จากคำถามที่ ดร.จักรพรรดิ วะทา ได้เกริ่นเริ่มต้นจากงานเสวนาและสะท้อนผลการดำเนินงานร่วมกับสถาบันผลิตและพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ‘เราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร’ งบประมาณที่จัดสรรและอุดหนุนการศึกษาที่ไม่เพียงพอ เนื่องด้วยสภาพปัญหาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งความห่างไกล คุณภาพการศึกษา ไปจนถึงปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพที่สามารถจัดการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนได้ทัดเทียมกับโรงเรียนอื่น ๆ ปัญหางบประมาณ และปัญหาที่มหาวิทยาลัยยังไม่มีการเปิดหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการของครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปัญหาเหล่านี้ได้นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ยินดีจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับโรงเรียนที่มีขนาดเล็กและมีลักษณะเฉพาะภายใต้ ‘โครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร’
จากความร่วมมือของโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพครูใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความรู้ในศาสตร์เชิงเนื้อหา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ 2) ทักษะการเรียนการสอน เทคนิควิธีการสอน 3) การเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูที่ดี จิตวิญญาณความเป็นครู และ 4) กิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นโครงการที่สร้างเครื่องมือลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากปัญหาความยากจนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการหนุนเสริมกลไกขยายผลการพัฒนาครูที่เข้าร่วมโครงการศึกษาบริบท ข้อจำกัด สำรวจความต้องการในการพัฒนาสมรรถนะ ของครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ควบคู่ไปกับการดำเนินงานโครงการตามมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพครู เพื่อเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการที่จะเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพครู ตชด. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมานี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากสถาบันการผลิตและพัฒนาศักยภาพครู 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีครูที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นในปีการศึกษา 2567 จำนวน 257 คน โดยจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัดในทั่วทุกภูมิภาคทั่วไทย
นอกจากความร่วมมือที่มองเห็นเป้าหมายร่วมกันแล้ว มาตรการ กลไกหนุนเสริม และกระบวนการทำงานที่ช่วยทำให้โครงการสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยมาตรการที่ที่ทางโครงการ ฯ ได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ
โดยหนึ่งในความสำเร็จนั้นเกิดจากการมีเครือข่าย (Network)
ผศ.ดร.กฤตวรรณ คำสม รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.อุดรธานี
เข้ามาร่วมงานให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย ผศ.ดร.กฤตวรรณ คำสม รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนบนเวทีนั้นเป็นการนำเสนอภาพของการทำงานตามแนวทางที่ยึดมั่น ‘คือการจัดการศึกษายังไงให้ผู้เรียนของเรามีความสุข ถ้าเขามีความสุขเขาจะส่งต่อความสุขไปยังผู้เรียนของเขา’ จริงที่หลักสูตรได้พัฒนาตามความต้องการของครู ตชด. เพื่อได้ความต้องการที่ชัดเจนแล้ว จึงเข้าสู่เข้าตอนการพิจารณาอาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อดูแลการเรียนของครู ตชด. ต้องมีความเข้าใจในบริบทของโรงเรียนและครูตชด. และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร กพด. และเคยลงพื้นที่และทำงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ตั้งแต่เฟสแรก ซึ่งแต่ละแห่งมีความจำเพาะและมีข้อจำกัดทั้งเรื่องการมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ข้อจำกัดในเรื่องของสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้า และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่เสถียรในบางพื้นที่ เมื่อมีความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมรองรับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น การเรียนออนไลน์นอกเวลาราชการเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของครู ตชด. โดยการเรียนรู้นั้นเป็นเรียนการสอนทั้งการเขียนแผนการสอน การจัดการรายวิชา และการลงมือปฏิบัติการจริงในห้องเรียนเพื่อนำกลับมาสะท้อนคิด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง มีตัวชี้วัดระหว่างทาง-ปลายทาง ที่ตอบโจทย์โครงการเข้าเป้าตามแผน กพด. โดยเป็นไปตามกรอบวิชาชีพของคุรุสภา นอกยากดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จฟ้าฯ การนิเทศทั้งภายในและภายนอก มีทั้ง ศึกษานิเทศก์ นายตำรวจนิเทศก์ ครูพี่เลี้ยง ร่วมนิเทศทำให้การทำงานทั้งองค์รวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ.ดร. เกียรติสุดา ศรีสุข อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ได้แลกเปลี่ยนด้านเครือข่ายการเชื่อมต่อกับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชิ้นเชิง จากเดิมที่การเรียนรู้ใช้มหาวิทยาลัยเป็นหลัก ปัจจุบันเครือข่ายการเรียนรู้มีมากขึ้น เปลี่ยนเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน การเรียนรู้จากภูมิปัญญาชุมชน และการเรียนรู้จากทางไกลมาออกแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด โดยที่การเรียนรู้ของครู ตชด. มุ่งเป้าการเรียนรู้เพื่อใบประกอบวิชาชีพครู การดำเนินงานเป็นทีมมีการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์กระบวนวิชากันตลอด ใช้แนวคิดการศึกษาเชิงพื้นที่ใช้โรงเรียน ตชด. เป็นฐานการออกแบบทั้งหมด เพื่อให้ได้ Module การสอนสำหรับหลักสูตรครูโรงเรียน ตชด.
การเรียนรู้ที่จัดเป็นแบบ Active Learning และทางอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดการเรียนแบบการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น วิชากฎหมาย – กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน กฎหมายที่อยู่อาศัย เรียนร่วมกับวิชาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และออกแบบการเรียนที่ลดการเรียนในห้องเรียน 100% การเรียนและแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก โดยทีมคณะศึกษาศาสตร์เข้าไป Coach อาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัยเป็นการเตรียมพร้อมไปสู่โลกการเรียนรู้แบบโลกอนาคต และใช้การนิเทศติดตามเป็นกลไกสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าใช้หลัก Child-Centered โดยเป้าหมายอิงตามแผน กพด. ส่วนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนั้น ครู รร.ตชด. ได้เปรียบกว่านักศึกษาทั่วไปเพราะสามารถฝึกในโรงเรียนที่สังกัดและทุกเวิร์กช็อปที่มอบหมายสามารถนำไปปฏิบัติการได้ทันที นอกจากนั้นทาง คณะครุศาสตร์ได้มีนวัตกรรมการศึกษาที่ให้ครู ตชด. สามารถนำไปในโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้ครูนอกจากมีทักษะการสอนแล้วยังมีทักษะการบูรณาการพร้อมพัฒนาสร้างความยั่งยืนต่อชุมชนที่อาศัยและใกล้เคียงเป็นแนวคิดการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ทั่วโลกใช้พัฒนาประเทศ ระหว่างการทำงานแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่ทีมทำงานก็ช่วยกันแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่เรามีเพียงสองมือหากทำให้แผ่นดินตรงนั้นมันดีขึ้นเราก็จะทำกันอย่างเต็มที่..
ผศ.ดร. มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการประถมศึกษาที่รับผิดชอบหลักสูตร และทางมหาวิทยาลัยทักษิณมีหน่วยวิจัยบริหารหลักสูตรเชิงบูรณาการที่มาจากอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และภายในคณะศึกษาศาสตร์ และต่างวิทยาเขตมาร่วมบริหารหลักสูตรด้วย ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้นวัตกรรมการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ด้วยการทำงานงานเชิงบูรณาการที่ข้ามสาขาและคณะใช้ระบบการเทียบประสบการณ์ความรู้มาเป็นแกนหลัก ที่ได้หลักการการเทียบโอนจากสำนักพัฒนาวิชาการ ข้อบังคับมหาวิทยาลัย มาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา ทั้งหมดนำมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรเป็นระบบของการประเมินเป็นหลักสูตรจำเพาะที่เป็นหลักสูตรแรกของ ม.ทักษิณ จนกลายเป็นแพลตฟอร์มให้หลักสูตรอื่น ๆ ได้เดินตาม
หลักสูตรนี้มีลักษณะจำเพาะเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ เริ่มต้นโดยการเรียนรู้โดยผลลัพธ์ของหลักสูตร แล้วนำมาสู่การพัฒนากรณีที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในพื้นที่ใช้องค์ความรู้แบบไหน ผนวกเข้ากับคุณค่าเชิงประสบการณ์เชิงปฏิบัติครูตชด. ที่ไม่มีวุฒิ ทางคณะทำงานพิจารณาดูว่าหากผู้นั้นคิดแบบครู ทำแบบครู มีจิตวิญญาณความเป็นครู สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า มีความหมาย ทำอย่างไรให้ประสบการณ์ที่มีความเป็นนามธรรมเปลี่ยนเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ที่ต้องผ่านประกาศหลักเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ
ทีมทำงานเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สมรรถนะรายวิชา + ประสบการณ์ของครู ตชด. นำเรื่องของการส่งเสริมคุณค่าเติมเต็มเข้าไป ซึ่งเป็นกระบวนการและกลไกการเทียบโอนความรู้ และออกแบบระบบการเปรียบเทียบประสบการณ์เชิงพื้นที่ขึ้นมา และใช้วิธีการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วม ทำให้ทีมทำงานมองเห็นนิเวศการเรียนรู้ของครู ตชด. และการทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น โค้ชพื้นที่ อาจารย์ในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชุมชน และผู้ปกครองที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน
เมื่อถามว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) อยู่ตรงไหน คุรุสภาอยู่ตรงไหน ด้วยอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ คือ ‘การขับเคลื่อนสังคมโดยใช้นวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นตัวนำ’ มีความเป็นครูที่ใช้การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างความเสมอภาค การจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของชุมชน วิธีวิทยาการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็น Change Agent และความเป็นครูนวัตกรตามปณิธานของมหาวิทยาลัยทักษิณ เกิดเป็นผลผลิตครูนวัตกรชุมชนและครูนักประสานงานชุมชนที่จะอยู่ประจำในพื้นที่เพื่อพัฒนาการศึกษาและชุมชนให้เข้มแข็ง ในส่วนของมหาวิทยาลัยทักษิณนั้นดำเนินการเชื่อมโยงหลักสูตรและบูรณากับโครงการพระราชดำริฯ ของมหาวิทยาลัยทักษิณที่ดำเนินงานบริการวิชาการและงานพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของครูมากว่า 25 ปี และทางทีมทำงานเชื่อว่าการประเมินครูหนึ่งคนผ่านระบบการเทียบโอนทำให้เห็นภาพคุณภาพทั้งโรงเรียน
ผศ.ดร. วิวัฒน์ เพชรศรี คณะครุศาสตร์ มรภ.รำไพพรรณี
นั้นดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ผนึกกำลังความร่วมมือเป็นหนึ่งในสถาบันผลิตและพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. และภาคีเครือข่าย ซึ่งได้ปฐมนิเทศและเตรียมความพร้อมนักศึกษาครู ตำรวจตระเวนชายแดน พื้นที่ภาคตะวันออก/ภาคตะวันตก ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร. วิวัฒน์ เพชรศรี คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้กล่าว ถึงที่มาที่ไปของหลักสูตรนี้ในปีก่อนหน้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 พระองค์ท่านได้ตรัสกับท่านอธิการบดีถึงการทำงานของทางมหาวิทยาลัยที่กำลังดำเนินการช่วยเรื่องพัฒนาการศึกษาของครูโรงเรียนตระเวนชายแดนซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในแผนการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก และกองทุนการศึกษาโดยใช้จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นพื้นที่ของ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือทาง มรภ. เจ้าของพื้นที่และเงินสนับสนุนด้วย
ทางทีมพัฒนาหลักสูตรได้เปิดหลักสูตรการประถมศึกษาพร้อมกันทั้ง 2 แผน จำนวนรวมทั้งสิ้น 131 หน่วยกิต
1) แผนสำหรับหลักสูตรปกติ
2) แผนสำหรับครูตชด.
การดำเนินงานเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกนั้นมีครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 51 นาย ที่มาจากหลายกองกำกับการ โดยกรรมการนั้นต้องคัดเลือกผู้สมัครผ่านแฟ้มผลงาน และสัมภาษณ์กันอย่างเข้มข้นจนเหลือเพียง 30 คนที่ได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรี โดยการเรียนการสอนมีทั้งรายชุดวิชาของทางคณะครุศาสตร์ และได้รับความร่วมมือจากอาจารย์คณะอื่น ๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะสังคมศาสตร์ ได้เข้ามาร่วมเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับครูตชด. ในด้านสมรรถนะนวัตกรชุมชน ครูนักประสานงานชุมชน และการวิจัยบูรณาการมาตรการ 8QPlus เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่เข้ารับการศึกษาเพื่อให้ได้ทักษะและความรู้ที่นำกลับไปใช้ที่ห้องเรียนและการพัฒนาชุมชน โดยทางมหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาส่งเสริมพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ คุณธรรมจริยธรรม พัฒนาครูประถมวัย ครูศิลปะ โดยมีคณบดีลงไปนิเทศติดตามในสถานศึกษาด้วยตนเองทั้ง 8 โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นโรงเรียนคุณภาพ
“1 ครูมาเรียน = 1 โรงเรียนพัฒนา”
การออกแบบหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์ > โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา (มาตรการ 8QPLUS) > คุณค่าประสบการณ์เชิงปฎิบัติ
โดยที่แต่ละชุดวิชาจะมีการบันทึกการเรียนการสอนเพื่อส่งให้คณบดีเพื่อดูวิธีการสอนของอาจารย์แต่ละท่านเป็นอย่างไร วิธีการนี้เป็นการประเมินตรวจสอบคุณภาพไปในตัว นอกจากจะมีตรวจสอบคุณภาพการสอนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีระบบช่วยเหลือนักเรียนการติดตามผลการเรียนรู้ มีการสอบถามความรู้สึกและความคิดเห็นของนักศึกษาเพื่อนำมาปรับและพัฒนาการสอนของอาจารย์ และใน ส่วนที่ 1 กระบวนการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม (Enrichment Program) ที่นำมาเสริมการเรียนรู้นั้นทางมหาวิทยาลัยได้จัดพานักศึกษาเยี่ยมชมกระบวนการของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เห็นภาพการศึกษาและการทำงานของการเรียนและการเทียบโอนประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจน ส่วนที่ 2 ส่งเสริมให้ครู ตชด. ให้มีความฉลาดรู้ทางด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งนักศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินวัดผลตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ส่วนที่ 3 เรื่องการพัฒนาสมรรถนะตนเองของครู ตชด. ซึ่งชุดวิชานี้จะเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาครู ตชด. ในภาคการศึกษาแรก รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ซึ่งการดำเนินงานของโรงเรียนและเครือข่ายใช้มาตรการและกลไกมหนุนเสริมการพัฒนาโรงเรียน ตชด. ทั้งระบบ
มาตรการ ‘8Q’ หรือ มาตรการเสริมสร้างคุณภาพโรงเรียน
Plus ที่นำไปใช้พัฒนาคุณภาพให้เกิดอย่างรอบด้าน ด้วยมาตรการ 3 ชุด
มาตรการชุดที่ 1 ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (4Q)
- Q – Goal School Goal ที่มุ่งเน้นตั้งเป้าหมายพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งเกิดจากความต้องการจำเป็นของทุกฝ่าย
- Q – Principal พัฒนาสมรรถนะของครูใหญ่ให้บริหารจัดการงาน โรงเรียนที่ส่งผลกับการพัฒนานักเรียน
- Q – Health การจัดสภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ใน เพื่อเอื้อให้เกิด สุขภาวะปลอดภัย น่าอยู่ น่าเรียน
- Q – Info การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเป็นรายบุคคลซึ่งระบบนี้สามารถติดตามผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้
มาตรการชุดที่ 2 หนุนเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ เมื่อคุณครูเข้าใจแล้วจะนำไปสู่การทำแผนการสอนของตัวเอง กำหนดเป้าหมายของการสอน การออกแบบวิธีการสอน การออกแบบการวัดและประเมินผล (2Q)
- Q – OLE พัฒนาครูให้เข้าใจการเรียนรู้ทั้ง 3 องค์ประกอบ
1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร และรายวิชา
2. เข้าใจการจัดกระบวนการเรียนรู้
3. การวัดและประเมินผล
- Q – Classroom ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เรียนสุข สนุกสอน ให้นักเรียนเรียนผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการ
มาตรการชุดที่ 3 มาตรการที่สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมพลังเครือข่ายภายในและภายนอก (2Q)
- Q – PLC เปิดวงคุยในโรงเรียน เพื่อพัฒนาสู้เป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน
- Q – Network เปิดวงคุยแลกเปลี่ยนภายในโรงเรียน ขยายวงสู่เครือข่ายโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ พร้อมยึดโยงการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนร่วมพัฒนา และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เมื่อครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน และสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองได้ มีความมั่นใจเกิดความศรัทธาในโรงเรียนของตนเองมากขึ้น และสามารถจัดการเรียนการสอนเป็นรูปธรรมเชื่อมโยงพัฒนาครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดระบบที่สะท้อนได้ถึงการเปลี่ยนแปลง
- ระบบการจัดการโรงเรียน ตชด. มีการตั้งเป้าหมายโรงเรียนเพื่อให้เกิดพัฒนาอย่างมีทิศทาง
- ระบบการจัดการเรียนรู้ เกิดระบบการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบที่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้พร้อมทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต
- ระบบการพัฒนาครู เกิดการพัฒนาคุณภาพครูอย่างรอบด้านและเกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน
- ระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ที่เห็นข้อมูลแบบ real-time ทำให้สามารถแก้ไข จัดการปัญหาได้ทันท่วงที
- ระบบความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ที่จุดไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงติดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ขับเคลื่อนสร้างประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการสู่เป้าหมาย
ระบบการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้โครงการสู่เป้าหมาย โครงการที่ดำเนินการนั้นผ่านกระบวนการเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอย่างเป็นระบบ ด้วยการขับเคลื่อนจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1-4 ทำงานร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในหน่วยต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมกับโครงการโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้ง 44 แห่ง และขยายผลเป็น 51 แห่ง ด้วยมาตรการ 8Q Plus ผ่านลูปการทำงาน 1) ชวนคิด 2) พาลงมือทำ 3) สะท้อนคิด
โดยใช้ปัจจัยนำเข้า (Input)
- การบริหารจัดการโรงเรียนที่เป็นระบบ
- หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้
- การประเมินผลการเรียนรู้
- การนิเทศภายใน/ภายนอก
- Q-Info ระบบข้อมูลและการใช้สารสนเทศในการจัดการ ติดตามปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลผลิต (Output) โครงการมีการใช้กระบวนการเพื่อให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย โดยมีเป้าหมาย
- ครูใหญ่สามารถบริหารงานวิชาการ เป็นผู้นำทางวิชาการที่เปิดกว้างให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชากร
- คุณครูโรงเรียนตชด. ที่เข้าร่วมโครงการสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก
- ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความหมาย สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้อย่างมีเป้าหมาย
- ชุมชนมีส่วนร่วม และส่วนหนึ่งกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ผลลัพธ์ (Outcome)
- ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะ ทักษะ ความรู้ และสมรรถนะที่เหมาะสมตามช่วงวัย (Attitude เจตคติ Skill ทักษะ Knowledge ความรู้ + Competency สมรรถนะ) และมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น)
- โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดนั้นมีการพัฒนาทั้งระบบให้ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและให้โรงเรียน ฯ ในพื้นที่เป็นสถานศึกษาที่เป็นแหล่งบริการความรู้ให้กับชุมชน
โดยการดำเนินงานของโครงการส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลกรทางการศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เป็นการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และทั้งเป็นการส่งเสริมให้ครูตำรวจตระเวนชายแดนมีโอกาสได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพครูตามมาตรฐาน เป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและทำให้เด็กมีคุณภาพการเรียนรู้ อีกทั้งความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย สถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ที่มาหนุนเสริมองค์ความรู้พร้อมทักษะในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และจัดหลักสูตรให้กับเหมาะสมกับเวลาและภาระหน้าที่ของตำรวจตระเวนชายแดน เป็นการลดอุปสรรคของการพัฒนาครูในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้อย่างเป็นระบบ
พร้อมการออกแบบแนวทางการพัฒนาสมรรถนะครูตำรวจตระเวนชายแดนโดยใช้โรงเรียนและชุมชนเป็นฐานซึ่งสอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของครูตำรวจตระเวนชายแดนที่มีความแตกต่างกัน การดำเนินโครงการนี้ส่งผลให้ครูตำรวจตระเวนชายแดนที่ประจำการในโรงเรียนห่างไกลมีโอกาสพัฒนาทักษะความเป็นครูมืออาชีพมากขึ้น เมื่อครูมีความสุข ครูมีศักยภาพ ความสุขนั้นถูกส่งต่อไปยังผู้เรียนทั้งได้ความสุขในการเรียนรู้ และมีศักยภาพ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะได้รับตามมาตรฐานการศึกษาขึ้นพื้นฐาน
1,385
Writer
- Admin I AM KRU.