พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน | โปรเจกต์ Thailand Zero Dropout |

Share on

 9,939 

เด็กและเยาวชนทุกคน คือทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ จึงไม่ควรมีใครถูกละเลยโดยเฉพาะด้านการศึกษา จึงเกิดเป็นโครงการ Thailand Zero Dropout นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทีวีสิน ได้มีวาระแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นคือ ‘ต้องไม่มีเด็กและเยาวชนแม้แต่คนเดียวหลุดออกจากระบบการศึกษาในประเทศนี้’ โดยดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของ 11 หน่วยงานแกนหลักที่ได้ร่วมลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยกำหนดเป้าหมายโครงการนำร่องในจังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดพื้นที่ต้นแบบ

วันนี้ I AM KRU. ได้รับเกียรติจาก คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน หรือพี่เด่น มาแลกเปลี่ยนความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษา บนเวทีโรงเรียนปล่อยแสง : นิเวศการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา 

ปัจจุบันคุณเด่นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดูแลงานเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด และรักษาการผู้อำนวยการสำนักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ ABE (Area-based Education) 

บทบาทหน้าที่ใน Thailand Zero Dropout เป็นแนวหน้าในการลงพื้นที่ทำงานเพื่อเสาะหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับเข้ามาเรียนในแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง ผ่านมา 1 ปี โครงการ Thailand Zero Dropout ได้ดำเนินงานบรรลุเป้าหมายอย่างไรบ้าง

คุณเด่น พัฒนะพงษ์ “ถ้าไม่รู้สถานการณ์ของปัญหา จะแก้ปัญหาถูกจุดได้อย่างไร” คำตอบที่เป็นคำถามในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงานของโครงการฯ  จึงเกิดการสำรวจปริมาณเด็กที่หลุดออกจากระบบว่ามีจำนวนเท่าใดกันแน่ การค้นหาตัวเลขนี้อาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย จึงได้พบสถิติที่น่ากังวลว่าประเทศไทยมีเด็ก ‘เสี่ยงหลุด’ ออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1 – ม.3) ประมาณ 2.8 ล้านคน และมีเด็กอีกประมาณ  1,020,000 คนที่อยู่ ‘นอกระบบการศึกษา’ ชุดข้อมูลนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล 

กว่า 1.02 ล้านคน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปเรียบร้อยแล้ว ตัวเลขมหาศาลนี้มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร  สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาคือ ความยากจน ที่ถือเป็นต้นทางของสาเหตุทั้งด้านการศึกษา ปัญหาด้านสังคม และปัญหายาเสพติด ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน

การแก้ปัญหาเด็กก็เช่นกัน

คุณเด่น พัฒนะพงษ์  “ความท้าทายในการทำงานในมุมของการติดตามแก้ปัญหากับน้อง ๆ  และครอบครัว คือ การสร้างความไว้วางใจ เพราะบางทีการจัดการศึกษากลับเป็นตัวผลักน้อง ๆ กลุ่มนี้ออกจากระบบการศึกษา ทำให้การทำงานค่อนข้างยาก เมื่อโจทย์การทำงานเป็น Area-based Education การแก้ปัญหาจึงไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนเดียว การทำงานของโครงการนี้ จึงใช้วิธีการทำงานแบบสหวิชาชีพ ครู หัวหน้าชุมชน นักพัฒนาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางทีทำงานร่วมกับตำรวจ อัยการ ฯ โดยตั้งเป้า 3 ปี จากนี้ จะเห็นเด็กทั้งหนึ่งล้านสองหมื่นคน ที่เราสามารถติดตามเส้นทางการเรียนรู้ได้ และนอกจากการใช้ทรัพยากรมนุษย์แล้วจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้เกิดการประเมินผล การติดตาม และการรายงานผลมีความถูกต้อง”

การป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบตั้งแต่เด็กอยู่ในระบบเป็นวิธีที่ดีที่สุด

เพราะบางทีอาจสายเกินไปที่จะไปช่วยเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว

จัดการปัญหาด้วยข้อมูล (Data) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) 

การบริหารจัดการฐานข้อมูลเด็ก/เยาวชนนอกระบบการศึกษาและครอบครัวที่มีจำนวนกว่าล้านคนไม่ได้ง่ายนัก จึงได้นำระบบสารสนเทศมาสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านการศึกษาระดับพื้นที่ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘แอปพลิเคชัน Thailand Zero Dropout’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา และยันยืนการมีตัวตนอยู่จริงและมีความต้องการความช่วยเหลืออย่างไร โดยการทำงานของแอปฯ ออกแบบเพื่อช่วยงานบริหารจัดการข้อมูลใน 3 ด้าน ดังนี้ 

  1. การสำรวจ สำรวจเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา
  2. การวางแผน วางแผน ดูแลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา
  3. การติดตาม ติดตามเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา

แนวทางการค้นหาและติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา:

• ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และอื่น ๆ  เพื่อค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

• จัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้สามารถติดตามเด็กที่อยู่ในความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำข้อมูลทุก ๆ ภาคเรียน

• ส่วนกลางกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดตั้งทีมติดตามเด็กกลับมาเรียน เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างคล่องตัว

ปัญหาปากท้อง = ต้องออกไปหางานทำ = เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

เพราะความยากจนทำให้เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ (ป.1 – ม.3)  กลางคันเพื่อไปทำงานช่วยเหลือครอบครัว ทำให้พวกเขาขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะวิชาชีพ กุญแจสำคัญที่ลดปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้คือ ‘ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีตาข่ายรองรับ’  เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียน ได้พัฒนาทักษะชีวิต เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หลุดพ้นจากความยากจน 

‘ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น’  คือการศึกษารูปแบบไหนทำไมถึงใช้เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้ ?

คุณเด่น พัฒนะพงษ์ ได้เกริ่นให้เห็นภาพเรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้เปิดแนวทางการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โอกาสการเรียนรู้ที่หลากหลายไว้ว่า นอกเหนือจากรัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราจึงเห็นโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น เช่น บ้านเรียน (Home School) ศูนย์การเรียน องค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาจัดการศึกษา ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ที่มีมากขึ้นกว่าโรงเรียนที่จัดการศึกษาเป็นหลัก เราพยายามทำเรื่อง Zero Dropout  ออกแบบแพลตฟอร์มการเรียนที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียน ให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เทียบโอนวุฒิการศึกษาและได้รับใบรับรองคุณวุฒิเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพได้และมีอิสระในการเรียนรู้ที่กว้างมากขึ้น”

‘ราชบุรีโมเดล’ นำร่องนวัตกรรมเรียนรู้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ 

ในพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิตจังหวัดราชบุรี หรือที่เรียกว่า ‘ราชบุรีโมเดล’ นี้ กสศ.วางบทบาทการทำงานเอาไว้ 3 โจทย์สำคัญ คือช่วงตั้งต้นปีแรก ในปี 2565 เน้นไปที่การ

 1.)  ‘ฟื้นฟูโอกาส’ ซึ่งเวลานั้นอยู่ในช่วงหลังวิกฤตโควิด 

 2.)  สร้างโอกาสและหลักประกันการศึกษา เช่น การให้ทุน ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ

 3.)  การฟื้นฟูโรงเรียน ให้มีโอกาสจัดการศึกษาที่ต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด

ความสำเร็จของโครงการ เชิงโครงการ:  ลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เชิงกระบวนการ : พัฒนาคุณภาพการศึกษาและความสามารถของเด็ก เชิงการเมือง :  สร้างเครือข่ายการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของชุมชน 

ความร่วมมือของหน่วยงานภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม

“เพราะปัญหาเรื่องรายได้ทำให้เด็ก ๆ ต้องหลุดจากระบบการศึกษา สำหรับเด็กฐานะยากจนการเรียนเพื่อมุ่งเป้าสู่มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่ายนัก การสร้างรายได้ระหว่างเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับทั้งภาคธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย (SMEs) ที่ใช้ทรัพยากรในพื้นที่นำมาสร้างการเรียนรู้พร้อมทั้งสร้างรายได้ ยกตัวอย่าง กองทุน ‘ก.กกบึงกาฬ สานสัมพันธ์ชุมชน’ ที่เป็นแนวคิดการพัฒนาของจังหวัดบึงกาฬที่เป็นเมือง ‘สร้างคน สร้างเมือง สร้างรายได้’ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ ก.กก บึงกาฬ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับผู้เรียน” คุณเด่น พัฒนะพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติม

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ‘ราชบุรี Zero Dropout’  ได้ช่วยเหลือเด็กตั้งแต่อายุ 6 – 24 ปี ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 8,769 คน ผ่านโครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ (การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย) ครอบคลุมทั่วจังหวัดราชบุรีทั้ง 350 โรงเรียนสังกัด สพฐ. 3 เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นทั้ง 10 อำเภอ พร้อมกลไกสหวิชาชีพทุกหน่วยงานและอาสาสมัครสามพลัง (อสม. อพม. และอาสาสมัครการศึกษา) กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด”

ขยายแผนงานสู่ 25 จังหวัด

คุณเด่น พัฒนะพงษ์ เล่าถึงการขยายพื้นที่การทำงานไปสู่พื้นที่ผ่านศึกษาธิการจังหวัด 25 จังหวัด ได้จัดประชุมแผนงาน Thailand  Zero Dropout โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กนอกระบบการศึกษาเป็น 0 ในปี  พ.ศ.2570 โดยมี 4 มาตรการการขับเคลื่อน ได้แก่

  • การจัดทำฐานข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ทุกหน่วยงานจะสามารถนำไปใช้อ้างอิงและทำงานต่อได้โดยใช้ข้อมูลตั้งต้นจากเด็ก 1,020,000 คน ผ่านแอปพลิเคชัน Thailand Zero Dropout เป็นเครื่องมือในการทำงาน 
  • การช่วยเหลือในทุกมิติของปัญหา ทั้งเรื่องการศึกษา ปัญหาปากท้อง และสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ 
  • การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น  การศึกษาเฉพาะบุคคลตอบโจทย์ข้อจำกัดความต้องการและศักยภาพของเด็ก เช่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ,  ศูนย์การเรียน โรงเรียนมือถือ หรือการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และการเทียบโอนหน่วยกิตผ่านระบบเครดิตแบงก์ 
  • การใช้มาตรการด้านภาษี จูงใจภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ไปพร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพสร้างรายได้ตามแนวคิด Learn to Earn 

เพราะการศึกษาเป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ

การทำงานไม่สามารถเกิดผลสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือและแผนนโยบายจากภาครัฐที่กระจายโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กไทยทุกคน โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 373/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ ปัจจุบัน Thailand Zero Dropout ได้พาเด็กและเยาวชนกลับเข้าระบบการศึกษาแล้ว 139,690 คน คิดเป็น 13.6% ของจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 1.02 ล้านคน แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักแต่ในอนาคตด้วยการทำงานอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ระดมสรรพกำลังเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการศึกษาด้วยความมุ่งมั่น ทั้งการลดความยากจน การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์กับบริบทความต้องการ โอกาสทางวิชาชีพด้านต่างๆ เชื่อว่าตัวเลขของเด็กและเยาวชนจะกลับเข้าระบบการศึกษา และอีกหมุดหมายในปี พ.ศ. 2570 จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะลดลงเหลือ  0   คน อย่างที่หลายฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายไว้ 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: 

11 หน่วยงาน MOU เดินหน้า Thailand Zero Dropout

https://www.eef.or.th/news-280624

Thailand Zero Dropout

https://thaizerodropout.eef.or.th

การศึกษาที่ยืดหยุ่น

ThaiPBS Policy Watch

https://policywatch.thaipbs.or.th

 9,940 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า