เปลี่ยนมือที่ถืออาวุธ เป็นถือชอล์กเขียนกระดานดำ

Share on

 146 

จ.ส.ต.สวัสดิ์ ชัยณรงค์ เดิมอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรังจากนั้นย้ายมาอยู่ อ.ชะอวด นครศรีธรรมราชได้เรียนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนมีชัย ครู ตชด. ที่นั่นท่านสอนให้อ่านออกเขียนได้ จากนั้นมีโอกาสเรียนต่อที่มัธยมต้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 เรียนต่อชั้น ปวช.วิทยาลัยเทคนิคป่าพะยอม และปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง หลังจากนั้นก็เรียนจบออกมาทำงานเพราะต้องหาเงินส่งเสียครอบครัวที่ยังมีน้อง ๆ อีก 4 คน ที่กำลังเรียนอยู่ ใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งจนทุกอย่างพร้อมแล้วกลับมาเดิมตามฝัน

มาเป็นครู ตชด. ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตะแบกงาม จังหวัดชุม เป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งคนท้องถิ่น คนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น แรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาทำงานเลี้ยงชีพ 

เปลี่ยนมือที่ถืออาวุธ เป็นถือชอล์กเขียนกระดานดำ

จ.ส.ต.สวัสดิ์ เล่าให้เราฟังว่าในตอนที่เรียนอยู่ รร.ตชด.บ้านควนมีชัยนั้น เดิมพื้นที่รอยต่อจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราชเคยเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์เก่ายังมีความไม่สงบอยู่บ้าง ตำรวจตระเวนชายแดนที่มาปฏิบัติหน้าที่มีทั้งคนในพื้นที่และเดินทางมาจากจังหวัดอื่น ต้องห่างครอบครัวตนเองมาเพื่อดูแลพื้นที่และสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ ตอนนั้นมีแต่ครูตชด. ที่เป็นผู้ชาย ครูต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง เป็นทั้งครู พ่อ แม่ ไม่ใช่เฉพาะงานสอนอย่างเดียว ความประทับใจสำคัญที่ครูนกบอกเล่าถึงการที่ครูสอนให้เด็ก ๆ รู้จักทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นที่เราต้องพร้อมเพื่อออกไปเจอกับโลกภายนอก  

ครูนก จ.ส.ต.สวัสดิ์ ชัยณรงค์ หัวหน้าสาระวิชาสอนวิชาสังคม ประสบการณ์เรียนรู้การเรียนที่ได้รับจากครูตชด. ในสมัยเด็กเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ห้องเรียนไม่เน้นการเรียนในห้อง ครูนกจึงออกแบบให้นักเรียนออกไปนอกห้องเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม โดยใช้ฐานทุนของโรงเรียนและชุมชน เช่น สำนักสงฆ์ ที่ครูนกชวนเด็ก ๆ ไปเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการสอนในห้องเรียนเพื่อให้เห็นความหลากหลายของกิจกรรม และเรียนรู้พื้นถิ่นมาออกแบบกิจกรรมและสอดแทรกเข้าไป เพื่อสร้างความตระหนักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและ วัฒนธรรมชุมชน อาชีพชุมชนที่แต่เดิมในพื้นที่ทำแร่ดีบุกที่เป็นอาชีพเสริมจากการทำสวนปาล์มน้ำมันและสวนทุเรียน

เมื่อเวลาเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ก็เปลี่ยนไป บริบทของคนในพื้นที่ที่เคยเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนเป็นนักพัฒนาเปลี่ยนพื้นที่ให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง และบทบาทหน้าที่ของ ตชด. ก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน แต่มือก็ยังถือชอล์กเขียนกระดานดำ และยกระดับเป็นครูตชด.นักพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่อย่างยั่งยืน ด้วยความรู้ ทักษะวิชาชีพเพื่อการพัฒนาประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้าน  แต่มีปัญหาที่รอการแก้ไขหนึ่งเรื่องสำคัญคือ ความรู้การสอนของครู ตชด. ที่ถึงแม้จะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจมากแค่ไหนก็ไม่พ้นคำครหาเรื่องความรู้และวุฒิการศึกษาที่หลายคนในสังคมมองว่ายังไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ครู เด็กจะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีได้อย่างไรถ้าได้เรียนกับคนที่ไม่ได้เรียนมาโดยตรง หรือไม่ก็ได้สอนไม่ตรงตามสาขาวิชา “มาสอนเด็ก เด็กจะได้อะไร เด็กจะมีคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร” นี่ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ตัวครูนกและครู ตชด. ท่านอื่นเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี 

Pain Paint จุดปวดเล็ก ๆ แต่เจ็บลึก ๆ
เมื่อได้ยาทาถูกที่ก็บรรเทาได้

การเข้ามาของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มหาวิทยาลัยทักษิณ และโค้ชในพื้นที่แก้ปัญหา 95 แห่งใน 30 จังหวัด จ.ส.ต.สวัสดิ์ ชัยณรงค์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมอย่างไม่ต้องคิดมาก จึงเข้าสมัครเรียน

นอกจากปัญหาเรื่องความรู้และคุณวุฒิการศึกษาของครูที่ต้องการแนวนโยบายการแก้ไปขปัญหาที่ต่อเนื่องและยั่งยืนแล้ว ครูนกมองว่าสิ่งที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ตรงความต้องการ และยั่งยืน ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของคนทำงาน มีการวางแผนยุทธการที่มีความต่อเนื่องในการดำเนินงานแม้มีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร/ผู้บังคับบัญชา/บุคลากรในโรงเรียน และมีนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาของคนทำงานได้จริง จะทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นเห็นเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนโดยให้ผลงานการดำเนินงานเป็นเครื่องพิสูจน์

จากในวันที่ครูนกตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยการนำเสนอ นวัตกรรมแก้ปัญหาด้านสุขภาพใช้นวัตกรรม  FILA จากปัญหาที่จบของเด็กนักเรียนด้านทุพโภชนาการ ทั้งกินอาหารไม่ครบหมู่ ขาดสารอาหาร รวมไปถึงปัญหาเด็กอ้วน น้ำหนักเกิน ส่งผลต่อการเรียนรู้และปัญหาสุขภาพ ที่นวัตกรรมนี้จะได้ผลต้องใช้ความร่วมมือตั้งแต่ตัวนักเรียนที่ต้องปฏิบัติตน กับผู้ปกครองที่ต้องเห็นพ้องกับปัญหาที่นำเสนอและแนวทางแก้ไขร่วมกัน เปลี่ยนแนวคิดในการแก้ปัญหามีการประชุมหมู่บ้าน เยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุย เชิญแพทย์และอสม. มาร่วมให้ความรู้และความเข้าใจ  และชุมชนที่ให้ความร่วมมือดูแลพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ทำให้นวัตกรรมนี้จึงสามารถแก้ไขปัญหาจนปัจจุบันนี้เด็ก ๆ ในชุมชนมีปัญหา ทุพโภชนาการน้อยลงมาก  แต่ปัญหาใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายหน้าที่ครูนักพัฒนาต้องแก้ไขทั้งเรื่องการเรียนรู้ของเด็กตกต่ำ Learning Disorder (LD) เพราะผลพวงจากการใช้โทรศัพท์เกินพอดีเป็นเหตุให้เกิดภาวะสมาธิสั้นและปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและมูลนิธิพัฒนาเด็กและเยาวชนแก้ปัญหา และส่งเสริมให้ผู้ปกครองตระหนักว่าโทรศัพท์มือถือส่งผลอย่างไรกับการเรียนรู้ของเด็ก 

เป็นเวลาร่วมกว่า 3 ปี ที่ครูนก จ.ส.ต.สวัสดิ์ ชัยณรงค์ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เหลือเวลาอีกเพียงนิดก็ใกล้ถึงความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายการเรียนในระดับปริญญาตรีอย่างที่ตั้งใจที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ในฐานะครู รร.ตชด. ที่ทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาชุมชน ทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียง  

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า