักเรียนแต่ละคนออกมานำเสนอการออกแบบหน้าชั้นเรียน โดยให้นักเรียนที่ฟังร่วมอภิปรายโดยครูตาลทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการคิดในระหว่างการนำเสนอ 

ลักษณะคำถามที่ช่วยกระตุ้นการคิด

  • การออกแบบการทดลองที่เพื่อนนำเสนอเหมือนและแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
  • วิธีที่ออกแบบสอดคล้องกับปัญหาและสมมุติฐานที่วางไว้หรือไม่
  • การทดลองที่ออกแบบระบุตัวแปรที่จะส่งผลให้มีความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร
  • ในการทดลองมีตัวแปรใดบ้างที่อาจส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนในการทดลองที่เกิดขึ้น
  • ในการทดลองมีข้อควรระวังในการใช้อุปกรณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง พร้อมบอกแนวทางการให้ระมัดระวัง 

ขั้นที่ 3 ขั้นอธิบายและสรุปผล

นักเรียนแต่ละกลุ่มระดมสมองในการสังเกตผลการทดลองที่เกิดขึ้น 

  • สังเกตเห็นอะไรจากการทดลอง
  • สิ่งที่สังเกตเห็นตรงกับสมมุติฐานหรือไม่เพราะเหตุใด
  • การทดลองที่ออกแบบนี้เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เรือนกระจกได้หรือไม่ อย่างไร 

ให้นักเรียนนำสิ่งที่ได้จากการทดลองมาร่วมนำเสนอหน้าชั้นและเกิดการอภิปรายร่วมกัน ด้านล่างนี้เป็นการสรุปสิ่งที่ได้จากการทดลองของเด็กแต่ละกลุ่ม 

กลุ่มที่ 1 น้ำโซดาให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าน้ำเปล่า เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ 

กลุ่มที่ 2 น้ำโซดาให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าอากาศ เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ 

กลุ่มที่ 3 น้ำเปล่าให้ก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์สูงกว่าน้ำผสมน้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดา ไม่ตรงตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นักเรียนได้อภิปรายอาจจะเป็นสาเหตุเกิดจากปิดดินน้ำมันฝาขวดไม่สนิทและต้องนำไปทดลองซ้ำ

กลุ่มที่ 4 น้ำเปล่าให้ก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์สูงกว่าน้ำผสมน้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดา ไม่ตรงตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นักเรียนได้อภิปรายอาจจะเป็นสาเหตุเกิดจากปิดดินน้ำมันฝาขวดไม่สนิทเกิดรอยรั่ว ต้องกลับไปทดลองซ้ำ

ขั้นที่ 4 ขั้นขยายความรู้ (Elaboration Phase)

ครูตาล ศิวพร เริ่มชวนนักเรียนในชั้นอภิปรายการทดลองเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้อุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมจริงของโลกว่าการทดลองเกี่ยวข้องกับชั้นบรรยากาศโลกอย่างไร และเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ตได้อย่างไร 

การเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ควันจากรถ การเผาป่า หรือแม้แต่จากการหายใจของมนุษย์นั้นสร้างก๊าซคาร์บอน ฯ ก๊าซ มีเทน จากปศุสัตว์ ก๊าซคลอโรฟลูคาร์บอน หรือ CFC จากเครื่องทำความเย็นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก 

กิจกรรมจำแนกบัตรภาพกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือกระจก

กราฟแสดงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวัดภูเก็ต

ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Evaluation Phase)

  ครูตาล ศิวพร นำนักเรียนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้ในชั้นเรียนนี้ เป็นเรื่องการอภิปรายเพื่อสะท้อนบทเรียนที่ได้รับในวันนี้ เด็ก ๆ ร่วมกันอภิปรายสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ใน 3 เรื่อง

  • ฉันได้เรียนรู้อะไร

การเกิดขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ทำไมน้ำแข็งขั้วโลกถึงละลาย / ภัยพิบัติที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก การผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทดลองของตนเอง

  • หากย้อนเวลาได้ฉันจะปรับปรุงการเรียนรู้วันนี้อย่างไร

ไม่ประมาท ระมัดระวังการอุดดินน้ำมันเพื่อไม่ให้อากาศเข้าออกในขวด / ทำใหม่ให้สำเร็จได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

  • ฉันต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม

อยากให้ชาวภูเก็ตเรียนรู้การจัดการขยะที่ถูกต้อง / อยากเรียนรู้วัฏจักรของน้ำที่มีผลต่อสภาวะเรือนกระจก 

ครูตาลสะท้อนคิดในช่วงท้าย

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนการสอนในวันนี้กับแผนที่วางไว้เป็นอย่างไร ครูตาลบอกว่าในช่วงต้นนั้นก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้อยากให้เด็กได้ออกแบบแผนและการทำการทดลองด้วยตนเอง พอย้อนกลับไปอยากจะเพิ่มกระบวนการบรีฟนักเรียนก่อนการทดลองว่าต้องเซ็ทอุปกรณ์การทดลองต่าง ๆ อย่างไร แต่ด้วยเวลากระชั้นชิดกลัวจะไม่ทันเวลา ทำให้ต้องตัดกิจกรรมเรียนรู้ออกไปบ้างเพื่อให้ทันเวลา ปัญหาที่เจอหน้างาน ผลการทดลองที่นักเรียนไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้ กลัวว่านักเรียนจะรู้สึกแย่ที่ไม่เป็นไปตามที่คิด 

จุดเด่นไอเดียของแผนนี้ นักเรียนได้ออกแบบและทดลองทำด้วยตนเอง สามารถออกแบบการทดลองแบบไหนได้บ้าง เลือกสาร วัสดุ ตั้งเงื่อนไขการทดลอง ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และสามารถตั้งสมมุติฐานได้เอง ซึ่งวิธีนี้ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าตัวอย่างการทดลองตัวอย่างจากในหนังสือ 

ครูร่วมเติมเต็มชั้นเรียน

  • เป็น Active Learning ที่ผู้เรียนได้กล้าคิด เกิดความหลากหลาย เด็กได้ออกแบบ ลงมือปฏิบัติและเห็นผลด้วยเอง เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ 
  • ห้องเรียน Active Learning เริ่มที่ครู ซึ่งครูตาลเป็นครูที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ Active Learning ให้กับผู้เรียนผ่านการถาม ตั้งข้อสังเกต หัดสงสัย และชวนอภิปรายในห้องเรียน

🎥 รับชมไลฟ์โรงเรียนต้นเรื่องโรงเรียนบ้านกู้กู 

ปรากฏการณ์เรือนกระจก 

ครูต้นเรื่อง ศิวพร ไกรนรา 

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

ได้ที่ 👇

ช่วงแรก นาทีที่ 00.00 – 28.10

https://fb.watch/mNuJSuQeCp/

ช่วงสอง นาทีที่ 00.00 – 55.30 

https://fb.watch/mNuBPddAP6/

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า