“ถ้าเด็กโตมากับ Phenomenon Based Learning สิ่งที่เขาจะมีคือ critical thinking จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม เวลาเขาทำอะไร จะคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ก่อน” – ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม (อาจารย์เกด)
ถ้าคิดถึงการแก้ปัญหาทางการศึกษา คุณคิดว่าจะต้องเริ่มจากอะไร?
ปัญหาของการศึกษาในห้องเรียนปัจจุบัน มาจากการที่นักเรียนรับความรู้ด้วยการฟังบรรยายจากครูเป็นส่วนใหญ่
วิธีพัฒนาการศึกษาแบบยั่งยืน คือการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนลงมือทำ สร้างองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ฟินแลนด์ริเริ่มสร้างขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าฟินแลนด์ทำได้อย่างไร และระบบการศึกษาไทยจะนำโมเดลนี้มาปรับใช้ได้อย่างไร
Phenomenon Based Learning (PhBL)
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คติสำคัญคือมุ่งให้ประชากรอยู่ดีกินดีและมีความสุข ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาอย่างมีความสุขด้วย หลักสูตรการเรียนรู้แบบฟินแลนด์จึงอยู่ภายใต้ 6 ปรัชญาสำคัญคือ
- ไม่แข่งขัน ไม่เปรียบเทียบกัน
- ไม่ตัดสิน
- ไม่มีการทดสอบ หรือการสอบ
- ทุกโรงเรียนดีที่สุด (โรงเรียนที่ดีที่สุด คือโรงเรียนใกล้บ้าน)
- การเรียนรู้ผ่านการเล่น เน้นลงมือทำ
- ไม่มีการบ้าน
6 ข้อนี้ทำให้เกิดหลักสูตรการศึกษาใหญ่ของฟินแลนด์ นั่นคือ Phenomenon Based Learning (PhBL) หรือการศึกษาผ่านปรากฎการณ์ คือการเรียนรู้ที่เอาประสบการณ์มาเชื่อมโยงกับความจริงและวิชาต่าง ๆ เน้นการเรียนแบบเชิงรุก หรือ active learning โดยลักษณะเฉพาะตัวของ PhBL คือ
- เพราะสถานการณ์จริง กระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีกว่ารายวิชาดั้งเดิมในห้องเรียน
- เปลี่ยนจากการเรียนรู้ด้วยการรับความรู้ มาเป็นการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้
- ในห้องเรียน ครูจะไม่ตอบคำถาม เพราะเด็กจะไม่คิด แต่จะหาคำตอบไปด้วยกัน แล้วเด็กจะสร้างความรู้เอง
Phenomenon Based Learning จะเกี่ยวข้องกับ 2 หลักสูตรพื้นฐานของการศึกษา คือ Problem-based Learning เป็นการเรียนรู้จากปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวนักเรียน สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน และ Inquiry-based Learning เป็นการเรียนที่ผู้เรียนต้องสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นเด็ก ๆ จะสามารถค้นหาคำตอบเองได้อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการลงมือทำโครงงาน หรือชิ้นงานที่พวกเขาจะได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่
เปรียบเทียบบริบทการศึกษาไทย – ฟินแลนด์ ในกรอบของ PhBL
“หัวใจสำคัญของการศึกษาฟินแลนด์ เน้นให้คนมีความสุขและกินดีอยู่ดี ก็แสดงว่าความเหลื่อมล้ำมันน้อยระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีหลายบริบทที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ฟินแลนด์มีการกำหนดฐานภาษี ถ้าจบปริญญาตรีฐานภาษี 30 เปอร์เซ็นต์เลย เยอะมาก คนก็จะไม่รวยเยอะเกินเหมือนประเทศไทย ถ้ารวยขนาดนี้คนฟินแลนด์เสียภาษีกันเกินครึ่ง
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ถ้ารวยขนาดนี้ไม่ทำงานกันแล้ว บริษัทฟินแลนด์ก็ไม่มีทางรวยติดสปีดเหมือน Facebook ทุกคนจะมีสุขทุกข์ใกล้เคียงกัน work life balance มาทันที ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่ไกลกัน”
รูปแบบการศึกษา Phenomenon based learning ของฟินแลนด์เน้นเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น แต่สำหรับประเทศที่เห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน ประชากรมีคุณภาพชีวิตต่างกันมาก จะนำรูปแบบการศึกษานี้มา ใช้ได้อย่างไรให้ได้ผลดี
อาจารย์เกดอธิบายว่า ต่อให้การศึกษาดี ครูเก่งแค่ไหน ถ้าเด็กไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีข้าวกิน เด็กก็เรียนไม่รู้เรื่อง รัฐจึงเข้าไปแก้ปัญหาปัจจัยสี่ก่อน พร้อมกับทำหลักสูตรให้ดีด้วยแต่สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังทำไม่ได้ ถ้าปากท้องไม่ตอบโจทย์ จะเรียนยังไง สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ขาดก่อน เด็กถึงจะพร้อมเรียน
การทำหลักสูตรการศึกษาไทยให้ดีขึ้นด้วยการใช้ Phenomenon Based Learning มี 2 ส่วนส่วนแรกคือ ครูต้องให้เด็กทำตามความสนใจ ภายใต้กรอบที่เหมาะสม ยอมรับได้
“ในโรงเรียนไทย ถ้าครูเข้าใจ empathize เด็ก ครูจะได้รับการยอมรับจากเด็กมากขึ้น”
สอง เมื่อเด็กยอมรับ ครูสามารถตีกรอบให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ควรเรียนรู้ แต่ตอนนี้อาจารย์เกดชี้ว่า ปัญหาเกิดจากครูไม่เข้าใจเด็ก เด็กต่อต้านครู ไม่ฟัง บางเรื่องเด็กอาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอจะกรองข่าวสาร แม้แต่ผู้ใหญ่เองยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ยังแชร์ fake news กันบ่อย ๆ
“กลับไปที่จุดเริ่มต้นก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงผลลัพธ์ แค่จุดเริ่มต้นก็ทำให้คนเข้าใจกันแล้ว อย่างน้อยถามเด็กหน่อยว่า เด็กอยากเรียนหรือเปล่า เพราะครูจะชินกับการตั้งต้นที่ตัวเองก่อน แล้วเด็กก็จะผิดถ้าไม่ยอมทำ”
และปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือ การขาดความเข้าอกเข้าใจเด็ก และการรับฟังเด็กอย่างตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นคุณครูหรือพ่อแม่
“ต้องยอมรับว่าเบบี้บูมเมอร์คุ้นเคยกับการสั่งแล้วมีคนทำ เพราะเขาประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้ และคิดว่าสูตรลับมันใช้ได้กับปัจจุบัน พอถึงรุ่นเรา (Gen X จนถึงต้น Gen Y) ก็ฟังเขามาตลอด แต่ถ้าเด็กโตมากับ Phenomenon Based Learning สิ่งที่เขาจะมีคือ critical thinking จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม เวลาเขาทำอะไร จะคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ก่อน”
Arkki กับการยกโมเดลฟินแลนด์มาไว้ที่เมืองไทย
สำหรับที่มาของการเริ่มต้นใช้ PhBL ในประเทศไทย มาจากสถาบันการศึกษาเชิงสร้างสรรค์สำหรับการสอนแบบ PhBL โดยเฉพาะของฟินแลนด์ที่ชื่อ Arkki สถาบันนี้มุ่งเน้นเผยแพร่ความรู้ และจัดอบรมด้าน PhBL ให้บุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้บุคลากรการศึกษาสามารถนำรูปแบบการศึกษานี้ไปปรับใช้กับสถาบัน องค์กร หรือประเทศของตนเองได้ ซึ่งอาจารย์เกด หรือ ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ได้ไปร่วมเทรนกับหลักสูตรนี้ด้วย จนเข้าใจแก่นของ PhBL และเพราะความอยากรู้ว่าระบบนี้ดีอย่างไร ถ้าดีจริงก็อยากนำมาใช้ที่เมืองไทยบ้าง อาจารย์เกดจึงกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย มาจนถึงปัจจุบัน
“Arkki คือ design school สำหรับเด็ก ไม่ได้สอนให้เด็ก ๆ design แต่สอนเพื่อให้เด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21 ผ่านการ design”
อาจารย์เกดตั้งใจจะนำโมเดลการศึกษาแบบฟินแลนด์มาพัฒนาการศึกษาไทย สิ่งที่อาจารย์เกดเห็นว่าการศึกษาฟินแลนด์โดดเด่นมาก นั่นคือการใช้ design เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เพราะการดีไซน์เป็นการรวมทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน อาจารย์เกดจึงอธิบายต่อว่า จะเน้นย้ำเป็นพิเศษโดยเฉพาะ 5 ทักษะสำคัญ ได้แก่ creativity, collaboration, critical thinking, communication และ computational thinking
“ทักษะเหล่านี้เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้สมองสองข้างพร้อมกัน แต่เวลาเราเรียนในโรงเรียน เราเรียนแยกวิชาตลอด จึงใช้สมองแค่ข้างเดียว ถึงแม้ว่าเราจะใช้การเรียนการสอนแบบ STEM คือ Science, Technology, Engineering และ Mathematics แต่ก็อยู่ในฝั่ง logic ไม่ได้ใช้สมองอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งศิลปะ ฟินแลนด์บอกว่าต้องเปลี่ยนเป็น STEAM เพิ่ม A คือ Arts เข้าไป ทำให้ได้ใช้สมองทั้งสองข้าง”
หลักสูตรนี้ทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
สิ่งที่อาจารย์เกดนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทย ค่อนข้างคล้ายกับที่ฟินแลนด์ คือ วิชาเดิมในหลักสูตรยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีให้เด็ก ๆ เรียนรู้สถานการณ์จริงในมุมมองของตัวเอง เพื่อให้เด็กเห็นโลกจริงที่ซับซ้อน และหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองใน 5 มิติของการศึกษา
- Holisticity – มีความครอบคลุมทุกบริบทในชีวิต
- Authenticity – ผ่านการคัดกรองและแยกแยะความจริง
- Contextuality – ความเข้าใจในบริบท
- Problem-based Inquiry – ความสามารถในการถามคำถาม
- Open-ended Learning Process – เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ
ผ่าน 5 ขั้นตอนของ Phenomenon Based Learning ได้แก่
- ตั้งคำถาม (Questioning) จากมุมมองอันแตกต่างหลากหลาย
- สืบค้น (Research) ให้ได้ข้อมูลและความเชื่อมโยงในสิ่งที่ตนสงสัย ยุคนี้การสืบค้นจาก search engine หากคัดกรองดี ๆ จะได้ข้อมูลใหม่ๆ มากมาย
- ศึกษา (Investigation) จากการทดลอง ประมวลผลจากคำตอบที่เป็นไปได้ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆ
- ทดสอบ (Testing) ครูแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้แนวคิดและทักษะที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหา
- อธิบาย (Explanation) ผู้เรียนให้คำอธิบาย ทางออก หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์
กระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยผู้เรียนให้เข้าใจในความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อให้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมสิ่งนั้นและสิ่งนี้จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับคำอธิบายว่าทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ
ด้วยหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และการเน้นทำความเข้าใจเด็ก โมเดลการศึกษานี้จึงเป็นอนาคตที่ดีของทั้งระบบ เพราะนอกจากจะทำให้เด็กสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สร้างเสริมกำลังใจ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กได้แบบก้าวกระโดด
4,381
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง