การบรรยายในครั้งนี้เป็นการมองพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตที่ไปเชื่อมกับแนวทางการศึกษาโลก เมื่อประมวลทั้งหมดแล้วประเด็นสำคัญ ๆ ที่ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช เรียกว่า “มรรค 8” 8 ประเด็นสำคัญแนวทางการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตที่จะไปเชื่อมต่อกับทิศทางการศึกษาโลก
มรรค 8 ในมุมมองด้านการศึกษานั้นประกอบด้วย
- “ครู” เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษาทั้งโลก ครูนั้นต้องเป็นผู้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา หน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของครูต้องเน้นการขยายขีดความสามารถให้ครูเป็นผู้ริเริ่มและมีอิสระในการทำงาน ครูต้องเป็นผู้สร้างความรู้ เป็นกระบวนกร และผู้แนะนำให้นักเรียนเข้าใจความจริงที่ซับซ้อน ครูต้องได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนหน้าที่จากผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นครูผู้หนุนศิษย์ให้สร้างสมรรถนะใส่ตน เปลี่ยนปฏิสัมพันธ์แนวดิ่งและทางเดียว เป็นปฏิสัมพันธ์แบบร่วมมือกัน ครูทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ความสงสัย และความอยากรู้ ทำหน้าที่หนุนศิษย์สร้างขีดความสามารถ ความสนุก และความมีวินัยในการแก้ปัญหาใส่ตัว ส่งเสริมให้ออกแบบและจัดการหลักสูตร รวมทั้งดำเนินการปรับและจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน
อ.วิจารณ์ พานิช หยิบยกประเด็นจากเวทีการประชุมสุดยอดทางการศึกษา Transforming Education Summit ที่จัดเมื่อ 20 กันยายน 2565 ที่นายอันโทนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวเปิดงานและให้วิสัยทัศน์ถึงเรื่องการพัฒนาการศึกษาใน 3 ประเด็นที่สำคัญ
– ความเสมอภาค & ความสอดคล้อง (Equity & Inclusion)
– คุณภาพ (Quality)
– สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสังคม (Relevance)
นายอันโทนิโอ กุเตอเรส ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการพลิกโฉมการศึกษาที่ความไม่แน่นอนของการเมือง นั้นมีปัจจัยสำคัญ 4 ด้านเพื่อแสดงให้เห็นว่าวิกฤตการศึกษานั้นส่งผลกระทบต่อทุกคน
1) เปลี่ยนเป้าหมายศึกษาและเนื้อหาการศึกษาสำหรับศตวรรษ 21 ที่ไม่ใช่แค่เรียนแค่รู้ (No learn to know)
- เรียนรู้เพื่อเรียนรู้ (Learn ot learn)
- เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน (Learn to live together)
- เรียนรู้เพื่อปฏิบัติ (Learn to do)
- เรียนรู้ที่จะเป็น (Learn to be)
2) พลิกโฉมระบบการศึกษาเพื่อให้ถึงเป้าประสงค์ที่สูงขึ้น
- เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน
- หนุนเสริมครูผู้เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาสามารถพลิกโฉมให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
- พัฒนาดิจิทัลสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของการศึกษาสาธารณะ
3) ลงทุนให้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้านการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น
4) ผู้นำต้องร่วมมือกันรักษาคำมั่นสัญญาในการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา
- เป้าหมายการศึกษามีความซับซ้อน ซึ่งหมายความว่าเป้าหมายผลลัพธ์ของการเรียนรู้มีหลายแบบ อ. วิจารณ์ ได้สรุปถึงเป้าหมายที่ซับซ้อนนั้นต้องตีความผ่านการปฏิบัติ ซึ่งในเวทีการประชุมสุดยอดทางการศึกษา Transforming Education Summit ได้พูดถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ไว้ 4 ประการ
- เรียนรู้เป็น (Learn to learn)
- อยู่กับคนอื่นเป็น (Learn to live together)
- ทำเป็น (Learn to do)
- ดำรงตนเป็น (Learn to be)
ซึ่งใน 4 ข้อดังกล่าวด้านนั้น อ.วิจารณ์นั้นเห็นว่าเพียง 4 ข้อนี้ยังไม่ครอบคลุมเรื่องผลลัพธ์การเรียนรู้ จึงเสนอข้อที่ 5 เพื่อให้ครบลูปผลลัพธ์การเรียนรู้
- เปลี่ยนขาดตนเอง (Learn to transform) เพราะการพลิกโฉมในเรื่องการศึกษาไม่ใช่แค่เส้นตรงเชื่อมจุด ก. ไป ข. แต่เป็นวงจรที่ยกระดับการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ที่นักเรียนต้องเข้าใจการเดินทางแห่งชีวิต ต้องเปลี่ยนตนเองจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงได้
อ.วิจารณ์ยังได้กล่าวถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้นั้นมีความซับซ้อนนั้นมีผลลัพธ์เป็นจำนวนมากซึ่งได้นำเสนอบนเวทีเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาไว้นี้ดังนี้
- เป้าหมายของการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) : สมอง หัวใจ (จิตวิญญาณ) ลงมือทำ(Holistic Learning) โดย อ.วิจารณ์ได้ยกตัวอย่างบนเวทีถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เวที World Economic Forum (WEF) ที่ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน ได้ผลสรุปจำนวน 16 ทักษะโดยแบ่งออกเป็นใน 3 ด้านสำคัญดังนี้
- Foundational Literacies — กลุ่มทักษะพื้นฐาน ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จำนวน 6 ทักษะ การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) ทักษะด้านการคำนวณ (Numeracy) ทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT Literacy) ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ทักษะด้านวัฒนธรรมและพลเมือง (Cultural & Civic Literacy) และทักษะบริหารด้านการเงิน (Financial Literacy)
- Competencies — กลุ่มทักษะเพื่อแก้ปัญหา จำนวน 4 ทักษะ เป็นทักษะที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และจัดการกับปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และทักษะด้านการสื่อสาร (Communication) และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)
- Character Qualities — กลุ่มทักษะที่ใช้ในการจัดการตัวเองกับสภาพแวดล้อม จำนวน 6 ทักษะ ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) การริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) ความวิริยะและความมุ่งมั่น (Persistence/Grit) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ความเป็นผู้นำ (Leadership) และความตระหนักในด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social & Cultural Awareness)
ที่มา: Fostering Social and Emotional Learning through Technology, World Economic Forum March 2016
กรอบแนวคิดสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21
ที่มา: https://www.battelleforkids.org/networks/p21
- Integrated Learning : VASK การบูรณาการการเรียนรู้ VASK ส่งเสริมให้นักเรียนสร้างและพัฒนาสมรรถนะตนเอง (Competenices) ใน 4 ด้านผสมกลมกลืนกัน แต่การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับด้านทักษะและความรู้ โดยครูนั้นต้องเสริมการพัฒนานักเรียนในด้าน ค่านิยมและเจตคติให้มากขึ้นเสมือนเข็มทิศชีวิตไม่ให้ยึดถือค่านิยมที่ชั่วร้าย เป้าหมายการเรียนรู้ ต้องเป็นของนักเรียน ครูมีหน้าที่ช่วยจัดกระบวนการให้นักเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ นอกจากนั้นนักเรียนต้องทบทวนเป้าหมายเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้ที่แท้จริง
- Values ค่านิยม
- Attitude เจตคติ
- Skills ทักษะ
- Knowledge ความรู้
หลักสูตรฐานสมรรถนะ คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า ด้วยสมรรถนะทั้ง 6 ด้าน
ที่มา: https://cbethailand.com/
นอกจากตัวอย่างด้านบนที่ อ. วิจารณ์ ได้กล่าวมานั้นยังมีประกอบด้วยผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในด้าน Experiential & Reflective Learning โดยยกตัวอย่างวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycles) ที่คิดค้นโดย David Kolb เน้นทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในวงจรใน 4 ด้าน ที่ต้องทำให้นักเรียนสะท้อนคิดเป็น
- ทักษะการเรียนรู้การสร้างประสบการณ์ (Concrete Experience) ประสบการณ์จากการลงมือทำ
- ทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) ที่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง
- ทักษะการตกผลึกหลักการเชิงนามธรรม (Abstract Conceptualisation) จากประสบการณ์หรือการปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ที่สะท้อนการตกผลึกหลักการเพื่อนำไปสู่ขั้นต่อไป
- ทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ (Active Experimentation)
เพื่อให้เกิดการสะท้อนคิดว่าเห็นหรือตกผลึกได้หลักการอะไร
เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อีกอย่างที่สำคัญในการสร้าง 7 แกนพัฒนาตัวตนของนักเรียนตามทฤษฎีของนักคิดชื่อว่า Arthur Wright Chickering ที่โรงเรียนต้องหนุนให้นักเรียนเกิดการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง รู้ว่าตนเองเป็นใคร ต้องการเป็นคนแบบไหน ต้องการมีชีวิตแบบไหน รู้ว่าตนเองมีจุดอ่อน-จุดแข็งตรงไหน เคารพตัวเอง มั่นใจตนเองและเคารพผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่นเป็น เป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ครูจะทำอย่างไรให้เด็กเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สร้างตัวตนที่มีคุณค่าได้
7 แกนพัฒนาตัวตนของนักเรียน (Chickering’s Seven Vectors)
- สมรรถนะ (Developing Competence)
- จัดการอารมณ์ (Managing Emotions)
- ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ (Moving Through Autonomy to Interdependence)
- การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เติบโตขึ้น (Developing Mature Interpersonal Relationship)
- สร้างอัตลักษณ์ (Establishing Identity)
- จุดมุ่งหมายในชีวิต (Developing Purpose)
- ความมั่นคงในคุณธรรม (Developing Integrity)
- ต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย นักเรียนนั้นมีความแตกต่างกันครูผู้สอนต้องเข้าใจความแตกต่างที่หลากหลายที่เกิดขึ้น โดย
- การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หนุนการพัฒนาของนักเรียนทุกคน
- ใช้พหุปัญญา (Multiple Intelligence) หนุนนักเรียนให้สร้างเอกลักษณ์ ความมั่นใจในตนเอง และเคารพผู้อื่น
- เอาใจใส่นักเรียนรายคนซึ่งเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู
- ทุกคนบรรลุเกณฑ์ขั้นต่ำของผลลัพธ์ทางการเรียนรู้
- เอาใจใส่สภาพแวดล้อมนอกโรงเรียนความแตกต่างหลากหลายของสภาพแวดล้อม นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาครูสามารถนำองค์ความรู้รอบ ๆ มาจัดการเรียนรู้เสริมได้
- เรียนรู้เชิงรุกให้ห้องเรียนที่เป็นที่เรียนรู้ที่มีสมรรถนะสูง (High Functioning Classroom) เด็กเรียนรู้จาก การปฏิบัติและเกิดการสะท้อนคิดมากขึ้น
- นักเรียนร่วมตั้งเป้าหมาย ร่วมออกแบบ ร่วมจัดการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการวัดผล
- การเรียนรู้ที่ดีนักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ครูสร้างกุศโลบายให้เด็กมีส่วนร่วม ส่วนครูทำหน้าที่เป็นโค้ช
- เรียนสนุกสนานเพลิดเพลินและสอดแทรกความรู้เข้มข้นไปพร้อมกัน
- นักเรียนทุกคนต่างมีส่วนร่วมทำกิจกรรม ไม่ทิ้งให้ใครโดดเดี่ยวทางการเรียนรู้
- นักเรียนร่วมกันสร้างสมรรถนะใส่ตัว ครูมีหน้าที่เป็น FA ส่งเสริมนักเรียน ทุกครั้งที่มีกิจกรรมต้องมีการสะท้อนคิด
- ครูต่างเป็น co-educators สวมบทบาทนักเรียนร่วมเรียนรู้ด้วย เรียนรู้จากพฤติกรรมนักเรียนรายคน
- เรียนกับประเมินบูรณาการเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
- AfL – Assessment for Learning = การประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ เพื่อให้ฟีดแบ็คเชิงบวก (Constructive Feedback)
- AaL – Assessment as Learning = ฝึกประเมินตนเองและประเมินเพื่อน (Peer Assessment)
- AoL – Assessment of Learning = ครูและโรงเรียนประเมินเป็น (Summative Evaluation) เพื่อวัดผลและคุณภาพ
- ครูเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชั้นเรียนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับศิษย์
- การทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) กันในวง PLC ของ โรงเรียน
- ครูช่วยกันเก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยเข้าสังเกตชั้นเรียน (Lesson Study) แล้ว PLC / สานเสวนา (Dialogue) แลกเปลี่ยนร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา
- เก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยถ่าย VDO ชั้นเรียน เพื่อย้อนหลังดูปฏิกิริยาของนักเรียนระหว่างการเรียนรู้
- เรียนรู้จากวง Online PLC มี ที่โค้ชภายนอกช่วยหนุนเสริม
- เรียนรู้จากวง DE (Developmental Evaluation) มี กระบวนกร (Facilitator) และ คนสรุปประเด็น (Note-taker)
- ทำวิจัยชั้นเรียน – R2R (Routine to Research) เพื่อให้ได้ “ผลงานแท้”
- เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเรียนรู้หลักการ (ทฤษฎี)
เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Communities) ได้นั้นต้องอาศัยหลักการที่เรียกว่า The Pedagogy of Listening การเรียนรู้โดยการฟังซึ่งกันและกัน ที่นักเรียนร่วมปฏิบัติ ร่วมมือ ร่วมสะท้อนคิด และมีการใช้ การสานเสวนา (Dialogue) กระบวนการสื่อความหมายการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองเปิดใจ พูดคุยฟังกันและกันอย่างลึกซึ้งด้วยเมตตา
กลุ่มการสานเสวนา (Dialogue) ที่เกิดขึ้น
นักเรียน <-> นักเรียน
คุณครู <-> คุณครู
นักเรียน <-> คุณครู
โรงเรียน <-> ชุมชน
- ครูมีกัลยาณมิตรร่วมพัฒนาห้องเรียนสมรรถนะสูง (High Functioning Classroom)
- ทีมโค้ช ทำหน้าที่กัลยาณมิตร ร่วมเรียนรู้โดยการสะท้อนคิด Reflection ใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle
- ประสบการณ์จากวง Online PLC Coaching ที่มีทีม “คลินิก” ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้การหนุนเสริม
- ประสบการณ์จากวง DE ที่มีทีมจากมูลนิธิสยามกัมมาจล (SCBF) ทำหน้าที่กัลยาณมิตร
- ทุกภาคส่วนเพื่อการศึกษา
ไม่มีใครทำงานแบบโดดเดี่ยวเดียวดายต่างเป็นฝ่ายหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนเป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ให้ทั้งเพื่อนให้ครู พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นหุ้นส่วนที่สนับสนุนส่งเสริมการศึกษา ศึกษานิเทศก์ในพื้นที่เป็นส่วนสำคัญที่แนะนำให้ครูและโรงเรียนได้สะท้อนคิดการเรียนการสอน กรรมการโรงเรียน ผู้นำชุมชนที่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ รวมถึงธุรกิจในชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงความต้องการด้านแรงงานเพื่อให้จัดการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์การเรียนเพื่อทักษะการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นใครต่างมีส่วนสำคัญที่เป็นกำลังหนุนเสริมการศึกษาในพื้นที่
ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้สรุปทิ้งท้ายว่าการศึกษาที่ตอบโจทย์ทิศทางการศึกษาโลกทั้งที่ อ.วิจารณ์ได้นิยามว่ามรรค 8 นั้น ทั้งหมดมีอยู่แล้วในจังหวัดภูเก็ต เพียงแค่จะดำเนินการอย่างไรให้การเรียนรู้ที่ดีของโรงเรียนหนึ่ง ไปสู่อีกโรงเรียนได้ จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้นี้กระจายอย่างทั่วถึงและมีการพัฒนาด้านการศึกษาให้มากขึ้น มีแนวทางอย่างไรบ้างที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าไปหนุนเสริมโรงเรียนและครูให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จะเปลี่ยนให้ห้องเรียนเป็น “ห้องเรียนสมรรถนะสูง” นักเรียนได้เรียนรู้จากองค์ความรู้ของชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของทุกคนที่ภูเก็ตให้เป็น “คนตงห่อ”
รับชมไลฟ์กิจกรรมทั้งหมดได้ที่
สรุปประเด็นเนื้อหาจากเวที มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ครั้งที่ 3 “กลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดภูเก็ต สู่มหกรรมการศึกษาไทย”
วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมดวงจิตต์ ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
ติดตามบทความด้านการศึกษาของ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช เพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/user/vicharnpanich/posts
Writer
- Admin I AM KRU.