สรุปประเด็นจาก เวทีแลกเปลี่ยนศิษย์เก่าเล่าเรื่อง

Share on

 17,706 

ในปัจจุบัน การศึกษาถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าเรากำลังเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตอย่างแท้จริงหรือไม่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นมากกว่าความรู้ในตำรา แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “จิตศึกษา” หรือ Inner Education ที่มุ่งเน้นพัฒนาการเรียนรู้จากภายใน เข้าใจตนเอง และสามารถปรับตัวกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ภายในงาน “มหกรรมโรงเรียนจิตศึกษา” ศิษย์เก่าได้กลับมาเล่าเรื่องราวของตนเอง สะท้อนมุมมองต่อระบบการศึกษา และแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่รวมถึงการค้นหาตัวตนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสโลกภายนอก เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสร้างพลังบวกให้กับสังคม

งานนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของศิษย์เก่า แต่ยังเป็นโอกาสให้ครู ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งไม่เพียงมุ่งเน้นผลลัพธ์ทางวิชาการ แต่ยังให้คุณค่ากับการสร้างมนุษย์ที่เข้าใจชีวิต รู้จักตั้งคำถาม และสามารถพัฒนาตัวเองไปตลอดเส้นทางของการเรียนรู้ เรามาฟังแนวคิดและประสบการณ์ของศิษย์เก่า ทั้ง 4 คน  1)  พี่ภัทร  ภัทรวดี  ตระกูลไตรพฤกษ์   2) พี่ปุณ ชนินทร์  จันทวงศ์  3) พี่โจ๊ก ชานน เกษมสุข  4) พี่อั๋น ธนภพ  บุญเรือง  จากวงแลกเปลี่ยน ”ศิษย์เก่า เล่าเรื่อง“ การเปลี่ยนแปลงภายในตนเองจากโรงเรียนจิตศึกษาสู่ชีวิตจริงได้ตามบทความด้านล่างนี้ 

วิถียามเช้าของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา 
ที่มาภาพ : Lamplaimat Pattana School

เล่าจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาของแต่ละคนเป็นอย่างไร 

พี่ภัทร  แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับตัวเองว่า ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดบุรีรัมย์ ถ้าเทียบในปัจจุบัน คือ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ 12 จบจากที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไปเมื่อประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมา พี่ภัทรเล่าถึงตอนที่ย้ายมาเข้าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาในช่วง ม.1 “ทุกอย่างเป็นความใหม่มากสำหรับหนู การปรับตัวยากสร้างความหนักใจให้กับครูทุก ๆ ท่าน โดยเฉพาะครูณี ซึ่งตอนที่เข้ามาเรียนในช่วงแรก หนูไม่ฟังอะไรเลย เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เข้าใจว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่คุณครูค่อย ๆ สอดแทรกให้ซึมซับไปเรื่อย ๆ จนเกิดความคุ้นชิน ตนเองเริ่มที่จะเข้าใจ และเข้ากับเพื่อนได้ และส่วนตัวมีปัญหาเรื่องของการควบคุมอารมณ์ตนเอง และการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

พี่ปุณ “ในช่วง ม.3 รู้สึกว่าตนเองค่อนข้างดื้อ แต่ก็โฟกัสเรื่องเรียนเป็นส่วนใหญ่ ค้นพบว่าตนเองไม่ชอบสายวิทย์-คณิต แต่ชอบงานสายศิลป์ เช่น ออกแบบ ถ่ายภาพ หนังสั้น ภาพยนตร์ และได้เรียนรู้ความชอบของตนเองมาเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงนั้น ม.3 ก็ยังคงมีความเชื่อว่าจะต้องเข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต มีจุดที่พลิกผันในชีวิตได้เข้าไปเรียนสายศิลป์ ที่ มศว. ประสานมิตร เรียน Digital media art อีกทั้งทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือในช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัย จึงได้เปลี่ยนสายในการเรียนไปเป็น Graphic design ฝั่ง Creative” 

พี่โจ๊ก “เรียนตั้งแต่ พ.ศ. 2546 – 2556 หลังจากนั้นไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ได้เข้ามาทำงานที่โรงเรียนลำปลายมาศประมาณ 3 ปี ระหว่างนั้นก็เรียนต่ออนุปริญญาไปด้วย ประมาณ 2 ปี ปัจจุบันเป็น Freelancer Video Editor”

พี่อั๋น เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา “เริ่มเรียนที่นี่ตั้งแต่อนุบาล – ม.3 เป็นเด็กที่เรียนไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ ชอบทำงานมากกว่าอ่านหรือเรียนหนังสือ จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ และกลับมาเป็นช่างเทคนิคที่ลำปลายมาศพัฒนา”

จุดที่ทำให้เราค้นเจอแนวทางการเรียนตามวิถีของตนเอง 

พี่ภัทร “พอเรียนมาถึงชั้น ม.3 เป็นทางแยกที่ไม่รู้ว่าเราจะเดินต่อไปในทิศทางใด ได้ไปสอบที่โรงเรียนนางรอง ซึ่งเป็นโรงเรียนในระบบการศึกษาปกติ หนูสอบเข้าได้ลำดับที่ 1 ก็ได้ไปเรียนอยู่ 1 เทอม จึงตัดสินใจลาออก เพราะค้นพบว่า ตัวเราไม่เหมาะกับการนั่งเรียนในห้องเรียน 8 ชั่วโมง ตอนนั้นหาทางออกกับตัวเองไม่ได้ เป็นช่วงที่ตัดสินใจยากมาก ๆ เพราะเป็นช่วงที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่พบกับคำถามเข้ามามากมาย อีกทั้งตอนนั้นได้ทำงานที่ร้านบอร์ดเกมด้วย เพราะหนูชอบบอร์ดเกมมาก ๆ”

พี่ปุณ  ตอนที่เรียน ม.3 ยังมีความเชื่อว่า “ผมต้องเข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต แต่ก็เกิดจุดที่พลิกผันในชีวิต ผมได้เข้าไปเรียนสายศิลป์ ที่ สาธิต มศว. ประสานมิตร เรียนด้าน Digital media art ได้เรียน Animation ได้ฝึกในการวาดภาพ และเขียนโปรแกรม อีกทั้งทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย และจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือในช่วงที่ ม.ปลาย – มหาวิทยาลัยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าเราจะต้องเปลี่ยนสาย คือได้เปลี่ยนสายในการเรียนไปเป็น Graphic design ซึ่งเป็นด้าน Creative ไปเลย”

“ไอเดีย ร่วงหล่น กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการทำงานของระบบร่างกาย
ของ พี่ ๆ นักเรียนชั้น ป.6” 

ที่มาภาพ: Paranee Tewpan

“โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้และเป็นตัวเอง”

ชีวิตที่ลำปลายมาศพัฒนาเป็นอย่างไร 

พี่ปุณ  ก่อนที่เราจะรู้จักตนเอง เราต้องซื่อสัตย์กับตนเองก่อน จุดเปลี่ยน ช่วง ป.6 เป็นจุดเปลี่ยนคือ เพื่อน วันนี้ตนเองได้นั่งอยู่คนเดียว ทำสิ่งนั้นไปแล้วไม่มีความสุข ทำสิ่งนั้นไปทำไม เมื่อไปถึงจุดที่ตนเองไม่มีความสุขเราก็จะค้นพบว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่เราชอบ เราใช้วิธีการค้นหา จนสุดท้ายเราก็จะพบในสิ่งที่เป็นตัวเราจริง ๆ”

พี่อั๋น “แม้ผมจะเรียนไม่เก่งแต่คุณครูไม่เคยมาเคี่ยวเข็ญหรือทำโทษ ผมได้เรียนรู้จากการทำ project ก่อนเรียนจบ”

พี่โจ๊ก “ตอน ป.6 ประมาณปี พ.ศ. 2553 – 2554 ซึ่งครูได้ให้ค้นคว้าเรื่องที่ตนเองสนใจและค้นหาข้อมูลให้ได้ลึกที่สุด ตอนนั้นผมเลือกทำเรื่องฟุตบอล ที่ทำครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลทั้งหมด ซึ่งแต่ในละช่วงการทำโปรเจกต์ครูก็มาติดตามผลและให้คำแนะนำอยู่ตลอด”

Problem-Based Learning หนอนไหม
ที่มาภาพ Pranom Khuaklang

Problem-Based Learning หน่วยผ้า
ที่มาภาพ : Pranom Khuaklang

กิจกรรมการเรียนที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจในลำปลายมาศพัฒนาคือเรื่องอะไร 

พี่โจ๊ก “เรื่องนี้ก็ผ่านมาประมาณ 11 ปี แล้วครับ ย้อนกลับไปตอน ม.1 ได้เรียนวิชาที่เรียกว่าวิชาอนาคต – เป็นวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ทั้งประกอบคอมพ์ฯ และลงโปรแกรมวินโดว์ ลินุกซ์ จากสิ่งที่เรียนรู้ในวันนั้นทำให้เราสามารถทำเองได้เป็นความรู้ที่ติดตัวประกอบก็ได้ ซ่อมก็ได้

อีกเรื่องคือได้ทำหนังสั้น ซึ่งอันนี้เริ่มประมาณ ป.4 – ป.5 ได้ทำ Animation ก่อนครับ เป็นรูปแบบ stop motion (การถ่ายภาพนิ่งหรือวัตถุและนำมาต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว) ได้ก็เรียนรู้ลำดับการทำวิดีโอในรูปแบบต่าง ๆ ที่ยากขึ้นมีการตัดต่อ ใส่เพลงประกอบ แต่งเพลงใส่หนังสั้นของตัวเอง” 

พี่ภัทร  เล่าถึงช่วงเวลาที่รู้สึกประทับใจ “เกิดขึ้นตอนที่กำลังจะจบ ม.3 คุณครูอยากให้เราไปเจอสังคมภายนอก อยากให้เราทำประโยชน์ต่อสังคมด้วย ก็เลยเกิดเป็น Empathy Camp นี้ขึ้นมา เป็นช่วงที่ไปเข้าค่าย Empathy Camp ที่บ้านสอยดาว จ.เลย ถ้าจำไม่ผิดได้ไปเจอกับน้อง ๆ เราพาทำกิจกรรม พาเรียน พาเล่น แล้วก็ได้ไปช่วยกัน Paint ห้องน้ำให้น้อง ได้ไปเดินภูกระดึง ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเวลาคุณภาพมาก ๆ ที่เราได้ใช้เวลาแบ่งปันความสุขกับผู้อื่น ใช้เวลาร่วมกับกลุ่มเพื่อน เกิดการรับรู้พลังบวกกันตลอดเวลา สายตาและแววตาของน้อง ๆ แต่ละคนที่มองเรากลับมา คือเขาได้รับบางอย่างจากเรา เราดีใจมากที่อย่างน้อยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวในชีวิตเขาได้ แล้วก็สามารถให้สิ่งที่เรามีกับคนอื่นได้ ซึ่งชอบช่วงเวลานี้มาก ๆ”

พี่ปุณ  “รู้สึกประทับใจช่วง ป.2 ที่ได้เรียนกับครูแป้ง ประนอม ขั้วกลาง เป็นคนที่ทำให้ผมเข้าไปในเรื่องของการวาดภาพ ถึงการที่เราวาดรูปนั้นเหมือนกับเราได้อยู่กับตนเอง วาดภาพเสร็จเมื่อเราได้นั่งมองภาพที่ตนเองวาดขึ้นมา จนทำให้ผมมีพื้นฐานเรื่องการวาดภาพ และทำให้ผมมาถึงจุดนี้ได้ ภาพที่เราวาดครูก็ไม่ได้ตัดสินว่าเราวาดภาพไม่สวย ทำงานไม่ดี หรือทำงานแย่ อีกทั้งครูได้มีการเปิดการ์ตูนให้ดู เพื่อที่จะได้เปิดโลกของการวาดภาพอีกด้วย”

พี่อั๋น  “ผมชอบบรรยากาศในห้องเรียน ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนเคมี ชอบตารางธาตุ แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องช่างเทคนิคเท่าไหร่”

กิจกรรมเปิดประสบการณ์ที่ส่งเสริมทักษะการเรียนในด้านต่าง ๆ 

“สถานที่ที่สอนความเป็นมนุษย์ 

และโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ”

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ อย่างไร เราต้องการสื่อสารให้กับบุคคลภายนอกรับรู้อย่างไร

พี่ภัทร  “หนูมองว่า ปัจจุบันในสังคมไทยพิมพ์ออกมาเหมือนหุ่นยนต์ เป็นเครื่องจักร แต่ที่นี่คือสอนให้เข้าใจชีวิตจริง ๆ อยากจะนิยามโรงเรียนนี้ว่า ‘สถานที่ที่สอนความเป็นมนุษย์’ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ่งให้ยิ่งได้ แบ่งปันกัน ไม่มีการตัดสินกัน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ ‘เพราะมนุษย์ย่อมแตกต่างกัน’ เราไม่ควรเอาไม้บรรทัดมาวัดในรูปแบบเดียวกันได้ อยากให้มีความยืดหยุ่นในการมองเด็ก”

พี่ปุณ  “เป็นโรงเรียนที่โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ การใช้ชีวิตไม่ได้สะดวก สบาย ผมมองว่าไม่สมบูรณ์แบบก็จริง แต่มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเกิดจากการขาดแคลนเล็ก ๆ น้อย ทำให้เราได้เกิดการพัฒนาขึ้น ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่าอีก 5 ปีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในนิยามนั้น การรับฟัง ให้ครูรับฟังเด็กทุกคน ไม่ตัดสินเด็ก ซึ่งเด็กบางคนเรียนเก่ง และไม่เก่งต่างกัน ถ้าในระบบดีควรที่จะมีพื้นที่ให้กับเด็กได้แสดงความคิดเห็นได้ เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง ให้เด็กกล้าที่จะเสนอความคิดเห็น ดีก็สนับสนุน แต่ถ้าความคิดเห็นนั้นไม่ดีก็ควรที่จะพูดคุยเพื่อปรับปรุงตนเอง”

พี่โจ๊ก “ที่นี่เป็นโรงเรียนที่ไม่มีระฆัง ไม่มีข้อสอบ และพอถึงจุดที่ได้ไปเรียนข้างนอก ไปสายอาชีพ เรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เขียน Code ทำดาต้า แรก ๆ ก็งงเรื่องเรียนแต่ก็พยายามเรียนรู้กับสิ่งที่เจอ มีเพื่อนช่วยเหลือกัน ได้เจอสังคมอื่น ๆ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในวิถีเขาได้”

พี่อั๋น  “มีคำถามที่ว่าจบจากที่นี่จะไปเรียนต่ออย่างไร จะปรับตัวกับที่อื่นได้หรือ เรามองว่าจบจากที่นี่หรือที่ไหน พอเจอโลกภายนอกก็ต้องปรับตัว เราก็ต้องปรับตัวตามเขาได้เหมือนกัน ถ้ามีปัญหาการทำงานก็ต้องคุยกัน ส่วนเรื่องการใช้เทคโนโลยี ที่นี่ก็ให้ทุกคนได้เรียนแล้วใช้ให้เป็นเหมือนกัน”

การตั้งคำถามของตนเองตอนที่เรียนโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จนกระทั่งในปัจจุบันตนเองได้คำตอบในคำถามที่ตนเองถามหรือไม่

พี่ปุณ  “คำถามที่ตั้ง คือ ทำไมมาเรียน ไม่ให้เอาโทรศัพท์มา ได้พบว่าเมื่อมีการไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ตนเองใช้ชีวิตที่ Slow life เหมือนกับว่าในแต่ละวันเราได้ใช้ชีวิตช้าลงได้ มีความสุขกับสิ่งรอบข้าง เช่น มีต้นไม้ นั่งมองเชยชมต้นไม้ นั่งกินขนมในห้อง เป็นต้น อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดจากการที่เรามีความสุขกับอะไรได้ง่ายขึ้น เปิดใจมากขึ้น นอกจากนั้นเรามีทักษะการใช้ชีวิต สามารถค้นหาข้อมูล หาคำตอบในสิ่งต่าง ๆ มีทักษะการเอาตัวรอด เข้าอกเข้าใจคนอื่น ไม่ว่าไปตรงไหนก็สามารถปรับตัวได้ แม้แต่เรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเราก็ปรับตัวได้” 

พี่ภัทร  “การที่เรานำขนมมาทานที่โรงเรียน เกิดคำถามว่าทำไมต้องแบ่งขนมให้เพื่อนทุกคน ได้พบคำตอบว่าการเคารพทุกคนเท่ากัน การปฏิบัติที่เท่ากัน ไม่มีใครด้อยค่าไปกว่ากัน มีการสื่อสารกับเพื่อนมากขึ้น” 

พี่โจ๊ก  “ที่นี่ใช้เรื่องจิตศึกษาเป็นสิ่งที่ลงลึกภายในจิตใจเรา มีคำถามให้เราเสมอ เลือกสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ควรจะทำ ในทุก ๆ เรื่อง ในทุก ๆ ด้าน ทำให้รู้ตัวเองมีสติ มีแม้กระทั่งคำตอบในสิ่งที่ไม่ต้องการทำ” 

กระบวนการจิตศึกษาที่มีให้เห็นในทุกระดับชั้นการเรียน

สิ่งที่อยากจะสื่อสารกับผู้ใหญ่ในสังคม

พี่ปุณ  “คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ทุก Gen มีสมบัติเป็นของตนเองอยู่แล้ว คนรุ่นใหม่ เน้นการเรียนรู้ ถ้าเราปลูกฝังให้ตั้งคำถามก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี ส่วนผู้ใหญ่นั้นมีประสบการณ์ แชร์ประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และฟังได้” 

พี่ภัทร   “กล่าวตอบว่า ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน มองเห็นวิธีการเรียนรู้ในลักษณะนี้ อยากที่จะให้บุคลากรเติบโตได้อย่างมีความสุข เพียงแค่เราไม่ตัดสิน ให้โอกาสยื่นมือให้กับคนอื่น ช่วยแนะนำแนวทาง บางครั้งกำลังใจเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่จุดประกายที่ยิ่งใหญ่ให้กับเด็กคนอื่น ๆ ได้ บางทีอาจจะเป็นก้าวที่ใหญ่สำหรับเด็ก”

พี่โจ๊ก  “การเรียนรู้ที่นี่นั้นมีการวางกรอบแบบอิสระเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้ในหลายอย่าง ทำให้เราอยากเรียนรู้ในสิ่งไหนเราก็สามารถลงมือทำได้เลย”

พี่อั๋น  “ความสำเร็จของคนเราไม่เหมือนกัน และความสำเร็จไม่ได้เกิดในวันสองวัน มันต้องทำไปเรื่อย ๆ ถึงจะเห็นผล”

จากสิ่งที่ศิษย์เก่าที่ก้าวไปสู่สังคมและโลกการทำงานจากเวทีแลกเปลี่ยน ‘ศิษย์เก่าเล่าเรื่อง’ จากงาน มหกรรมโรงเรียนจิตศึกษา” การขับเคลื่อน Inner Education ที่จัดขึ้น ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจและความเป็นมนุษย์ มากกว่าการศึกษาตามกรอบวิชาการเพียงอย่างเดียว ศิษย์เก่าที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ไม่เพียงแต่เล่าถึงเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง แต่ยังสะท้อนถึงแนวคิดสำคัญ เช่น การค้นหาตัวตน การตั้งคำถามต่อโครงสร้างการศึกษา และความสำคัญของพลังบวกในการเรียนรู้

จากเรื่องราวของพี่ภัทร พี่ปุณ พี่โจ๊ก และพี่อั๋น ทำให้เราเห็นได้ว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่ได้สอนเพียงแค่เนื้อหาทางวิชาการ แต่ยังปลูกฝังทักษะชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น และความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการใช้ชีวิตในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

กิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียน เช่น Empathy Camp ทำให้เด็ก ๆ ได้ออกไปสัมผัสโลกภายนอก เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในระบบการศึกษาทั่วไป

สุดท้ายแล้ว บทเรียนจากงานนี้ตอกย้ำว่า การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของตำราเรียน แต่เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กเติบโตเป็นมนุษย์ที่เข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่น และสำคัญที่สุดคือ เข้าใจตัวเอง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่ใช่เพียงสถานที่เรียน แต่เป็นพื้นที่ที่โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบและบ่มเพาะความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

รายชื่อผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยน ศิษย์เก่าเล่าเรื่อง ในงานมหกรรมโรงเรียนจิตศึกษา 

วันที่ 4 มีนาคม 2568 

พี่ภัทร  นางสาวภัทรวดี  ตระกูลไตรพฤกษ์

พี่ปุณ  นาย ชนินทร์  จันทวงศ์

พี่อ้วน นายณรงค์ชัย เต็นยะ เจ้าหน้าที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มูลนิธิสยามกัมมาจลล

วันที่ 5 มีนาคม 2568 

พี่ภัทร นางสาวภัทรวดี  ตระกูลไตรพฤกษ์

พี่โจ๊ก นายชานน เกษมสุข

พี่อั๋น นายธนภพ  บุญเรือง 

พี่ตูน ศศิธร เครือคช  พนักงานกิจการเพื่อสังคม อาวุโส บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

 17,707 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า