คณิตศาสตร์เพื่อทักษะชีวิต | ครูสมเกียรติ แซ่เต็ง

Share on

 10,096 

วันนี้แอดมิน I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอนมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมงานออกบูธโรงเรียนต้นสังกัดของครูนักออกแบบการเรียนรู้ด้านทักษะทางการเงินของ รายการครูสอนครู ในเทป ‘ครูตือ สมเกียรติ แซ่เต็ง’ หรือ ‘ครูตือสุดจ๊าบของเด็ก ๆ’ ที่วันนี้แท็คทีมครูและนักเรียนจากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด เดินทางมาเข้าร่วมเวที ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ เวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เปล่งแสงความสามารถที่พร้อมเข้าสู่พลเมืองที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

ปฐมนิเทศคาบแรกที่ได้รู้จัก

และเสนอแนวทางการเรียนรู้ระหว่างครูและผู้เรียน

มุมมองการจัดการห้องเรียน – ปฐมนิเทศกิจกรรมเล็ก ๆ แต่สำคัญ

ชั่วโมงปฐมนิเทศเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่หลายคนไม่ทันนึกว่า ชั่วโมงแรกที่ครูได้รู้จักผู้เรียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งแนวทางการออกแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ดีคือ ‘ห้องเรียนที่ออกแบบจากความต้องการของผู้เรียน’  ที่ครูตือ สมเกียรติ แซ่เต็ง ได้นำมาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในยุคที่การเรียนรู้ในห้องเรียนบางเรื่องไม่ตอบโจทย์ของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว เด็ก ๆ มีโอกาสได้เป็นผู้เลือกนิเวศที่เขาอยากเติมเต็มและเติบโต ครูควรพิจารณาดูว่ากลุ่มความต้องการที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มไหน เพราะการสอนเป็นการออกแบบเพื่อคนทั้งห้อง เพื่อนำความต้องการของเด็ก ๆ (กลุ่มใหญ่ แต่ต้องไม่ละเลยความรู้สึกของเด็กกลุ่มเล็ก) มาออกแบบการสอนว่า ครูต้องเน้นเนื้อหาหรือจะสอดแทรกเนื้อหาจากแหล่งอื่น ๆ อย่างไรเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่ กระบวนการเหล่านี้จึงถูกออกแบบให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียนและครูในคาบปฐมนิเทศ เด็ก ๆ จึงกลายเป็นผู้ได้เลือกนิเวศที่เขาอยากเติมเต็มและเติบโต โดยที่ครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ (Teacher as Designer) ให้เป็นไปตามความต้องการของยุคสมัยที่เด็ก ๆ เติบโตและเรียนรู้ 

ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ‘ทักษะการเงิน ที่การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง นำไปใช้ในชีวิตได้จริง’

ในห้องเรียนครูตือ เด็ก ๆ จะได้ทดลองเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการคิดแบบนักลงทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นและเข้าใจภาพรวมของธุรกิจในทิศทางเดียวกันและสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อปรับกลยุทธ์ต่อยอดให้กับธุรกิจที่ผู้เรียนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในหน้าที่ที่พวกเขาถนัดและได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อค้นพบศักยภาพของตนเองในห้องเรียน ครูตือมองว่า “ให้พวกเขาได้เรียนรู้ในห้องเรียนเต็มที่ ถ้าจะล้มเหลวก็ล้มเหลวได้เต็มที่เช่นกัน เพราะการล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องเกิดขึ้นสำหรับ คนที่ลงมือทำที่ต้องเจอความผิดหวังและเสียใจเป็นธรรมดา แต่ข้อดีของการล้มเหลวในห้องเรียน คือ พวกเขาล้มกี่ครั้งก็ได้ แต่เด็ก ๆ เขาจะไม่ต้องพบกับความเสียหายที่มากเหมือนกับสนามจริง เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ ได้สะท้อนคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันและทักษะการวางแผน การบริหารจัดการที่จะติดตัวไปใช้ออกแบบและวางแผนในเรื่องต่างๆ ในชีวิตด้วยความระมัดระวัง”

การวางแผนธุรกิจด้วย Business Model Canvas (BMC)

การเรียนวางแผนธุรกิจด้วย Business Model Canvas |  เรียนการเงินผ่านบอร์ดเกม

นอกจาก Business Model Canvas ที่นักเรียนจะต้องรู้เป็นพื้นฐานของการออกแบบธุรกิจแล้ว ทักษะการวางแผนการเงินก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะหากขาดการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ดีแล้ว ชีวิตอาจจะพบกับความล้มเหลวโดยไม่ต้องลงมือการทำธุรกิจแม้แต่น้อยก็ได้ ดังนั้นการให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการและการวางแผนที่ดีตั้งแต่ในห้องเรียนช่วยให้เขาสามารถวางแผนการเงินส่วนตัวและอาจสามารถแก้ปัญหาการเงินของครอบครัวได้

  1. สร้างความตระหนักเรื่องการเงิน เพราะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ระเบียบการเงินที่ดีเริ่มต้นที่การเรียนรู้การเงินในครัวเรือน เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย ค่าขนมมาโรงเรียน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัว  ค่าผ่อนบ้าน บัตรเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องการเงินใกล้ตัวที่สำคัญที่อาจหลงลืม และยิ่งปราศจากการบริหารจัดการที่ดี สามารถส่งผลกระทบการบริหารจัดการชีวิตได้เลย
  2. ออกแบบโจทย์การเรียนรู้ ครูเลือกโจทย์ที่ผู้เรียนสนใจ และใกล้ตัวพวกเขา เช่น เด็กอาจจะสนใจเรื่อง Cripto Currency ครูก็ต้องเลือกที่จะนำมาให้ศึกษาและออกแบบการเรียนรู้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนชี้ให้เห็นว่า Cripto Currency มีข้อดีข้อเสียอย่างไรเพื่อนำมาสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้านการลงทุนในเงินดิจิทัลให้กับผู้เรียน
  3. ใช้สื่อการเรียนรู้จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ อาจจะใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมคำนวณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น โปรแกรมคำนวณดอกเบี้ย ภาษี โปรแกรมรายรับรายจ่ายที่ให้ใช้ฟรี 
  4. วิเคราะห์ปัญหาธุรกิจและการเงิน อาจจะหยิบยกกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้น หรือหยิบประเด็นในปัจจุบันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนและสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินการลงทุนที่ถูกต้อง
  5. นำทางนักเรียนไปสู่ผลลัพธ์ ครูมีหน้าที่โค้ชเพื่อนำทางความรู้ให้ผู้เรียนไปสู่เป้าหมายการเรียนที่ตั้งไว้ 

“ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ที่ให้เด็กเรียนรู้ความล้มเหลวในห้องเรียนอย่างเต็มที่”

การเสริมทักษะการลงทุนฉบับครูตือสุดจ๊าบ

  1. นักเรียนต้องแยกให้ออกระหว่างการลงทุนและการพนันมีความแตกต่างกันอย่างไร กำไรขาดทุนคืออะไร สินค้าขายดีไม่ได้หมายความว่าขายแล้วกำไร นักเรียนต้องเรียนรู้จากตัวเลข เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ การบริหาร การตัดสินใจที่แม่นยำซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของนักลงทุน
  2. ฝึกวิเคราะห์ง่าย ๆ ผ่านบอร์ดเกม ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะการลงทุนที่ไม่สร้างความเสียหายจริงกับชีวิตเพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดว่าการลงทุนมีความเสี่ยงอย่างไรเพื่อสร้างประสบการณ์แบบไม่เจ็บตัวให้กับผู้เรียน
  3. เชื่อมโยงการลงทุนเข้ากับสาระวิชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูรณาการวิชาความรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ
  4. เพิ่มทักษะการลงทุน เพราะปัจจุบันการเรียนรู้ขยายขอบเขตที่กว้างมากกว่าพื้นที่ในโรงเรียน ที่มีทั้งองค์ความรู้การลงทุนจาก Podcast หรือมีเดียต่าง ๆ และทั้งหน่วยงานการลงทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มีองค์ความรู้ด้านการลงทุนเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ 
  5. ครูร่วมเรียนรู้ ครูสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนได้ตลอดกระบวนการ เพราะผู้เรียนแต่ละคนจะมีคำถามแตกต่างกัน คำถามที่ผู้เรียนถามนั้นจะเป็นสิ่งกระตุ้นครูให้เกิดการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

นอกจากการเรียนรู้ด้านทักษะการเงินในห้องเรียนแล้ว  อีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมที่น่าสนใจที่ทาง I AM KRU. อยากนำมาเสนอคือการสร้างและออกแบบนิเวศการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ รู้จักของดีในชุมชนที่ให้ทั้งคุณค่าและมูลค่า และการฝึกทักษะการเรียนที่ขยายตัวจากห้องเรียนมาสู่โลกของผู้ประกอบการ 

จุดเริ่มจากคำว่า Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันอุตสาหกรรมเชิงทุนวัฒนธรรมเพื่อการส่งออกคอนเทนต์ไทย ได้จุดประกายการเรียนรู้ของครูและเด็ก ๆ ที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม พวกเขาได้ลงมือสำรวจของดีเชิงทุนวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของชุมชนตนเองว่ามีสิ่งใดน่าสนใจ ที่สามารถอนุรักษ์สืบสาน ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

ครูตือ สมเกียรติ แซ่เต็ง บนเวทีแลกเปลี่ยนโรงเรียนปล่อยแสง | Blossom Day

บ้านฉันมี(กฤษณา)ดี  ต้นกฤษณาของดีที่ชุมชน โครงการที่เด็ก ๆ ชวนทุกคนมารู้จัก ‘ไม้กฤษณา’ พืชสมุนไพรพันธุ์ดีหากยากของชุมชน ตามข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่ปลูกไม้กฤษณาคุณภาพดีมากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมากถึง 4,746 ไร่ และมีโรงงานสกัดน้ำมันกฤษณา กว่า 30 แห่ง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด และหน่วยงานจังหวัดมีการลงนามดำเนินข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างนักการตลาดผู้ส่งออกกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมันกฤษณา และพื้นที่โดยรอบของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมกว่า 80 ไร่นั้นรายล้อมด้วย ‘กฤษณา’ พันธุ์ไม้เศรษฐกิจชนิดนี้เช่นกัน

กิจกรรมของครูและนักเรียน ‘กฤษณาที่บ้านฉัน’

ที่มาภาพ: Facebook โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด  

เด็ก ๆ จึงเริ่มสำรวจพื้นที่และต่อยอดจากพี่โบว์ที่ได้ทำโครงการร่วมกับทาง ม.ธรรมศาสตร์ เด็ก ๆ ร่วมกลุ่มออกความคิดและออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยมี ‘ต้นกฤษณาเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงทุกคนในชุมชนมาเรียนรู้ด้วยกัน’ 

กิจกรรมออกบูธของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม
โรงเรียนปล่อยแสง – ปล่อยเด็กปล่อยแสง

ธุรกิจของนักเรียนที่เกิดจากห้องเรียนคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุน 

 ร้านคุกกี้ HOMEMADE KHAONOIWITTAYAKOM ณ บูธ
งานโรงเรียนปล่อยแสง | ปล่อยเด็กปล่อยแสง

ร้านบราวนี่ ณ บูธ
งานโรงเรียนปล่อยแสง | Blossom Day

เมื่อถามว่าเมื่อโลกหมุนไปครูต้องตามโลกให้ทันแค่ไหน 

ครูตือ สมเกียรติ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า วิชาการเงิน คณิตศาสตร์เพื่อการลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นครูคณิตศาสตร์เป็นผู้สอน แต่ครูทุกวิชาสามารถนำไปสอนหรือนำไปสอดแทรกการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ได้ การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นไม่ควรตีกรอบหรืออุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้น การเป็นครูต้องเป็นครูของปัจจุบัน เป็นครูของยุคสมัยที่ตามโลกทัน แล้วความรู้ที่สอนผู้เรียนต้องเป็นความรู้ของปัจจุบัน ซึ่งคำว่าความรู้ปัจจุบันนั้นหมายถึงอีก 10 20 ปี ข้างหน้า ความรู้ที่เรียนรู้จากห้องเรียนเขายังสามารถนำไปใช้ได้จริง 

ทั้งนี้ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะเป็นนักออกแบบ (Teach as Designer) และต้องสวมบทบาทนักสร้างความเปลี่ยนแปลง (Teacher as a Changemaker) ได้ด้วย เปลี่ยนทั้งภายในตัวครู ผู้เรียน โรงเรียน รวมถึงเปลี่ยนชุมชนหรือสังคม ซึ่งในชั่วโมงเรียนเป็นของครูทุกคนที่สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ทั้งตามหลักวิชาการ ตามตัวชี้วัด และทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นและประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและเปลี่ยนชีวิตพวกเขาในทางที่ดีขึ้น

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

ทีมครูและนักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด 

หนังสือ เปิดประตูปล่อยแสง สำรวจนิเวศการเรียนรู้ห้องเรียนแห่งความสุข

โรงเรียนปล่อยแสง Blossom Day

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ติดตามรับชมรายการ ครูสอนครู ตอน ครูตือสุดจ๊าบ กับ “ทักษะการเงินหวานเจี๊ยบ” ทั้ง 3 ตอนได้ที่ 

บทสัมภาษณ์ครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ในวาระรับรางวัลครูรางวัลคุณากร มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2566

 10,097 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า