ถ้าใครนิยมชมชอบภาพยนตร์จีนกำลังภายในคงเคยได้ยินคำว่า “ขุนนางตงฉิน” ที่หมายความว่าเป็นขุนนางที่ทำงานด้วยความสุจริต แต่ก่อนที่จะเป็นขุนนางตงฉินได้นั้นต้องเริ่มที่เป็นคน “ตงห่อ” ที่หมายถึงการเป็นคนดีในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบซื่อสัตย์และกตัญญูให้ได้เสียก่อน
“ตงห่อ” คำที่มีความหมายดีและมีคุณค่านี้กลายเป็นคำสำคัญที่ภาคการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดคุณลักษณะของนักเรียนภูเก็ตให้เป็น “เด็กตงห่อ” โดยได้นิยามความหมายของคำว่า “เด็กตงห่อ” ไว้คือ “เด็กเก่ง ดี มีสุข มีสมรรถนะ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม” และได้กลายเป็นโจทย์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อให้เยาวชนเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเป็นพลเมืองโลกที่จะดูแลพัฒนาจังหวัดภูเก็ต
ดร.นุชรัตน์ ประสิทธิศิลป์ชัย กล่าวถึงเป้าหมายของ “เด็กตงห่อ” ว่าได้บรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาศึกษาของจังหวัดภูเก็ตในบันทึกความเข้าใจ 8 เรื่องไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนปฏิบัติการในหลักสูตรของสถานศึกษา เหลือเพียงแต่การออกแบบกระบวนการที่จะพัฒนาผู้เรียนทุกคนที่เข้ามาเรียนที่ภูเก็ตให้ได้คุณลักษณะตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ผ่านการเรียนรู้แบบ Learn to Learn และ Learn to Live Together อย่างที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวไว้ในเวทีก่อนหน้า ไม่เฉพาะหน่วยงานศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ยังมีหน่วยเล็ก ๆ แต่สำคัญยิ่ง คือครอบครัว คุณนพรัตน์ ชำนาญกิจ และคุณสุดารัตน์ พึ่งสุริยวงษ์ ตัวแทนผู้ปกครอง ร่วมเสริมประเด็นที่ต้องเตรียมพร้อมของลูกหลานในด้านความรู้วิชาการ จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ผู้ปกครองนั้นเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมบ้านและโรงเรียนให้พร้อมร่วมมือเดินทางต่อยอดพัฒนานักเรียนไปด้วยกัน ซึ่งแผนพัฒนาการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในโรงเรียนในระบบเพียงอย่างเดียว เพื่อให้อนาคตเป็นเด็กตงห่อที่มีความสามารถ ผ่านมุมมองของบ้านเรียน (Home School) ผศ.ดร.สุพรรณิกา โกยสิน ได้เสริมในส่วนการสร้างการเรียนรู้ว่าการเรียนแบบบ้านเรียนนั้นเน้นการพัฒนาความคิดเป็นหลัก เมื่อฐานความคิดดี เด็กจะพัฒนาต่อในแบบตัวเองได้ การเรียนรู้ในลักษณะนี้เด็กจะมีอิสระอยากเรียนรู้ค่อนข้างมาก ในด้านการสอนเรื่องจริยธรรมจะเป็นเรื่องความอยากของเราต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ต้องรู้จักควบคุมความอยากให้ได้ อีกเรื่องคือหลายคนมองว่าเด็กบ้านเรียนไม่มีสังคม แต่จริง ๆ แล้วมีการรวมแบบเครือข่ายเด็กบ้านเรียนรู้จักเพื่อนในระดับเดียวกัน พอออกไปเจอเพื่อนในที่ส่วนรวมเด็กก็เรียนรู้ว่าปรับตัวจัดการตัวเองได้อย่างไรเพื่อพร้อมไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของจังหวัดภูเก็ต
ดร.อนุพงษ์ คล้องการ กล่าวแลกเปลี่ยนในมุมการพัฒนาในหน้าที่ของหน่วยงาน สพป.ภูเก็ต ที่ดูแล 49 โรงเรียน เสนอการจัดการเรียนการสอนและปลูกฝังความเป็นเด็กตงห่อผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนที่ปลูกฝัง 7 สมรรถนะ และบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม 10 ด้าน พร้อมด้วยการพัฒนาหลักสูตรถึง 15 โมดูล ที่ทุกการเรียนรู้เน้นบ่มเพาะด้านพฤติกรรมไปพร้อมกับการพัฒนาขับเคลื่อนหลักสูตรนำร่อง โดยโรงเรียนจะมีเครื่องมือการจัดการศึกษาเพื่อเป้าหมายเกิดมรรคเกิดผล “เด็กตงห่อ” พอมองขยับขึ้นไปในทางการพัฒนาในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นความคาดหวังสำคัญเพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งเดียวในจังหวัด ผศ.ดร.ธวัชชัย ชุมทอง มองถึงนโยบายว่าการขับเคลื่อนในระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาในแนวทางส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ต้องขับเคลื่อนเชิงระบบทั้งหมดให้เกิดนิเวศทางการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการใน 3 ด้านได้แก่ 1) ยกยุทธศาสตร์เรื่องการพลิกโฉมการผลิตบัณฑิตครูและบุคลากรทางการศึกษาแยกออกมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงาน 2) การศึกษาขับเคลื่อนการผลิตครูให้มีสมรรถนะวิชาชีพครูให้เข้มแข็ง 3) เครือข่ายการทำงานในเชิงพัฒนาการศึกษาที่ได้ความร่วมมือจาก กสศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น TSQP 25 เครือข่ายโรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาระดับภูมิภาคต้องปลูกฝังให้ทุกคนมีคุณลักษณะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life Long Learning เพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การสร้างเด็กตงห่อ
คือการสร้างกลไกการศึกษาทั้งระบบ
ผศ.ดร.ธวัชชัย ชุมทอง
คุณชัญญา สุขสวัสดิ์ ตัวแทนจากโรงเรียนในสังกัด อบจ. เน้นเป้าหมายในการพัฒนาการเด็ก 4 ด้าน 1) ร่างกาย 2) อารมณ์-จิตใจ 3) สังคม 4) สติปัญญา และปลูกฝังในด้านคุณธรรม ความรับผิดชอบ มีวินัย ซื่อสัตย์ และช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งบูรณาการผ่านกิจกรรมและหน่วยการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อเป้าหมายของการเป็นปลูกฝังเพื่อให้เป็นเด็กตงห่อ ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ สรุปประเด็นจากตัวแทน Education HUB ว่าการวางแผนการศึกษาเป็นเรื่องการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตจริงวางทักษะสำคัญเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่หน่วยงานอีก 9 เสาหลักภูเก็ตในด้านการขับเคลื่อนได้อย่างไร
เสาหลักด้านสุขภาพ Medical Hub ในมุมมอง คุณเกียรติศักดิ์ โชติวงศ์พิพัฒน์ จากสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต การสร้างเด็กตงห่อ นั้นทางสาธารณสุขมีบทบาทดูแลตั้งแต่ด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ โดยเริ่มการดูแลตั้งแต่ในท้องแม่ต้องได้รับสารอาหารที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อคลอดเด็กได้รับนมแม่จะมีไอคิวสูง มีการพัฒนาการที่ดี เมื่อเข้าอีกช่วงวัยประถมต้องได้รับวัคซีน ส่งเสริมโภชนาการ มีสุขภาพร่างกายที่ดีที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้
คุณเกตุวดี ปิยะเมธินรุจน์ จาก TCEP ตัวแทนด้าน MICE Hub นั้นเกี่ยวข้องการศึกษาในฐานะเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ช่วยดึงความรู้เข้าป้อนครูผ่านงานอีเวนต์วิชาการ งานสัมมนาที่จัดขึ้นในวาระต่าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูในเครือข่ายได้เข้าร่วมเพื่อนำมาพัฒนาวิชาชีพตนเอง นำไปพัฒนานักเรียน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนครูได้ ต่อเนื่องไปถึงการขับเคลื่อนในเชิงดิจิทัล ในส่วนคุณภาพแรงงานที่คาดหวัง คุณเกตุวดี นั้นอยากเห็นคนคุณภาพมีทักษะการคิดวิเคราะห์ การต่อยอด ความคิดสร้างสรรค์ และทำงานเป็นทีม คุณต้น ใจตรง ตัวแทนด้าน Smart City ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องสร้างองค์ความรู้ และด้วย DIPA มีกำลังคนเพียงแค่ 200 คน ไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาในภาคใหญ่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา กำลังสนับสนุน DIPA สามารถส่งเสริมในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อน Smart City กำลังพลด้านดิจิทัลที่กำลังขาดแคลน โดยสนับสนุนให้มีการจัดหลักสูตรด้านดิจิทัล เช่น Coding AI และพร้อมการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่เกิดผล คุณครูต้องทุบกำแพงห้องเรียนเพื่อไปเรียนรู้โลกดิจิทัลให้กว้างขึ้น เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีก้าวไปเร็วมากคุณครูต้องสามารถชี้ช่องทางขององค์ความรู้ที่ดีให้นักเรียนได้
คุณศักดา ทวีเมือง ตัวแทน Fishery Hub เสาหลักด้านอาหาร กล่าวถึงช่วงโควิดการขนส่งปลาทูน่าหยุดชะงักแต่ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีว่าเรือประมงจากไต้หวัน 4 ลำ เข้ามาในพื้นที่ สร้างมูลค่าราว 92 ล้านบาท และในอนาคตมีแนวโน้มที่ภูเก็ตจะเป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่าที่สำคัญของโลก โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดริเริ่มนโยบายเพิ่มมูลค่าปลาไทยในท้องถิ่นร่วมกับวิทยาลัยอาชีวะภูเก็ต โดยจัดฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะอาชีพ เครื่องมือประมงไปแล้วทั้งสิ้น 500 ราย และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปลาไทยซาชิมิ ผศ. ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ ได้กล่าวเสริมถึงการนำกระบวนการ Design Thinking ให้ Tuna Hub เป็นแหล่งเรียนรู้ของโครงงานของนักเรียนที่ย้อนกลับไปที่ทูน่าก็ได้รับการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ต่อเนื่องไปในเรื่องอาหาร คุณปณภัช กระจ่างศรี ตัวแทนด้าน Gastronomy / Fusion Farms จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนั้นส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพเมื่อเข้าสู่ร่างกายอย่างมีคุณภาพ จากช่วงโควิดภาคการท่องเที่ยวย่ำแย่ คนที่สามารถดำรงชีวิตได้คือเกษตรกรจึงเกิดโครงการคนภูเก็ตปลูกผักกินเอง โดยขอเมล็ดพันธุ์สนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำเมล็ดมาแจกจ่ายเพื่อปลูกกินเองในบ้าน เป็นโครงการต้นแบบเพื่อบูรณาการเป็นองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้คนในพื้นที่
ในด้าน Sport Hub/ Tourism Hub คุณพัลลภ ประจง ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวช่วงโควิดที่ทำให้ทั้งภูเก็ตซบเซา บุคลากรด้านบริการท่องเที่ยวก็หายไปจากพื้นที่ด้วย แล้วสถานการณ์ตอนนี้เริ่มเป็นปกติและกำลังเข้าสู่ช่วง High Season (ประมาณ ตุลาคม – เมษายน) ทางภาคเอกชนมองว่าจะเกิดการขาดแคลนบุคลากรบริการท่องเที่ยว ซึ่งสถาบันการศึกษาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยมิตรไมตรี ในด้านกีฬานั้นก็เริ่มจัดการแข่งขันในระดับนักเรียนนักศึกษาเพื่อเป็นตัวแทนเขต ฯ ไปแข่งขันระดับพื้นที่
ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ ได้พูดสรุปบทบาทของภูเก็ตในฐานะพื้นที่นวัตกรรม คือความเป็นอิสระในต้นทุนเดิมแล้วมีเป้าหมายที่อยากพัฒนาแล้วสามารถเดินตามเป้าหมายโดยมีความร่วมมือแบบภาคีเครือข่ายที่ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถ้าจะสร้างให้เด็กคนหนึ่งเป็นเด็กตงห่อ อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ส่วนครูนั้นพัฒนาแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องพัฒนาครูให้เป็นโค้ช ใช้เครื่องมือ PLC เพื่อสร้างให้ครูมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนอยากได้คนป้อนภาคแรงงานต้องการคนทักษะแบบไหนต้องเข้ามาร่วมมือผลิตบุคลากรไปด้วยกัน ซึ่งการเสวนาในวันนี้ได้เป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาที่ทุกฝ่ายจะร่วมจับมือเพื่อพัฒนาการศึกษาภูเก็ตในทุกด้านอย่างยั่งยืน
ตัวแทนจาก 10 เสาหลักเศรษฐกิจที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
Education HUB
▪ ผศ.ดร.ธวัชชัย ชุมทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรภ.ภูเก็ต
▪ ดร.นุชรัตน์ ประสิทธิศิลป์ชัย ศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต
▪ ดร.อนุพงษ์ คล้องการ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต
▪ คุณชัญญา สุขสวัสดิ์ รองผู้บริหารโรงเรียนอบจ.สาธิตร่วมพัฒนา
▪ ผศ.ดร.สุพรรณิกา โกยสิน ตัวแทนบ้านเรียน Home School
Medical Hub
▪ คุณเกียรติศักดิ์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
MICE City
▪ คุณเกตุวดี ปิยะเมธินรุจน์ ตัวแทนการตลาดภาคใต้ Thailand Convention & Exhibition Bureau (TCEB)
Smart City
▪ คุณต้น ใจตรง นักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส
Fishery Hub / Marina Hub
▪ คุณศักดา ทวีเมือง หัวหน้ากลุ่มบริหารการจัดการประมง
Sport Hub/ Tourism Hub
▪ คุณพัลลภ ประจง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต
Gastronomy / Fusion Farms
▪ คุณปณภัช กระจ่างศรี สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต
ตัวแทนผู้ปกครองจากโรงเรียนสาธิตมรภ.ภูเก็ต
▪ คุณนพรัตน์ ชำนาญกิจ
▪ คุณสุดารัตน์ พึ่งสุริยวงษ์
10 เสาหลักเศรษฐกิจของภูเก็ตประกอบด้วย GEMMMSSTTF
Gastronomy จังหวัดภูเก็ตเมืองด้านอาหารใน ปี พ.ศ. 2558 องค์การยูเนสโกประกาศให้ภูเก็ตเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ความหลากหลายของเชื้อชาติที่เข้ามาอาศัยส่งผลให้อาหารภูเก็ตเป็นอาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลายวัฒนธรรม
Education HUB ด้านการศึกษาเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะของเด็กทุกคนในด้าน โดยเฉพาะด้านภาษาเพื่อสร้างโอกาสเรียนรู้และการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ด้านอาชีพ
Marina Hub ภูเก็ตเป็นเครือข่ายของ Cruise Forum Asia ที่มีท่าเรือรองรับเรือยอชท์ (Yacht) และเรือสำราญ (Cruise) จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลกและเป็นศูนย์รวมการเดินเรือของอาเซียน (Marina Hub of ASEAN)
MICE City ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความพร้อมทั้งการเดินทาง ที่พัก สาธารณูปโภค และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสำหรับรองรับการจัดประชุมและนิทรรศนาการโลก
Medical Hub เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพบริการสุขภาพบริการวิชาการและงานวิจัย
Smart City เป็นเมืองที่มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยีในด้านนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างรอบด้าน
Sport Tourism ภูเก็ตเป็น 1 ใน 66 จังหวัดที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองกีฬา (Sport City) ที่มีความพร้อมการจัดกิจกรรม เช่น ทั้งกีฬาทางน้ำ วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา
Fishery Hub ภูเก็ตใกล้แหล่งทำการประมงในฝั่งตะวันตก มีเรือทูน่าขนาดใหญ่มาเทียบท่าเพื่อขนส่งทูน่าคุณภาพสูงไปยังประเทศต่าง ๆ
Tourism ความงดงามของธรรมชาติและท้องทะเลทำให้ภูเก็ตได้รับฉายาไข่มุกแห่งอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
Fusion Farm ภูเก็ตเป็นเมืองด้านอาหารดังนั้นต้องสร้างความมั่นคงด้านการเกษตร ปศุสัตว์ น้อมนำโครงการพระราชดำริและศาสตร์พระราชาขยายผล เน้นบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการจัดการเกษตรเพื่อความยั่งยืน
Writer
- Admin I AM KRU.