“ครู ตชด. มีไฟ มีกำลัง แต่ต่อยเหมือนมวยวัด คือมีแรง แต่จะให้น็อคคู่ต่อสู้ก็ต้องใช้แรงเยอะ ใช้หัวใจสู้ อาจต้องเจ็บหน่อย แต่หากมีชั้นเชิง เอาชั้นเชิงไปสอนให้เขา การต่อยก็จะมีชั้นเชิง ก็จะช่วยผ่อนแรง รู้จังหวะและเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น”
พ.ต.ท.วัชรินทร์ ยศรุ่งโรจน์ ครูใหญ่ รร.ตชด. บ้านหนองแขม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
กว่าคนคนหนึ่งจะเป็น “ครู” ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
การเป็นครูต้องใช้ทั้งความรู้ด้านวิชาการ ทักษะการสอน จิตวิทยาในการทำความเข้าใจนักเรียน และจิตวิญญาณความเป็นครูที่เต็มเปี่ยม โดยปกติแล้วการเรียนครูแบบปกติในคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี และอาจผลิตครูได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลายโรงเรียนในแถบชายแดนขาดแคลนครูผู้สอนอย่างมาก เราจึงเห็นบุคลากรวิชาชีพอื่นที่ก้าวเข้ามาเป็นครูตามพื้นที่ต่าง ๆ แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอ และครูจำเป็นเหล่านี้ก็ต้องการการเติมเต็มทักษะครูอย่างเร่งด่วน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ และภาคส่วนราชการ จัดตั้ง “โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยใช้เส้นทางของครู ตชด. ก่อนหน้านี้เป็นกรณีศึกษา แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเส้นทางของครู ตชด. ก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้เป็นอย่างไร ตอนที่เข้ามาเป็นครู พวกเขาพบเจอประสบการณ์อะไรบ้าง พัฒนาตนเองอย่างไร และเมื่อมีโครงการนี้ จะช่วยพัฒนาการสอนในโรงเรียนตชด. ได้อย่างไรบ้าง
จากตำรวจ สู่อาชีพครู หมุดหมายใหม่ของชีวิต
พ.ต.ท.วัชรินทร์ ยศรุ่งโรจน์ ครูใหญ่ รร.ตชด.บ้านหนองแขม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ผันตัวเองจากอาชีพอื่นมาเป็นครู ก่อนที่ครูใหญ่คนนี้จะมาเป็นครูที่เด็ก ๆ รัก ตัวเขาเองเคยเป็นคนที่เด็ก ๆ กลัว เพราะพ.ต.ท.วัชรินทร์ประกอบอาชีพตำรวจตระเวนชายแดน ในชุดป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไปสักพักก็ถึงจุดเปลี่ยนให้เขามาเป็นครู
“เวลาเห็นเด็ก ๆ มาร้องไห้ตอนไปจับพ่อแม่เขาบ่อย ๆ เราก็เกิดความรู้สึกไม่ดี รู้ตัวเลยว่าเราใจไม่แข็งพอ ตอนนั้นพอดีทราบว่า มีรร.ตชด. เราก็ขอย้ายไปเป็นครูช่วยพัฒนาเด็กตรงนั้น ช่วยให้ความรู้ตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เด็กกระทำผิดเรื่องยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ตัดไม้ทำลายป่า ตรงนั้นน่าจะเป็นประโยชน์กว่า”
จากที่ไม่เคยมีความคิดว่าจะเป็นครูมาก่อน แม้จะได้โควตาเรียนครูที่ราชภัฏลำปางก่อนมาเป็นตำรวจก็ตาม แต่จากการเห็นคดีมากมายในพื้นที่ ทำให้ พ.ต.ท.วัชรินทร์อยากแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือการให้ความรู้กับเด็กและชุมชน เพื่อป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานเป็นครูประจำโรงเรียน ตชด. พ.ต.ท.วัชรินทร์เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ยั่งยืนกับชุมชน และเหมาะกับตนเองมากกว่า ซึ่งผลจากการทำงานด้านการศึกษามาจนถึงปัจจุบันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า พ.ต.ท.วัชรินทร์ตัดสินใจถูกต้องแล้ว
ครูคนใหม่ทำอย่างไรเมื่อต้องเริ่มนับ 0
จุดเริ่มต้นความเป็นครูของพ.ต.ท.วัชรินทร์ คือการสอนหนังสือเด็กชั้น ป.3 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมป์ 2 อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และเนื่องจากครูตชด.มีจำนวนไม่มากนัก พ.ต.ท.วัชรินทร์จึงต้องรับผิดชอบสอนทั้งหมด 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) และกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) เริ่มแรกนั้นพ.ต.ท.วัชรินทร์ต้องหาเวลาในการศึกษาจากคู่มือครูที่เป็นหนังสือ ค้นคว้าตำราจำนวนมาก เพราะยุคนั้นยังไม่มีสื่อให้ศึกษาหลากหลายเหมือนปัจจุบัน ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี Google ให้หาข้อมูลตัวอย่างได้ ช่วงแรก ๆ จึงต้องอุทิศเวลาให้กับการอ่านตำราและการเข้าอบรมครู
“ตอนนั้นมีจัดฝึกอบรมครูที่ไหน ผมก็สมัครไปอบรมกับเขาหมด เพราะต้องการเพิ่มทักษะให้ตัวเองจะได้สอนเด็กให้ดีขึ้น เพราะการไปสอนเด็ก เด็กจะยึดเราเป็นต้นแบบ ถ้าเราสอนผิดมันก็ผิดไปเลย เด็กก็จะจำและเรียนรู้อะไรที่ผิด สมมติเราไปสอนว่าโลกแบน เขาก็จะเชื่อว่าโลกแบน ดังนั้นการที่เราจะถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์เราต้องรู้ว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่ให้เขาจำหรือเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด”
ผลลัพธ์ก็จะเกิดกับเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งทักษะชีวิตและวิชาการ โดยเด็กนักเรียน ตชด. ส่วนมากมีทักษะการใช้ชีวิตสูงอยู่แล้ว ครูเพียงแค่เข้าไปเติมในด้านวิชาการให้เขาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เมื่อค่อย ๆ เห็นพัฒนาการของเด็ก พ.ต.ท.วัชรินทร์ในฐานะครูก็รู้สึกภาคภูมิใจ
สิ่งที่ครูได้จากการทำหน้าที่ในทุก ๆ วัน
หน้าที่ครูไม่ได้แค่ให้ประโยชน์กับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์กับครูผู้สอนเองด้วย สิ่งที่ พ.ต.ท.วัชรินทร์ได้รับจากการสอนเด็กคือทักษะวิชาการที่เพิ่มขึ้น เพราะตนเองต้องศึกษาเนื้อหาก่อนมาสอนเด็ก ๆ พอสอนแล้วเด็กมีความรู้มากขึ้นพูดภาษาอังกฤษง่าย ๆ ได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ และคิดว่าตัวเองเริ่มเป็นครูแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้คือทักษะการสอน และการสื่อสารกับเด็ก ยิ่งได้ไปอบรมบ่อยครั้ง ทักษะการสอน ของพ.ต.ท.วัชรินทร์ก็ดีขึ้น ได้นำเอาความรู้ เทคนิคต่าง ๆ มาช่วยในการสอน เช่น การเขียนแผนการสอน การประเมินนักเรียน จากแต่เดิมที่ประเมินเด็กแค่ทักษะวิชาการ เด็กอ่านได้ เขียนได้ และความประพฤตินักเรียน แต่เมื่อผ่านการอบรมก็จะรู้วิธีการประเมินแบบเป็นระบบ มีการใช้เกณฑ์เข้ามาประกอบ และสามารถปรับเกณฑ์ให้เข้ากับสภาพโรงเรียนได้
จากครูผู้สอน สู่การเป็น “ครูใหญ่” มุ่งแก้ปัญหาโรงเรียนและชุมชน
พ.ต.ท.วัชรินทร์ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูในชั้นเรียนจนถึงปี 2548 ตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนตชด.บ้านหนองแขมว่างลง ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.วัชรินทร์ มารับหน้าที่ครูใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มีทั้งปัญหายาเสพติด และการตัดไม้ทำลายป่า เด็กจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะปัญหาตกเขียว หรือปัญหาการค้าประเวณี งานแรกที่ทำคือ เรียกผู้ปกครองมาคุยเพื่อแก้ปัญหาตกเขียว ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากญาติของเด็กเห็นแก่เงินค่านายหน้าเมื่อค้าเด็กสำเร็จ จึงต้องเริ่มต้นสอนคนในชุมชนด้วยตัวบทกฎหมาย ถ้าหากเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ผู้ใหญ่ก็มีความผิด นอกจากการสอน ตนก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล และเมื่อกวดขันเข้มงวดขึ้น ปัญหานี้จึงค่อย ๆ หายไป
“เด็กบางคนพอไปเรียนต่อที่อื่น เขาก็โทรศัพท์ไปชวนเด็กให้หยุดเรียนมาทำงานที่ร้านคาราโอเกะ เราก็ใส่เครื่องแบบไปตามที่ร้านเลย บอกว่าผมมาตามลูกศิษย์ผม อายุไม่ถึง 18 ปี ผิดกฎหมายทำแบบนี้ไม่ได้ ถึงจะจบจากโรงเรียนเราไปแล้วแต่ก็ยังคอยเอาใจใส่ติดตามความเป็นอยู่เขาเพราะความเป็นห่วง”
มุ่งมั่นพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น
เมื่อต้องทำงานด้านการบริหารโรงเรียน พ.ต.ท.วัชรินทร์จึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกระหว่างทำงานไปด้วย พ.ต.ท.วัชรินทร์ เล่าให้ฟังว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องที่ยากแต่ต้องมีความตั้งใจ เริ่มจากที่เรียนจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ พอตนเองมาเป็นครูจึงอยากเรียนปริญญาโทด้านบริหารการศึกษา แต่หลักสูตรกำหนดให้เฉพาะคนที่จบปริญญาตรีด้านการศึกษาเท่านั้นที่มีสิทธิ์เรียน จึงเปลี่ยนไปเรียนด้านการวิจัยและพัฒนาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
พ.ต.ท.วัชรินทร์ใช้เวลาวันเสาร์ อาทิตย์ ไปเรียน โดยสลับให้เพื่อนเข้าเวรแทน ส่วนวันธรรมดาก็กลับมาเข้าเวรแทนเพื่อน ใช้เวลา 4 ปีจนกระทั่งเรียนจบ แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่ก็เป็นเป้าหมายที่อยากเดินไปให้ถึง อีกทั้งยังต้องยอมลงทุนเองโดยกู้เงินมาเรียน ส่วนปริญญาเอกนั้น เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ด้านการบริหารและการพัฒนา ซึ่งใช้เวลา 5 ปีกว่า ในการเรียนจนจบปริญญาเอก
ก้าวต่อไปของการพัฒนาทักษะครูตชด.
พ.ต.ท.วัชรินทร์เห็นว่าเส้นทางของตนเองนั้นไม่ได้เรียบง่าย ราบรื่น หลายครั้งที่ต้องการองค์ความรู้ตนเองไม่สามารถหาได้ง่าย ต้องลงทุนลงแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อพ.ต.ท.วัชรินทร์ทราบถึงโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ในฐานะที่เคยเป็นครู ตชด. ไม่มีประสบการณ์มาก่อน การมีแค่ใจกับกำลังนั้นไม่เพียงพอ ต้องอาศัยยุทธวิธีชั้นเชิงที่จะไปถ่ายทอดด้วย หากไม่มีประสบการณ์ ก็ยากที่จะนำเนื้อหาออกมาสอนให้น่าสนใจ บูรณาการการสอนได้ยาก เพราะขาดทักษะและความรู้ทางจิตวิทยา การบริหารจัดการ การเขียนแผนการสอน การประเมินนักเรียน ดังนั้นการพัฒนาครู ตชด. แบบเป็นระบบจึงสำคัญมาก นักเรียนจะได้มีพัฒนาการที่ไว เพราะครูใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมาสอนได้ เหมือนกับครูที่จบด้านครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์มาโดยตรง
“ตรงนี้เหมือนเป็นการเติมเต็มให้ครู ตชด. ที่มีไฟ มีกำลัง แต่ต่อยเหมือนมวยวัด คือมีแรง แต่จะให้น็อคคู่ต่อสู้ก็ต้องใช้แรงเยอะ ใช้หัวใจสู้ อาจต้องเจ็บหน่อย แต่หากมีชั้นเชิง เอาชั้นเชิงไปสอนให้เขา การต่อยก็จะมีชั้นเชิง ก็จะช่วยผ่อนแรง รู้จังหวะและเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น”
เส้นทางการเป็นครูของ พ.ต.ท.วัชรินทร์ ในระยะเวลากว่าสิบปี ได้ให้บทเรียนที่น่าสนใจต่อวงการการศึกษาว่าหน่วยงานต่าง ๆ ควรให้ความสนใจกับการพัฒนาครู และพัฒนาพื้นที่ห่างไกลให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก้าวแรกของการพัฒนาได้เริ่มขึ้นแล้ว ผ่านโครงการพัฒนาครู ตชด. สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดก้าวต่อไป คือแรงใจของบุคลากร ตชด. คนอื่น ๆ ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงคุณภาพโรงเรียน ตชด. อะไรที่จะทำให้บุคลากรคนอื่นเกิดแรงใจแบบ พ.ต.ท.วัชรินทร์ หากตอบคำถามนี้ได้ โรงเรียน ตชด. จะเข้มแข็งขึ้นอีกหลายเท่า
2,417
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง