“ถ้าเอาสมองหมูมาปลูกถ่ายใส่หัวคน จะเรียกคนนั้นว่าคนหรือหมู”
.
เรื่องราวของแม่เลี้ยงเดี่ยว “ซาโอริ ที่พบได้พบว่า “มินาโตะ” ลูกชายของเธอเริ่มเกิดพฤติกรรมแปลกประหลาด จู่ ๆ มินาโตะได้บอกกับแม่ของเขาว่าเขากลายเป็น “สัตว์ประหลาด” ไปแล้ว ทำให้ซาโอริออกค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นและได้พบว่าสาเหตุทั้งหมดมีที่มาจากคุณครูประจำชั้น “โฮริ” ซาโอริตัดสินใจเดินทางไปที่โรงเรียน เพื่อหวังจะทวงความเป็นธรรม แต่กลับพบว่ามีอะไรบางอย่างซ่อน อยู่ภายในตัวตนของมินาโตะ สามารถรับชม Monster(2023) ผ่าน Netflix ได้ในตอนนี้
เราคือสัตว์ประหลาด หรือ สังคมที่มองเราเป็นสัตว์ประหลาด? Monster เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องผ่าน 3 ตัวละคร 3 มุมมอง ซาโอริ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องการปกป้องชีวิตธรรมของครอบครัว โฮริ ครูที่ถูกกดทับจากโรงเรียนที่ไม่ต้องการเสียชื่อเสียง มินาโตะ เด็กที่ตั้งคำถามว่าตัวเขายังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ โดยเนื้อหาทั้ง 3 ช่วง ได้พาเราไปสำรวจสภาพสังคม ค่านิยม การศึกษา ของประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับค่อย ๆ กะเทาะให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของสังคม และกัดกร่อนจิตใจของมินาโตะจนสร้างความสับสนภายใน และทำให้เด็ก ๆ เลือกที่จะตั้งคำถามถึงความแปลกประหลาดของตัวเอง แต่บทสรุปของเรื่องราวได้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่เป็น “สัตว์ประหลาด” เด็ก ๆ หรือสังคม?
แน่นอนว่านั้นสังคมไม่มีความปรานี แม้แต่กับเด็กคนหนึ่งที่ยังไม่ได้รู้จักโลกดีพอ ก็อาจรู้สึกว่ากำลังถูกผลักออกไปจากพื้นที่ในสังคม เพราะว่าตัวเขานั้นแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ฐานะ ชนชั้น แนวคิด เพศวิถี หากเป็นคนส่วนน้อยในคนหมู่มาก ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคม โดยเฉพาะเด็กในวัยประถม หรือ มัธยม ที่กำลังเริ่มทำความรู้จักกับตัวเอง และอยู่ในช่วงวัยที่มีโลกส่วนตัวสูง อาจสื่อสารกับผู้ปกครองน้อยลง ทำให้บางครั้งผู้ปกครองไม่ได้รู้จักเด็กดีเท่ากับเพื่อน จึงทำให้บางครั้งผู้ปกครอง หรือ ครู ที่ใช้ชุดความคิดของสังคมที่คนส่วนใหญ่ใช้ร่วมกัน ในการตัดสินเด็กก็สามารถสร้างแรงกดดันให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัวได้
‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ บางครั้งการดูแลเด็กสักคน ครอบครัวเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับเด็กคนหนึ่ง “การเรียนรู้ด้วยสภาพแวดล้อม” (Unintentional Learning) มีโอกาสส่งผลต่อเด็กสูงถึง 80% ของการเรียนรู้ทั้งหมด การอบรมสั่งสอนเด็กในห้องเรียนมีอยู่แค่ 20% ถ้าบรรยากาศในการเรียนรู้เหมาะสม เด็กก็พร้อมที่จะเรียนไม่ว่าเนื้อหาใด แต่ถ้าสิ่งรอบตัวไม่เอื้อ ก็ยากมากสำหรับเด็ก แน่นอนว่าครอบครัว ชุมชน การศึกษา ต้องไม่ตัดสินเด็กจากบุคลิกภายนอก หรือ ใช้อคติที่มาจากความเชื่อทางวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่เราพร้อมที่จะเปิดใจรับ เข้าใจในตัวของเด็กจากบริบทที่แตกต่างกัน อาจถึงเวลาแล้วที่สังคมส่วนรวมตั้งเปลี่ยนแปลงเพื่อเด็กบ้าง
คำว่า “Monster” หรือ “สัตว์ประหลาด” อาจจะไม่ได้ใช้นิยามพฤติกรรมหรือคำพูดที่แปลกประหลาดของตัวละครอย่างมินาโตะ แต่อาจจะหมายถึงสภาพแวดล้อม ค่านิยม การศึกษา ที่ค่อย ๆ ผลักให้เด็กกลายเป็นคนที่แปลกแยกและโดดเดี่ยว ปมปัญหาในเรื่องอาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่หรือยากจะตีความ แต่มันคือค่านิยมในสังคม “ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็มีค่านิยมเหล่านี้ปะปนอยู่ในสื่อบันเทิง การศึกษา ชุมชน อยู่เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่การแสดงออกของเด็กเหล่านั้นต่างออกไปจากบรรทัดฐานที่สังคมส่วนรวมกำหนดไว้ เด็กเหล่านั้นก็อาจจะถูกตีตราว่าเป็น “สัตว์ประหลาด” ของสังคมได้ แล้วสังคมไม่ควรมีพื้นที่ให้สำหรับเด็กที่แตกต่างหรือ?
ติดตาม I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน ได้ในทุกช่องทางได้ที่:
#iamkru #สถานศึกษา #กสศ #ภาพยนตร์ #สัตว์ประหลาด #บริบท #ความแตกต่าง #สังคม
15,886
Writer
- Admin I AM KRU.