“การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับโลกอนาคต ต้องพัฒนาทักษะทั้ง IQ EQ จนปัจจุบันมี DQ หรือ Digital Intelligence ไปจนถึงการพัฒนา Soft skill”
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
คุณรู้ไหมว่าใน 1 ปี มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษากว่าแสนคน
สาเหตุที่สำคัญแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลักคือ ทุนทรัพย์ของครอบครัวไม่เพียงพอ และวิธีการเรียนรู้ไม่ตอบสนองความต้องการของนักเรียน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินการแก้ไข 2 สาเหตุหลักนี้ ในด้านทุนทรัพย์ ทางกสศ.ได้จัดหาทุนความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนในแต่ละภูมิภาค และสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา และสร้างอาชีพให้นักเรียนในอนาคต ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือวิธีการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่จะมาขยายความกันต่อจากนี้
โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โรงเรียนพัฒนาตัวเอง” เป็นหนึ่งในความพยายามของ กสศ. ที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดกลาง เพื่อลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบโรงเรียน เพราะวิธีการสอนและเนื้อหาไม่ “ตอบโจทย์” ชีวิตของพวกเขา โดยสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ จนเกิดห้องเรียนที่ “มีความรู้ สนุก ประยุกต์ใช้ได้จริง” อยู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ความสำคัญของห้องเรียนที่มีความรู้ สนุก ประยุกต์ได้
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ TSQP อยู่ที่การนำคุณครูไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนเกิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ที่เปลี่ยนทั้งวิธีสอนให้มีคุณภาพ และเปลี่ยนวิธีบริหารงานในโรงเรียนในเรียบง่ายขึ้น การเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งแรกคือ ครูจะต้องรู้จักศักยภาพของเด็กแต่ละคน
“ยกตัวอย่างลูกศิษย์ที่โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ เคยมีคนที่เขามาเรียนทุกวันแต่ไม่เคยเข้าห้องเรียนเพราะเบื่อสอนอะไรเขาก็รู้หมดแล้ว ต่อมาเราค้นพบว่าเขาเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันจบปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอีกหลายคนที่เขาไม่ได้เรียนเก่งแต่เขามีความสามารถด้านอื่นเช่น บางคนเล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เล่นโขนเก่ง มีความสามารถเป็นพิธีกร ถ้าเรารู้จักพวกเขาเร็ว เราก็จะช่วยให้เขาไปถึงเส้นชัยได้ง่ายขึ้น”
ปัจจุบันนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษากำลังถูกหลักสูตรตีกรอบสิ่งที่ควรรู้ และวิธีการสอนที่ควรจะเป็น ให้ไปในทิศทางเดียวกันหมด ทางโครงการกำลังตั้งใจคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ หากครูรู้ศักยภาพของเด็ก รู้วิถีชีวิตของเด็กว่าพวกเขาต้องการนำความรู้ไปใช้ทำอะไร ก็จะรู้ว่าควรสอนอย่างไรให้นักเรียนทุกคนได้ประโยชน์ หรือหากครูรู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร บางคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคซึมเศร้า ก็จะสามารถเข้าไปช่วยทุกวิถีทาง เช่น ส่งครูไปสอบที่โรงพยาบาล จนนักเรียนและครูสามารถผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกัน วิธีนี้ก็จะช่วยลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปในแต่ละปีได้
‘Active Learning’ วิธีการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคน
โครงการ TSQP ให้ความสำคัญกับกระบวนการสอนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอย่างมาก จึงนำเสนอวิธีการสอนแบบ “Active Learning” ที่เน้นการให้เด็กได้ค้นคว้าความรู้ สร้างกระบวนการหรือชิ้นงานด้วยตนเอง ให้แต่ละโรงเรียนไปปรับใช้กับเนื้อหาของแต่ละระดับชั้น เพราะวิธีนี้จะทำให้เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนว่าใครมีทักษะด้านไหนดี ซึ่งหากเป็นการยืนสอนหน้าชั้นเรียนแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถมองเห็นตัวตนของเด็กได้
กระบวนการที่ครูจะนำมาปรับใช้กับ Active Learning มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้นักเรียนสร้างโครงงานจากเนื้อหาที่ได้เรียนในภาคการศึกษานั้น ซึ่งจะเห็นผลชัดที่สุด นำไปปรับใช้ได้กับหลากหลายวิชา และสะท้อนทักษะได้หลากหลายมาก ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตชิ้นงาน และทักษะการสื่อสาร ผ่านการนำเสนอชิ้นงานให้ครูและเพื่อน ๆ ได้รับรู้และเข้าใจ นอกจากนี้ครูอาจใช้กระบวนการอื่น ๆ ได้อีก เช่น การแสดงบทบาทสมมติ ให้นักเรียนลองใช้มุมมองของตัวละครเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาเรียน การแลกเปลี่ยนความคิดกันเป็นกลุ่ม หรือแม้แต่การเล่นเกม วิธีใดก็ตามที่เด็กได้ค้นคว้าและทำความเข้าใจด้วยตนเอง สามารถนำมาใช้กับ Active Learning ได้ทั้งหมด
สร้างการเรียนรู้ตามวัย และระดับพัฒนาการ
ข้อดีของ Active Learning คือสามารถปรับการเรียนรู้ได้ตามวัย หรือตามระดับพัฒนาการ ทำให้เด็กเรียนรู้ช้าสามารถตามเพื่อน ๆ ไปได้ และทำให้เด็กเรียนรู้เร็วไม่เกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง หรือเบื่อที่จะเรียนพร้อมคนอื่น ๆ
สิ่งที่สำคัญคือการดูแลแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน จากข้อมูลจะพบว่าเด็กปฐมวัย 30 % มีพัฒนาการไม่สมวัย เช่น เรื่องการสื่อสาร ดังนั้นจะต้องกระตุ้นการพัฒนาในส่วนที่เป็นปัญหากลุ่มเสี่ยงบางคนที่หลุดไปจากระบบการศึกษาเมื่อเห็นเพื่อนเขาเรียนแบบ Active Learning ก็ทำให้เขากลับมาเรียนต่อ การปรับการเรียนการสอนจึงมีส่วนช่วยให้เด็กหลุดออกนอกระบบได้น้อยลง
ปัญหาที่เป็นเหรียญอีกด้าน คือหลักสูตรไม่ตอบโจทย์นักเรียนที่เรียนรู้เร็ว นักเรียน ม.ต้น บางคน อาจเก่งในวิชาที่เขาถนัดมากกว่าเด็ก ม.ปลาย โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไม่เคยขาดแคลนครู และนักเรียนสามารถเรียนตามระดับความเร็วที่ตัวเองต้องการได้ เพราะใช้วิธีการสอนคละชั้น ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์มาก เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เน้นพัฒนา Soft Skill เพื่อก้าวสู่โลกแห่งอนาคต
รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า การพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนด้อยโอกาสให้พัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ จะสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ซี่งก่อนที่เด็กจะเก่งขึ้นได้ ครูจะต้องเปลี่ยนก่อน ครูต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียน เพื่ออยู่ในโลกแห่งอนาคตร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวทาง Active Learning พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย และการติดตามประเมินผลแต่ละโรงเรียน
“การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับโลกอนาคต ต้องพัฒนาทักษะทั้ง IQ EQ จนปัจจุบันมี DQ หรือ Digital Intelligence ไปจนถึงการพัฒนา Soft skill โดยเน้นทักษะในสิ่งที่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำไม่ได้ ทั้งการสื่อสาร ความร่วมมือ การคิดวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์”
การพัฒนาทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะ soft skills นับว่าเป็นการเพิ่ม “ความยืดหยุ่น” เพื่อให้นักเรียนและครอบครัวรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดในอนาคต ครูจะต้องสอนให้เขามีความเข้มแข็ง และมีทักษะการกำกับตัวเอง ผ่านการเรียนรู้แบบ Active Learning
“หวังว่าจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ซี่งไม่ได้วัดผลกันแค่ว่าเปลี่ยนแล้วนักเรียนได้เกรดเพิ่มในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก มีการพัฒนา Soft skills ต่อไปจะได้ขยายไปยังโรงเรียนอื่นในพื้นที่ เด็ก ๆ จำนวนมากจะได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง จึงขอฝากความหวังไว้กับทุกคน”
รศ.ดร.ดารณี กล่าว

อนาคตเครือข่ายต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเอง
สำหรับทิศทางของโครงการ TSQP ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ คือการพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ คุณลักษณะ รวมถึงพฤติกรรมของนักเรียน จึงสรุปได้เป็นภารกิจ 3 ด้านคือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านการสนับสนุนสภาพแวดล้อมและสิ่งต่าง ๆ ที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
ดังนั้น เป้าหมายที่โครงการ TSQP คาดหวังคือ ให้ “โรงเรียน” สามารถคิดและพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบ และพร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ให้ “ครู” มีทักษะจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning) และให้ “นักเรียน” เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 และหวังให้ทั้งหมดประกอบกันเป็น “เครือข่าย” การเรียนรู้ร่วมกัน ขยายต่อไปสู่ชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
2,617
Writer

- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)