ข้อมูลการศึกษาจากจังหวัดสุรินทร์
ทิศทางความต้องการกำลังคนในจังหวัดสุรินทร์ ต้องการกำลังคนที่มีทักษะและคุณภาพมีศักยภาพในการพัฒนาในมิติสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงของจังหวัดจะเกิดความยั่งยืนได้ต้องมาจากคุณภาพของกำลังคน เริ่มต้นการเสวนาด้วยมุมมองจาก ดร.วราภรณ์ บุญเจียม รองศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาความต้องการกำลังคนจากรองศึกษาธิการจังหวัด โดยมีหน้าที่บูรณาการการศึกษาในมิติของหน้าที่ตามกระทรวงสั่งการ และงานเชิงบูรณาการเชิงแผนด้านเป้าหมายที่สำคัญในเชิงพื้นที่ (Area-based) แผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัดและแผนปฏิบัติการที่เน้นการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัด ให้เป็นเด็กเก่งแบบสุรินทร์
▪ ภาพรวมของหน่วยงานการศึกษาจังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 3 เขต
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 1 เขต
สถาบันอาชีวะ 8 แห่ง
นักเรียน 270,000 คน
โรงเรียน 1,456 แห่ง เป็นขนาดเล็กจำนวน 649 โรงเรียน
ครู 16,000 คน
▪ วิสัยทัศน์ 2566 – 2570 ของจังหวัดสุรินทร์
- คนสุรินทร์ทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพภายใต้พหุวัฒนธรรม
- ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- มีทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
▪ ความท้าทาย
เป้าหมายสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ – สายสามัญ 55-45 แต่ปัจจุบันมีผู้เรียนสายอาชีพเพียง 27%
▪ สภาพเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา Learning Loss มองภาพใหญ่ในจังหวัดการศึกษาทุกระดับในพื้นที่ในมิติที่ขับเคลื่อน แต่หน้าที่หลัก ๆ สำนักงานศึกษากำกับสถานศึกษาเอกชนจำนวน 10 แห่ง ในส่วนอื่น ๆ ทาง ศึกษาธิการเป็นผู้บูรณาการรวบรวมประสานงานกับยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ 6 กระทรวง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กออกจากระบบ นั้นเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจจากการวิเคราะห์ปัญหาที่ผ่านมาต้องจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตามพระบรมราโชบายแห่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางการศึกษาเรื่องการมีอาชีพการมีงานทำ จะทำอย่างไรให้เยาวชนรักการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง ครอบครัวได้ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งบริบทปัญหาของสุรินทร์คล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่กระบวนการแนะแนวการเข้าโรงเรียนใหญ่ ๆ ส่งเสริมเวทีประชาคม การมีหลักสูตรเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่โรงเรียนขยายโอกาสก่อน ที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน เพราะหลักสูตรของ สอศ. กับ สพฐ. บางตัวยังไม่เชื่อมโยงกัน ทางหน่วยงานจังหวัดพยายามขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะเน้นการคิดวิเคราะห์ แต่ต้องรอให้ สพฐ. ประกาศ ซึ่งตอนนี้ยังไปไม่ถึงในขั้นนั้น การดำเนินการตอนนี้นั้นใช้การบูรณาการเชื่อมโยงไปที่เป้าหมายโรงเรียนขยายโอกาสก่อน ส่วนการเรียนเพื่อวิชาชีพนั้นเป็นการสนับสนุนการมีทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
เมื่อพูดถึงผลการสอบมาตรฐานระดับชาติของ สพฐ. นั้น เด็กจังหวัดสุรินทร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นั้นทักษะภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิชา คณิต อังกฤษ วิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีแค่วิชาภาษาไทยที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งผลคะแนนวิชาเหล่านี้สะท้อนทักษะขาดการคิดวิเคราะห์ เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องส่งเสริม ทำให้ต้องเปลี่ยนระบการเรียนเปลี่ยนวิธีการสอน โดยเฉพาะครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ที่จะเป็น Key Man หลักไปช่วยแนะนำผู้บริหารและคณะครูซึ่งต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างเข้มแข็ง
สถาบันหลักเช่นครอบครัว ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้
ในมุมมองภาคเอกชนโดย นายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานสภาหอการค้าจังหวัด
ได้กล่าวเริ่มต้นว่ามีโอกาสได้ขับเคลื่อนการศึกษาในหลายภาคส่วนทั้งที่ปรึกษาโรงเรียน หน้าที่สภาหอการค้าส่วนกลางทำหน้าที่ connect the dot ส่วนหอการค้าจังหวัดทำหน้าที่ขับเคลื่อน การค้า การเกษตร การท่องเที่ยว ด่านชายแดน และโอกาสสำคัญคือด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ให้พัฒนาไปถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายได้
ความท้าทาย
จากสถิตินักศึกษาจบใหม่ตกงาน 60% ทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ภาคธุรกิจจึงกำหนดความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้ต้นทางโรงเรียนและสถาบันเปลี่ยนแปลงแนวทางการเรียนการสอนเพื่อให้การผลิตแรงงานสู่ตลาดได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งความต้องการแรงงานในจังหวัดสุรินทร์นั้นเน้นสายอาชีพ ซึ่งเมื่อดูปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่นั้นมีปัญหาหลัก ๆ ที่พบดังนี้
- การเรียนไม่ตรงตามต้องการของตนเองทำให้เสียโอกาสในหลายด้าน ได้เแก้ปัญหาโดยจัดงาน “เปิดบ้านวิชาการ Open House” เพื่อให้ไปศึกษาดูว่าสิ่งที่อยากจะเอนทรานซ์เข้าคณะ นั้นตรงกับความชอบหรือไม่ ด้วยจังหวัดสุรินทร์นั้นมีศักยภาพด้านสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นในด้านการแพทย์ การเกษตร เทคโนโลยี ที่สามารถรองรับความต้องการของผู้เรียนได้
2.ทักษะแรงงานที่ภาคเอกชนต้องการประกอบด้วย 4 ทักษะ
2.1 ทักษะภาษาอังกฤษ
2.2 ทักษะ Digital
2.3 ทักษะเชิงวิพากษ์ การคิดวิเคราะห์ปัญหาได้
2.4 ทักษะ Soft Skills เช่น การทำงานเป็นทีม
ด้านสภาหอการค้าจังหวัดได้เสนอเรื่องวิถีการเกษตร “ภูมิปัญญาคืนถิ่น” แนวทางเกษตรที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าได้หลายอย่าง เช่น สินค้าการเกษตรที่มีความเฉพาะทางเป็น Niche Market ที่สร้างรายได้ต่อเดือนสูงหลายหมื่นบาท แต่ปัญหา จะเปลี่ยนมายด์เซ็ตของคนรุ่นใหม่อย่างไร ที่จะทำให้มองเห็นช่องทางการเกษตรมูลค่าสูง เมื่อมองกลับไปที่ผู้ปกครองเด็กก็พบว่าเน้นการส่งลูกหลานไปเรียนเมื่อจบก็ให้หางานทำ อย่ามาทำงานเกษตรลำบากแบบพ่อแม่ ซึ่งต่างจากเกษตรกรชาวจีนที่ส่งให้ลูกไปเรียนเกษตรแล้วกลับมาใช้ความรู้ที่เรียนหรือเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรของครอบครัว
นายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ แชร์ประสบการณ์ด้านการทำงานกับโรงเรียนวาณิชย์นุกูล โรงเรียนประถมศึกษาเอกชนที่ตนเป็นกรรมการบริหารโรงเรียนที่ทำให้โรงเรียนเติบโตอย่างก้าวกระโดดผิดจากบริบทของโรงเรียนเอกชนอื่นที่มีขนาดเล็กลงและจะออกนอกระบบมากขึ้นเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่โรงเรียนในจังหวัดอื่นมาดูศึกษาดูงาน
จาก 4-5 ปีก่อนจากโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 300-400 คน ขยายมาเกือบ
1,800 คน ได้อย่างไร
นายวีรศักดิ์ ได้เล่าว่าเริ่มต้นจากเป็นคนในพื้นที่เรียนชั้นประถมศึกษา – มัธยมศึกษา จึงเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อได้มาเป็นกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนที่ลูกของตนเองเรียนอยู่ ก็อยากพัฒนาให้ดีเพื่อลูกและลูกหลานในอนาคตมากกว่าทำเพื่อตนเอง
เริ่มต้นจากการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาตามบริบทโรงเรียน
ข้อดี งบประมาณของโรงเรียนเอกชนอยู่ในสมาคมโรงเรียน จึงวางแผนโครงการส่งเสริมโรงเรียนที่ชื่อว่า “วาณิชย์เข้ม” เพื่ออุดช่องว่างการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็น 2 วิชาที่เด็กในโรงเรียนยังอ่อน ได้เชิญติวเตอร์ระดับจังหวัดมาสอนนักเรียนทุกคนในโรงเรียนไม่มีเลือกปฏิบัติ ในช่วงปีสองปีแรกก็ประสบความสำเร็จ
แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา
ปัญหาคือระดับความรู้ของเด็กในห้องเรียนเดียวกันไม่เท่ากัน จึงนำปัญหานี้มาแก้ไขเปิดเป็น “โครงการช้างเผือก” คัดเลือกเด็ก ประถม 4-6 ที่มีความสามารถเท่ากันมาอยู่ในห้องเดียวกันโดยผ่านการทดสอบกลางของโรงเรียนเพื่อคัดทักษะวิชาของเด็ก เพื่อหาเด็กที่มีทักษะใกล้กัน 40 คน เพื่อติวเข้มเข้าเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียนสิรินธร
นอกจากวิชาการแล้วยังส่งเสริมเรื่องความรักในสถาบันทุกคนในวาณิชย์นุกูลเป็นพี่น้องกันไม่แบ่งแยกฐานะ
อีกหนึ่งปัญหาคือนักเรียนทานอาหารกลางวันยาก จึงเกิดโครงการอาหาร 30 วัน 30 เมนู เพื่อให้เด็กทานอาหารที่โรงเรียนได้หลากหลาย และเน้นเชื่อมโยงกับโครงการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐในสุรินทร์
บทบาทหน้าที่สภาหอการค้ากับการสนับสนุนโรงเรียนภาครัฐ
ในส่วนของหอการค้าที่เข้าไปช่วยกับภาครัฐและเอกชนโดยจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือโรงเรียนขนาดกลางที่ขาดโอกาสได้ ได้ไปดูโมเดลของ จ.เชียงใหม่ ตอนเช้าเรียนวิชาการ ตอนบ่ายไปเรียนวิชาชีพ ทำไมโมเดลนี้สุรินทร์จะทำอย่างนั้นไม่ได้ พยายามสร้างโรงเรียนต้นแบบที่เป็นตัวอย่างการศึกษาวิชาการและวิชาชีพได้ โดยมองหาอาชีพที่ตลาดต้องการโดยใช้องค์ความรู้ชุมชนและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่
“การแก้ปัญหาการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง
ทุกหน่วยงานต้องประสานงานกันเพื่อขับเคลื่อนมิติการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”
รศ. ดร. เยาวนารถ พันธุ์เพ็ง
รศ. ดร. เยาวนารถ พันธุ์เพ็ง ได้กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญการศึกษา สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ถ้าจะให้เกิดมิติของการศึกษาเปลี่ยนแปลง ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ต้องมีเวลามาแลกเปลี่ยนหาวิธีการแก้ปัญหาไปด้วยกัน กล่าวถึงในมุมของท่านวีรศักดิ์ ประธานหอการค้า ฯ ได้พูดถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษที่จะช่วยพัฒนาจังหวัดได้ ซึ่งทักษะไม่ใช่แค่สำคัญเฉพาะสุรินทร์แต่เป็นทักษะที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทักษะที่สำคัญระดับประเทศไทยที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ในระดับนานาชาติ
ส่วนในมิติของทักษะของดิจิทัลสิ่งที่เด็กใกล้ชิดเด็กในปัจจุบันใช้เป็น แต่เกิดคำถามว่าแล้วรู้เท่าทันหรือเปล่า เมื่อไม่สามารถห้ามได้แต่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างไรว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ต้องหนุนเสริม
บทบาทของครูที่ต้องเปลี่ยนไม่สามารถสอนแบบให้ความรู้อย่างเดียวได้แล้ว ครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา แนะนำนักเรียนได้ ด้าน Soft Skills ทักษะสำคัญเด็กต้องได้รับการเติมเต็ม ทั้งด้านจริยธรรม ทักษะการใช้ชีวิต ความกตัญญู และความซื่อสัตย์ที่จะเป็นทักษะในการดำเนินชีวิต
เมื่อมองศักยภาพของสุรินทร์ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทอย่างยิ่งที่ให้เด็กค้นหาตัวตนโดยมีแผนด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศึกษาธิการ สพป. สพม. ที่เข้ามามีส่วนร่วมที่ดูแลโรงเรียนรวมทั้งมี อบจ. และสภาหอการค้าจังหวัดเป็นกำลังในการประสานในเรื่องของธุรกิจ ภาคนักวิชาชีพ สุรินทร์จึงจัดเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้ปากท้องของชาวสุรินทร์ดีขึ้น
“เด็กสุรินทร์มีคุณธรรม เก่ง ดี มีงานทำ”
คุณเพียง นิจิตตะโล
ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์นั้นใช้ “แผนการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่ได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2558 และมีการปรับแผนเพื่อดำเนินการฉบับ 3 เพื่อพัฒนาต่อในปี 2566-2570 โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 5 ด้านคือ
1. พัฒนาด้านสติปัญญา เน้นพัฒนาเด็กที่มีความเป็นเลิศโดยเฉพาะ
2. พัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม และด้านศิลปะต่าง ๆ
3. พัฒนาด้านพลศึกษา สุขภาพ
4. การพัฒนาด้านอาชีพ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด
5. พัฒนาทักษะชีวิตให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยไม่หลงผิดไปกับสิ่งเร้าต่าง ๆ โดยมีวิสัยทัศน์ของจังหวัดคือ “มีคุณธรรม เก่ง ดี มีงานทำ”
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีบทบาทประสานแผนงานองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นของตัวเองทั้งหมด 172 แห่ง เพื่อส่งข้อมูลให้ทางศึกษาธิการจังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนในภาพรวมตามวิสัยทัศน์เดียวกัน ถึงแม้จะไม่ได้ดูแลโรงเรียนโดยตรง แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พัฒนาครูแนะแนวเพื่อการเติมเต็มทรัพยากรการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ขาดรวมถึงดูแลความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปด้วย โดยทำตามอำนาจหน้าที่ที่จะทำให้ครบลูปการศึกษาได้ ส่วนนโยบายใดที่ดำเนินการไม่ได้เองก็อาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายนอกจังหวัด เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ในด้านงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเยาวชนปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมและการศึกษาเพื่ออาชีพ เพื่อให้มีเด็กมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีทักษะด้านอาชีพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
โดยแผนการยุทธศาสตร์มุ่งเน้นเด็กที่หายไปออกจากระบบกลางคันสูงมากถึง 15,000 คน และจากสถิติในปี 2565 จังหวัดสุรินทร์มีเด็กยากจนพิเศษเป็นอันดับ 7 มีจำนวนถึง 49,500 คน
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทำให้หลุดจากระบบการศึกษาก็มีมาจากทั้งเรื่องอุปนิสัยของตัวเด็ก และปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว แนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อการติดตามค้นหาช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบกลางคันนั้นร่วมกับปัญจภาคีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง คนในท้องถิ่นจะทราบดีว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะไปรวมตัวที่ไหน กันบ้าง แนวทางในการช่วยเหลือจัดค่ายเพื่อให้เด็กค้นหาตัวเองประมาณ 3 วัน 2 คืน สร้างพื้นที่ความไว้วางใจให้เด็กสามารถพูดคุยกับทีมช่วยเหลือได้ หากยังอยู่ในวัยเรียนจะโน้มน้าวให้เด็กกลับเข้าระบบ หรืออยากฝึกอาชีพก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ โดยมีทีมนวัตกร 3 กลุ่มของกองทุนเพื่อความเสมอภาคที่มาดูแลปัญหา 1) ยากจน 2) ปัญหาในการเรียนรู้ 3) ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เข้ามาช่วยมาเติมเต็ม เสริมทักษะอาชีพเป็นผู้ประกอบการจำนวน 75 ชั่วโมง เช่น ซ่อมแซมจักรยานยนต์ และทักษะอาชีพออนไลน์ ซึ่งแต่ละปีช่วยเด็กได้จำนวนแค่หลักสิบคนจากจำนวนเด็กที่หลุดกลางคันเป็นหมื่นคน แต่ก็คิดว่าคุ้มค่ามากกว่าที่จะปล่อยให้หลุดไปโดยไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
ต่อเนื่องจากเวทีเข้าสู่ช่วงที่ 2 การปรับตัวของการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ไปสู่การพัฒนากำลังคน
รศ. ดร. เยาวนารถ พันธุ์เพ็ง กล่าวในช่วงแรกถึงมิติที่หน่วยงานการศึกษาจะขับเคลื่อนของการศึกษา ในด้านมุมมองเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนโดยใช้ความรู้เป็น ใช้เพื่อพัฒนาความทักษะความสามารถให้ทำงานเป็น ทำงานได้ แล้วในหน่วยของโรงเรียนจะปรับตัวอย่างไร ?
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ชี้ประเด็นเรื่องมุมมองการปรับตัวของการศึกษาของโจทย์สำคัญของการพัฒนากำลังคนของสุรินทร์ นั้นเป็นเรื่องทักษะสำคัญ ด้านภาษาต่างประเทศ ทักษะดิจิทัล ทักษะคิดวิเคราะห์แยกแยะแก้ปัญหา ทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการทำงานบนพื้นฐานของความรู้ด้านวิชาการของภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นพื้นฐานในการต่อยอดทักษะด้านต่าง ๆ เป็นเป้าหมายที่หน่วยงานการศึกษาจะต้องนำมาขบคิดว่าโรงเรียนและคุณครูจะปรับตัวอย่างไรให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อใช้ทำงานได้
ดร.สุเทพ แปลงทับ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา ได้กล่าวถึงการปรับตัวโรงเรียนได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลและมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต สิ่งที่โรงเรียนปรับตัวคืออย่างแรก ผู้อำนวยการ ต้องให้ความสำคัญของทักษะองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ทันกระแสสังคมการศึกษา อย่างที่สอง สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองเพื่อสร้างคุณค่าเนื้องานของการศึกษาทำงานเพื่อพัฒนาโรงเรียนและคุณภาพการศึกษาโดยก้าวข้ามขีดจำกัดด้านขนาดโรงเรียน อย่างที่สาม คุณธรรมและจริยธรรมต้องยืดหยุ่นและปรับตัวกับทักษะความรู้ใหม่ ๆ อย่าง PLC DE และปรับตัวพร้อมทำงานและทักษะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อพูดถึงการปรับตัวในบทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ยรรยง ผิวอ่อน พูดกล่าวกับการปรับตัวถึงปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นหมื่นคน และความต้องการด้านทักษะศักยภาพแรงงานในหลายทักษะ ถ้าจังหวัดสุรินทร์ไม่ปรับตัวจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา อีกทั้งพื้นที่การศึกษารอบ ๆ สุรินทร์ ทั้ง บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก็ต่างเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เน้นว่าอย่าเพิ่งไปแข่งขันกับใครให้แข่งกับตัวเองก่อน
“ครูเก่งจะทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพได้มากกว่า”
เมื่อพูดถึงการศึกษาจะมุ่งลงไปที่ Back to School ลงไปที่ห้องเรียนที่เป็นหน่วยเล็กสุดที่ปรับตัวได้ง่าย คือคุณครูต้องเริ่มต้นที่ปรับความคิด จะสอนแบบเดิมไม่ได้แล้วเพราะวัตถุประสงค์หลักสูตรได้เปลี่ยนไปจาก Knowledge Practice Attitude (เกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละแบบแผนการเรียนรู้) เป็น VASK ค่านิยม (Values) ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) ความรู้ (Knowledge) การทำงานและการประเมินผลบุคลากรทางการศึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย การทำงานของครูแบบเดิมไม่ได้แล้ว ครูต้องทำงานในห้องเล็ก ๆ กับเด็กให้มีคุณภาพ ผู้อำนวยการก็ต้องเข้ามาที่ห้องเรียนด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน สังเกต จัดกลุ่ม เปรียบ เทียบ จำแนก รวมข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล ให้เหตุผล คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสังเคราะห์ ทักษะเหล่านี้ทำได้หรือยัง ถ้ายัง ไม่ต้องมองไปไกลเอาแค่พื้นฐานตรงนี้ให้ได้ก่อนมาทบทวนสิ่งง่าย ๆ ก่อนถ้าไม่ปรับตัวจะลำบาก และในท้ายสุดเกณฑ์ PA จะบอกคุณครูและผู้อำนวยการทุกเรื่องว่าต้องทำอะไร
ดร.ยรรยง ได้เพิ่มเติมเรื่องทรัพยากรในจังหวัดสุรินทร์นั้นมีมากเพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ เพียงแต่ขาดการสื่อสาร ขาดการร่วมคิดร่วมทำ ขาดการแบ่งทรัพยากรร่วมกัน และที่สำคัญคือขาดการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ในฐานะกองหนุนที่มีคาบเกี่ยวกับการทำงานหน้างานของทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย เป็นการทำงานที่ต้องให้หน่วยงานหลักรับรู้เรื่องด้วย ใน 4 ปีของการหนุนเสริมทั้งแรงและงบประมาณ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนผ่านโครงการ TSQP ใน 6 มาตรการ ของ กสศ. ซึ่งก็ได้เห็นโรงเรียนเกินครึ่งได้ขับเคลื่อน จึงชวนโรงเรียนมา Movement ต่อเพื่อเดินหน้าพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อ ถ้ามองภาพเป็น 2 in 1 ถ้าโรงเรียนจับจุดได้จะขับเคลื่อนไปได้พร้อมกับเพื่อน ๆ ที่เป็นเครือข่าย
สุดท้ายแล้ว กสศ. อยากเห็นอย่างที่ท่าน ดร.ยรรยงได้กล่าวก่อนหน้าว่า ให้ชวนกันไปดูที่โรงเรียน ดูฝีมือของผู้อำนวยการต้องไปดูระบบโรงเรียน ฝืมือครูไปดูที่ชั้นเรียนที่สะท้อนการพัฒนาผ่านผลการวัดของเครื่องมือประเมินว่า VASK ได้จริงหรือเปล่า เมื่อมองย้อนกลับไปดูการศึกษาไทยก่อนหน้าเน้นตัว K (Knowledge) แล้วพอช่วงเน้น S (Skills) ก็ให้เด็กฝึกทักษะอาชีพในโรงเรียน พอโลกเน้นโปรแกรมเมอร์ก็อัดอุปกรณ์ทันสมัยมากมาย พอเน้นความเป็นเลิศด้านกีฬาก็ให้เด็กฝึกกีฬา แต่พอมาช่วงนี้เจอ Developmental Evaluation (DE) ของสยามกัมมาจลที่ชวนมองต้นทุนทรัพยากรในท้องถิ่น ทักษะ Skill ที่เด็กควรจะอยู่รอดได้ควรจะเป็นในเรื่องการหันมามองใกล้ ๆ ชุมชนในเรื่องทรัพยากร ที่ทาง กสศ. ก็มองว่ามาถูกทางในเรื่องนี้เหมือนกันและต้องอาศัยผู้รู้จริงในเรื่องนั้นมาชี้แนะ เรื่องทัศนคติ (Attitude) ที่ต้องมองตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเชื่อว่าทำได้ มีแรงบันดาลใจและส่งต่อให้เพื่อนครู และผู้ปกครองและโรงเรียนมีความใกล้ชิดและมีส่วนร่วมกันมากขึ้น
โจทย์ที่โรงเรียนกำลังจะวัดเด็กให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ สิ่งที่ตัวเองเป็นเด็กเห็นคุณค่าตัวเองมากน้อยแค่ไหน ในส่วนนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ต้องมาคิดกันต่อ สอดคล้องกับสิ่งที่ครูทำเห็นคุณค่า ผู้อำนวยการทำแล้วเป็นคุณค่าในสิ่งที่ทำหรือไม่ จึงต้องใช้องค์ความรู้เครื่องมือด้านต่าง ๆ ที่ได้ผลจากการทดลองและทั้งจากต่างประเทศเข้ามาช่วยมานำเสนอว่าโรงเรียนสนใจร่วมมือกันไหม
ในด้านกำลังคน กสศ. มีเจ้าหน้าที่เพียง 93 คน ซึ่งไม่สามารถผลักดันไปในระดับประเทศได้ สิ่งที่ กสศ. ทำอยู่เป็นกองหนุนเสริมปลายทางของหน่วยงานต้นสังกัดระดับประเทศที่ได้ดำเนินการอยู่ กสศ. จะไม่ทำงานซ้ำซ้อน แล้วจะทำอย่างไรให้ระดับข้างล่างเกิดผลจนขยายเป็นนโยบายระดับประเทศได้ สิ่งนี้เป็นคำตอบว่าถ้าจะ Implement อะไรลงไปในพื้นที่ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างก็พยายามทำสิ่งนี้ในช่วย 4 ปีที่ผ่านมากับโรงเรียนและมองไปถึงอนาคตด้วย
มองไปที่บทบาทเครือข่ายหนุนเสริม รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต แลกเปลี่ยนในมุมของ
มูลนิธิที่ทำงานร่วมกับสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยเน้นไปที่เรื่องของนวัตกรรมที่จะเสริมหนุนให้กับพื้นที่โดยแบ่งกลุ่มนวัตกรรมออกเป็น 4 กลุ่มนวัตกรรม
- กลุ่มนวัตกรรมที่เป็นคานงัดสำคัญของการเปลี่ยนและทรานส์ฟอร์มการศึกษา นวัตกรรมด้านการประเมิน โดยที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงกลไก แต่จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การประเมินชัดเจน สะดวก สอดคล้อง และครอบคลุมกับตัว VASK มากขึ้น เช่น เทคโนโลยีในรูปแบบการคิด หรือเครื่องมือเชิงกระบวนการต่าง ๆ
- กลุ่มนวัตกรรม/กระบวนการที่กระตุ้นการ Active กับสมอง
- กลุ่มนวัตกรรมที่เน้นพัฒนาการโค้ชของครูเป็น การจัดโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นกระบวนการที่ทำให้ครูมีทักษะการเป็นกระบวนกร (Facilitator) มากขึ้น
- กลุ่มนวัตกรรม/กระบวนการ เครื่องมือเหนี่ยวนำหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการ ที่เหมาะสำหรับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ที่ทำให้เกิดนิเวศทางการเรียนรู้
บทบาทของมูลนิธิยึดนั้นถือหลักที่สำคัญนั้นเน้นการทำงานแบบเป็นคลินิกที่รับปรึกษา พื้นที่ไหนอยากปรึกษาก็ยินดี (Demand pull) จะไม่มีการทำงานที่มูลนิธิอยากทำแล้วนำไปบังคับกับทางหน่วยงานพื้นที่ทำ (Supply push) พอมาทำงานจึงทำให้เห็นว่าสิ่งที่สุรินทร์ต้องการนั้นมีอะไรบ้าง ก็พบว่าความต้องการของสุรินทร์สอดคล้องกับนวัตกรรมที่กำลังเตรียมไว้
ในมุมของเครือข่ายแล้วมูลนิธิแล้วนั้นไม่ได้มีนวัตกรรมที่ครอบคลุมกับทุกบริบทความต้องการ หลังจากที่หลาย ๆ โรงเรียนได้มาศึกษานวัตกรรม และลองนำไปใช้เพื่อค้นพบว่านวัตกรรมไหนเหมาะกับบริบทโรงเรียน และมีถึงขั้นที่บางโรงเรียนที่นำนวัตกรรมจากค่ายนั้นค่ายนี้มาผสมกันจนเกิดเป็นนวัตกรรมของตนเอง
ระยะแรกสำหรับโรงเรียนที่ยังหาวิถีของตนเองยังไม่เจอ ยังสร้างนวัตกรรมของตนเองไม่ได้ สามารถเข้ามาคุยมาพบพานกัน มูลนิธิทำหน้าที่ช่วยเหลือที่เป็นได้ทั้งผู้ถ่ายทอดนวัตกรรม (Provider) และเป็นได้ทั้งที่ปรึกษา (Consultant) แต่หลังจากที่ลงมือพัฒนาไปสักระยะโรงเรียนควรสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ เมื่อนำนวัตกรรมไปใช้จนประสบความสำเร็จโรงเรียนก็ต้องยินดีที่นำเสนอนวัตกรรมของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนอื่นในเวทีระดับต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
คุณปิยภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล นั้นมองเห็นภาพจังหวัดสุรินทร์ที่มีทั้งความแข็งแรง ความงดงาม และสารพันปัญหาเยาวชน จากประสบการณ์การทำงานในชุมชนพื้นที่สุรินทร์อย่างต่อเนื่องมา 20 ปี รู้จักคนสุรินทร์ มีงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้าไหมน้อย ที่มีความงดงาม ผลิตทางการเกษตร-ปศุสัตว์ หลากหลายสมกับเป็นเมืองแห่งอาหารที่เป็นทุนของสุรินทร์ ในด้านการพัฒนาเยาวชนคุณปิยภรณ์เคยได้เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องเด็กแว้นกวนเมืองให้กลายเป็นผู้ประกอบการขายไข่โดยการใช้การเปลี่ยนแง่ลบเป็นพลังบวก
ชวนทุกคนมามองสุรินทร์
ย้อนไปถึงคำกล่าวบนเวทีของคุณวีรศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ คุณเพียง ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ดร.วราภรณ์ รองศึกษาธิการจังหวัด พูดถึงโจทย์ของสุรินทร์ เมื่อมองย้อนกลับไปการพัฒนาการศึกษาในสมัยก่อนและปัจจุบันต่างกันมากในเรื่องของ ‘เวลา’
‘เวลา’ ในที่นี้หมายถึง เวลาการผลิตนักศึกษาสู่ตลาดแรงงาน ในอดีตระยะการศึกษาและการฝึกทักษะยังทันกับความต้องการของยุคสมัย แต่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทด้านแรงงานเวลาในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ “สั้นลง” เรื่อย ๆ
เกิดคำถามว่าจบปริญญาตรี ใน 40 ที่แล้วกับปัจจุบันก็ยังเกิดคำถามเหมือนเดิมว่า เรียนจบมาแล้วเก่งเรื่องอะไร แต่เวลาการค้นหาตัวเองแทบไม่มี เพราะโลกหมุนไปเร็วมาก แล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ระบบการศึกษาจะทำอย่างไร เมื่อการศึกษาออนไลน์เข้ามามีบทความในการเรียนรู้ครูจะตามทันได้อย่างไร การศึกษาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะวางแผนเพื่อพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร
อีกคำถามของคุณปิยภรณ์ ถึงค่านิยมการเรียนเพื่อจำความรู้ไปสอบนั้นเพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ คำถามมุ่งไปที่ผู้ประกอบการว่าต้องการแรงงานทักษะที่จบเกียรตินิยมหรือคนที่ทำงานและแก้ปัญหาได้ ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามว่าการสังคมการทำงานจริงต้องการคนที่ทำงานและแก้ปัญหาได้ แต่การศึกษากลับปั้นผู้เรียนที่เน้นท่องจำความรู้ กว่า 40 ปีที่ผ่านมาการเรียนการสอนแบบท่องจำเป็นความรู้ที่ 40-50 ปี มาสอนอยู่แต่ให้เอาไปใช้ในอนาคต จะได้ผลหรือไม่ ?
การเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะได้คือการเรียนรู้จากการทำงานและประสบการณ์จริง
เมื่อการเรียนเพื่ออาชีพเป็นเป้าหมายของพื้นที่สิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือการจับมือผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เพื่อปรับหลักสูตรใหม่เพื่อให้เกิดทักษะที่ต้องการ คุณปิยภรณ์ได้แลกเปลี่ยนเรื่องเล่าจากภาคเหนือถึงคุณครูบนดอยท่านหนึ่งที่สอนเด็กด้วยการเรียนรู้จากชุมชนว่ามีหญ้าชนิดหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้คนในชุมชนทำจักสานคุณครูก็เห็นจึงนำเรื่องนี้ไปสอนเด็ก แต่วิธีการนั้นแตกต่างจากเดิมการสอน แค่ทำเป็นไม่เพียงพอ เบื้องต้นตัวคุณครูไม่มีความรู้เรื่องนี้ คุณครูจึงไปเรียนรู้ทักษะวิชาทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองทั้งยูทูปและเข้าอบรมเท่าที่ทำได้ เพื่อนำกลับมาสอนลูกศิษย์ โดยให้นักเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ‘ตุ้มหู’ ของตนเองขึ้นมาโดยใช้เรื่องราวรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจเป็นแนวคิดการออกแบบ ให้วางแผนการขายสินค้ากับโครงการหลวง พร้อมให้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากที่ขายไม่ได้ให้ขายได้ โดยให้ฝึกคิดการ Value Added ซึ่งวิธีการสอนนี้เป็นการสอนแบบบูรณาการได้ทักษะทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ฝึกการ Critical Thinking จนกลายเป็นธุรกิจของโรงเรียนที่สร้างรายได้
และอีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าด้านบนเป็นการเรียนรู้แบบใหม่หรือไม่
ตัวอย่างครูบนดอยเป็นเรื่องการไม่ได้เปิดตำราสอน แต่เป็นการพัฒนาตนเองนำความรู้ไปออกแบบการเรียนเพื่อสร้างเงื่อนไขการจัดการเรียนรู้ หลังจากเรียนรู้แล้วครูไปถอดบทเรียนว่าแต่ละขั้นที่เรียนรู้นั้นนักเรียนได้เรียนรู้อะไร ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงเด็กเห็นคุณค่าของชุมชนและทำงานเป็นทีม แล้วจังหวัดสุรินทร์จะจัดการศึกษาไปในทิศทางใด หรือจะนำทุนผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นพัฒนาเพื่อการเรียนรู้จากตัวอย่างครูบนดอยด้านบน
“การศึกษาในพื้นที่พร้อมเปลี่ยนแล้วหรือยัง แล้วจะเปลี่ยนอย่างไร”
เป็นคำถามที่คุณปิยภรณ์ มัณฑะจิตร ได้ทิ้งท้ายไว้ให้ขบคิด
รศ. ดร. เยาวนารถ ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวของคุณคุณปิยภรณ์ ที่ได้ตั้งคำถามนั้นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น คนเราจะพัฒนาได้ต้องเกิดจากเรียนรู้จากการทำงานจริงประสบการณ์จริง แต่ว่าวันนี้เราต้องสร้างให้เด็กเรียนรู้เองได้เร็วเท่าไหร่ โดยที่ครู – โรงเรียน สนับสนุนเส้นทางหรือโอกาสที่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่ดึงเครือข่ายจากชุมชน ดึงเครือข่ายจากทรัพยากรต่าง ๆ ของจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม วันนี้เราเห็นเลยว่าสุรินทร์พร้อมมาก แต่สิ่งที่จะเป็นกระบวนการสำคัญคือเรื่องการสื่อสารที่จะทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมโยงกันอย่างไร ในขณะนี้ทุกท่านเป็นกำลังสำคัญของจังหวัดสุรินทร์เพียงขอให้คุณครูสะท้อนความต้องการหรือสื่อสารมาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั้งหอการค้า หน่วยงานชุมชนที่พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในพื้นที่ให้เกิดขึ้น
สรุปเนื้อหาจากพิธีเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาความต้องการกำลังคนของจังหวัดสุรินทร์ และ การปรับตัวของการศึกษาของจังหวัดสุรินทร์ไปสู่การพัฒนากำลังคน”
จาก “เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย”
วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องรัตนสุวรรณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์
รับชมการถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่
Writer
- Admin I AM KRU.
- เว็บไซต์ที่ต้องการให้เป็นเสมือนฟิตเนสพัฒนาศักยภาพครูผ่านเครื่องมือใหม่ ๆ